โรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน (Hernia*) คือ เป็นภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ในช่องท้อง (บางส่วน) เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิมผ่านรูหรือดันตัวผ่านบริเวณกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เกิดความอ่อนแอ (หย่อนยาน) สูญเสียความแข็งแรง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งหนึ่ง และมักทำให้เห็นเป็นก้อนตุงตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง (ส่วนที่เคลื่อนตัวออกไปยังคงถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเดิมของมัน) โดยอวัยวะที่เกิดไส้เลื่อนได้บ่อย คือ ลำไส้เล็ก
ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน แนวทางการรักษา และพบได้ในเพศและวัยที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด มีส่วนน้อยอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดช่องท้อง
หมายเหตุ : คำว่า Hernia มาจากภาษาละตินแปลว่า Rupture (แตกร้าว)
สาเหตุของไส้เลื่อน
โดยส่วนใหญ่ไส้เลื่อนมักเกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอหรือหย่อนยานผิดปกติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเคลื่อนเข้าไปอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ทำให้เห็นเป็นก้อนตุง มีส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น เกิดจากแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง) โดยมักจะมีอาการแสดงเฉพาะในเวลาที่มีแรงดันในช่องท้องสูง (เช่น เวลาไอ จาม เบ่งถ่าย ร้องไห้ ยกของหนัก ฯลฯ)
โรคไส้เลื่อนแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่และตามสาเหตุที่เกิด ซึ่งไส้เลื่อนแต่ละชนิดจะมีอาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป (ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น)
และการรักษาส่วนใหญ่มักจะต้องอาศัยการผ่าตัด ได้แก่
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจพบได้ประมาณ 1-2% ของประชากรทั่วไป พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบ ๆ เท่า (ประมาณ 25 เท่า) ส่วนใหญ่มักเกิดในวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ และนับเป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 75% ของไส้เลื่อนทั้งหมด และไส้เลื่อนชนิดนี้ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
- Indirect inguinal hernia เป็นไส้เลื่อนชนิดที่เกิดจากความผิดปกติมาตั้งแต่ตอนเป็นตัวอ่อนในครรภ์ โดยในขณะตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 21-25 สัปดาห์ อัณฑะซึ่งอยู่ในช่องท้องจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในช่องท้องที่บริเวณขาหนีบ และเคลื่อนตัวลงไปที่ถุงอัณฑะก่อนที่มารดาจะคลอดออกมาและช่องที่บริเวณขาหนีบก็จะปิดไป หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น คือ ช่องไม่ปิด ลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวมาอยู่ในช่องนี้และบางครั้งอาจเคลื่อนลงไปจนถึงถุงอัณฑะได้ ถึงแม้จะเป็นความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด แต่การเกิดเป็นไส้เลื่อนได้นั้นมักจะพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไปแล้ว แต่ในเด็กก็ยังสามารถพบได้บ้าง ส่วนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้ได้มากกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดอีกด้วย
- Direct inguinal hernia เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้เฉพาะในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยสูงอายุ โดยเกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดชื่อว่า Transversalis fascia ซึ่งอยู่บริเวณขาหนีบในตำแหน่งเฉพาะที่เรียกว่า Hesselbach triangle เกิดความหย่อนยานไม่แข็งแรง จึงทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวดันพังผืดเหล่านี้ออกมาจนปรากฏเป็นถุงบริเวณขาหนีบ แต่จะไม่ลงไปอยู่ในถุงอัณฑะ
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) หรือที่เรียกกันว่า “สะดือจุ่น” เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ผนังหน้าท้องตรงสะดือจะปิดไปตั้งแต่ชั้นของผิวหนัง ชั้นของกล้ามเนื้อ และมีชั้นของพังผืดเข้ามาปกคลุม ถ้าหากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังปิดไม่สนิทแล้ว บางส่วนของลำไส้ก็จะเคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือโป่งได้ ซึ่งมักพบได้ในทารกแรกเกิด ถ้าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโอกาสพบได้มากขึ้น พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 3:1 และส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายในอายุ 2 ปี โดยไม่ต้องทำอะไร นอกจากนี้ยังพบว่าทารกชาวผิวดำจะพบเกิดเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้ได้มากกว่าทารกชาวผิวขาวถึง 8 เท่า
- ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย และพบได้มากในวัยสูงอายุ เพราะเกิดจากกล้ามเนื้อและพังผืดของกระบังลมมีการหย่อนยานและเสียความยืดหยุ่น และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมคือความดันในช่องท้องที่มากกว่าปกติ โดยสามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
- Sliding hiatal hernia คือ การที่มีบางส่วนของกระเพาะอาหารนับตั้งแต่ส่วนต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกระบังลม (เป็นทางที่หลอดอาหารลอดเข้าสู่ช่องท้อง) เข้าไปอยู่ในช่องอก
- Paraesophageal hernia คือ การที่มีบางส่วนของกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกระบังลมซึ่งอยู่ข้าง ๆ รูที่เป็นทางผ่านของหลอดอาหาร
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ (Epigastric hernia) พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 3:1 แต่พบได้ค่อนข้างน้อย โดยเกิดจากชั้นกล้ามเนื้อและพังผืดของผนังหน้าท้องส่วนบนเหนือสะดือไม่แข็งแรง เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงคือความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้องเคลื่อนตัวผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ แล้วดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่งอยู่ที่บริเวณหน้าท้องได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อไขมันภายในช่องท้อง มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีส่วนของลำไส้ตามมาด้วย
- ไส้เลื่อนบริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernia) พบได้ค่อนข้างน้อยเช่นกัน และเกือบทั้งหมดจะพบแต่ในผู้หญิงเท่านั้น โดยเกิดจากบางส่วนของลำไส้เคลื่อนที่ผ่านรูที่เรียกว่า Femoral canal ซึ่งอยู่ตรงบริเวณต่ำกว่าขาหนีบลงมา ทำให้ลำไส้ลงมากองเป็นก้อนตุงอยู่บริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ และมีปัจจัยเสี่ยงคือความดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น
- ไส้เลื่อนตรงข้าง ๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia) พบได้ในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายเล็กน้อย ส่วนมากพบตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป โดยเกิดจากชั้นพังผืดที่มีชื่อว่า Spigelian fascia ซึ่งอยู่บริเวณข้าง ๆ กับกล้ามเนื้อหน้าท้องชื่อ Rectus abdominis เกิดความหย่อนยานไม่แข็งแรง เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงคือความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวดันออกมาปรากฏเป็นก้อนโป่ง
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 6:1 แต่เป็นชนิดพบได้น้อยมาก โดยเกิดจากบางส่วนของลำไส้เคลื่อนที่ผ่านรู Obturator foramen ซึ่งอยู่ตรงกระดูกเชิงกราน ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้หญิง เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคบริเวณเชิงกรานเอื้อต่อการเกิดมากกว่าในผู้ชาย
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia) พบได้ในคนทุกเพศทุกวัยที่เคยได้รับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน (ประมาณ 2-10% ของผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัด) โดยเป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ในผู้ป่วยบางรายที่ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่ภายหลังจากได้รับการผ่าตัดช่องท้อง (อาจนานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี) เมื่อแผลหายแล้ว กล้ามเนื้อและพังผืดของผนังหน้าท้องในบริเวณที่ผ่าตัดนั้นเกิดหย่อนยานกว่าปกติ จึงทำลำไส้เคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่งที่บริเวณแผลผ่าตัดได้
อาการของไส้เลื่อน
อาการหลักของไส้เลื่อนคือจะคลำได้ก้อนโป่งในแต่ละตำแหน่งซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นไส้เลื่อนชนิดใด คือ
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่อาการของไส้เลื่อนมักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ เป็นต้น โดยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ (มักพบเป็นข้างขวามากกว่าข้างซ้าย) เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเห็นได้ชัดในขณะลุกขึ้นยืน ไอ จาม เบ่งถ่าย หรือเวลายกของหนัก เวลานอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป และอาการมีก้อนตุงผลุบ ๆ โผล่ ๆ นี้มักจะเป็นอยู่เรื้อรังนานเป็นแรมปี สิบ ๆ ปี หรือตลอดชีวิตจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข ที่สำคัญไส้เลื่อนชนิดนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้ (อาจทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดติดคาแทรกซ้อน)
- ไส้เลื่อนที่สะดือ หรือ สะดือจุ่น (Umbilical hernia) ทำให้ทารกอาการสะดือจุ่นหรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด โดยมักไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ หรือภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และส่วนใหญ่จะหายได้เองภายในอายุ 2 ปี
- ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Sliding hernia ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง แต่ส่วนน้อยจะมีอาการของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ แสบร้อนกลางอก จุกแน่นยอดอก คลื่นไส้ เรอบ่อย มีรสเปรี้ยวของกรดในคอ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากหูรูดที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารซึ่งอยู่ในช่องท้องเคลื่อนที่ขึ้นไปในช่องหน้าอกที่มีความดันน้อยกว่า จึงทำให้หูรูดเกิดการคลายตัว กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารส่วนปลายและทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบตามมา ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Paraesophageal hernia จะไม่มีอาการเช่นกัน และเนื่องจากส่วนที่ขึ้นไปอยู่ในช่องอกไม่ใช่ส่วนของหูรูดซึ่งอยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดติดคาและไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดได้
- ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ (Epigastric hernia) ทำให้คลำได้ก้อนที่บริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ และประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนชนิดนี้จะคลำก้อนได้หลายก้อน
- ไส้เลื่อนบริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernia) ทำให้คลำได้ก้อนที่บริเวณติดชิดกับขาหนีบแต่อยู่บริเวณที่ต่ำกว่าขาหนีบ
- ไส้เลื่อนตรงข้าง ๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian hernia) ทำให้คลำได้ก้อนตรงข้าง ๆ กล้ามเนื้อหน้าท้อง
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) ผู้ป่วยมักจะมีอาการของลำไส้อุดตันเกิดขึ้นเฉียบพลัน แล้วหายไปได้เอง โดยจะเกิดขึ้นแบบเป็น ๆ หาย ๆ มีส่วนน้อยจะคลำได้เป็นก้อนภายในช่องท้องน้อย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านในได้ ซึ่งเกิดจากการที่ไส้เลื่อนไปกดเส้นประสาทชื่อ Obturator nerve ซึ่งหากผู้ป่วยยืดต้นขาออกไปด้านหลังหรือจับต้นขาแบะออกจะทำให้มีอาการปวด ในทางตรงกันข้ามหากงอต้นขาอาการปวดของผู้ป่วยก็จะบรรเทาลง
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia) เป็นไส้เลื่อนที่พบในผู้ป่วยบางรายที่ภายหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้วผนังหน้าท้องในบริเวณที่ผ่าตัดนั้นเกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ไส้เคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่งที่บริเวณแผลผ่าตัด จึงเห็นเป็นก้อนตุงขนาดใหญ่ตรงตำแหน่งแผลที่เคยผ่าตัดมาก่อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเห็นเป็นก้อนได้ชัดในท่ายืนหรือท่านั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลงไป และมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม อาการจะเป็นอยู่เรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไขเพื่อซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ
ทั้งนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมได้คือ ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกปวดหน่วง ๆ ที่ก้อนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในท่านอน ส่วนของลำไส้มักจะเคลื่อนที่กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมและจะมองไม่เห็นก้อน แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในท่ายืนหรือท่านั่ง ส่วนของลำไส้นี้ก็จะเคลื่อนตัวออกมาดันให้เห็นเป็นก้อนได้ และเมื่อออกแรงเบ่งเพิ่มความดันในช่องท้องเหมือนการเบ่งถ่ายหรือการร้องไห้ในเด็ก ก็จะยิ่งทำให้เห็นก้อนได้ชัดเจนมากขึ้น และหากใช้นิ้วดันก้อนเหล่านี้ ลำไส้ก็จะสามารถเคลื่อนตัวกลับเข้าไปสู่ช่องท้องได้ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อน
การมีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนชนิดต่าง ๆ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การจามหรือไอเรื้อรัง
- การเบ่งถ่ายอุจจาระ
- การปัสสาวะเป็นประจำ
- การร้องไห้
- การยกของหนักบ่อย ๆ
- การมีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน
- เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
- ต่อมลูกหมากโต (ทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ)
- เกิดภาวะมีน้ำในช่องท้องปริมาณมาก
- ในผู้หญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้การที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไส้เลื่อน คนคนนั้นก็จะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติในครอบครัว
ภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน
อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ บางครั้งไส้เลื่อนอาจติดค้างอยู่ที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ จนไม่สามารถไหลหรือดันกลับเข้าช่องท้องได้ตามปกติ เรียกว่า “ไส้เลื่อนชนิดติดคา” (Incarcerated hernia) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องและอาเจียนรุนแรงได้ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างอยู่นั้นถูกบีบรัดจนบวมและขาดเลือดไปเลี้ยง ในที่สุดลำไส้ก็จะเน่า เรียกว่า “ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด” (Strangulated hernia) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง หากให้การรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาไม่ทัน ลำไส้ที่เน่าตายก็จะเกิดการทะลุจนกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เชื้อโรคจากภายในลำไส้ก็จะกระจายไปทั่วท้องและเข้าสู่กระแสเลือด เกิดเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
โอกาสเกิดไส้เลื่อนชนิดติดคาและไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดจะแตกต่างกันไปในไส้เลื่อนแต่ละชนิด รวมทั้งในแต่ละบุคคลด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วไส้เลื่อนที่มีรูเปิดขนาดกว้างใหญ่จะมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนชนิดติดคาได้น้อยกว่า นอกจากนี้ไส้เลื่อนที่เป็นมานานก็มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนชนิดคาได้ด้วยน้อยกว่าไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยจะตรวจทั้งในท่านอน ท่ายืน และให้ผู้ป่วยช่วยออกแรงเบ่ง ถ้าเป็นไส้เลื่อนการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก โดยแพทย์จะตรวจพบอาการมีก้อนตุงผลุบ ๆ โผล่ ๆ และก้อนมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ กดไม่เจ็บ แต่สิ่งสำคัญของการวินิจฉัยคือการตรวจว่าเป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา หรือไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดหรือไม่ ส่วนในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นไส้เลื่อนหรือไม่ แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน ซึ่งมักจะคลำไม่ได้ก้อน แต่จะมีอาการของลำไส้อุดตันแบบเป็น ๆ หาย ๆ การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจช่องท้องหรือช่องท้องน้อยด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยยืนยัน
สำหรับไส้เลื่อนที่กระบังลมนั้นเนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง การวินิจฉัยบางครั้งจึงเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นเงาผิดปกติในช่องท้อง และการตรวจยืนยันการวินิจฉัยอาจใช้การกลืนแป้งแล้วเอกซเรย์ หรือการส่องกล้องตรวจก็ได้ หรือบางครั้งอาจเผอิญตรวจพบได้จากการส่องกล้องเพื่อตรวจกระเพาะอาหาร เป็นต้น
การแยกโรค ก้อนที่พบบริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ เช่น
- ก้อนฝี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายไปเวลานอนหงายเหมือนก้อนไส้เลื่อน
- ก้อนเนื้องอก มักจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกเจ็บ ซึ่งต่างจากก้อนไส้เลื่อนที่จะมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ เมื่อแตะถูกจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
- โรคฝีมะม่วง (ในระยะเกิดฝี – Secondary LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมากจนอาจเดินไม่ได้ และตรงกลางของฝีมักเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องมะม่วงอกร่อง และผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ บวม แดงร้อนร่วมด้วย
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน และถ้าเป็นเรื้อรังมักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ และกดไม่ยุบ
- ถุงน้ำที่อัณฑะ (Hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ กดไม่เจ็บและไม่ยุบ เวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นเป็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด มีส่วนน้อยที่อาจพบได้ตอนที่โตแล้ว ซึ่งมักพบได้ภายหลังการได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ
- อัณฑะบิดตัว (Testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (Spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะเกิดกว่าปกติและสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บและไม่ยุบ
วิธีรักษาไส้เลื่อน
ถ้าพบว่ามีก้อนตุงเกิดขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ หรือก้อนมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อน หรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้องและอาเจียนด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งในกรณีที่เป็นไส้เลื่อน การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของไส้เลื่อน ดังนี้
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (สะดือจุ่น) ถ้าทารกเป็นสะดือจุ่น ไม่ต้องทำอะไร เพราะส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ ยุบหายไปได้เอง ยกเว้นในรายที่มีก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าพันรอบเอว กดสะดือจุ่นไว้ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา แล้วรอจนเด็กอายุได้ประมาณ 2 ปี ถ้ายังไม่หายอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไข
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาล เนื่องจากการผ่าตัดเป็นเพียงวิธีเดียวที่รักษาไส้เลื่อนให้หายขาดได้
- แพทย์จะนัดมาทำการผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถผ่าตัดได้) เพราะอาการของผู้ป่วยอาจรอได้นานเป็นแรมปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะเกิดไส้เลื่อนชนิดติดคา
- หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไส้เลื่อนชนิดติดคา เช่น ไส้เลื่อนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไส้เลื่อนเคลื่อนกลับเข้าที่เดิมยาก หรือรูที่ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออกมามีขนาดเล็ก แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนชนิดติดคาได้ทุกเมื่อ
- ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและอยู่ในระหว่างรอรับการผ่าตัดรักษา หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขั้นรุนแรง ควรระวังป้องกันไม่ให้มีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องมากขึ้น เช่น การไม่ยกของหนัก การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ฯลฯ และอาจใส่อุปกรณ์ประเภทสายรัดหรือกางเกงที่ช่วยกระชับไม่ให้ไส้เลื่อนโป่งตุงออกมาหรือใช้มือพยายามค่อย ๆ ดันก้อนที่โป่งตุงออกกลับเข้าที่เหมือนเดิมก็จะช่วยได้บ้าง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องคอยสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ ถ้าพบว่ามีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดรุนแรงขึ้นได้
- ไส้เลื่อนชนิดติดคา การรักษาในขั้นแรกคือการพยายามนำไส้เลื่อนที่ติดคาอยู่ให้เคลื่อนที่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิม
ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้ผู้ป่วยนอนรอบ ให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาหลับ แล้วใช้นิ้วมือพยายามดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ช่องท้อง ถ้าไม่ได้ผลแพทย์อาจใช้การอัลตราซาวนด์ช่วยในการดันก้อนไส้เลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้อง (มักใช้ในกรณีที่ดันก้อนกลับด้วยมือไม่ได้) ซึ่งหากทำได้สำเร็จแพทย์ก็จะนัดผู้ป่วยมาทำการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดการติดคาซ้ำได้อีกทุกเมื่อ
- แต่หากทำไม่สำเร็จแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เน่า เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างอยู่ถูกบีบรัดจนบวมและขาดเลือดไปเลี้ยงจนลำไส้เน่าตายได้ (เกิดไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด)
- ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยเวลานับตั้งแต่ลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงจนกระทั่งลำไส้เน่าตายและทำให้ต้องตัดลำไส้ทิ้งไปคือประมาณ 6 ชั่วโมง (เมื่อลำไส้เน่าจะทำให้มีอาการปวดท้องมากจนต้องนอนนิ่ง ๆ เพราะการขยับตัวจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น)
- ไส้เลื่อนกระบังลม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Paraesophageal hernia เมื่อตรวจวินิจฉัยพบก็ควรทำการผ่าตัดรักษา เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดติดคาและไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัดได้
- ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนกระบังลมชนิด Sliding hiatal hernia ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แพทย์จะอาศัยการรักษาด้วยยาและแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร, การไม่นอนราบ นั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำหลังการรับประทานอาหาร, การไม่รับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก, การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กรดไหลย้อน) แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง รักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน ซึ่งปกติจะคลำก้อนไม่ได้ แต่หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็น แพทย์ก็จะนัดมารับการผ่าตัดโดยเร็ว
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด เป็นไส้เลื่อนที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้วผนังหน้าท้องในบริเวณที่ผ่าตัดเกิดหย่อนกว่าปกติ ถ้าก้อนยังโตไม่มากและไม่มีอาการอะไร แพทย์อาจให้เฝ้าดูอาการไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าก้อนโตมากหรือมีอาการปวดท้องก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมผนังหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นปกติ
การผ่าตัดไส้เลื่อน
ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นไส้เลื่อน แพทย์มักแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไส้เลื่อนขนาดใหญ่หรือเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งการผ่าตัดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี (ส่วนใหญ่การผ่าตัดมักได้ผลดี) ดังนี้
- การผ่าตัดที่เรียกว่า Herniorrhaphy เป็นการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้หรืออวัยวะอื่นให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม และเย็บซ่อมรูหรือเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เป็นจุดอ่อน (โดยทั่วไปการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่พักในโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน)
- การผ่าตัดที่เรียกว่า Hernioplasty วิธีนี้จะเป็นการใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรูหรือจุดอ่อน
คำแนะนำเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน
- ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบที่มีก้อนบวมที่ถุงอัณฑะมักอายที่จะไปพบแพทย์ ควรอธิบายให้ทราบถึงสาเหตุและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบแม้จะพบได้มากในผู้ชายมากกว่า แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้มีอาการเป็นก้อนที่ขาหนีบ หากสงสัยควรไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจจะต้องทำการผ่าตัดเช่นเดียวกัน
- หลังจากแผลผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนจนหายดีแล้ว ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดไส้เลื่อนมาแล้ว ยังมีโอกาสกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้อีก ซึ่งหากเป็นซ้ำก็ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเช่นเดิม
- การออกกำลังกายโดยการกระโดดเชือก วิ่ง หรือเดินนาน ๆ นั้นไม่มีส่วนทำให้เป็นไส้เลื่อนได้ ยกเว้นในกีฬาที่ต้องเกร็งหน้าท้องมาก ๆ เช่น ยกน้ำหนัก ทุ่มน้ำหนัก เท่านั้นที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง
- การไม่สวมกางเกงในก็ไม่มีผลทำให้เป็นไส้เลื่อนได้เช่นกัน เพราะไม่เกี่ยวข้องกับความดันในช่องท้อง
วิธีป้องกันไส้เลื่อน
- ภาวะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง เช่น พยายามไม่ไอโดยการแก้ที่สาเหตุ (เช่น งดการสูบบุหรี่ รักษาวัณโรค), การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน, การไม่ยกของหนักบ่อย ๆ (เพราะจะทำให้มีการเกร็งของหน้าท้อง), การลดน้ำหนักตัวเมื่อเป็นโรคอ้วน เป็นต้น
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วยการผ่าตัดแก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้วก็ต้องระวังไม่ให้ไส้เลื่อนกลับมาซ้ำอีก โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวมา
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไส้เลื่อน (Hernia)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 549-551.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 362 คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค. “ไส้เลื่อน”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [03 ส.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 29 คอลัมน์ : โรคน่ารู้. “ไส้เลื่อนเป็นแล้วอย่าได้อายหมอ”. (ผศ.นพ.สิโรจน์ กาญจนปัญจพล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [04 ส.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ไส้เลื่อน (Hernia)”. (นพ.เฉลียว พูลศิริปัญญา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [04 ส.ค. 2016].
- Siamhealth. “ไส้เลื่อน hernia”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [05 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)