ไมยราบยักษ์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไมยราบยักษ์ 13 ข้อ !

ไมยราบยักษ์

ไมยราบยักษ์ ชื่อสามัญ Giant sensitive[3], Maiyaraap ton[2]

ไมยราบยักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimosa pigra L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1]

สมุนไพรไมยราบยักษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้แฮด ไมยราบต้น (ภาคเหนือ), ฝีหมอบใหญ่ (ภาคอีสาน), พรม (ภาคกลาง), ไมยราบหลวง, จี่ยอบหลวง เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของไมยราบยักษ์

  • ต้นไมยราบยักษ์ เป็นพืชดั้งเดิมของอเมริกากลางและทางตอนเหนือในแถบประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา และภายหลังได้แพร่กระจายลงมายังทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา จนถึงทวีปเอเชีย เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ตามต้นมีหนามแหลมงองุ้มลงด้านล่างตลอดลำต้นและกิ่ง ปลายกิ่งย้อย เนื้อแข็งและเหนียว มักพบขึ้นเองในเขตร้อนชื้น ตามที่กว้าง ตามทุ่งหญ้า หุบเขา ริมถนนหนทาง และที่รกร้างทั่วไป[1],[2],[3]

ต้นไมยราบยักษ์

ไมยราบต้น

  • ใบไมยราบยักษ์ ใบเป็นใบประกอบ 3 ชั้น ก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบประกอบย่อยประมาณ 6-14 คู่ แต่ละใบประกอบมีใบประกอบย่อย 15-40 คู่ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน มีขนปกคลุมที่หลังใบ ส่วนท้องใบเรียบ[1]

รูปต้นไมยราบยักษ์

ใบไมยราบยักษ์

  • ดอกไมยราบยักษ์ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามยอดและตามซอกใบ ช่อดอกเป็นกระจุกกลม มีสีชมพูหรือสีม่วงอ่อน ดอกย่อยมีจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงหลอมรวมกันเป็นเส้น ปลายกลีบเลี้ยงแตกเป็นฝอย กลีบดอกรวมเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ มีก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกออกมาจำนวน 8 ก้าน[1]

ดอกไมยราบยักษ์

  • ผลไมยราบยักษ์ ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักมีรูปร่างแบน โค้งงอ ปลายฝักแหลม มีขนปกคลุม ช่อดอกหนึ่งจะติดฝักประมาณ 3-16 ฝัก ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 9-25 เมล็ด ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลดำ พอแก่จะแตกหลุดออกเป็นข้อ ๆ ทีละเมล็ด[1]

ฝักไมยราบยักษ์

ผลไมยราบยักษ์

เมล็ดไมยราบยักษ์

สรรพคุณของไมยราบยักษ์

  1. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย ชาวบ้านมักจะใช้ร่วมกับพืชชนิดอื่น ๆ แล้วนำมาต้มรวมกันเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน (ใบ,ทั้งต้น)[2]
  2. ต้นมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[2]
  3. ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ (ต้น)[2]
  4. ใบใช้ต้มหรือชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ใบ)[2]
  5. แพทย์ตามชนบททางภาคอีสาน จะใช้ทั้งต้นนำมาตากแห้งคั่วไฟต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ และขับน้ำนิ่วในไต (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  6. ใบมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย นำมาตำพอกเป็นยารักษาแผลเรื้อรังต่าง ๆ แผลฝีหนอง และแก้ปวดบวม (ใบ)[2]
  7. ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดข้อ (ต้น)[2]
  8. ทั้งต้นนำมาตากแห้งคั่วไฟต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคปวดหลัง (ทั้งต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของไมยราบยักษ์

  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์แสดงผลมี alkaloid (s) เป็นสารสำคัญ แต่ไม่มีผลในทางเป็น steroid[4]
  • จากการศึกษาผลการต้านจุลินทรีย์พบว่ายาผงสกัดชนิด spray dried และยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จากส่วนยอด ส่วนกลาง และส่วนรากของไมยราบยักษ์ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ S. aureus ที่มีความเข้มข้น 0.6% และที่ความเข้มข้น 5% จะสามารถยับยั้งการเจริญของ B. subtilis ได้[4]
  • ยาสกัด 50% แอลกอฮอล์จากส่วนรากไมยราบยักษ์สามารถยับยั้งการเจริญของ B. subtilis, P. aeruginosa, S. typhimurium และ S. brunii ได้[4]
  • นอกจากนี้สารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากส่วนกลางของลำต้นยังสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา T. rubrum ได้อย่างสมบูรณ์[4]

ประโยชน์ของไมยราบยักษ์

  1. ช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของตลิ่ง[5]
  2. ช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะสามารถช่วยตรึงไนโตรเจนได้[5]
  3. ใช้เป็นอาหารของสัตว์[5]
  4. ส่วนลำต้นสามารถนำมาใช้ทำรั้ว ไม้ค้ำ หรือใช้ทำฟืนได้[5]
  5. ใช้แปรรูปเป็นพลังงานทดแทนอัดแท่ง เป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการนำไมยราบยักษ์ที่เป็นวัชพืชมาอัดเป็นแท่งถ่าน ถ้าหากเปรียบเทียบกับถ่านไม้ทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาดจะเกิดอัตราการสิ้นเปลืองสูงและมอดเร็ว จึงมีการเปลี่ยนมาใช้ถ่านแท่งที่นำมาบดให้เป็นผงถ่าน แล้วผสมตัวประสานเพื่อให้เป็นถ่านอัดแท่งขึ้นมา ซึ่งในรูปแบบนี้จะทำให้อัตราการสิ้นเปลืองลดลงและประหยัดกว่า ซึ่งจากการทดสอบพบว่าประหยัดกว่าถ่านทั่วไปถึง 3 ส่วน[6]

วัชพืชไมยราบยักษ์

เมื่อปี พ.ศ.2490 ประเทศไทยได้มีการเข้านำเมล็ดไมยราบยักษ์จากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อมาปลูกเป็นพืชคลุมดินในไร่ยาสูบ ซึ่งไมยราบยักษ์ที่นำมาปลูกนั้นสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ตามแหล่งน้ำ และการคมนาคมขนส่ง จนเกิดการแพร่ระบาดของต้นไมยราบยักษ์ไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ทำให้ทางศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้มีการนำเข้าด้วงเจาะเมล็ดไมยราบยักษ์จากประเทศเม็กซิโก เพื่อใช้กำจัดและช่วยลดการแพร่กระจายของไมยราบยักษ์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม และให้ผลในการควบคุมระยะยาว[3]

ไมยราบยักษ์เป็นวัชพืชร้ายแรงในเขตที่ลุ่มและที่ชายน้ำทางภาคเหนือ เพราะขยายพันธุ์โดยเมล็ดได้ดี ในแต่ละปีจะมีการสร้างเมล็ดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมล็ดของไมยราบยักษ์สามารถพักตัวได้เป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อรอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการงอก จึงทำให้วัชพืชชนิดนี้แพร่กระจายไปได้ในหลาย ๆ พื้นที่ เมื่อเข้ายึดครองพื้นที่แล้วก็ยากที่พรรณไม้อื่นจะขึ้นผสมผสานกันได้ เพราะไมยราบยักษ์จะขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ทำให้พรรณพืชดั้งเดิมขาดแสงตายลงและค่อย ๆ สูญหายไปจากพื้นที่

ส่วนในด้านการป้องกันและกำจัดต้องทำการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการกำจัดตั้งแต่วัชพืชชนิดนี้ยังเล็ก โดยการขุดรากถอนโคน ส่วนการถางหรือการตัดออกจะไม่สามารถกำจัดวัชพืชชนิดนี้ได้ เพราะเป็นพืชล้มลุกคาบปี ออกดอกและติดเมล็ดจำนวนมาก เมื่อฝักแก่จะแตกออกและดีดตัวได้ ทำให้การกระจายพันธุ์มีประสิทธิภาพสูงมาก อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ก็ยังมีความแข็งแรงทนทานเพราะมีเปลือกแข็ง ส่วนวิธีการสุดท้ายก็ต้องใช้สารเคมีในการช่วยกำจัด หากพบเห็นก็ให้รีบป้องกันและกำจัดครับ พื้นที่จะได้ไม่ถูกวัชพืชร้ายแรงชนิดนี้บุกรุก

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ไมยราบยักษ์”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 129.
  2. โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.  “ไมยราบยักษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th.  [21 พ.ค. 2014].
  3. ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ.  “ด้วงเจาะเมล็ดไมยราบยักษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiocontrol.org.  [21 พ.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลการเกษตรของประเทศไทย.  “ประโยชน์ของไมยราบยักษ์ สารสกัดแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์”.  (ฉันทรา พูนศิริ, พุทธรินทร์ วรรณิสสร, ศศิธร วสุวัต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pikul.lib.ku.ac.th/agdb/.  [21 พ.ค. 2014].
  5. หน่วยงานในกรมชลประทาน ส่วนกลาง, กรมชลประทาน.  “ไมยราบยักษ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kromchol.rid.go.th.  [21 พ.ค. 2014].
  6. เดลินิวส์.  “ถ่านอัดแท่งไมยราบยักษ์ จากวัชพืชสู่พลังงานทดแทน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.  [21 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Carmen Beatriz Silveira Paixão Coelho, Andre Benedito, Siyang Teo, Scamperdale, Tony Rodd, Linda De Volder)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด