กระจับนก
กระจับนก ชื่อวิทยาศาสตร์ Euonymus cochinchinensis Pierre (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euonymus similis Craib.) จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)[1],[4]
สมุนไพรกระจับนก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะดะ (เชียงราย), กระจับนก (เชียงใหม่), นางใย, อึ่งเปาะ (อุบลราชธานี), กระจับนก, ตานขี้ม้า, ตาสีไสว, มะดะ, มะหากาหลัง (ภาคเหนือ), กระดูกไก่ ชะแมง (ภาคใต้), คอแห้ง เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของกระจับนก
- ต้นกระจับนก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 10-12 เมตร มีเส้นรอบวงยาวประมาณ 5.5 นิ้ว เปลือกต้นบางเป็นสีน้ำตาลครีม มีร่องแตกตามยาวแคบ ๆ แตกกิ่งก้านเล็ก สีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามลำธาร ตามป่าดิบแล้งในระดับต่ำจนถึงความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบกระจับนก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นหยักตื้นห่าง ๆ ค่อนไปทางปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-16 เซนติเมตร ผิวเนื้อใบบางเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีขน เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน เส้นใบข้างมี 7-11 คู่ จรดกันที่ขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร มีหูใบแคบ ๆ ร่วงง่าย และทิ้งรอยไว้ชัดเจน กิ่งก้านเป็นมัน[1],[2],[3],[4]
- ดอกกระจับนก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกตามง่ามใบ ส่วนมากจะออกตรงโคนกิ่งที่ออกใหม่ ยาวประมาณ 3-10.5 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.3-8 เซนติเมตร ใบประดับมีขนาดเล็กมาก ขอบเป็นครุย ดอกมีขนาดเล็กมาก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายไต ขอบกลีบเป็นครุยสั้น ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ขอบเป็นครุย จานฐานดอกหนา ลักษณะเป็นรูปวงแหวนหรือค่อนข้างเป็นห้าเหลี่ยม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ที่ขอบจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูแบน สั้นมาก อับเรณูคล้ายรูปสามเหลี่ยม รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ[3]
- ผลกระจับนก ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ดูคล้ายระฆังคว่ำ ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายผลนูน โคนผลจะเล็กกว่าปลายผล ปลายผลหยักเว้าเป็นพู 5 พู ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่จะเป็นสีชมพูหรือสีแดงเข้ม เมื่อผลแก่จัดจะแตกออกเป็น 5 ซีก โดยจะแตกตรงกลางพู แต่ละซีกมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[3],[4]
- เมล็ดกระจับนก เมล็ดเป็นสีดำมีขนาดเล็กมาก เป็นมัน มีเยื่อสีส้มหรือสีแดงปกคลุมที่ขั้ว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี ปลายและโคนมน มีขนาดยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร[1],[2],[4]
สรรพคุณของกระจับนก
- เปลือกนำมาดองหรือแช่ในเหล้าโรง ใช้ดื่มกินก่อนอาหาร เป็นยาช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้อยากอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น (เปลือก)[1],[2],[4]
- ยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นกระจับนก เข้ายาบำรุงเลือด โดยนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ลำต้น)[4]
- รากกระจับนกใช้แช่กับน้ำหรือฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ ทำให้โรคกำเริบ และอาจมีอาการท้องเสีย) (ราก)[4]
- รากใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้เมาเห็ด (ราก)[4]
ประโยชน์ของกระจับนก
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนเนื้อไม้ใช้ทำเครื่องประมง[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระจับนก”. หน้า 8-9.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “กระจับนก”. หน้า 2.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระจับนก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [09 ก.ค. 2015].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะหากาหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [09 ก.ค. 2015].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “กระจับนก”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด หน้า 2 (มัณฑนา นวลเจริญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [09 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 潘立傑 LiChieh Pan, 翁明毅), woodman-garden.blogspot.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)