ไดเฟนไฮดรามีน
ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า เบนาดริล (Benadryl), โคไดเฟน (Codiphen) จัดเป็นยาแก้แพ้ในกลุ่มเอทาโนลามีน (Ethanolamine) ถูกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ของร่างกาย อาการไอ และใช้ป้องกันและรักษาอาการเมารถ เมาเรือ นอกจากนี้ผลข้างเคียงของยาไดเฟนไฮดรามีนยังทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงมีการนำยานี้มาใช้ในการช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
ยาไดเฟนไฮดรามีนถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทยและจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
ตัวอย่างยาไดเฟนไฮดรามีน
ยาไดเฟนไฮดรามีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอลเลอดริล (Allerdryl), แอนตี้พรู โลชั่น (Antipru Lotion), เอราคาฟ (Aracaf), เบมาดริน แคปซูล (Bemadrin capsule), เบนาดริล (Benadryl), Benadryl cough syrup (เบนาดริล คอฟ ไซรัป), เบนิลิน ซีดี (Benylin CD), บรอนโคเพรก (Bronchoprex), คาบานา (Cabana), คาดินิล (Cadinyl), คาดรามาย-วี โลชั่น (Cadramine-V lotion), คาลอไรน์ (Caloryne), โคไดเฟน แท็บเล็ต (Codiphen tablet), โคลดานิล (Coldanyl), ไดเฟน 50 แคปซูล (Diphene 50 capsules), ไดเฟนดริล เอ็กเป็คทอแรนท์ (Diphendryl expectorant), ไดเฟนไฮดรามีน แคปซูล (Diphenhydramine capsule), ฮิสทิดัล (Histidal), ฮิสโทดริล (Histodryl), เม-ไดดรามีน แท็บเล็ต 25 มิลลิกรัม (Me-didramine tablet 25 mg.), พามิน-25 แคปซูล (Pamin-25 capsules), พามิน-50 แคปซูล (Pamin-50 capsules), พามิน-25 แท็ปเล็ต (Pamin-25 tablets), พามิน-50 แท็ปเล็ต (Pamin-50 tablets), เฟนเมด แคปซูล (Phenmed capsules), เอส-เลปซี่ (S – lepzy), เซได แคปซูล (Sedi capsules), เซดาแทป (Sedatab), ทัสโซดริล แคปซูล (Tussodryl capsules), ยูเมดา คาลาไมน์- ดี (Umeda Calamine-D) ฯลฯ
รูปแบบยาไดเฟนไฮดรามีน
- ยาแคปซูล ขนาดความแรง 12.5, 25 และ 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำเชื่อม ขนาด 6.25, 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
- ยาฉีด 10 และ 50 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
- ยาครีม/ยาโลชั่นสำหรับทาผิว
สรรพคุณของยาไดเฟนไฮดรามีน
- ใช้รักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ภูมิแพ้ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือไข้ละอองฟาง (มีสาเหตุมาจากการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง หรือสารอื่นในอากาศ ทำให้มีอาการคันจมูกหรือคันคอ คัดจมูกหรือแน่นจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ ไหล ตาแดง บวม และน้ำตาไหล) เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ การแพ้อาหาร ยุง แมลง ยาหรือน้ำเกลือ เป็นต้น (โดยเฉพาะในการรักษาลมพิษจะได้ผลดี)[1],[2],[4],[5]
- ใช้เป็นยาแก้ภาวะแพ้รุนแรง[1]
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการคัน (Pruritus)[2] อาการคันจากแมลงกัด[5]
- ใช้เป็นยาระงับอาการไอ (Cough) ที่มีสาเหตุมาจากการระคายคอ หรือทางเดินหายใจเล็กน้อย (เฉพาะสำหรับอาการไอแบบแห้ง ๆ)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ[1],[6] เมารถ เมาเรือ[2],[3],[4] และอาการแพ้ท้องได้[1],[6]
- ใช้แก้อาการลิ้นแข็ง ขากรรไกรแข็ง (Extrapyramidal syndrome – EPS) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยา เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metochopramide), อะมิทริปไทลิน (Amitriptyline)[1],[2]
- อาจนำมาใช้ในการลดอาการเกร็งและสั่นสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันได้[5],[6]
- ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เพียงพอ (Insomnia)[2] ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น[5]
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร[4]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดเฟนไฮดรามีน
ยาไดเฟนไฮดรามีนจะออกฤทธิ์โดยการไปจับกับตัวรับที่ตอบสนองต่อสารฮิสตามีนในร่างกาย (Histamine H1-receptor) ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ผนังหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้อาการแพ้ต่าง ๆ บรรเทาลง
ส่วนการศึกษาทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Phamacokinetics) พบว่า ยาไดเฟนไฮดรามีนจะจับตัวกับโปรตีนในเลือดประมาณ 98-99% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละวัย โดยในเด็กจะต้องใช้เวลาในการกำจัดยาประมาณ 8 ชั่วโมง ส่วนในผู้ใหญ่จะต้องใช้เวลาประมาณ 9-12 ชั่วโมง และในผู้สูงอายุจะต้องใช้เวลาประมาณ 17 ชั่วโมง ยาที่ถูกกำจัดออกจากทางร่างกายนี้จะผ่านไปกับปัสสาวะประมาณ 94% และกับอุจจาระประมาณ 6%[3]
ก่อนใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดเฟนไฮดรามีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือส่วนประกอบใด ๆ ของยานี้ และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไดเฟนไฮดรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น) เช่น
- การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น ทามอกซิเฟน (Tamoxifen) ยาไดเฟนไฮดรามีนจะลดประสิทธิภาพการบำบัดรักษาของยาทามอกซิเฟนลงได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายไป
- การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนร่วมกับยากลุ่มที่ให้เกลือแร่โพแทสเซียมกับร่างกายชนิดรับประทาน เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และอาจพบอาการอื่นติดตามมา เช่น วิงเวียนศีรษะ เลือดออกภายในกระเพาะอาหาร อุจจาระมีสีดำคล้ำ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและปรับแนวทางการใช้ยาในผู้ป่วยโดยเร็ว
- การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนร่วมกับยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เพิ่มขึ้น
- การใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงนอนมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามรับประทานร่วมกัน
- การมีหรือมีโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง และโรคปอดอื่น ๆ โรคต้อหิน การบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะหรือลำไส้ ลำไส้อุดตัน ปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากต่อมลูกหมากโต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษหรือต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคลมชัก
- หากได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำหรืออาหารอื่น ๆ เนื่องจากเภสัชภัณฑ์ที่เป็นยาน้ำส่วนใหญ่จะมีน้ำตาลและแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และยากลุ่มเอทาโนลามีน (Ethanolamine) ตัวอื่น เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการหอบหืดกำเริบ
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
- ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกเกิด ทารกคลอดก่อนกำหนด และหญิงให้นมบุตร (เนื่องจากยานี้สามารถขับออกทางน้ำนมได้ในปริมาณเล็กน้อยประกอบกับการที่เด็กทารกจะไวต่ออาการไม่พึงประสงค์ของยาได้มากกว่าผู้ใหญ่ จึงอาจทำให้เกิดอาการกระตือรือร้นมากผิดปกติหรือกระสับกระส่ายในเด็กที่ได้รับนมจากมารดา และอาจทำให้สารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกายมารดาลดลง มีอัตราการไหลของน้ำนมลดลง)
- โดยทั่วไปยานี้จะใช้เฉพาะกับผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปเท่านั้น ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังในการใช้ยานี้ในเด็กอายุ 6-11 ปีด้วย ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปีจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น[4]
- ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมีเสลด เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หืด เป็นต้น เพราะอาจทำให้เสมหะหรือเสลดเหนียวและขับออกได้ยาก[1]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ (ไม่ควรใช้ยาหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร) ในผู้ป่วยโรคลมชัก, โรคหอบหืด, โรคต้อหิน (เพราะยานี้อาจมีผลทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้น), ลำไส้อุดตัน, โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ปัสสาวะลำบากเนื่องจากต่อมลูกหมากโต (เพราะยานี้อาจทำให้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะรุนแรงขึ้น)[5],[6]
- แม้ยานี้จะปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ (จัดอยู่ในกลุ่ม B ค่อนข้างจะปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์) แต่หญิงตั้งครรภ์ก็ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก หรือหญิงที่คาดว่าจะตั้งครรภ์[5]
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาไดเฟนไฮดรามีนร่วมกับยาแก้แพ้อื่น ๆ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทหรือยาคลายเครียด ยาแก้ซึมเศร้า ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาสลบ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากขึ้นได้[1]
- ควรหลีกเลี่ยงขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคมหลังการรับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ และตาพร่ามัวได้ ถ้าหากมีอาการง่วงนอน ให้หยุดทำงานเหล่านี้จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา[1]
วิธีใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน
- สำหรับแก้อาการเมารถ เมาเรือ (Motion sickness) ในผู้ใหญ่ให้ฉีดยาเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 10-50 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ (ในกรณีที่จำเป็นอาจเพิ่มเป็นครั้งละ 100 มิลลิกรัม) แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 37.5 มิลลิกรัม) ส่วนเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 75 มิลลิกรัม) และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) สำหรับการใช้ป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ ให้รับประทานยานี้ก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที และอาจให้ยาซ้ำทุก 6 ชั่วโมง[2],[3][4]
- สำหรับอาการลิ้นแข็ง ขากรรไกรแข็ง (Extrapyramidal syndrome) ในผู้ใหญ่ให้ฉีดยาเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 10-50 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ (ในกรณีที่จำเป็นอาจเพิ่มเป็นครั้งละ 100 มิลลิกรัม) แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง[2],[3]
- สำหรับแก้อาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่เพียงพอ (Insomnia) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาในขนาด 25-50 มิลลิกรัมก่อนเข้านอน[2]
- สำหรับบรรเทาอาการไอ (Cough) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 37.5 มิลลิกรัม) ส่วนเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 75 มิลลิกรัม) และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม)[2]
- สำหรับโรคหวัด (Cold symptoms) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 37.5 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 12.5-25 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) และในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม)[2]
- สำหรับอาการคัน (Pruritus) และลมพิษ (Urticaria) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม)[2]
- สำหรับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 37.5 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 12.5-25 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) และในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม)[2]
- สำหรับอาการแพ้ (Allergic reaction) ในเด็กอายุ 1-12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งขนาดการรับประทานยาให้เท่ากันทุกครั้ง และรับประทานยาทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง (สูงสุดไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม)[2]
- สำหรับป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กให้รับประทานยาครั้งละ 1-1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการเช่นกัน[6]
- สำหรับโรคพาร์กินสัน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เมื่อเริ่มการรักษา แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาให้ทีละน้อยเมื่อจำเป็น[6]
คำแนะนำในการใช้ยาไดเฟนไฮดรามีน
- ยานี้สามารถรับประทานก่อน (ในขณะท้องว่าง) หรือหลังอาหารก็ได้ และหลังรับประทานยาให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว
- โดยทั่วไปยานี้จะให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน หรือทุก 6 ชั่วโมง หรือตามอาการที่เป็น หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยา หรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่มากกว่าหรือบ่อยกว่าที่ระบุไว้ เพราะอาจทำให้โอกาสของการเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4],[5],[6]
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการปาก จมูก หรือคอแห้งได้ การอมลูกกวาดที่ไม่หวานนัก การอมน้ำ ก้อนน้ำแข็ง หรือการดื่มน้ำจะช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงนี้ได้[5]
- หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
- ก่อนทำการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง โปรดแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบทุกครั้งว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากยาไดเฟนไฮดรามีนอาจรบกวนผลการทดสอบได้
- ยานี้อาจบดบังผลของการได้รับยาแอสไพริน (Aspirin) เกินขนาด เช่น อาการได้ยินเสียงในหู โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
- ยานี้มีสรรพคุณช่วยควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาจทำให้บดบังอาการแสดงของการได้รับยาเกินขนาดของยาอื่น ๆ หรืออาการของโรคไส้ติ่งอักเสบได้ จึงทำให้การวินิจฉัยภาวะเหล่านี้เป็นไปได้ยาก หากกำลังรับประทานยานี้อยู่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย และถ้ามีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง เกร็งหรือเจ็บปวด หรือสงสัยว่าอาจรับประทานยานี้เกินขนาด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
- หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ตื่นเต้น นอนไม่หลับ (พบได้บ่อยในเด็ก) เวียนศีรษะหรือหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม มองเห็นภาพไม่ชัดหรือมีปัญหาในการใช้สายตา การเต้นของหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หรือเจ็บแน่นหน้าอก ปัสสาวะลำบาก มีอาการเจ็บในขณะปัสสาวะ กล้ามเนื้อหรือใบหน้าเกิดการเกร็งกระตุก ลมชัก[4]
- หากเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ซึ่งมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการบวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น และมีผื่นขึ้นตามตัว ให้หยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที[5]
การเก็บรักษายาไดเฟนไฮดรามีน
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
- ห้ามเก็บยารูปแบบน้ำเชื่อมในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
เมื่อลืมรับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน
โดยทั่วไปยาไดเฟนไฮดรามีนจะใช้รับประทานเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมรับประทานยาจึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่หากแพทย์ระบุให้รับประทานยานี้เป็นประจำแล้วลืมรับประทานยา ให้รับประทานยานี้ในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาไดเฟนไฮดรามีน
- อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว ปาก จมูก หรือคอแห้ง คัดจมูก หงุดหงิด ใจสั่น มือสั่น ความดันโลหิตต่ำ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหาร รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องปั่นป่วน ท้องเดินหรือท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ลมพิษ ผื่นคัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ[1],[3],[4],[5]
- ผลข้างเคียงที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะจะหายไปเองในระหว่างการรักษา เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา (แต่หากเกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์) อาการที่พบบ่อย คือ ง่วงซึม, คลื่นไส้, ปวดศีรษะ, ปาก จมูก หรือคอแห้ง, น้ำมูกเขียวข้น, ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือน้ำหนักตัวเพิ่ม ส่วนอาการที่พบได้น้อยหรือน้อยมาก คือ วิงเวียนศีรษะ, ตาพร่าหรือการมองเห็นผิดปกติไป, ฝันร้าย, ได้ยินเสียงในหู, หัวใจเต้นเร็ว, อ่อนล้า, เหงื่อออกมากขึ้น, มีไข้, อาเจียน, ระคายเคืองในทางเดินอาหาร, กระเพาะอาหารเป็นกรด, เรอ, แสบยอดอก, ไอ, เสียงแหบ, น้ำมูกไหล, ต่อมที่คอบวม, ไม่สบายท้อง, ปวดท้อง, ท้องผูก, ท้องร่วง, อาหารไม่ย่อย, ไม่อยากอาหาร, ปัสสาวะลำบากหรือแสบขัด, ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติ, ปวดท้องมากตอนมีประจำเดือน, ภาวะน้ำคั่งในร่างกาย, ปวดตามร่างกาย, เคลื่อนไหวลำบาก, เดินไม่มั่นคงหรือทำอะไรงุ่มง่าม, ปวดข้อ, ข้อบวม, ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ, ผื่นผิวหนัง, ผิวไวต่อแสง, สั่น, ตื่นเต้นผิดปกติ, กระวนกระวายอยู่ไม่นิ่งหรือควบคุมตัวเองไม่ได้[6]
- ผลข้างเคียงที่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร (พบได้น้อยหรือน้อยมาก) คือ เจ็บคอ, เหนื่อยล้าหรืออ่อนแรงมากผิดปกติ, มีจ้ำเลือดหรือมีเลือดออกมากผิดปกติ[6]
- ผลข้างเคียงที่ควรไปพบแพทย์ทันที (พบได้น้อยหรือน้อยมาก) คือ มีไข้, ไอ, ปวดศีรษะ, วิงเวียนศีรษะ, เปลือกตา รอบตา ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม, กลืนลำบาก, แน่นหน้าอก, หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ, หายใจสั้น, หายใจมีเสียงหวีด, ท้องร่วง, ปวดท้องหรือกระเพาะอาหาร, แสบร้อน, สั่น, อุจจาระมีสีคล้ายดินหรือปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น, มีผื่นที่ผิวหนัง, ลมพิษ, ผิวหนังแดง, มีความรู้สึกเหมือนมีอะไรทิ่มผิวหนังอยู่ตลอดเวลา, ปวดเหมือนถูกเข็มทิ่ม, เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียมากผิดปกติ, ชัก[6]
- หากได้รับยานี้เกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน, ขาดสติ, ชัก, นอนหลับยาก, ง่วงซึมอย่างรุนแรง, ปาก จมูก คอแห้งอย่างรุนแรง, หน้าแดง, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, หายใจสั้นหรือหายใจลำบาก, หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ, ภาวะการหายใจล้มเหลว, เดินไม่มั่นคงหรือทำอะไรงุ่มง่าม, เกิดภาวะกล้ามเนื้อถูกทำลาย (มีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อมาก)[3],[6]
- ในเด็กเล็กที่ใช้ยานี้ในขนาดมากเกินไป อาจทำให้นอนไม่หลับ กระตือรือร้นมากผิดปกติหรือกระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่งหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือชัก[1],[6]
- ในผู้สูงอายุมักไวต่อฤทธิ์ของยาไดเฟนไฮดรามีน อาจทำให้เกิดอาการสับสน มึนงง ง่วงซึม ปากแห้ง ปัสสาวะลำบากและเจ็บ หรืออาจมีอาการฝันร้ายหรือกระตือรือร้นมากผิดปกติ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือหงุดหงิดได้[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 265-266.
- Drugs.com. “Diphenhydramine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [07 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ เบนาดริล (Benadryl)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [07 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “DIPHENHYDRAMINE HYDROCHLORIDE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [07 พ.ย. 2016].
- Siamhealth. “ยาแก้แพ้ Diphenhydramine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [07 พ.ย. 2016].
- Healthy.in.th. “Diphenhydramine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.healthy.in.th. [08พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)