ไม้เท้ายายม่อม สรรพคุณและประโยชน์ของไม้เท้ายายม่อม 12 ข้อ !

ไม้เท้ายายม่อม สรรพคุณและประโยชน์ของไม้เท้ายายม่อม 12 ข้อ !

ไม้เท้ายายม่อม

ไม้เท้ายายม่อม ชื่อสามัญ One Root Plant[1]

ไม้เท้ายายม่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum indicum (L.) Kuntze[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Clerodendrum petasites (Lour.) S.Moore[3] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[2]

สมุนไพรไม้เท้ายายม่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พญาเลงจ้อน พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่), พินพี (เลย), ท้าวยายม่อมป่า (อุบลราชธานี), พมพี (อุดรธานี), โพพิ่ง (ราชบุรี), ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี), หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์), กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา), ปิ้งขม ปิ้งหลวง ไม้เท้าฤาษี (ภาคเหนือ), ดอกไม้มอญ จรดพระธรณี พญาลิงจ้อน ปู่เจ้าปทุมราชา ไม้ท้าวยายม่อม เท้ายายม่อม (ภาคกลาง), พญารากเดียว ไม้เท้าฤาษี (ภาคใต้), พวกวอ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ท่าละม่อม, ท้าวยายม่อม, เท้ายายม่อมตัวเมีย, ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด เป็นต้น[1],[2],[3]

หมายเหตุ : เท้ายายม่อมที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับเท้ายายม่อม (หัว) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เท้ายายม่อม

ลักษณะของไม้เท้ายายม่อม

  • ต้นไม้เท้ายายม่อม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-2.5 เมตร ไม่มีกิ่งก้านสาขาหรือแตกกิ่งน้อยบริเวณยอด ลักษณะโปร่ง บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ไม้เท้ายายม่อมเป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียวลึก พุ่งตรง รากมีลักษณะกลม ดำ โต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือวิธีการปักชำกิ่ง ไม้เท้ายายม่อมเป็นพรรณไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง[1],[2]

ต้นไม้เท้ายายม่อม

  • ใบไม้เท้ายายม่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม หรือออกรอบข้อ ข้อละประมาณ 3-5 ใบ สลับกันจากตามข้อของลำต้นจนถึงส่วนยอด จะแตกกิ่งใหม่ ๆ ตามยอดสูง ๆ ของลำต้น ใบมีขนาดเล็กเรียว ลักษณะเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นกลางใบงอโค้งเข้าหาลำต้น เกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัดใบให้งอตามไปด้วยเมื่อแตกกิ่งใหม่[1],[2]

ใบไม้เท้ายายม่อม

  • ดอกไม้เท้ายายม่อม ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตั้งตรง โดยจะออกที่ปลายกิ่งเป็นพุ่มกระจายคล้ายฉัตรเป็นช่อสั้น ๆ ตั้งชูขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ โค้งมน กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยสีเขียว 5 แฉก เมื่อแก่เป็นสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงแดง 4 อัน ยื่นงอนพ้นออกมาจากกลีบดอก ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]

ดอกไม้เท้ายายม่อม

  • ผลไม้เท้ายายม่อม ผลเป็นผลสดลักษณะกลมแป้นหรือมี 4-5 พูติดกัน ผิวผลเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมสีดำ สีดำแดง หรือสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่[2]

ผลไม้เท้ายายม่อม

สรรพคุณของไม้เท้ายายม่อม

  1. หัวในดินสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งได้ ซึ่งเรียกว่า “แป้งท้าวยายม่อม” ซึ่งตำรายาไทยจะนำแป้งท้าวยายม่อมมาละลายกับน้ำ น้ำตาลกรวด ตั้งไฟแล้วกวนให้สุก แล้วนำมาให้คนไข้ที่เป็นโรคเบื่ออาหารและมีอาการอ่อนเพลียกิน จะทำให้เกิดกำลังและชุ่มชื่นหัวใจ (หัวในดิน)[1]
  2. รากสดมีรสขม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ พิษกาฬ กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ด้วยการใช้รากสด 1 ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำฝนหรือเหล้าโรง คั้นเอาน้ำกินเป็นยา (ราก)[1],[2],[3] ส่วนต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษไข้ทุกชนิด (ต้น)[2]
  1. รากมีรสจืดขื่น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ส่วนต้นมีรสจืดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, ต้น)[2],[3]
  2. ต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับยาเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับเสมหะ (ราก, ต้น)[1],[2]
  3. ช่วยแก้อาเจียน (ราก)[2],[3]
  4. รากและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด หืดไอ (ราก, ใบ)[2],[3]
  5. รากสดนำมาต้มต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษได้ทุกชนิด (ราก)[1]
  6. รากสดนำมาตำเอากากพอกบริเวณปากแผลเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู ช่วยดับพิษฝี แก้อาการแพ้ อักเสบ ปวดบวม (ราก)[2],[3]
  7. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากไม้เท้ายายม่อมผสมกับเหง้าว่านกีบแรด ใบพิมเสนต้น เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าว และน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ หรืออาการไข้ที่มีตุ่มบนผิวหนัง และตุ่มอาจมีสีดำ (ราก)[2]
  8. ตำรายาไทยจะใช้รากเท้ายายม่อมเป็นตัวยาใน “พิกัดยาเบญจโลกวิเชียร” (ประกอบไปด้วยรากเท้ายายม่อม, รากคนทา, รากชิงชี่, รากย่านาง และรากมะเดื่อชุมพร) มีสรรพคุณโดยรวมคือแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต และช่วยถอนพิษผิดสำแดง เป็นต้น (ราก)[2]

ประโยชน์ของไม้เท้ายายม่อม

  • ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[2]
  • ชนชาติสายมอญถือกันว่าเท้ายายม่อมเป็นพรรณไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่ง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ท้าวยายม่อม (เท้ายายม่อม)”.  หน้า 379-380.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เท้ายายม่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [09 ธ.ค. 2014].
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ท้าวยายม่อม (ต้น)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [09 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, Forest and Kim Starr, Phuong Tran, Hai Le, Burnt Umber)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด