ไมโคนาโซล
ไมโคนาโซล (Miconazole) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ดาคทาริน (Daktarin) เป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง กลาก เกลื้อน โรคเชื้อราแคนดิดา เชื้อราในช่องปาก และเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis – VVC) โดยรูปแบบการใช้ยานี้จะเป็นลักษณะยาครีมทาผิวหนัง ยาผงโรยที่ผิวหนัง ยาเจลป้ายปาก และยาเหน็บช่องคลอด
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาไมโคนาโซลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชนที่ควรมีไว้ประจำสถานพยาบาลต่าง ๆ ส่วนคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราในช่องปากโดยใช้เป็นรูปแบบเจล และจัดให้ยานี้อยู่ในหมวดของยาอันตราย ดังนั้น การใช้ยานี้เพื่อรักษาเชื้อราตามบริเวณต่าง ๆ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยาใช้เอง
ตัวอย่างยาไมโคนาโซล
ยาไมโคนาโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ดาคทาคอร์ต (Daktacort), ดาคทาริน (Daktarin), ดาคทาริน ออรัล เจล (Daktarin oral gel), ดีโคโซล (Decozol), เดอร์มาเฟค (Dermafec), เดอร์มอน (Dermon), ฟังก้า (Funga), ฟังคอร์ต (Funcort), ฟังจิ-เอ็ม (Fungi-M), ฟังจิซิล (Fungisil), เคลาพลัส (Kelaplus), ลาโดคอร์ต (Ladocort), ไลโคนาร์ (Liconar), ไลมาริน (Lymarin), มิค (Mic), ไมคาซิน (Micazin), ไมโคเดิร์ม (Micoderm), ไมโคนาโซล จีพีโอ (Miconazole GPO), ไมโคโซน (Micosone), ไมโคติน (Micotin), ไมโคซอล (Micozol), ไมโคโซล (Micozole), ไมโซน (Misone), มัยคาซอล (Mycazol), มัยโซคอร์ต (Mysocort), นิคาริน (Nikarin), นอกซ์ราซิน (Noxraxin), โปดาคริน (Podakrin), ราโนซอล (Ranozol), สกินเดียว (Skindure), ไตรมิคอน (Trimicon), ทารา (Tara), ทิมิ (Timi) ฯลฯ
รูปแบบยาไมโคนาโซล
- ยาครีมทาผิวหนัง 2%
- ยาครีมที่ผสมยาสเตียรอยด์ เช่น Miconazole nitrate 2% + Hydrocortisone 1%, Miconazole nitrate 20 มิลลิกรัม + Triamcinolone acetonide 2 มิลลิกรัม/กรัม เป็นต้น
- ยาผงใช้โรยที่ผิวหนัง 2%
- ยาเจลทาภายในช่องปาก (เป็นเจลชนิดรับประทาน) ขนาดความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/กรัม
- ยาเหน็บช่องคลอด ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
สรรพคุณของยาไมโคนาโซล
- ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่ กลาก (กลากตามหนังศีรษะ ลำตัว มือ แขน ขา เครา ขาหนีบ และเท้า) เกลื้อน โรคเชื้อราแคนดิดา เชื้อราในร่มผ้า เชื้อราในช่องปาก เชื้อราในช่องคลอด (ไม่รวมเชื้อราบนเล็บ)
- เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้ จึงอาจนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อราที่มีการติดเชื้อซ้ำด้วยแบคทีเรียชนิดดังกล่าวได้
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไมโคนาโซล
ยาไมโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งการสร้างสารเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ (Cell membrane) ทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ และเสื่อมสลายหรือตายลงในที่สุด
ก่อนใช้ยาไมโคนาโซล
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาไมโคนาโซล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาไมโคนาโซล (Miconazole) หรือส่วนประกอบใด ๆ ของยานี้ หรือยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole antifungals) ตัวอื่น เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ไทโอโคนาโซล (Tioconazole), อีโคนาโซล (Econazole) และไอโซโคนาโซล (Isoconazole) รวมถึงประวัติการแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันบูด สี เป็นต้น และอาการจากการแพ้ เช่น คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง โดยเฉพาะยาที่ทาบริเวณเดียวกับยาไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (Topical miconazole) รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไมโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ก่อนได้ เช่น
- การใช้ยาไมโคนาโซลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ระดับความเข้นข้นของยาคุมกำเนิดในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนมาผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
- การใช้ยาไมโคนาโซลร่วมกับยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ บวมน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไมโคนาโซลร่วมกับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไมโคนาโซลร่วมกับยารักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ เช่น จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของยาดาริเฟนาซิน (Darifenacin) ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงของยาดังกล่าวมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
- หากเป็นโรคไต โรคตับ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ลมพิษ โรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อยู่ในระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่น ๆ
- มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการรักษา
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไมโคนาโซล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไมโคนาโซลหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานี้ หรือมีประวัติการแพ้ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole antifungals) ดังที่กล่าวมา
- ห้ามใช้ยาไมโคนาโซลชนิดทาภายในช่องปากในผู้ป่วยโรคตับหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ และในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บและใช้ยาที่หมดอายุ
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร (แพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่าต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารก)
วิธีใช้ยาไมโคนาโซล
- สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ทายาบริเวณที่เป็นโรค วันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์
- ยาไมโคนาโซลครีมเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด ควรระมัดระวังอย่าให้ยานี้เข้าตา จมูก ปาก หรือเยื่อเมือกอื่น ๆ (หากยาสัมผัสกับอวัยวะเหล่านี้ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที)
- โดยทั่วไปแล้วยานี้จะออกฤทธิ์บรรเทาอาการคันได้รวดเร็วมาก อาการที่ดีขึ้นนี้จะสามารถเห็นได้ก่อนการเห็นลักษณะการหายครั้งแรก
- ยานี้มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมากจนไม่สามารถจะตรวจวัดได้ และโดยปกติยานี้ก็ไม่ทำให้ผิวหนังและเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนแต่อย่างใด
- ควรล้างมือและทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อราแล้วเช็ดให้แห้งก่อนทายานี้ทุกครั้ง แล้วจึงค่อยทายาบาง ๆ บริเวณที่เป็นโรคและบริเวณโดยรอบ ถูเบา ๆ เพื่อให้ยาดูดซึมจนหมด จากนั้นให้ล้างมือให้สะอาด (สำหรับการติดเชื้อราบริเวณระหว่างนิ้ว ให้ใช้ยาครีมทาลงบนผ้าก๊อซ แล้วหนีบเอาไว้ในระหว่างนิ้วของบริเวณที่ต้องการจะรักษา) ส่วนการใช้ยาในรูปแบบผง (Miconazole powder) ก่อนการใช้ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อและเช็ดให้แห้งเสียก่อน และให้โรยยาลงไปบริเวณที่เป็นโรค (หากใช้ยาบริเวณเท้า อาจโรยผงยาในถุงเท้าหรือรองเท้าด้วยก็ได้)
- ไม่ควรปิดบริเวณที่เป็นโรคด้วยปลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล หรือใช้เครื่องสำอาง โลชั่น หรือยาทาอื่น ๆ บริเวณที่เป็นโรค ยกเว้นแพทย์จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
- หลังการอาบน้ำควรรีบเช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ แล้วหันมาสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายแทน เนื่องจากเชื้อรามักจะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น
- ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจะอยู่ในช่วง 2-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการติดเชื้อ ผู้ป่วยห้ามหยุดใช้ยาด้วยตัวเอง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากที่อาการทั้งหมดได้หายไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อราได้ถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน เพราะการติดเชื้อราบางชนิดอาจใช้เวลาในการรักษานานเป็นเดือน ๆ
- หากอาการติดเชื้อรายังไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้วนานกว่า 7 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรหยุดใช้ยาแล้วกลับไปพบแพทย์
- สิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาด้วยยาเกิดผลสำเร็จ คือ การรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้าของผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน และผ้าอื่น ๆ โดยเฉพาะผ้าฝ้าย ก็ควรเปลี่ยนและทำความสะอาดทุกวัน (สำหรับเชื้อราที่เท้า ต้องทำให้บริเวณระหว่างนิ้วแห้งหลังจากการล้างเท้าเสมอ และควรเปลี่ยนถุงเท้าเป็นประจำทุกวัน)
- สำหรับการติดเชื้อราในช่องปาก ลำคอ และทางเดินอาหาร ในเด็กและผู้ใหญ่ ให้ใช้ในขนาด 1/2 ช้อนชา วันละ 2-4 ครั้ง โดยให้อมยาเอาไว้ในปากให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ในปากได้ดี ไม่ควรที่จะกลืนยาในทันที
- ผู้ที่ใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกในตอนกลางคืนแล้วจึงค่อยทายา
- หลังจากที่อาการหายไปหรือดีขึ้นแล้ว ควรใช้ยาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- การดูดซึมของตัวยาจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดมีน้อย ประมาณ 25-30% ส่วนที่ถูกดูดซึมเข้าไปนั้นส่วนมากจะถูกเมตาโบไลท์และพบในปัสสาวะในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 1% ของขนาดยาที่รับประทานเข้าไป ไม่มีเมตาโบไลท์ที่ออกฤทธิ์รักษาโรคได้ และมีระยะครึ่งชีวิตช่วงสุดท้ายเท่ากับประมาณ 20 ชั่วโมง
- สำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอด ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้เหน็บยาไว้ที่ช่องคลอดก่อนนอน (เพื่อที่ยาจะได้ไม่ซึมไหลเมื่อต้องเคลื่อนไหว) ครั้งละ 1 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน สำหรับวิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอดนั้น มีขั้นตอนดังนี้
- ควรปัสสาวะและอุจจาระให้เรียบร้อย (เพื่อป้องกันการไหลออกของยาจากการเบ่ง) รวมถึงการทำความสะอาดบริเวณภายนอกอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักด้วยสบู่เด็ก และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนการใช้ยา
- เตรียมยาให้พร้อม และนำเม็ดยาชุบน้ำสะอาดก่อนเพื่อให้เม็ดยาลื่นและง่ายต่อการสอดใส่ (ถ้าเม็ดยาเหลวให้นำไปแช่ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง)
- ให้นอนหงาย ชันเข่าขึ้นทั้งสองข้างบนที่นอน ถ่างขาออก แล้วสอดยาเข้าไปในช่องคลอดช้า ๆ ลึก ๆ (เอาด้านหัวยาซึ่งแหลมกว่าเข้าไปก่อน) และใช้นิ้วชี้ดันยาเหน็บอย่างช้า ๆ ให้ลึกเข้าไปอีกจนถึงปากมดลูก หรือให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
- หนีบขาไว้ด้วยกันสักพัก นอนในท่าเดิมต่อไปประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาละลายเคลือบในช่องคลอดก่อน (อย่าเพิ่งรีบลุกเดินในทันที เพราะอาจทำให้ยาหลุดออกมาได้) เมื่อเหน็บยาจนครบเวลาเรียบร้อยแล้ว ให้ทิ้งวัสดุห่อยาในถังขยะ แล้วล้างมือให้สะอาด
คำแนะนำในการใช้ยาไมโคนาโซล
- ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
- ขนาดยา จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน ระยะห่างของการใช้ยาในแต่ละครั้ง และระยะเวลาที่ใช้ยา อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ ซึ่งการใช้ยาที่เหมาะสมนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ควรใช้ยานี้ต่อไปจนครบเวลาการรักษาและไม่ควรลืมทายา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- การใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
- หากใช้ยาแล้วเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
การเก็บรักษายาไมโคนาโซล
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยาไมโคนาโซล
โดยทั่วไปเมื่อลืมใช้ยาไมโคนาโซล ให้รีบใช้ยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งต่อไป ให้ข้ามไปใช้ยาในครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาไมโคนาโซล
- สำหรับยาทา อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ถ้าใช้ยามากเกินไป ซึ่งจะหายไปหลังจากที่หยุดใช้ยาแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ เช่น เกิดอาการแพ้ ผื่นผิวหนัง ลมพิษ เกิดตุ่มที่ผิวหนัง ระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง เกิดผื่นแดง คัน แสบร้อน เป็นตุ่มพุพอง ผิวหนังลอกในบริเวณที่ทายา มีไข้ หรือทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ (ในกรณีที่รับประทานเข้าไปโดยอุบัติเหตุ อาจต้องทำการล้างท้องด้วยวิธีการอันสมควร)
- สำหรับยาทาภายในช่องปาก การใช้ยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน เป็นแผลในปาก การรับรสเปลี่ยนไป และท้องเสียได้ (ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษโดยเฉพาะ เนื่องจากยานี้มีการดูดซึมที่น้อย จึงไม่น่าจะมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและระบบอื่น ๆ ของร่างกาย)
- สำหรับยาเหน็บช่องคลอด อาจพบอาการปวดท้อง มีไข้ หรือมีกลิ่นภายในบริเวณช่องคลอดได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ครีมรักษาโรคเชื้อรา (Antifungel cream)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 307.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “MICONAZOLE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [24 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ไมโคนาโซล (Miconazole)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [24 ก.ย. 2016].
- ThaiRx. “DAKTARIN ORAL GEL”, “Daktarin cream”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thairx.com. [24 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)