กรดน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกรดน้ำ 37 ข้อ !

กรดน้ำ

กรดน้ำ ชื่อสามัญ Macao Tea, Sweet Broomweed[1],[3]

กรดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Scoparia dulcis Linn.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

สมุนไพรกรดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อไม้ลัด (สิงห์บุรี), เทียนนา (จันทบุรี), ปีกแมงวัน ผักปีกแมลงวัน (กาญจนบุรี), หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด), กรดน้ำ กระต่ายจามใหญ่ กัญชาป่า มะไฟเดือนห้า (กรุงเทพฯ), ตานซาน (ปัตตานี), ขัดมอนเทศ (ตรัง), หญ้าขัดหิน หญ้าจ้าดตู้ด หญ้าหัวแมงฮุน ยูกวาดแม่หม้าย (ภาคเหนือ), ขัดมอนเล็ก ขัดมอญเล็ก หนวดแมว หญ้าขัด หญ้าหนวดแมว (ภาคกลาง), ข้างไลดุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หญ้าพ่ำสามวัน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ปิงถางเฉ่า เหย่กานฉ่าน แหย่กานฉ่าน (จีนกลาง), เอี่ยกำเช่า (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[2],[3],[4],[6]

ลักษณะของกรดน้ำ

  • ต้นกรดน้ำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุ 2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร เป็นพุ่ม แตกกิ่งแผ่สาขามาก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ไม่มีขน กิ่งเล็กเรียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบความชื้นค่อนข้างมาก และแสงแดดแบบเต็มวัน เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาเขตร้อน ปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนชื้น ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นเป็นวัชพืชในที่รกร้าง ป่าผลัดใบ และพื้นทรายริมฝั่งแม่น้ำ[1],[3],[4],[6]

ต้นกรดน้ำ

ลำต้นกรดน้ำ

  • ใบกรดน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ แผ่นใบมีขนาดเล็กเป็นสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรีเรียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-35 มิลลิเมตร ท้องใบมีต่อม ก้านใบสั้นมากหรือแทบไม่มี[1],[2],[3],[6]

ใบกรดน้ำ

  • ดอกกรดน้ำ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ออกดอกเดี่ยว ๆ ที่ง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีวงละ 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ในต้นหนึ่งจะมีดอกมาก[2],[3],[4],[6]

ดอกกรดน้ำ

  • ผลแห้ง พอแก่จะแตกออก ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก[1],[4],[6]

รูปกรดน้ำ

ผลกรดน้ำ

สรรพคุณของกรดน้ำ

  1. ใบมีรสฝาด ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ใบ)[1],[3] ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (ต้น)[5], ส่วนดอกมีสรรพคุณช่วยเจริญไฟธาตุ (ดอก)[5]
  2. ชาวปะหล่องจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำรวมกับต้นสาบแร้งสาบกาให้เด็กอาบแก้อาการเบื่ออาหาร (ทั้งต้น)[7]
  3. ต้นและใบใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน โดยใช้ลำต้นและใบสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งนำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ต้นและใบ)[5],[6] ส่วนบางตำราก็ระบุด้วยว่า ส่วนของรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเบาหวานได้เช่นกัน (ราก)[1]
  4. ทั้งต้นมีรสชุ่มหวาน ขมเล็กน้อย ไม่มีพิษ เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ และลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไอร้อน ไอหวัด ลดไข้ แก้เด็กเป็นไข้อีสุกอีใส และช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)[4]
  5. ยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3] หากเด็กเป็นไข้ให้ใช้ลำต้นสดประมาณ 15 กรัม นำมาต้มใส่น้ำและน้ำตาลพอให้มีรสชาติ แล้วกรองเอาแต่น้ำกิน (ต้น)[3] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่าต้นมีสรรพคุณแก้พิษไข้ ส่วนรากมีสรรพคุณแก้ไข้ตัวเย็น เลือดเป็นพิษ[5]
  1. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไอ (ต้น, ใบ)[1],[3] ด้วยการใช้ลำต้นกรดน้ำสด ๆ ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มให้เดือดแล้วเอาน้ำมารับประทานเป็นยาแก้ไอ รักษาอาการไอเนื่องจากปอดร้อน (ต้น)[3],[4] หรือถ้าเป็นหวัดและไอ ให้ใช้ต้นกรดน้ำสด 30 กรัม, สะระแหน่ 10 กรัม และพลูคาวอีก 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[4]
  3. ต้นใช้เป็นยาแก้อาเจียน (ต้น)[3]
  4. รากมีรสฝาด ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ราก)[1],[3],[5]
  5. ต้นมีรสฝาด ใช้เป็นยาแก้เหงือกบวม แก้ปากเปื่อย (ต้น)[1] ส่วนอีกตำราว่าใช้ผลเป็นยาแก้เหงือกบวม (ผล)[5]
  6. ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน (ใบ)[1],[3]
  7. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ เสียงแหบ (ราก)[2] หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทานเป็นยาแก้เจ็บคอก็ได้ (ต้น)[3],[4]
  8. ใบใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ)[1],[4]
  9. รากใช้เป็นยาแก้โรคหัวใจอ่อน (ราก)[7]
  10. ต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องเดิน ปวดท้อง แก้ลำไส้อักเสบ (ต้น)[1],[3],[4] หากลำไส้อักเสบ ปวดท้อง ให้ใช้ลำต้นขนาดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มให้เดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำกิน (ต้น)[3]
  11. รากใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง ช่วยสมานลำไส้ (ราก)[1],[5] ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง จะใช้ราก ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหาร (ราก, ทั้งต้น)[2]
  12. ยาชงจากใบใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการผิดปกติของระบบลำไส้ (ใบ)[6]
  13. ตำรายารักษาบิดติดเชื้อ จะใช้ต้นกรดน้ำสด 30 กรัม, หยางถีเฉ่า 30 กรัม และข้าวเก่าประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ รับประทานวันละ 1 เทียบ (ต้น)[4]
  14. ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด (ต้น, ใบ, ราก)[1],[3],[5]
  15. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)[1],[5]
  16. ผลมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ผล)[1]
  17. ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือน ขับระดูขาวของสตรี (ใบ)[1],[3],[5]
  18. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[1],[3],[5] ต้นและใบใช้เป็นยาแก้ขัดเบา (ต้น[3], ใบ[1]) ในฟิลิปปินส์จะดื่มน้ำต้มจากรากเป็นยาแก้ขัดเบา (ราก)[6] หรือหากมีอาการปัสสาวะขัดให้ใช้ลำต้นประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำกินก็ได้ (ต้น)[3]
  19. ต้นมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขาจากการปัสสาวะ (ต้น)[1],[3],[4]
  20. ใช้เป็นยาแก้โรคไทฟอยด์ (ทั้งต้น)[4]
  21. ใบสดนำมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือใช้พอกเป็นยารักษาแผลสด แผลถลอก แผลเรื้อรัง และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[2] ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาน้ำมาใส่แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ส่วนคนเมืองจะใช้ทั้งต้นนำไปต้มแล้วใช้ไอน้ำมารมแผลสดเพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็วยิ่งขึ้น (ทั้งต้น)[7]
  22. ใช้เป็นยาแก้ผื่นคันตามผิวหนัง ด้วยการใช้ลำต้นที่สด ๆ นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน (ต้น, ราก)[1],[3],[4] ส่วนชาวม้งจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบรักษาผื่นคัน ซึ่งใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (ทั้งต้น)[7]
  23. ช่วยแก้ไฟลามทุ่งหรือเชื้อไวรัสตามผิวหนัง (ทั้งต้น)[4]
  24. ใช้เป็นยาแก้พิษฝี (ใบ, ดอก, ผล)[5]
  25. ช่วยลดอาการเป็นหัด เมื่อเป็นหัดให้ใช้ลำต้นสดนำมาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำกินติดต่อกัน 3 วัน (ต้น)[3]
  26. รากใช้ต้มกับน้ำอาบ ช่วยฆ่าเชื้อโรค แก้พิษ (ราก)[2]
  27. ผลใช้เป็นยาแก้ปวด (ผล)[5]
  28. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก, ต้น, ใบ)[5]
  29. ใช้เป็นยารักษาอาการเท้าบวม ขาบวมจากการเป็นเหน็บชา ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30 กรัม และน้ำตาลทรายแดง 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก่อนอาหาร ใช้กินทุกเช้าและเย็นหลังอาหาร[3] ส่วนอีกตำราว่าให้กินก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง[4] (ต้น)
  30. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มร่วมกับลูกใต้ใบและหญ้าปันยอด เป็นยาแก้อาการปวดข้อ (ราก)[7]
  31. ใช้ต้นสด 1 กำมือ นำมาต้มกินหลังคลอด จะช่วยให้มารดาแข็งแรงและมีน้ำนมดี (ต้น)[8]

ขนาดและวิธีใช้ : ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 60-90 กรัม ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกรดน้ำ

  • ลำต้นกรดน้ำมีสาร amellin, benzoxazolinone, betulicin acid, friedilin, glutinol, dulciol, dulcioic acid, dulciolone, sitosterol, iffaionic acid, scoparol, α-amyrin, tritriacontane และอัลคาลอยด์ ส่วนรากพบสาร d-mannitol, hexacosanol, mannitol, tannin และ β-sitosterol[3],[4] ต้นหญ้าช่วงบนจะมีสารอัลคาลอยด์ประมาณ 1.6%[4]
  • พบสาร Scopadulcic acid และสารในกลุ่ม Flavone ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง[2] สาร Scopadulin มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม[2]
  • พบสาร Glutinol ที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดการอักเสบ[2]
  • สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้บางชนิด[2] และต้านอนุมูลอิสระ[9]
  • น้ำที่คั้นหรือสารที่สกัดได้รากนั้น เมื่อนำมาทดลองกับสัตว์ พบว่ามีผลต่อร่างกายของมัน เช่น ลดการเกร็งตัว การเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กส่วนต้นของกระต่าย กระตุ้นหัวใจของคางคก และมีผลน้อยในการกระตุ้นมดลูกของหนูขาว แต่ไม่มีผลอะไรต่อกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคก และลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา แต่เมื่อนำมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดของแมวแล้วจะช่วยลดความดันเลือดให้ลดลง และลดการหายใจ
  • สารที่สกัดจากแอลกอฮอล์ไม่มีพิษ ส่วนสารที่สกัดจากน้ำจะมีพิษสูงต่อหนูถีบจักร[3],[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง เมื่อฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องคือขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม[5]
  • เมื่อให้คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานทาน Amellin (อะเมลลิน – สารที่สกัดได้จากลำต้นกรดน้ำ) ในขนาด 15-20 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน พบว่าสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและในปัสสาวะได้ โดยปฏิกิริยาในการลดจะค่อย ๆ ลดลงทีละน้อย แต่คุณภาพของยายังห่างจากอินซูลิน (Insuline) เนื่องจากยาชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ปริมาณในเลือดลดต่ำกว่าเดิม แต่ Amellin จะช่วยธาตุเหล็กในเซรุ่ม ช่วยเพิ่มสภาพด่างในร่างกายของคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน ช่วยเพิ่มระดับในเม็ดเลือดแดง และ acetone bodies ในเลือด จึงช่วยรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอัลบูมิน (Albumin) คีโตน (Ketone) ในปัสสาวะ และที่มีอาการโลหิตจางได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดไขมันในบาดแผลให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.1985 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากกรดน้ำ ผลการทดลองพบว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[5]
  • เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่ประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัย Annamalai ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรกรดน้ำกับหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน โดยใช้สารสกัดจากใบกรดน้ำความเข้มข้น 0.15, 0.30, 0.45 กรัมต่อกิโลกรัม โดยป้อนยาให้หนูกินเป็นระยะเวลานาน 45 วัน ผลการทดลองพบว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองและทำให้น้ำหนักตัวของหนูทดลองลดลงได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลที่หนูมีความทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้นอีกด้วย (Glucose tolerance test)[5]

ประโยชน์ของกรดน้ำ

  • ชาวปะหล่องและชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานร่วมกับลาบ ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาเคี้ยวกินเล่น มีรสหวานหรือใช้รับประทานกับหรือใช้ใส่ในแกงเพื่อเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อม ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและคนเมืองจะใช้ทั้งต้นลวกหรือต้มกินกับน้ำพริก มีรสหวานเล็กน้อย[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กรดน้ำ (Krod Nam)”.  หน้า 15.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กรดน้ำ”.  หน้า 193.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กรดน้ำ”.  หน้า 4-7.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กรดน้ำ”.  หน้า 20.
  5. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “กรดน้ำ”.  หน้า 54-55.
  6. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กรดน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [09 ก.ค. 2015].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กรดน้ำ, หญ้าปีกแมลงวัน”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [10 ก.ค. 2015].
  8. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 355 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก.  (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร, ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว).  “อาหารและสมุนไพร กระตุ้นน้ำนม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [10 ก.ค. 2015].
  9. M. R. Mishra, A. Mishra, D. K. Pradhan, A. K. Panda, R. K. Behera, S. Jha.  “Antidiabetic and Antioxidant Activity of Scoparia dulcis Linn.”.  Indian J Pharm Sci. 2013 Sep-Oct; 75(5): 610–614.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, 翁明毅, Siyang Teo, judymonkey17, Anurag Sharma), icwow.blogspot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด