ไซนัสอักเสบ
ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศเล็ก ๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบ ๆ จมูก ซึ่งมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกอยู่หลายจุดทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
โดยไซนัสมีหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่หายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยปรับเสียงพูด ช่วยในการรับรู้กลิ่น และสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก ภายในเยื่อบุโพรงไซนัส (โพรงอากาศ) จะมีขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายเอาเมือก (เสมหะหรือน้ำมูก) ออกมา ซึ่งในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดเหล่านี้ถูกอุดกั้น เช่น จากการเป็นหวัด (เยื่อบุจมูกและไซนัสอักเสบบวม) การติดเชื้อหรือภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีริดสีดวงจมูก ก็จะทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายเมือกออกมาได้ เมือกเหล่านี้จึงเกิดการหมักหมมจนกลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ลุกลามมาจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส จึงทำให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก และมีการสร้างและสะสมของเมือกมากขึ้น กลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัสทำให้เกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) แบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน (มีอาการน้อยกว่า 30 วัน) ชนิดกึ่งเฉียบพลัน (มีอาการอยู่ระหว่าง 30-90 วัน) และชนิดเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 90 วัน) โดยการอักเสบอาจเกิดกับไซนัสได้ทุกตำแหน่ง ได้แก่ ไซนัสข้างตา (Ethmoid sinus), ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus), ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) และไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (Sphenoidal sinus) แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดที่บริเวณโหนกแก้ม
ไซนัสอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะตัวส่วนบุคคลที่สามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้น และพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยพบได้ประมาณ 3-5% ของผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกหู คอ จมูก ส่วนใหญ่มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis), โรคเยื่อจมูกอักเสบ (Purulent rhinitis), ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น และผู้ป่วยอาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
โดยทั่วไปมากกว่า 0.5% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัดจะมีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบตามมา ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือโรคหืดจะมีไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40-50%
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) มักเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (หวัดภูมิแพ้) โดยเชื้อที่ทำให้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด (ทำให้มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล นานกว่า 7-10 วัน และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่) เชื้อแบคทีเรีย (ส่วนใหญ่ ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) และส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ซึ่งถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยเอดส์มักมีอันตรายร้ายแรง สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่พบได้ คือ
- โรคหวัดเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสได้
- โรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการคันในจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ทำให้ต้องขยี้จมูกและสั่งน้ำมูกอยู่บ่อย ๆ ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้ไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น
- การติดเชื้อของฟัน โดยเฉพาะฟันกรามน้อยและฟันกรามด้านบน โดยทั่วไปพบว่าประมาณ 10% ของการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มจะมีสาเหตุมาจากฟันผุ เพราะผนังด้านล่างของไซนัสบริเวณนี้จะติดกับรากฟัน บางรายจะแสดงอาการชัดเจนภายหลังที่ไปถอนฟันมาแล้วเกิดรูทะลุระหว่างไซนัสโหนกแก้มและเหงือกขึ้น (Oroantral Fistula)
- โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรน โรคหัด
- เป็นผู้ที่ชอบใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาพ่นจมูกบางตัวจะทำให้เกิดภาวะติดยาและเยื่อจมูกบวมเรื้อรังได้ และยังทำให้ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลงอีกด้วย
- มีความผิดปกติของโพรงหลังจมูก เช่น เป็นริดสีดวงจมูก, เนื้องอกในจมูก, ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก (เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ) ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ง่ายเช่นกัน
- การสูบบุหรี่จัดหรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ เพราะจะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง จึงมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้มากขึ้น
- การว่ายน้ำบ่อย ๆ หรือดำน้ำลึก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและไซนัสได้ และอาจมีเชื้อโรคเข้าไปด้วยจนทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ สารคลอรีน (Chlorine) ในสระว่ายน้ำ ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุไซนัสได้ด้วยเช่นกัน
- การกระทบกระแทกที่บริเวณใบหน้าอย่างแรง เพราะอาจทำให้ไซนัสโพรงใดโพรงหนึ่งแตกหัก ช้ำบวม หรือมีเลือดออกภายในโพรง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา
- การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบ ๆ ตัวแบบทันที (Barotrauma หรือ Aerosinusitis) เช่น ในขณะที่เครื่องบินขึ้นหรือลงจอด หรือจากการดำน้ำลึก เป็นต้น ถ้ารูเปิดของไซนัสในขณะนั้นบวมอยู่ เช่น กำลังเป็นหวัด หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้กำเริบ ก็จะส่งผลให้เยื่อบุบวมมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการหลั่งสิ่งคัดหลั่งออกมาหรือมีเลือดออกได้ และก่อให้การอักเสบขึ้นได้ ซึ่งพบบ่อยที่ไซนัสหน้าผาก
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน (Anaerobic bacteria), สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae), เคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae), กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative bacteria) และบางครั้งอาจมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่มักทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังอันเนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา (Allergic fungal sinusitis) ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนี้มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้แก่
- การไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอในขณะที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันดังที่กล่าวมา ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเองที่ขาดการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนซ้ำซาก
- การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด
- การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ทำให้เยื่อบุจมูกบวม, โรคริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส, ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), มีเดือยหรือกระดูกงอกที่ผนังกั้นช่องจมูก (Septal spur), ผนังด้านข้างของโพรงจมูกโค้งงอผิดรูป (Paradoxical turbinate), การมีเซลล์ผิดปกติขนาดใหญ่ในผนังด้านข้างของจมูก เรียกว่า เซลล์อากาศ (Air cell) ทำให้ผนังดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจนก่อให้เกิดการอุดตันรูเปิดของโพรงอากาศ, ต่อมอะดีนอยด์โตหรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเด็กเป็นเวลานาน ๆ เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ, เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่สายให้อาหารทางจมูกอยู่เป็นเวลานาน
- การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้ขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายสิ่งคัดหลั่งออกข้างนอกเสียไป จึงเกิดการสะสมของสิ่งคัดหลั่งในไซนัส ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ เช่น ในภาวะหลังเป็นโรคหวัด
- เป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux – LPR)
- เป็นโรคทางทันตกรรมเรื้อรัง
- มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือลดลง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้มีภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร มีอารมณ์แปรปรวน มีความเครียดสูง เป็นต้น
- มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบวมของเยื่อบุจมูก เยื่อบุไซนัส และรูเปิดไซนัสบวม ทำให้มีสิ่งคัดหลั่งสะสมอยู่ในไซนัสและก่อให้เกิดการติดเชื้อ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคไซนัสอักเสบรุนแรงขึ้น คือ การมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่โดยสรุป คือ
- ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอในขณะที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
- การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่
- เยื่อบุจมูกบวมเนื่องจากเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ต่อมอะดีนอยด์โตหรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเป็นเวลานาน ๆ, เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่สายให้อาหารทางจมูกเป็นเวลานาน, การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้ขนอ่อน (Cilia) เสียหาย (เช่น ในภาวะหลังโรคหวัด) ฯลฯ
- เป็นผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ขาดสารอาหาร ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ผู้มีภาวะโลหิตจาง
- มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้
อาการของไซนัสอักเสบ
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบ ๆ กระบอกตา หลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึกคล้ายปวดฟันตรงซี่บน โดยอาจปวดเพียงข้างเดียวหรือปวดทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งจะเป็นอาการปวดแบบตื้อ ๆ หรือหน่วง ๆ บางครั้งจะมีอาการมึนศีรษะร่วมกับอาการปวด และอาการปวดมักจะเป็นมากขึ้นในช่วงเช้าหรือบ่ายและเวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูกอยู่ตลอดเวลา พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ทำให้ต้องคอยสูดหรือขากออก และอาจมีไข้ (บางรายอาจมีไข้สูงจนหนาวสั่น ในขณะที่มีไข้สูงก็จะมีอาการปวดศีรษะและปวดบริเวณใบหน้าร่วมด้วย) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอเรื้อรังเป็นเวลานาน เจ็บคอ ระคายคอ เสียงแหบ ปวดหู หูอื้อ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
- ในผู้ป่วยเด็กมักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ แต่มักมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือ มีน้ำมูกใสหรือข้นเป็นหนอง และมีอาการไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำ ๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย ในเด็กบางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนจะสังเกตเห็นอาการบวมรอบ ๆ ตา นอกจากนี้ในเด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืดก็ควรนึกถึงโรคไซนัสอักเสบไว้ด้วย
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ส่วนในเด็กมักมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนหรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก เด็กบางรายอาจมีไซนัสอักเสบเฉียบพลันกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง และแต่ครั้งจะนานกว่า 10 วัน
ภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบในระยะเริ่มแรกและมีอาการน้อย เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ และมักไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบดังกล่าว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มักจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น
- ลำคอและกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังจากการที่หนองไหลลงลำคอต่อเนื่อง
- อาจทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media), หลอดลมอักเสบ (Bronchitis), ปอดอักเสบ (Pneumonia), หนังตาบวม, เนื้อเยื่อรอบตาอักเสบ (Orbital cellulitis), ฝีรอบกระบอกตา (Orbital abscess), กระดูกอักเสบเป็นหนอง (Osteomyelitis), การอักเสบของเยื่อบุคอเรื้อรัง
- การอักเสบอาจทะลุมาที่ผิวหนังจนเกิดเป็นช่องติดต่อระหว่างผิวหนังกับไซนัสได้
- โรคแทรกซ้อนที่เกิดบริเวณฟันมักเกิดขึ้นตามหลังการถอนฟันกรามน้อย โดยเกิดรูทะลุเข้าไปในไซนัสทำให้มีหนองระบายออกมาจากรูที่ถอนฟัน
- ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจพบได้คือ (แต่พบได้น้อย) คือ ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis), ฝีในสมอง (Brain abscess), ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดในสมอง (Cavernous/Saggital sinus thrombosis) เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้โรคหืดกำเริบรุนแรง หรือเป็นถุงน้ำเมือก (Mucocele) ในไซนัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของสิ่งคัดหลั่งเป็นเวลานาน ถุงน้ำเมือกอาจกดทำลายกระดูกที่เป็นหนังของโพรงไซนัสให้บางลง หรือทะลุกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน มักเกิดกับไซนัสบริเวณหน้าผาก (Frontal sinus)
- ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักเกิดในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบได้จาก
- การซักประวัติอาการที่แสดงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปในหัวข้ออาการของไซนัสอักเสบ
- การตรวจร่างกาย ได้แก่
- ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักตรวจพบเยื่อบุจมูกมีลักษณะบวมแดง อาจพบมีหนองหรือมูก เคาะหรือกดตรงบริเวณไซนัสที่อักเสบจะรู้สึกเจ็บ (เช่น ที่หน้าผาก หัวตา ใต้ตา หรือโหนกแก้ม) ซึ่งมักจะพบเพียงข้างเดียว และผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักตรวจพบเยื่อบุจมูกมีลักษณะบวมแดง คอหอยแดง มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว อาจตรวจพบอาการเคาะหรือกดเจ็บบริเวณไซนัสที่อักเสบ ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือริดสีดวงจมูก ทั้งนี้ในไซนัสอักเสบเรื้อรังมักไม่มีอาการกดเจ็บอย่างชัดเจน ยกเว้นในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน
- การตรวจพิเศษอื่น ๆ ได้แก่
- การตรวจเพื่อดูการผ่านทะลุของแสง (Transillumination test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มและหน้าผาก ถ้าไซนัสไม่มีแสงสว่างผ่านลอดไปได้เลยจะช่วยบอกว่ามีโรคได้อย่างแม่นยำ แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี การตรวจวิธีนี้มักไม่ได้ผลเพราะเยื่อบุและผนังกระดูกของเด็กที่ล้อมไซนัสมักจะหนากว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้แสงทะลุผ่านไม่ได้
- การตรวจภาพไซนัสด้วยอัลตราซาวนด์ (Ultrasonography) ใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยไซนัสที่โหนกแก้ม (ใช้ได้ผลดีเฉพาะกับการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มเท่านั้น และยังให้ผลการตรวจวินิจฉัยที่ไม่ละเอียดเพียงพอ)
- การถ่ายภาพไซนัสด้วยการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งต้องกระทำทุกรายในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ เพื่อใช้ยืนยันตำแหน่งของไซนัสที่อักเสบ บอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ บอกถึงระยะเวลาว่าเป็นการอักเสบที่เกิดใหม่หรือเป็นเรื้อรังมานานแล้ว และใช้เป็นการติดตามผลการรักษา ซึ่งการถ่ายภาพเอกซเรย์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ การถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่ยังบอกรายละเอียดได้ไม่มาก และอีกวิธีหนึ่งคือ การถ่ายภาพไซนัสด้วยการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาพยาธิสภาพของไซนัสในปัจจุบัน เพราะสามารถตรวจหารายละเอียดได้มาก และอาจบอกถึงสาเหตุของการอุดตันบริเวณรูเปิดไซนัสได้ด้วย แต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจยังค่อนข้างแพงพอสมควร
- การถ่ายภาพไซนัสด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อแยกก้อนเนื้อหรือถุงน้ำออกจากของเหลว
- การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal endoscopy)
- การเจาะไซนัส (Antral puncture) ใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยไซนัสที่โหนกแก้ม
- การตรวจโดยใช้กล้องส่องในจมูกด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Sinuscope ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดเล็กมากที่ใช้ส่องเข้าไปในจมูก ซึ่งจะทำให้พบหนองในจมูกและบางครั้งอาจบอกถึงตำแหน่งที่เกิดการอักเสบหรือบอกสาเหตุของการอุดตันของรูเปิดไซนัส และบางครั้งแพทย์จะต่อเครื่องมือเข้ากับโทรทัศน์เพื่อให้ผู้ป่วยได้เห็นพยาธิสภาพในจมูกด้วย
การวินิจฉัยแยกโรค
ไซนัสอักเสบมีอาการคล้ายกับโรคหลายโรค ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยเพื่อแยกไซนัสอักเสบออกจากโรคเหล่านี้ เช่น
- โรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหวัด เช่น
- โรคหวัด ผู้ที่เป็นหวัดจะหายภายใน 5-7 วัน แต่ถ้าถึงวันที่ 5-6 แล้วยังไม่หายแต่กลับเป็นมากขึ้น เช่น ไอมากขึ้น ปวดศีรษะ ปวดแก้ม เสมหะเขียวข้น ก็แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการสำคัญ คือ อาการจาม คันคอ คันจมูก มีน้ำมูกใส
- ริดสีดวงจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก พูดเสียงขึ้นจมูก อาจมีอาการจามหรือน้ำมูกได้ ซึ่งอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียว หรือมีสีเหลืองเขียว
- โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และ/หรือปวดบริเวณจมูกและใบหน้า เช่น
- เนื้องอกหรือมะเร็งในสมองหรือในหลังโพรงจมูก เช่น มะเร็งโพรงไซนัส ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดไซนัสอย่างต่อเนื่องและมักมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย
- โรคของฟัน เช่น ฟันผุ โรคของรากฟัน โรคของเหงือก (เช่น เหงือกอักเสบ)
- โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine)
- โรคปวดศีรษะจากภาวะเครียด (Tension headache)
- อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal neuralgia) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าเส้นประสาทเส้นนี้อาจถูกรบกวนหรือถูกกดเบียดทับจากเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น หลอดเลือด
- อาการปวดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (glossopharyngeal neuralgia) ทำให้มีอาการปวดในปากแล้วร้าวไปในหู โดยมีจุดกระตุ้นให้เกิดการปวดอยู่ที่ผนังคอ ต่อมทอนซิล หรือเพดานอ่อน และอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้จากการหาว การดื่มน้ำเย็น หรือการถูกสัมผัสโดยตรง ซึ่งการกระตุ้นนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้จากประสาทสัมผัสที่ถูกกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ (Vagally-mediated bradycardia) อย่างไรก็ตาม อาการปวดนี้ก็ไม่ได้คล้ายกับอาการปวดที่เกิดจากไซนัสอักเสบ
- โรคของดวงตา ที่พบบ่อยคือ ภาวะกล้ามเนื้อตาล้า (Eye strain) หลังใช้สายตามากและอาจทำให้มีสายตาผิดปกติร่วมด้วย
- โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) ที่ทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ โดยเฉพาะหลอดเลือดของศีรษะ (Temporal arteritis)
- โรคของข้อขากรรไกร (Temporomandibular joint syndrome – TMJ) ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเคี้ยวอาหารแข็งเป็นประจำ ข้อเคลื่อน ข้อเสื่อมตามอายุ หรือจากอุบัติเหตุของข้อ
- โรคติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ และบางชนิดอาจทำให้มีอาการจมูกอักเสบร่วมด้วย เช่น โรคหัด โรคไทฟอยด์ เป็นต้น
- โรคที่ทำให้เกิดอาการบวมที่ใบหน้า เช่น อาการแพ้จากแมลงสัตว์กัดต่อย เนื้องอก โรคออโตอิมมูนบางชนิด เป็นต้น
วิธีรักษาไซนัสอักเสบ
- ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการของไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ มีอาการคัดแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงคอ ทำให้ต้องคอยสูดหรือขากออก เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นไซนัสอักเสบ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องให้การรักษาโดยทันที โดยหลักในการรักษาไซนัสอักเสบจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ รักษาการติดเชื้อ ทำให้การระบายของโพรงอากาศดีขึ้น และรักษาโรคหรือสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แพทย์จะนำมาใช้กับผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระยะเวลาที่เป็นมา
- มีผู้ป่วยบางส่วนเมื่อเป็นไซนัสอักเสบแล้วจะสามารถหายเองได้ เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส (อาการที่เป็นยังไม่เกิน 7 วัน) ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี คือ ดื่มน้ำให้มาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีความชื้นเพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานยาไปตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก (ยาแก้แพ้) เป็นต้น (การติดเชื้อไวรัสจะมีน้ำมูกหรือเสมหะจะไม่เป็นหนอง แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะมีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว)
- แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น
- ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้จะให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)
- ยาลดการบวม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ยาหดหลอดเลือด ได้แก่ ยาในกลุ่ม Decongestants ที่มีทั้งชนิด กิน พ่น และหยอดจมูก (ถ้าใช้ต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์จะทำให้เนื้อเยื่อกลับมาบวมได้อีก โดยเฉพาะชนิดพ่น ในรายที่ไซนัสอักเสบเฉียบพลันแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาพ่นในระยะ 2-3 วันแรกเท่านั้น เพื่อช่วยให้เยื่อบุจมูกยุบบวมได้เร็วขึ้น และไม่ควรใช้นานเกินกว่า 1 สัปดาห์) และยาต้านการอักเสบ (Antiinflammatory agents) เช่น เอนไซม์ (Enzymes) ชนิดต่างๆ ชนิดรับประทาน เช่น Alpha Chymotrypsin, Papase และ Lysozyme ที่มีฤทธิ์ลดการบวม รวมทั้งช่วยในการละลายมูกหนองหรือเสมหะให้เหลว, ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids) โดยเฉพาะในรูปแบบของยาเฉพาะที่ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดการบวมอักเสบของเยื่อบุได้เร็ว
- ยาแก้คัดจมูก ถ้าคัดจมูกมากจะให้ยาแก้คัดจมูก เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ซึ่งอาจช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบและช่วยระบายหนองออกจากไซนัสได้
- ยาละลายเสมหะ (Mucolytic agents) เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine), แอมบรอกซอล (Ambroxol) เป็นต้น ยากลุ่มนี้เชื่อว่านอกจากจะช่วยละลายมูกและหนองให้ไหลออกง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การหลั่งมูกลดลงจนเป็นปกติอีกด้วย
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine) มักไม่ค่อยใช้ในระยะเริ่มแรก เพราะจะทำให้เมือกในโพรงไซนัสแห้งเหนียว ระบายออกได้ไม่ดี หรือทำเซลล์ขนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ยกเว้นในรายที่มีอาการของภูมิแพ้มาก เช่น จาม มีน้ำมูกมาก ซึ่งแพทย์จะให้เพียง 2-3 วัน เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
- แก้ไขแหล่งติดเชื้อ เช่น การถอนฟันผุ การผ่าตัดต่อมทอนซิล การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ที่อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
- แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์บ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายหนอง
- ในรายที่ไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (มักมีน้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น และความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะเลือกใช้ให้ตรงตามเชื้อที่ทำให้เกิดโรค เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) หรือโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ถ้าคนไข้ตอบสนองต่อยาอาการจะทุเลาลงหลังรับประทานยาประมาณ 48-72 ชั่วโมง ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้รับประทานยาติดต่อกันนาน 10-14 วัน ส่วนในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะให้รับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ หรือบางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์
- ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาปฏิชีวนะไปแล้ว 72 ชั่วโมง กำเริบบ่อย เป็นเรื้อรัง มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์) ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนนัด โดยอาจต้องตรวจเอกซเรย์ไซนัส ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำการเจาะไซนัส (Antral puncture) นำหนองไปตรวจหาชนิดของเชื้อ เป็นต้น ถ้าพบว่ามีปัญหาเรื่องเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะพื้นฐานดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีการใช้ยาชนิดเดิมซ้ำกันหลายครั้ง แพทย์ก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), เซฟูรอกซิม (Cefuroxime) เป็นต้น
- ถ้ามีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีอาการอักเสบหลายครั้ง และมีอาการมากกว่า 3 สัปดาห์ แพทย์อาจทำการเจาะล้างโพรงไซนัส (Antral irrigation) ซึ่งการเจาะล้างโพรงไซนัสนี้ส่วนใหญ่จะกระทำกับไซนัสที่โหนกแก้ม โดยแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ที่บริเวณผนังจมูกด้านข้าง แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะหรือสอดผ่านรูเปิดเข้าไปในโพรงไซนัส หลังจากนั้นจะใช้น้ำเกลือฉีดล้างเพื่อให้หนองไหลออกมาจากโพรงไซนัส เมื่อทำเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย การเจาะล้างโพรงไซนัสนี้บางครั้งอาจต้องทำหลายครั้งร่วมกับการรักษาด้วยยาจนกว่าอาการของโรคจะดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น การผ่าตัดริดสีดวงจมูก, การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูกคด, การผ่าตัดเอากระดูกจมูกที่โตมากออกบางส่วน, การรักษาจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, โรคกรดไหลย้อน, โรคทางทันตกรรม (เช่น การถอนฟันผุ), ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น
- แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา, เป็นเรื้อรังมานานมากกว่า 3 เดือน, ตรวจพบเยื่อบุไซนัสหนาตัวมาก, ตรวจพบความผิดปกติบริเวณรูเปิดไซนัส (เช่น มีริดสีดวงจมูก เนื้องอกในจมูก เป็นต้น), ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา (อาจมีอันตรายร้ายแรงในผู้ป่วยเอดส์หรือเบาหวาน เช่น การติดเชื้อรุนแรงในสมองหรือลูกตา เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ เชื้อรามักจะทำให้มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดและอาจได้รับยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย) หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง เป็นต้น การผ่าตัดไซนัสนี้สามารถทำได้ทั้งการใช้ยาชาเฉพาะที่หรือใช้การดมยาสลบ และผู้ป่วยมักต้องนอนในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน สำหรับวิธีการผ่าตัดก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านทางรูจมูก, การผ่าตัดผ่านทางเหงือก, การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส (Endoscopic sinus surgery – ESS) เป็นต้น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนี้จะต้องได้รับการรักษาทางยาร่วมด้วยทุกราย ส่วนการจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบใดนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- นอกจากวิธีการผ่าตัดข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันยังมีการรักษาไซนัสด้วยบอลลูน (Balloon Sinuplasty) ซึ่งเป็นการใช้บอลลูนเพื่อไปขยายรูเปิดไซนัส (คล้าย ๆ กับการใช้บอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ) เพื่อทำให้เกิดการระบายสิ่งคัดหลั่งจากโพรงไซนัส ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ และเป็นวิธีที่สามารถใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้มากขึ้นได้
- ในส่วนของการรักษา ถ้าผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก มักจะได้ผลดี ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับการได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกและการแก้ไขสาเหตุที่พบ ในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
- ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นเรื้อรัง
- รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- การใช้ยาทุกชนิดในการรักษาไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะควรได้รับจากแพทย์เท่านั้น เพื่อให้ได้ชนิดยา ปริมาณยา วิธีใช้ และระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสมกับโรค เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและอย่านอนดึก
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์บ่อย ๆ
- อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ และกลิ่นที่ผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุจมูกและโพรงไซนัสบวม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำนาน ๆ เนื่องจากคลอรีนในสระอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและโพรงไซนัสได้
- หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินในขณะที่เป็นหวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบกำเริบ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้รับประทานยาแก้คัดจมูก เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ครั้งละ 1-2 เม็ดก่อนเดินทาง และรับประทานซ้ำทุก ๆ 6 ชั่วโมงในระหว่างการเดินทางระยะไกล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุดกั้นของช่องระบายและรูเปิดไซนัส
- ควรระวังอย่าให้เป็นโรคหวัด (อ่านวิธีป้องกันโรคหวัดได้ในบทความ ไข้หวัด (หวัด) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหวัด 20 วิธี !!)
- ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น การใช้สารกรดบางอย่างหยอดเข้าจมูก (ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและมีน้ำมูกไหลออกมามาก) เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและจมูกพิการได้
- ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้น จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งอาจช่วยให้อาการทุเลาลงได้
- ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลง เช่น หลังรับประทานยาปฏิชีวนะไปแล้ว 72 ชั่วโมง ยังมีไข้ มีน้ำมูกข้นเหนียว ไอมากขึ้น หรือมีอาการกดเจ็บตรงบริเวณไซนัสที่อักเสบ หรือมีอาการของภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวไปแล้ว เป็นต้น
วิธีป้องกันไซนัสอักเสบ
การดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสการเกิดไซนัสอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่หักโหม (เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค), พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอนหรือนอนดึกบ่อย ๆ (เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอจะมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย), รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน, ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ และกลิ่นที่ผิดปกติ โดยควรเลือกอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ เมื่อมีอาการคล้ายหวัดกำเริบ
- หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิแปรเปลี่ยนฉับพลัน เช่น การเข้า ๆ ออก ๆ ห้องปรับอากาศ หรือการอยู่ในรถยนต์ที่ตากแดดร้อน ๆ เป็นต้น
- ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- ควรได้รับการตรวจโพรงจมูกโดยแพทย์ทางหู คอ จมูก ปีละครั้ง
- พยายามดูแลตนเองอย่าให้เป็นหวัด เพราะผลจากการเป็นหวัดสามารถทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้
- การป้องกันไซนัสอักเสบไม่ให้เกิดซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการพยายามแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้อีก เช่น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตามคำแนะนำข้างต้น และถ้ามีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด คออักเสบ ฟันผุ ฯลฯ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว หรือถ้าเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นช่องจมูกคด ฯลฯ เหล่านี้ก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เป็นต้น
- ผู้ที่เป็นหวัด มีน้ำมูกหรือมีเสมหะในคอมีลักษณะข้นเหลืองหรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องกันทุกวันนานผิดปกติ (เช่น นานเกิน 10 วัน) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแสดงของโรคไซนัสอักเสบ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 464-465.
- หาหมอดอทคอม. “ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)”. (นพ.พิชัย พัวเพิ่มพูนศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ส.ค. 2016].
- สาระน่ารู้ เรื่อง โรคภัยไข้เจ็บ โดยความอนุเคราะห์ของคณะแพทย์ หลักสูตรบริหารงานสายแพทย์ทหารชั้นสูง รุ่นที่ 12 กรมแพทย์ทหารอากาศ. “โรคไซนัส”. (น.อ.ศักดา สุจริตธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : web.ku.ac.th/saranaroo/. [11 ส.ค. 2016]
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 297 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. “ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) โรคที่บั่นทอน คุณภาพชีวิต”. (นพ.ประพจน์ คล่องสู้ศึก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [11 ส.ค. 2016].
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ”. (รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [12 ส.ค. 2016].
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “การรักษาไซนัสด้วยบอลลูน (Balloon Sinuplasty)”. (นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [12 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)