กฤษณา
กฤษณา ชื่อสามัญ Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour, Lignum aloes
กฤษณา ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aquilaria crasna Pierre) จัดอยู่ในวงศ์กฤษณา (THYMELAEACEAE)
สมุนไพรกฤษณา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (ปัตตานี, มาเลเซีย), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), อครุ ตคร (บาลี), ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (จีน), จะแน, พวมพร้าว[1],[2],[3],[5] ปอห้า (คนเมือง), ชควอเซ ชควอสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)[4] เป็นต้น
ชนิดของกฤษณา
ไม้กฤษณา จัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข. และไม่อนุญาตให้ทำการตัดฟัน (เฉพาะในป่า) จึงมีการลักลอบตัดเพื่อนำแก่นไม้หอมมาขาย ทำให้ไม้กฤษณานั้นใกล้จะสูญพันธุ์เข้าไปทุกที โดยไม้ในสกุล Aquilaria มีอยู่ด้วยกันประมาณ 15 ชนิด มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียเขตร้อน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปปินส์ ในเอเชียใต้ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฏาน รัฐอัสสัม เบงกอล รวมทั้งกระจายพันธุ์ไปทางเอเชียเหนือไปจนถึงประเทศจีน สำหรับการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยจะมีกฤษณาอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด[2] คือ
- Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[2]
- Aquilaria malaccensis Lamk. (ชื่อพ้อง Aquilaria agallocha Roxb.) พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น[2]
- Aquilaria subintegra Ding Hau (ชนิดใหม่ที่ค้นพบโดย Dr. Ding Hau) ชนิดนี้จะพบได้เฉพาะทางภาคตะวันออก[2]
- ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะพบได้ คือ Aquilaria rugosa, Aquilaria baillonil, และ Aquilaria hirta
ลักษณะของกฤษณา
- ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกกฤษณาและการขยายพันธุ์ที่นิยมทำในปัจจุบันคือการขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้มีอายุได้ 1 ปีจึงค่อยย้ายไปปลูกในแปลง ส่วนวิธีอื่น ๆ นอกจากนี้ก็คือ การตอนกิ่งและการปักชำ[1],[2]
- ไม้กฤษณา ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนักและจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณายังสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่[2]
- เกรด 1 หรือที่เรียกว่า “ไม้ลูกแก่น” ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า “True agaru” เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำหรือหนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)[2],[3]
- เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา ต่างประเทศจะเรียกว่า “Dhum”โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (ราคา 8,000-10,000 บาท/กิโลกรัม)[2],[3]
- เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือมีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม)[2]
- เกรด 4 หรืออาจเรียกว่า “ไม้ปาก” เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 400-600 บาท/กิโลกรัม)[2]
- ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีน้ำมันสะสมอยู่เลย จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำเช่นเดียวกัน[2]
- น้ำมันกฤษณา องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณาจะประกอบไปด้วยสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) อยู่มาก ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ Agarospirol, -Agarofuran, Agaro และ Dihydroagarofuran[2]
- ใบกฤษณา มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร[1]
- ดอกกฤษณา ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดทน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน[1]
- ผลกฤษณา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล โดยผลจะเริ่มแก่และแตกอ้าออกในช่วงเดือนสิงหาคม[1],[2]
คุณภาพของไม้กฤษณา
ชาวบ้านอาจเรียกชื่อของไม้กฤษณาแตกต่างกันออกไปได้ตามคุณภาพของไม้หอม เช่น “ไม้ลูกแก่น” (เกิดจากการเจาะไชของแมลงจนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน) จัดเป็นไม้หอมชั้นยอดและมีราคาแพงมาก ส่วนไม้หอมที่มีราคาสูงรองลงมาก็คือ “ไม้พุดซ้อน” (เกิดจากแมลงเจาะไชราก), “ไม้ลำเสา” (เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น), “ไม้มะเฟือง” (เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น), “ไม้เสี้ยนตาล” (มีเสี้ยนสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่) ชนิดนี้ก็มีราคาสูงเช่นกัน[2]
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าตามลักษณะการเกิดอีกด้วย เช่น “ไม้ปากกระโถน” (เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้นซึ่งเสื่อมสภาพกลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน), “ไม้ปากขวาง” (เกิดจากการใช้ขวานฟันแล้วทิ้งแผลไว้ 3 ปี จนมีสีเข้มมากรอบรอยฟัน หากทิ้งไว้นานถึง 100 ปี จะมีสีดำสนิทและถือเป็นไม้เกรดหนึ่ง), “ไม้ขนาบน้ำ” (เกิดจากการฉีกขาดของง่ามไม้)[2]
ไม้กฤษณา ชนิดที่ดีที่สุดในโลก คือ “กฤษณาจากบ้านนา” (Agillah Bannah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และพบมากในเขตกัมพูชา แต่ในปัจจุบันกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้จากเขาใหญ่[2]
ส่วนไม้กฤษณาที่คุณภาพต่ำ ได้แก่ “ไม้ตกหิน” (เนื้อเหลืองอ่อนคล้ายไม้ผุ), “ไม้ตกตะเคียน” (เนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลใต้รอยฟัน หากทิ้งไว้ประมาณ 6-7 เดือน จะมีสีเหมือนไม้ตะเคียน), “ไม้กระทิด” (ลักษณะเหมือนไม้ตกตะเคียน แต่สีของไม้จะเหมือนไม้กระทิด), “ไม้ตกฟาก” (ถูกไม้อื่นล้มทับจนเกิดแผลภายนอก) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปต้มกลั่นทำเป็นน้ำหอมได้[2]
สรรพคุณของกฤษณา
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เนื้อไม้)[3]
- ช่วยบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)[3]
- ไม้ลูกแก่น เมื่อนำมาใช้เผาจนเกิดกลิ่นหอม ใช้สูดดมจะช่วยทำให้เกิดกำลังวังชา (ไม้ลูกแก่น)[2]
- ช่วยบำรุงธาตุ คุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)[2],[3],[5]
- ช่วยบำรุงโลหิต (เนื้อไม้)[3]
- เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (อาการหน้าเขียวตาเขียว) (เนื้อไม้, น้ํามันกฤษณา)[1],[2],[3],[5] บำรุงโลหิตในหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยบำรุงสมอง ใช้ระงับอารมณ์โมโหดุร้าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้มีอารมณ์สุนทรีย์ (ชิ้นไม้)[5]
- ใช้รับประทานช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น (เนื้อไม้)[1],[3]
- น้ำจากใบสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)[5]
- ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ตำรายาจีน)[2]
- ช่วยแก้ลมวิงเวียนศีรษะหน้ามืด ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้อาการหน้ามืดวิงเวียน (เนื้อไม้)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ตำรายาจีน)[2],[3]
- ช่วยแก้หอบหืด (ตำรายาจีน)[2]
- ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ (เนื้อไม้)[2],[3]
- ช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะและลม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ใช้ต้มดื่มแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ ด้วยการนำมาผสมกับยาหอมใช้รับประทาน หรือนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ในกรณีที่มีอาการกระหายน้ำมาก (เนื้อไม้)[3]
- ช่วยแก้ลมซาง ใช้สุมศีรษะแก้ลมซางในเด็ก (เนื้อไม้)[1],[2]
- น้ำจากใบใช้เป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ (ใบ)[5]
- เชื่อว่ากลิ่นหอมของควันที่ได้จากการนำชิ้นไม้กฤษณามาจุดจะช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ (ชิ้นไม้)[6]
- ช่วยรักษาอาการปวดแน่นหน้าอก (ตำรายาจีน)[2]
- ช่วยบำรุงตับและปอด ทำให้ตับและปอดเป็นปกติ (เนื้อไม้)[1],[2],[3],[5]แก้ตับปอดพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5] ช่วยรักษาโรคตับ มะเร็งตับ (น้ำมันกฤษณา)[5]
- น้ำมันกฤษณาแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาโรคในลำไส้ โรคกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งลำไส้ หรือรับประทานน้ำกลั่นกฤษณาเป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเป็นเถาดาน (น้ํามันกฤษณา,น้ำกลั่นกฤษณา)[5]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เนื้อไม้)[2],[3]
- ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำกฤษณาไปผลิตเป็นยารักษาโรคกระเพาะที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือ “จับเชียอี่” (ตำรายาจีน)[2]
- น้ำมันจากเมล็ด สามารถนำมาใช้รักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการปวด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- เนื้อไม้กฤษณาใช้เป็นยารักษาและบำบัดโรคปวดข้อ ปวดบวมตามข้อ (เนื้อไม้)[1],[2],[3]
- ในประเทศมาเลเซียมีการใช้กฤษณาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เพื่อนำมาใช้ทาช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการของโรครูมาติซัม[3]
- ช่วยแก้อัมพาต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเปลือกต้นกฤษณาในประเทศไทยมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง (เปลือกต้น)[1]
- สารสกัดจากแก่นกฤษณามีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตในแถวที่สลบได้ โดยความดันจะลดลงทันทีเมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำ แต่ผลการลดความดันนี้ฤทธิ์จะอยู่ประมาณ 40-80 นาที[3]
- สารสกัดน้ำจากแก่นกฤษณา มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลันที่แสดงออกทางผิวหนังในหนูทดลองได้ โดยไปช่วยยับยั้งการหลั่งของ Histamine จาก Mast cell[3]
- สมุนไพรกฤษณา สามารถนำมาเข้ายาหอมบำรุงหัวใจร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น ตำรับยาเกสรทั้ง 5 และอื่น ๆ[1]
- ในตำรับยาพื้นบ้านของอินเดียและในหลาย ๆ ประเทศของเอเชีย นิยมใช้กฤษณาเพื่อเป็นส่วนผสมในยาหอม ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ เป็นยาขับลม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย แก้อัมพาต หรือใช้เป็นยาแก้ปวด[1],[3]
- ในประเทศจีนจะใช้เป็นยาแก้ปวดหน้าอก แก้อาการไอ หอบหืด แก้อาเจียน[3] ใช้สำหรับลดอาการปวด โดยเฉพาะอาการปวดท้อง อาการเกร็งกล้ามเนื้อ มีอาการปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และยังใช้รักษาโรคลมชัก แก้อาหารหอบ[5]
- ในพระคัมภีร์มหาโชตรัต ว่าด้วยโรคระดูของสตรี ระบุว่ากฤษณาจะเข้ายาบำรุงโลหิต ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษได้ เช่น ตำรับยาอุดมโอสถน้อย ยาอุดมโอสถใหญ่ ยาเทพนิมิต ยาเทพรังสิต หรือใช้กฤษณาเข้ายาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงกาม ช่วยให้ตั้งครรภ์ เช่น ในตำรับยากำลังราชสีห์ ส่วนในคัมภีร์ธาตุบรรจบ กฤษณาใช้เข้าเทพประสิทธิ์ สรรพคุณแก้ลม แก้ชัก แก้สลบ สำหรับในปัจจุบันตำรับยาที่เข้ากฤษณาที่ยังมีอยู่ได้แก่ ยากฤษณากลั่น สรรพคุณแก้ปวดท้อง แก้จุกเสียดแน่นท้อง รวมไปถึงยาหอมเกือบทุกชนิด เช่น ยาหอมตราฤาษีทรงม้า ยาหอมตราห้าเจดีย์ ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของกฤษณาทั้งนั้น[2]
- ในพระคัมภีร์มหาโชตรัต เล่ม 3 ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกฤษณาว่า ช่วยแก้โลหิตปรกติโทษ ช่วยแก้โลหิต แก้ลม แก้เส้น และยังอยู่ในตำรับยา “จิตรารมณ์” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมสวิงสวายและแก้อาการร้อนใน[5]
- ในตำรายาที่เข้ากฤษณามีอยู่หลายชนิด เช่น ยากฤษณากลั่นตรากิเลน สรรพคุณช่วยบำบัดอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง หรือยาหอมที่เข้ากฤษณาก็มีอยู่ด้วยกันหลายขนานหลายยี่ห้อ ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ช่วยแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย คลื่นไส้อาเจียน มีอาการอ่อนเพลีย บำบัดโรคปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการจุกเสียด ขับลมในลำไส้ เป็นต้น เช่น “ยาหอมสุคนธ์โอสถตราม้า” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญดังนี้ กฤษณา กานพลู โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา ชะเอม ชะมด พิมเสน สมุลแว้ง อบเชย ฯลฯ หรือใน “ยอหอมตรา 5 เจดีย์” ซึ่งประกอบไปด้วย กฤษณา กานพลู โกฐกระดูก โกฐสอ เกล็ดสะระแหน่ ชวนพก พิมเสน โสยเซ็ง อบเชย ฯลฯ หรือใน “ยาหอมทูลฉลองโอสถ” ที่ประกอบไปด้วย กฤษณา โกฐสอ โกฐเชียง ฯลฯ หรือใน “ยาหอมหมอประเสริฐ” ซึ่งประกอบไปด้วย กฤษณา เกล็ดสะระแหน่ จันทร์เทศ ผิวส้มจีน ฯลฯ หรือใน “ยาหอมตราเด็กในพานทอง” ที่ประกอบไปด้วย กฤษณา กานพลู โกฐหัวบัว ดอกบุนนาค สมุลแว้ง ฯลฯ เป็นต้น[2]
- กฤษณาจัดอยู่ในตำรายาพระโอสถของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการนำแก่นกฤษณาไปใช้ในหลายตำรับยา โดยใช้เป็นตัวยาผสมเข้ากับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อใช้รักษาโรคหรืออาการต่าง ๆ เช่น ตำรับ “ยามโหสถธิจันทน์” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน ซึ่งประกอบไปด้วย แก่นกฤษณา กระลำพัก เกสรบัวหลวง เกสรสัตตบงกช โกฐหัวบัว ขอนดอก จันทน์ทั้ง2 ตะนาว แฝกหอม ดอกมะลิ บุนนาค เปราะหอม สารภี สมุลแว้ง เสมอภาค พิกุล น้ำดอกไม้กระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวข้าว หรือน้ำดอกไม้ก็ได้ และรำหัดพิมเสนชโลม หรือใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยา “ทรงทาพระนลาต” ที่นำมาใช้ทาหน้าผาก เพื่อช่วยแก้เลือดกำเดาที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือนำมาใช้ทำเป็นตำรับยาสำหรับใช้ถูนวดเพื่อคลายเส้น ช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนดี ดังเช่นในตำรับยา “ยาขี้ผึ้งบี้พระเส้น“, “น้ำมันมหาวิศครรภราชไตล” เป็นต้น และยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร“[2],[3]
- กฤษณาจัดอยู่ใน “ตำรายาทรงทาพระนลาต” ซึ่งมีสรรพคุณแก้โลหิตกำเดา โดยตำรายานี้ประกอบไปด้วย กฤษณา ชะมด รากมะลิ รากสลิด รากสมี อบเชยเทศ บดด้วยน้ำดอกไม้เทศหรือน้ำดอกไม้ไทยก็ได้ รำหัดพิมเสนลง แล้วนำมาทา[2]
- ในตำราพระโอสถของรัชกาลที่2 มีการกล่าวถึงตำราที่เข้ากฤษณาอยู่หลายชนิด ได้แก่ “ตำรายาชื่อมหาเปราะ” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้พิษลมทรางทั้ง 7 จำพวก อันประกอบไปด้วย กฤษณา การบูร กะลำพัก ดอกบุนนาค ตะไคร้หอม หอมแดง ผิวมะกรูด ว่านน้ำ อย่างละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน และให้ใช้เปราะหอม 3 ส่วน ทำให้เป็นจุณบดทำเป็นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้แทรกพิมเสน ใช้ได้ทั้งกินและทา[2]]
- ใช้เข้าเครื่องยาในตำรับยา “กำลังราชสีห์” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต หรือใช้เข้าชื่อแดงใหญ่ มีสรรพคุณแก้ต้อมีพิษ และตาแดง เป็นต้น[2]
- ในตำรายาสมัยก่อน มีปรากฏตำรายาที่เข้ากฤษณาอีกหลายชนิด เช่น ตำรายาหอมของนายพันไท หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์ ที่กล่าวถึงการใช้กฤษณาเข้ายาอินทโอสถ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ แก้หืด แก้สลบ แก้ฝีในท้อง แก้ริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้เจริญอาหาร เจริญธาตุ เจริญอายุ เป็นต้น[2]
- ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาระบุว่า สรรพคุณกฤษณามีดังต่อไปนี้ ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นกินแก้ไข้ในครรภ์รักษา รักษาทรางแดงและทรางอื่น ๆ ใช้เป็นยาทาลิ้น แก้ตาน แก้ทราง, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาผายพิษสรรพพิษ” มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคปวดท้องในเด็ก, กฤษณาอยู่ในตำรับยา “กัลยาฑิคุณ” มีสรรพคุณช่วยรักษาตานโจร กินอาหารไม่ได้, กฤษณาอยู่ในตำรับยา “หอมจักรนารายณ์” มีสรรพคุณช่วยแก้พิษทราง, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาสหมิตร” ช่วยแก้ไข้กำเดา แก้ใจขุ่นมัว, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาเทพมงคล” สรรพคุณช่วยรักษาลิ้นกระด้าง คางแข็ง, กฤษณาอยู่ในตำรับยา “แก้เซื่องซึมแก้มึน” ใช้แก้กระหายน้ำหอบพัก, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาทิพย์ศุภสุวรรณ” ใช้รักษาโรคตาน โรคทราง ริดสีดวงทวารในผู้ใหญ่, กฤษณาอยู่ในตำรับยานัตถุ์ “สาวกัลยาณี” สรรพคุณแก้ลม ปวดศีรษะ ตาแดง ตาฟาง, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาพระสุริยมณฑล” สรรพคุณช่วยแก้ไข้พิษเหนือ แกมลม แก้โรคตานทราง[5] และยังใช้เข้าตำรับยาอื่นที่มีสรรพคุณแก้ซาง แก้พิษ แก้ไข้ เช่น ยาแก้ไข้ ยาแดง ยาคาพิษ ยาทาลิ้น ยาทาแก้เสมหะ ยากวาดแก้ดูดนมไม่ได้ ยาล้อมตับดับพิษ ยาหอมใหญ่ แก้ซาง แก้ไข้ ยาเทพมงคล ยาสมมิตกุมารน้อย ยาสมมิตกุมารใหญ่ ยาอินทรบรรจบ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้บิดในเด็ก ยาแก้ซางเพลิง เป็นต้น[2]
- ในพระคัมภีร์สรรพคุณ หรือ “คัมภีร์แลมหาพิกัต” อันมีกฤษณาเป็นส่วนผสม มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุทั้งห้าในร่างกาย[5]
- ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ได้กล่าวถึงสรรพคุณกฤษณาไว้ว่า ช่วยแก้ปถวีธาตุ หรือเยื่อในสมองพิการ นอกจากนี้กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งเป็นยาให้ตามวันเกิดหรือยาประจำธาตุ, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยาปโตฬาทิคุณ” สรรพคุณแก้ไข้เพื่อโลหิตในฤดูร้อน, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยามหาสดมภ์” สรรพคุณช่วยแก้ลมจับหัวใจ แก้โลหิตกำเริบ, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยามหาสมิทธิ์ใหญ่” สรรพคุณช่วยแก้สันนิบาต 7 จำพวก ช่วยแก้ไข้พิษ แก้น้ำมูลพิการ, กฤษณาอยู่ในตำรับ “ยากล่อมนางนอน” สรรพคุณช่วยแก้พิษตานทรางขโมย และช่วยแก้พิษฝีกาฬกฤษณา[5]
- ในพระคัมภีร์ชวดาร ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกฤษณาในตำรับยาต่าง ๆ ไว้ โดยตำรับ “ยาเขียวประทานพิษ” มีสรรพคุณช่วยแก้ลม, กฤษณาอยู่ในตำรับยาบำรุงโลหิต, ตำรับ “ยาหงษ์ทอง” ที่ใช้เป็นยานัตถุ์ สรรพคุณช่วยแก้ลมต่าง ๆ[5]
- ในพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกากล่าวถึงกฤษณาว่า มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิการ ช่วยรักษาโรคฟัน ไฟลามทุ่ง และไฟลวก[5]
- ในพระคัมภีร์โรคนิทาน ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกฤษณาไว้ว่า ใช้ต้มกินแก้ปถวีธาตุ ช่วยแก้ลมกำเริบเข้าจับหัวใจนอนแน่นิ่ง, และมีอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ หรือมีอยู่ในตำรับ “ยาสมมิตรสวาหะ” ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ใจพิการต่าง ๆ[5]
ข้อควรรู้ : โปรดจำไว้ว่าตำรับยาสมุนไพรต่าง ๆ มิได้ใช้เป็นยาเดี่ยว แต่เกิดจากการผสมสมุนไพรแต่ละตัวหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน ดังนั้นตำรับยาแต่ละอย่างจึงมีสรรพคุณที่เปลี่ยนแปลงไปตามส่วนประกอบของสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาทั้งหมด[5]
ประโยชน์ของกฤษณา
- ประโยชน์ของไม้กฤษณา ใช้ส่งขายเพื่อนำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม เป็นต้น[1],[2]
- ส่วนกากกฤษณาที่เหลือจากการกลั่นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องปั่นต่าง ๆ หรือจะใช้ทำเป็นผงธูปหอมก็ได้[5] ส่วนในประเทศไต้หวันจะนำไปใช้ทำเป็นไวน์ และมีการนำมาปั้นเป็นก้อนโดยผสมกับน้ำมันกฤษณาและส่วนผสมอื่น ๆ ที่ให้กลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า “Marmool” ซึ่งชาวอาหรับจะนิยมนำมาใช้จุดเพื่อให้มีกลิ่นหอม[6]
- ชาวปาร์ซี (Parsee) และชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม[1] ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์[3]
- เนื้อไม้กฤษณาเกรดคุณภาพระดับกลาง เช่น ไม้ตกตะเคียน ไม้ปากขวาง นำมาใช้กลั่นทำเป็นหัวน้ำหอมกฤษณาได้[2]
- น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางได้ ซึ่งทางยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมกฤษณาชนิดคุณภาพดี ที่ใช้แล้วติดผิวกายได้นานยิ่งขึ้น[1],[2]
- ส่วนน้ำกลั่นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นสบู่เหลว สบู่หอม ทำเป็นยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือใช้สำหรับทำสปาเพื่อระงับความเครียด[5]
- ชาวอาหรับนิยมใช้น้ำหอมกฤษณามาทาตัวเพื่อเป็นเครื่องประทินผิว ติดทนผิวหนังได้นาน และยังสามารถช่วยป้องกันแมลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[2],[5]
- ผงไม้กฤษณา เมื่อนำมาใช้โรยลงบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายจะช่วยฆ่าหมัดและเหา ช่วยป้องกันตัวเรือด ตัวไรได้[1],[3],[5]
- ไม้กฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคำ ทำหีบสำหรับใส่เครื่องเพชร ส่วนเนื้อไม้ปกติก็สามารถนำมาใช้ในงานแกะสลัก ทำหน้าไม้ คันธนู ทำเรือ และใช้ทำเครื่องกลึง[2]
- เนื้อไม้มีน้ำหนักเบา ชาวกระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจึงนิยมนำมาใช้สำหรับแบกข้าว[4]
- ประโยชน์ไม้กฤษณาทั่วไป สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การทำฝาบ้าน เพดาน พื้นบ้าน เป็นต้น ใช้สำหรับทำเป็นเยื่อกระดาษ หรือนำมาบดทำเป็นวอลเปเปอร์ ไม้อัด ปาร์ติเกิ้ล ทำธูป ฯลฯ[5]
- กิ่งของไม้กฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเยื่อกระดาษ ทำดอกไม้จันทน์สำหรับงานศพ หรือนำมาบดใช้ทำเป็นปาร์ติเกิ้ล ไม้อัด และทำธูป[5]
- เมล็ดกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันกฤษณาได้[5]
- เปลือกต้นสามารถให้เส้นใยที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือก กระดาษ เสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง และที่นอน[1],[2],[4]
- เปลือกชั้นนอกของต้นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นยากันยุงได้ ส่วนเปลือกชั้นกลางนำมาใช้ทำเป็นเครื่องจักสาน และเปลือกชั้นในนำมาใช้สำหรับทอผ้าและเชือกป่าน[5]
- ใบของต้นกฤษณาสามารถนำมาใช้เป็นสีสำหรับใช้ทำธูปสีเขียวได้[5]
- ในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้ใบของต้นกฤษณาเพื่อทำเป็นชาเขียว (ชากฤษณา)[5]
- ไม้กฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคำ ทำหีบสำหรับใส่เครื่องเพชร ส่วนเนื้อไม้ปกติก็สามารถนำมาใช้ในงานแกะสลัก ทำหน้าไม้ คันธนู ทำเรือ และใช้ทำเครื่องกลึง[2]
- ในแหลมมลายูมีการใช้ไม้หอมกฤษณาเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่าง ๆ และใช้สำหรับบำบัดรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด[1],[3]
- ชาวอาหรับมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณานั้นช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้[3],[5]
- ชาวอาหรับนิยมใช้ไม้ลูกแก่นเพื่อนำมาใช้จุดในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังถือเป็นไม้มงคล โดยมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามในสุเหร่า หรือใช้ต้อนรับอาคันตุกะพิเศษ หรือใช้ตามบ้านอภิมหาเศรษฐี[2]
- นำไปใช้ในพิธีทางศาสนาอิสลามที่เมดินาห์กับเมืองเมกกะ[2]
- ในสมัยก่อนมีการใช้ไม้กฤษณาเป็นเครื่องประทินผิว โดยนำมาบดแล้วปรุงด้วยเครื่องหอมทั้ง 4 อย่าง และยังนำมาใช้ในการสักการะพระบรมศพพระยาจักรพรรดิราชก็จะใช้แก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้า ใช้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยาม หรือใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการเพื่อถวาย เพราะเป็นไม้หอมที่มีประโยชน์หลายอย่างและเป็นที่ต้องการของนานาประเทศ[2]
- ในสมัยก่อนมีการใช้กฤษณาทำเป็น “จตุชาติสุคนธ์” คือ ของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่าง ซึ่งประกอบไปด้วยกลิ่นของกฤษณา เพื่อนำมาใช้ประพรมในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น ใช้ประพรมพื้นโรงราชลัณฐาคาว ใช้ในพระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชายสิทธัตถะในปฐมวัย การประดับพระแท่นบรรทมพระพุทธองค์ด้วยพู่พวงสุคนธกฤษณา เป็นต้น[2]
- ใช้สำหรับการฌาปนกิจศพพระอรหันต์โดยถูกต้องตามแบบธรรมเนียมในพระวินัย (จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักรของพระภิกษุฟาเหียน)[2]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [22 พ.ย. 2013].
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [22 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [22 พ.ย. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง. “กฤษณา Aquilaria rugosa K. Le-Cong“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [22 พ.ย. 2013].
- ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย. “การนำส่วนต่าง ๆ ของกฤษณามาใช้ประโยชน์“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikrisana.com. [22 พ.ย. 2013].
- เดอะแดนดอตคอม. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [22 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by morning_rumtea, Agarwood Gaharu Indonesia, manakedai dot net, colordive, Ahmad Fuad Morad), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com, เว็บไซต์ qsbg.org, www.gotoknow.org (by ชนันท์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)