ไคร้น้ำ
ไคร้น้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Homonoia riparia Lour. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรไคร้น้ำ ยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นอีก เช่น ไคร้หิน (ชุมพร), แร่ (ตรัง), ไคร้ (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), ไคร้น้ํา (ภาคเหนือ), กะแลแร (ยะลา-มลายู), แกลแร (นราธิวาส-มลายู), เหี่ยที้ สี่ทีโค่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[4] โดยไคร้น้ำเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง สามารถพบได้ตั้งแต่อินเดีย จีน พม่า มาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีนไปจนถึงนิวกินี สำหรับประเทศไทยสามารถพบต้นไคร้น้ำได้ทั่วทุกภาค[1]
ลักษณะของไคร้น้ำ
- ต้นไคร้น้ำ จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 7 เมตร มักขึ้นตามโขดหินริมลำธาร ตามแม่น้ำ หรือบริเวณชายฝั่งทะเลที่น้ำท่วมถึง[1]
- ใบไคร้น้ำ หูใบเป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปลิ่ม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย ส่วนลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลายใบยาวแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นจักแบบฟันเลื่อย มีต่อมตามจัก แผ่นใบด้านล่างมีสีนวล ใบมีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละ 13-16 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1.5 เซนติเมตร[1]
- ดอกไคร้น้ำ ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกตัวผู้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีหรือเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรสูงประมาณ 0.3-0.6 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร รังไข่กลม มีขนละเอียด และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร ส่วนก้านเกสรตัวเมียสั้นมาก ยอดแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกยาวได้ประมาณ 0.3 เซนติเมตร[1]
- ผลไคร้น้ำ ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร มีขนสั้นและนุ่ม ในผลมีเมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีเยื่อหุ้มสีแดง[1],[2]
สรรพคุณของไคร้น้ำ
- ยางจากลำต้นใช้กินแก้ไข้มาลาเรีย (ยางจากต้น)[2],[3]
- น้ำต้มจากลำต้นใช้กินเป็นยาขับเหงื่อ (ลำต้น)[2],[3]
- รากต้มกับน้ำใช้เป็นยาระบาย หากกินมากจะทำให้อาเจียน (ราก)[3]
- น้ำต้มจากรากใช้กินเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2],[3]
- ช่วยขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
- ใบและผลใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันบางประเภท และให้ดื่มน้ำที่ต้มจากใบและผลด้วย (ใบ, ผล)[3]
เอกสารอ้างอิง
- สารานุกรมพืชในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไคร้น้ำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [11 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ไคร้น้ำ“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [11 ธ.ค. 2013].
- Treeofthai. “ไคร้น้ำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: treeofthai.com. [11 ธ.ค. 2013].
- Flora of Thailand EUPHORBIACEAE. “Homonoia“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nationaalherbarium.nl/ThaiEuph/ThHspecies/ThHomonoia.htm. [11 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)