ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ
ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไรแฟมพิซิน

ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) หรือ ไรแฟมพิน (Rifampin) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ไรฟาดิน (Rifadin) เป็นยาที่ทางการแพทย์มักนำมาใช้รักษาวัณโรค โรคเรื้อน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus aureus, Mycobacterium, Neisseria meningitidis ฯลฯ สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ในการรักษาโรคดังกล่าว

ตัวอย่างยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซิน หรือ ไรแฟมพิน (ชื่อทางการค้า) มีชื่อทางการค้า เช่น มาโนริฟซิน (Manorifcin), ไรซิน (Ricin), ไรฟาซิน-เอ (Rifacin-A), ไรฟาดิน (Rifadin), ไรฟาเจน (Rifagen), ไรแฟม (Rifam), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ไรแฟมพิซิน จีพีโอ (Rifampicin GPO), ไรแฟมพิซิน แอกด์ฮอน (Rifampicin Acdhon), ไรแฟม-พี (Rifam-P), ไรแมกซิน (Rimaccin), ไรเมซิน (Rimecin), ไรพิน (Ripin) ฯลฯ

รูปแบบยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายทั้งแบบชนิดที่เป็นยาผสมและแบบยาเดี่ยว สำหรับยาเดี่ยว ได้แก่

  • ยาแคปซูล ขนาด 150, 300 และ 450 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัม

ไรแฟมพิซินคือ
IMAGE SOURCE : www.akorn.com

สรรพคุณของยาไรแฟมพิซิน

  • ใช้รักษาวัณโรค (Tuberculosis), โรคเรื้อน (Leprosy), โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus), โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Meningitis) จากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), โรคลีเจียนเน็ลลานิวโมเนีย (Legionella pneumonia), โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax), โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis), โรคหนองใน (Gonorrhoea), การติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus – MRSA), โรคติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสที่มีอาการรุนแรง, โรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยาไรแฟมพิซิน (เช่น Staphylococcus aureus, Streptococcus, Neisseria gonorrhoeae, Neisseria meningitidis, Haemophilus influenzae, Escherichia coli, Brucella spp., Proteus spp., Legionella spp. เป็นต้น)
  • ใช้รักษาผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) แต่ไม่มีอาการ และใช้ป้องกันการติดเชื้อนี้ในเด็กอายุ 4 ปีหรือต่ำกว่า
  • ใช้ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcemia หรือ Meningococcal meningitis) สำหรับผู้ที่สัมผัสโรค (เป็นพาหะของเชื้อไนซ์ซีเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) ที่ไม่มีอาการ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปจากลำคอและจมูกส่วนใน)
  • ยาไรแฟมพิซินอาจใช้รักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไรแฟมพิซิน

ยาไรแฟมพิซินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพันธุกรรมหรือดีเอนเอ (DNA) ของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะไปรวมตัวกับเอนไซม์ที่มีชื่อว่า RNA polymerase และทำให้เอนไซม์หยุดลง (ไม่มีผลต่อเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์) จึงทำให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ เจริญเติบโต และตายในที่สุด

หลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารและกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อของร่างกายและไขสันหลัง (ระดับยาสูงสุดในเลือดคือเฉลี่ยประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการรับประทานยา) ไรแฟมพิซินจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ยาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างในระหว่างการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ยาจะถูกกำจัดออกจากร่างกายประมาณ 50% ของระดับยาในกระแสเลือด โดยส่วนใหญ่จะถูกขับออกจากร่างกายทางน้ำดีและทางปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาไรแฟมพิซิน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาไพร็อกซิแคม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิด รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไรแฟมพิซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยารักษาวัณโรคบางตัว เช่น ไอโซไนอาซิด (Isoniazid), ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) สามารถส่งผลกระทบต่อตับจนก่อให้มีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการบวมตามร่างกาย อาจพบอาการตกเลือด ผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวเหลือง หากพบอาการข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอปรับขนาดการรับประทานยา
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยากดภูมิต้านทานโรคสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) สามารถลดประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันดังกล่าวได้ ผลที่ติดตามมา เช่น ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะล้มเหลวด้วยร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายเข้ามาใหม่ เป็นต้น
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยารักษาโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น อินดินาเวียร์ (Indinavir), โลปินาเวียร์ (Lopinavir) สามารถทำให้ระดับยาที่ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในร่างกายลดต่ำลงและด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลาการรับประทานยาให้เหมาะกับผู้ป่วย
    • การใช้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ไดคูมารอล (Dicumarol), วาร์ฟาร์ริน (Warfarin) จะส่งผลให้ประสิทธิผลของยาต้านการแข็งตัวของเลือดลดลง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน มีอาการบวม ห้อเลือด หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ผู้ให้การรักษาทันที
    • นอกจากนี้ ยาไรแฟมพิซินอาจต้านฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคหัวใจ (ดิจิทาลิส) ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคเอดส์ ถ้าใช้ร่วมกัน
  • หากเป็นหรือเคยเป็นโรคตับ
  • มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไรแฟมพิซิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคดีซ่าน
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร เนื่องจากการใช้ยาไรแฟมพิซินในหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด 2-3 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทารก ถ้าจำเป็นต้องใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ควรให้วิตามินเคแก่มารดาและทารกหลังคลอด เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในทารก
  • การรับประทานยานี้อาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานยาอื่นที่อาจมีผลต่อตับ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่าจะไม่มีโรคตับก็ต้องเฝ้าดูอาการของตับอักเสบด้วยเช่นกัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยานี้อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

วิธีใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • สำหรับวัณโรค (ใช้รักษาวัณโรคได้ทุกชนิด ทั้งแบบลุกลาม เรื้อรัง และดื้อยา) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม (ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 450 มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานในขนาดวันละ 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม (ยังไม่มีการกำหนดขนาดยาสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน) วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6-8 เดือน โดยให้รับประทานก่อน 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง หรือก่อนนอน และต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด ตามคำแนะนำของแพทย์
  • สำหรับโรคเรื้อน (ใช้รักษาได้ทั้งชนิดที่มีเชื้อน้อยและชนิดที่มีเชื้อมาก เพื่อเปลี่ยนอาการของโรคจากระยะติดต่อเป็นระยะไม่ติดต่อ) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม (ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 450 มิลลิกรัม) เดือนละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 6-24 เดือน แล้วแต่ระยะของโรค และต้องใช้ร่วมกับยารักษาโรคเรื้อนอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด เช่น แดพโซน (Dapsone), โคลฟาซิมีน (Clofazimine) ฯลฯ ตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนในเด็กควรให้ในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สูงสุดได้ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้งต่อวัน
  • สำหรับโรคสครับไทฟัส ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 900 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • สำหรับเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน
  • สำหรับโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • สำหรับโรคลีเจียนเน็ลลานิวโมเนีย ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน และอาจให้ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในการรักษาร่วมด้วย
  • สำหรับโรคบรูเซลโลซิส ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-900 มิลลิกรัม ร่วมกับยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) วันละ 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียวติดต่อกันนาน 45 วัน
  • สำหรับรักษาโรคหนองใน (ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 900 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และอาจต้องรับประทานซ้ำในวันที่ 2-3 (ควรให้ยาไรแฟมพิซินร่วมกับยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่นด้วย เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา)
  • สำหรับการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง และต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด
  • สำหรับโรคติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสที่มีอาการรุนแรง ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยให้ยาทุก 12 ชั่วโมง ในกรณีที่เชื้อแพร่กระจายทั่วร่างกายหรือเยื่อหัวใจอักเสบต้องใช้ร่วมกับยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ส่วนในกรณีที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง (การติดเชื้ออยู่บริเวณลึก แต่ยังไม่ถึงแก่ชีวิต) ต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 1 ชนิด
  • สำหรับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) แต่ไม่มีอาการ และบุคคลนั้น ๆ ใกล้ชิดกับเด็กอายุ 4 ปีหรือต่ำกว่า อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ในผู้ใหญ่ควรได้รับคำแนะนำให้รับประทานยานี้ในขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 วัน
  • สำหรับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อซึ่งไวต่อยาไรแฟมพิซิน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 600-1,200 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง และควรใช้ร่วมกับยาต้านแบคทีเรียอื่นที่มีประสิทธิภาพต้านเชื้อนั้น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อ
  • สำหรับใช้ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไนซ์ซีเรีย เมนิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) ที่ไม่มีอาการ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปจากลำคอและจมูกส่วนใน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน ควรให้ในขนาดครั้งละ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน ให้ครั้งละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง (ทุก 12 ชั่วโมง) ติดต่อกัน 2 วัน (ทั้งหมดนี้ให้รับประทานรวม 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน)

ไรฟาดิน
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

คำแนะนำในการใช้ยาไรแฟมพิซิน

  • ควรรับประทานยานี้ตอนท้องว่าง โดยให้รับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และให้รับประทานยาติดต่อกันจนหมดช่วงการรักษาตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ในวงการแพทย์นั้นจัดให้ยาไรแฟมพิซินอยู่ในหมวดหมู่ของยาอันตราย และอยู่ในประเภท Pregnancy Category C (ระดับความปลอดภัยในคนท้อง) แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับโรคก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายโดยตรงหรือนำมาซึ่งการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม
  • ยานี้อาจต้านฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ
  • หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อ แสบยอดอก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ควรไปพบแพทย์ แต่หากมีผื่นขึ้น คันตามตัว จ้ำเลือดและเลือดออกง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออก ให้หยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที

การเก็บรักษายาไรแฟมพิซิน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานทานยาไรแฟมพิซิน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาไรแฟมพิซิน สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาไรแฟมพิซิน

  • การรับประทานยานี้อาจทำให้ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำตา น้ำลาย เหงื่อ และเสมหะ ออกเป็นสีส้มแดง ซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด (ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มอาจทำให้เลนส์ติดสีถาวรได้)
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดยอดอก รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปวดท้อง ท้องเดิน ฯลฯ
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการผื่นคัน ผื่นลมพิษได้ แต่มักจะไม่รุนแรง
  • อาจทำให้ตับอักเสบ (ดีซ่าน)
  • อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีอาการจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนัง) แต่เมื่อหยุดยาก็จะหายไปได้เอง
  • การใช้ยานี้ในขนาดสูง คือมากกว่าวันละ 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาจทำให้มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 254-255.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “RIFAMPIN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [21 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาไรแฟมพิน/ไรแฟมพิซิน (Rifampin/Rifampicin)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 ก.ย. 2016].
  4. Siamhealth.  “Rifampicin (ไรแฟมพิซิน)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [21 ก.ย. 2016].
  5. ThaiRx.  “ไรฟาดิน 300 มก.”, “Rifampicin Lederle 300 mg”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [21 ก.ย. 2016].
  6. Drugs.com.  “Rifampin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [21 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด