กระชายดํา สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายดำ 45 ข้อ !

กระชายดํา

กระชายดำ (โสมไทย, โสมกระชายดำ) ชื่อสามัญ Black galingale

กระชายดํา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora Wallich. ex Baker. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ K. rubromarginata (S.Q. Tong) R.J. Searle และ Stahlianthus rubromarginatus S.Q. Tongl.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]

สมุนไพรกระชายดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขิงทราย (มหาสารคาม), กะแอน ระแอน ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย ว่านจังงัง ว่านพญานกยูง (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]

ลักษณะของกระชายดำ

  • ต้นกระชายดำ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หนาแน่นในแถบมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียว อินโดจีน และในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการปลูกกระชายดำมากในจังหวัดเลย ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือ[2],[8] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน[2] เหง้ากระชายดำ นั้นมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นปุ่มปมเรียงต่อกัน และมักมีขนาดเท่า ๆ กัน มีหลายเหง้าและอวบน้ำ ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม และอาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ ส่วนเนื้อภายในของเหง้ามีสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีม่วงดำ เหง้ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสชาติขมเล็กน้อย[1],[3] โดยกระชายดําที่ดีนั้นจะต้องมีสีม่วงเข้มถึงสีดำ กระชายดำเป็นพืชที่ชอบที่ร่ม ดินร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศหนาวเย็น และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแบ่งเหง้า สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าต้องการให้หัวหรือเหง้ามีคุณภาพต้องปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล คือปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[7]

ต้นกระชายดำ

เหง้ากระชายดำหัวกระชายดำ

กระชายดํา

  • ใบกระชายดำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักตามเส้นใบ ผิวใบเป็นร่องคลื่นตลอดใบตามแนวของเส้นใบ ใบมีสีเขียวสด ส่วนโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นไว้ ขอบก้านใบมีสีแดงตลอดความยาวของก้าน ส่วนกลางก้านเป็นร่องลึก[2],[3]

ใบกระชายดำ

  • ดอกกระชายดำ ดอกออกเป็นช่อแทรกขึ้นมาจากโคนกาบใบ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กลีบดอกที่ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-3.2 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก เกสรตัวผู้เป็นหมัน มีสีขาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-13 มิลลิเมตร ส่วนกลีบปากมีสีม่วง[2]

ดอกกระชายดำ

สรรพคุณของกระชายดำ

  1. รูปกระชายดำจากการค้นคว้าเอกสารงานวิจัยพบว่า สมุนไพรไทยกระชายดำนั้นมีสรรพคุณมากมาย และสามารถช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้เกือบ 100 ชนิด[7]
  2. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชะลอความแก่ มีคุณค่าทางคงกระพันชาตรี ด้วยการใช้เหง้านำมาหั่นเป็นแว่น แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง นำมาบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้กินเช้าเย็น[1],[3],[6]
  3. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ด้วยการใช้เหง้าผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยาดองเหล้า (เหง้า)[1],[2],[7],[8]
  4. ว่านกระชายดำช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เหง้า)[3],[7],[8]
  5. ช่วยบำรุงผิวพรรณของสตรีให้สวยสดใส ดูผุดผ่อง (เหง้า)[7]
  6. ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศชาย[6] หากสุภาพสตรีรับประทานแล้วจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนทางเพศ (เหง้า)[9]
  7. ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ บำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย แก้กามตายด้าน ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาดองกับเหล้าขาวและน้ำผึ้งแท้ (ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม : เหล้าขาว 3 ขวด : น้ำผึ้ง 1 ขวด) ดองทิ้งไว้ประมาณ 9-15 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มวันละ 1-2 เป๊ก (เหง้า)[1],[3],[7],[9] (กระชายดําไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ช่วยทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ง่ายและบ่อยขึ้น มีระยะเวลาในการแข็งตัวที่นานขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวก็สามารถรับประทานเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้)[7]
  8. ช่วยกระตุ้นระบบประสาท บำรุงประสาท ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย (เหง้า)[6],[7],[9]
  9. ช่วยในการนอนหลับ แก้อาการนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืน ช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้น (เหง้า)[7]
  10. ช่วยบำรุงหัวใจ[3],[8] ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจ แก้โรคหัวใจ (เหง้า)[7],[9]
  11. ช่วยบำรุงโลหิตของสตรี (เหง้า)[6]
  12. ช่วยในระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกาย ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น (เหง้า)[6]
  13. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เหง้า)[3],[7],[8]
  14. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต รักษาสมดุลของความดันโลหิต (เหง้า)[7],[9]
  15. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (เหง้า)[7],[9]
  16. ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ (เหง้า)[6]
  17. ช่วยแก้หอบหืด (เหง้า)[7]
  18. ช่วยแก้อาการใจสั่นหวิว แก้ลมวิงเวียน (เหง้า)[3],[7],[8]
  19. เหง้าใช้ต้มดื่มแก้โรคตา ช่วยรักษาสายตา (เหง้า)[1],[7]
  20. ช่วยรักษาแผลในช่องปาก ปากเป็นแผล ปากเปื่อย ปากแห้ง (เหง้า)[3],[6],[7],[8]
  1. ช่วยแก้โรคตานซางในเด็ก แก้ซางตานขโมยในเด็ก (เหง้า)[1],[3],[7]
  2. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เหง้า)[3],[7],[8]
  3. ช่วยรักษาโรคในช่องท้อง มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ (เหง้า)[7]
  4. ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียด (เหง้า)[1],[6],[7],[9]
  5. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ปวดมวนในท้อง อาการท้องเดิน (เหง้า)[1],[3],[6],[7] หากมีอาการท้องเดินให้ใช้เหง้านำมาปิ้งไฟให้สุกแล้วนำมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำปูนใสแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 3-5 ช้อนแกงหลังจากการถ่ายเนื่องจากมีอาการท้องเดิน (เหง้า)[7]
  6. ช่วยรักษาโรคท้องร่วง (เหง้า)[7]
  7. ช่วยในการย่อยอาหาร รักษาระบบการย่อยอาหารให้เกิดความสมดุล (เหง้า)[6],[9]
  8. กระชายดำแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เหง้า)[6]
  9. ช่วยรักษาโรคบิด แก้อาการบิดเป็นมูกเลือด (เหง้า)[3],[6],[7],[9]
  10. สรรพคุณกระชายดำ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารอันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา (เหง้า)[6],[7],[9]
  11. ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้ปัสสาวะพิการ (เหง้า)[3],[6],[7]
  12. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เหง้า)[6],[9]
  13. ช่วยขับประจำเดือน แก้อาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี (เหง้า)[6],[7],[9]
  14. เหง้าใช้โขลกผสมกับเหล้าขาวคั้นเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อนได้ (เหง้า)[1],[2]
  15. ช่วยแก้ฝีอักเสบ (เหง้า)[3],[7]
  16. ช่วยรักษากลากเกลื้อน (เหง้า)[3],[7]
  17. ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการเหนื่อยล้า (เหง้า)[1],[6],[7],[9]
  18. ช่วยรักษาโรคปวดข้อ (เหง้า)[6]
  19. ช่วยรักษาโรคเกาต์ (เหง้า)[7],[9]
  20. ช่วยแก้อาการเหน็บชา (เหง้า)[7]
  21. กระชายดำช่วยขับพิษต่าง ๆ ในร่างกาย (เหง้า)[6]
  22. ช่วยรักษาอาการมือเท้าเย็น (เหง้า)[7]
  23. กระชายดำมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง (เหง้า)[7]
  24. เหง้าใช้ต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่ม จะช่วยขับน้ำนม รักษาอาการตกเลือด และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (เหง้า)[7]

วิธีใช้กระชายดํา

สำหรับวิธีการใช้กระชายดำเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้โรคบิด และลมป่วงทุกชนิด

  • ถ้าเป็นเหง้าสด ให้ใช้ประมาณ 4-5 เหง้านำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวดก่อนนำมารับประทานเป็นอาหารเย็น ในปริมาณ 30 cc. หรือจะฝานเป็นแว่นบาง ๆ แช่กับน้ำดื่ม หรือนำมาดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1[1],[4]
  • หากเป็นเหง้าแห้งก็ให้ใช้ดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 นาน 7 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนนอน[1],[4]
  • หากเป็นแบบชงหรือแบบผง ให้ใช้ผงแห้ง 1 ซองชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ขนาด 120 cc.) และแต่งรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลตามความต้องการแล้วนำมาดื่ม[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระชายดำ

  • ว่านกระชายดำสารสกัดกระชายดำด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศของหนูเพศผู้และสุนัข และยังมีผลช่วยเพิ่มความหนาแน่นของอสุจิ และเพิ่มระดับ Testosterone แต่ไม่ทำให้พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนไป นอกจากนี้หนูขาวที่ได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูงในขนาด 1,000 มก./กก./วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยป้องกันภาวะผสมไข่ไม่ติดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดดังกล่าวยังส่งผลทำให้ตับโตขึ้นด้วย[1]
  • มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ( สาร 5,7-DMF ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดํา) ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาว และมีฤทธิ์ลดไข้[1],[4]
  • มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย (สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ -tetramethoxyflavone) และมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน (สาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone)[1],[4]
  • กระชายดำมีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งเชื้อ S. aureus และ B. subtilis[8]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ ลดการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูขาว และยังช่วยยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดในคน[4]
  • จากการศึกษาทางพิษวิทยาในหนูทดลองเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในขนาดตั้งแต่ 20-2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าหนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม และหนูที่ได้รับกระชายดำในขนาด 2,000 มก./กก./วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุม มีเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ สำหรับหนูเพศเมียจะมีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุม และทุกกลุ่มไม่พบว่ามีความเป็นพิษเมื่อตรวจอวัยวะภายในด้วยวิธีทางจุลพยาธิวิทยา[1],[4]

สมุนไพรกระชายดำ

ประโยชน์ของกระชายดำ

ประโยชน์กระชายดำ ในปัจจุบันนอกจากเราจะใช้กระชายดำเพื่อเป็นยาสมุนไพรทั้งแบบหัวสดและแบบแห้ง ยังมีการนำไปบดเป็นผงบรรจุซองไว้ชงกับน้ำร้อนเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ “น้ำกระชายดำ” และยังนำมาทำเป็น “ลูกอมกระชายดำ” แต่ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือการนำมาทำเป็น “ไวน์กระชายดำ” หรือนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพร “กระชายดําแคปซูล” (แคปซูลกระชายดํา), “กระชายดําผง“, “ยาน้ำกระชายดำ” หรือแปรรูปเป็น “กาแฟกระชายดํา[5]

ข้อควรระวังในการใช้กระชายดำ

  • ห้ามใช้กระชายดำในเด็กและในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ[1]
  • ผลข้างเคียงของกระชายดำ การรับประทานในขนาดสูงอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้[1]
  • การรับประทานเหง้ากระชายดำติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เหงือกร่น[1]
  • กระชายดำสามารถรับประทานได้ทั้งหญิงและชายโดยไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ยิ่งสำหรับผู้สูงอายุก็พบว่านิยมใช้กันมานานมากแล้ว[7]
  • แม้จะมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่ากระชายดำไม่พบว่ามีความเป็นพิษ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้กระชายดำในคน จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อความปลอดภัย[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระชายดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [19 พ.ย. 2013].
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กระชายดำ“.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพรเล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [19 พ.ย. 2013].
  3. ว่านและสมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “กระชายดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th.  [19 พ.ย. 2013].
  4. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “กระชายดำ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.  [19 พ.ย. 2013].
  5. กรมวิชาการเกษตร ระบบข้อมูลทางวิชาการ.  “กระชายดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th.  [19 พ.ย. 2013].
  6. ห้องสมุดดิจิทัลเกษตรไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระชายดำ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: anchan.lib.ku.ac.th/aglib/bitstream.  [19 พ.ย. 2013].
  7. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2547.  “ตอน กระชายดำ“.  อ้างอิงใน: เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2543.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [19 พ.ย. 2013].
  8. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [19 พ.ย. 2013].
  9. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระชายดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [19 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Krashy, Ahmad Fuad Morad), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด