ไมยราบ
ไมยราบ ชื่อสามัญ Sensitive plant, Sleeping grass, Shameplant
ไมยราบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimosa pudica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mimosa hispidula Kunth, Mimosa pudica var. pudica) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
สมุนไพรไมยราบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระทืบยอด หนามหญ้าราบ (จันทบุรี), หงับพระมาย (ชุมพร), ก้านของ (นครศรีธรรมราช), ระงับ (ภาคกลาง), หญ้าปันยอด หญ้าจิยอบ (ภาคเหนือ), กะหงับ ด้านของหงับพระพาย (ภาคใต้), หญ้าปันยอบ กะเสดโคก หญ้างับ เป็นต้น
ลักษณะของไมยราบ
- ต้นไมยราบ มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาโดยกรมทางหลวงเพื่อนำมาใช้คลุมหน้าดิน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มักแผ่ทอดเลื้อยตามพื้นดิน บางครั้งจะสูงถึง 1 เมตร ต้นมีน้ำตาลแดง มีขนาดเล็ก และมีขนหยาบ ๆ ปกคลุมที่ลำต้น แกนก้านใบ ท้องใบ รวมไปถึงช่อดอก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
- ใบไมยราบ จัดเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น แกนกลางรวมกับก้านใบ มีความยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมี 1-2 ใบ มีความยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร โดยใบย่อยจะมีอยู่ประมาณ 12-25 คู่ ลักษณะคล้ายรูปขอบขนานหรือคล้าย ๆ รูปเคียวยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
- ดอกไมยราบ ออกดอกเป็นช่อกลมสีชมพู เป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ ออกที่บริเวณซอกใบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ดอกมีจำนวนมาก ไร้ก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.1 มิลลิเมตร กลีบดอกจะคล้ายกับรูประฆังแคบ มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกจะมนกลม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 4 อัน และมีรังไข่ยาวประมาณ 0.5 มิลลิกรัม
- ผลไมยราบ มีลักษณะเป็นฝักแห้ง แบน ยาวเรียว ฝักมีหลายฝักในแต่ละช่อดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ตรง และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร มีขนแข็งปกคลุมตามสันขอบผล ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดแบนเป็นสันนูนตรงกลาง หนึ่งผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ผลหักตามรอยคอด
ไมยราบ เป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะพิเศษ คือ หากได้รับแรงสั่นสะเทือน ก้านและใบก็จะตอบสนองด้วยการหุบตัวลงอย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลและมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผักกระเฉด
สมุนไพรไมยราบ ในปัจจุบันได้มีการนำไปศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน โดยจากงานวิจัยนี้เองก็เป็นตัวตอกย้ำภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยในสรรพคุณของไมยราบ และยังได้มีการยืนยันด้วยว่าการดื่มชาสมุนไพรตัวนี้ต่างน้ำทุกวันก็ไม่มีผลข้างเคียงหรือพิษใด ๆ เลย แม้กระทั่งในสัตว์ทดลองก็ไม่พบถึงอาการผิดปกติแต่อย่างใด นอกจากนี้ไมยราบยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนที่นำมาใช้ก็ได้แก่ ต้น ราก ใบ และทุกส่วนของต้น (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล)
สรรพคุณของไมยราบ
- ช่วยบำรุงร่างกาย (ทั้งต้น)
- ต้นแห้งนำมาต้มกับน้ำกินช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ (ต้น)
- ไมยราบทั้งต้นนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาตากจนแห้งสนิทและนำมาต้มกินต่างน้ำ สามารถช่วยรักษาโรคกษัยได้ (โรคกษัย คือ โรคสังขารเสื่อม ซูบซีด ผอมแห้งแรงน้อย เบื่ออาหารง่าย มีอาการเจ็บปวดเมื่อยตามตัว โลหิตจาง) (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้เบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะสารสกัดน้ำจากต้นและรากของไมยราบขนาด 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสามารถออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลได้เทียบเท่ากับการใช้ยามาตรฐานโทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักตัว โดยจะออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 5 ชั่วโมง
- ทุกส่วนของต้นนำมาหั่นแล้วคั่วโดยใช้ไฟอ่อน ๆ จะมีกลิ่นหอม สามารถนำไปชงดื่มแทนชา ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยขับโลหิต (ต้น)
- ช่วยแก้เด็กเป็นตานขโมย (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ตานซางในเด็กเล็ก (ทั้งต้น)
- ช่วยในการระงับประสาท (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (ทั้งต้น)
- ช่วยทำให้สงบประสาท (ทั้งต้น)
- ช่วยทำให้ตาสว่าง (ราก)
- ช่วยแก้อาการตาบวม ตาเจ็บ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ไข้ออกหัด (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการไอ (ราก)
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (ราก)
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร (ราก)
- ช่วยแก้อาการบิด ท้องร่วง (ราก)
- ช่วยแก้กระเพาะอาหารอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ปัญหาระบบย่อยอาหารของเด็กไม่ดีได้ (ราก)
- ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ต้น, ทั้งต้น)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้นิ่ว ขับนิ่ว (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)
- ช่วยแก้ไส้เลื่อน ด้วยการนำทุกส่วนของต้นมาต้มกิน (ทั้งต้น)
- ช่วยขับระดูขาว (ต้น, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคปวดเวลามีประจำเดือน (ราก)
- ช่วยแก้ไตพิการ (ต้น, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้เริม (ใบ)
- ช่วยแก้อาการงูสวัด (ใบ)
- ช่วยแก้ไฟลามทุ่ง (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคพุพอง (ใบ)
- ช่วยรักษาแผลเรื้อรังต่าง ๆ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการผื่นคันตามตัว (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้แผลฝี (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาแผลฝีหนอง (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดข้อได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการบวมตามเนื้อตามตัว (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอว หรือจะนำมาผสมกับดอกคำฝอย ใบเตยหอม ใบหม่อน ทองพันชั่ง โดยใช้ไมยราบเป็นตัวยาหลักในการต้มดื่มเพื่อสุขภาพและช่วยแก้อาการปวดหลังได้ (ทั้งต้น)
- ใบไมยราบนำมาตำพอกช่วยแก้อาการปวดบวมได้ (ใบ)
- ช่วยแก้หัด (ทั้งต้น)
- ช่วยขับน้ำนม (ทั้งต้น)
- สารบริสุทธิ์สกัดจากต้นของไมยราบ สามารถนำมาใช้ทำเป็นโทนเนอร์เช็ดหน้าหลังอาบน้ำ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวและทำความสะอาดผิวหน้าได้อีกด้วย (สารสกัดจากต้น)
ประโยชน์ของไมยราบ
- ประโยชน์ของต้นไมยราบ ดั้งเดิมก็คือการนำมาใช้ปลูกเพื่อคลุมหน้าดิน แต่ก็ยังมีประโยชน์อีกหลากหลายด้าน โดยมีการใช้ลำต้นไมยราบนำมาใช้ทำเป็นรั้วบ้าน ไม้ค้ำผัก หรือนำมาใช้ทำเป็นฟืน หรือใช้เผาถ่านเพื่อประกอบอาหาร รวมไปถึงการใช้ไมยราบสุมไฟให้วัวให้ควาย เพื่อขับไล่ยุง ริ้น ไร ในช่วงพลบค่ำได้อีกด้วย
- นอกจากนี้ประโยชน์ไมยราบด้านอื่น ๆ คือการนำลำต้นของไมยราบมาดัดทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ เช่น การทำกรอบรูป การทำเป็นกระถางต้นไม้ในรูปแบบต่าง ๆ เพราะต้นไมยราบเป็นไม้ที่ดัดง่าย สามารถดัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ จะใช้ทำเป็นกระเช้าหรือกระถางใส่กล้วยไม้ หรือไม้ดอกไม้ประดับ รวมไปถึงโครงกระเป๋าต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สารานุกรมพืชในประเทศไทย (The Encyclopedia of Plants in Thailand), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ (เต็ม สมิตินันทน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เว็บไซต์มูลนิธิสุขภาพไทย, เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), www.gotoknow.org (คุณอานนท์ ภาคมาลี), www.jamrat.net (จำรัส เซ็นนิล)
ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (คุณ George), www.the-than.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)