ไข้ไทฟอยด์
ไข้ไทฟอยด์, ไทฟอยด์, หรือไข้รากสาดน้อย (ภาษาอังกฤษ : Typhoid fever) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาไทฟิ (Salmonella typhi) ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร ผู้ป่วยจะมีไข้ในแต่ละวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอาการเด่น ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสียถ่ายเหลว ฯลฯ ความสำคัญของโรคนี้คือ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ และผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ “ไข้หัวโกร๋น” เพราะในสมัยนั้นยังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเป็นไข้นานกันเป็นเดือน ๆ จนกระทั่งผมร่วง ในปัจจุบันโรคนี้ยังคงเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพของคนทั่วโลกอยู่โดยเฉพาะกับเด็ก แต่หากการสุขาภิบาลดีการระบาดของโรคก็จะลดลง
ไข้ไทฟอยด์สามารถพบเกิดได้ตลอดทั้งปี พบได้มากในช่วงฤดูร้อน บางครั้งอาจพบการระบาดได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี สามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในคนอายุประมาณ 10-30 ปี และอาจพบว่ามีคนในละแวกใกล้เคียงเคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือกำลังจะเป็นโรคนี้ด้วย
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด แทบจะไม่พบผู้ป่วยเลย เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ.2549 ที่พบผู้ป่วยเพียง 300 ราย ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาจะพบว่ามีอัตราการป่วยเป็นโรคนี้สูง ซึ่งอาจพบเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีหรือพบการระบาดเป็นครั้งคราว ทั่วโลกพบผู้ป่วยประมาณ 21 ล้านคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 200,000 คนต่อปี โดย 80% ของผู้ป่วยทั่วโลกจะมาจากประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน จีน และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ประมาณ 2,500 คน และไม่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตเลยสักราย
สาเหตุของไข้ไทฟอยด์
เชื้อที่เป็นสาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ซัลโมเนลลาไทฟิ” (Salmonella typhi) ซึ่งเชื้อชนิดนี้พบได้เฉพาะในคน
การติดต่อ : การติดต่อเกิดได้เฉพาะจากคนสู่คนเท่านั้น โดยผู้ที่ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะจะขับเชื้อออกมาทางอุจจาระเป็นหลัก (และทางปัสสาวะเป็นส่วนน้อย) ดังนั้นการติดต่อจึงมักเกิดได้จากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการหยิบจับอาหาร การกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโดยตรงหรือจากแมลงวันตอม และการใช้แหล่งน้ำบริโภคที่มีเชื้อ ซึ่งปนเปื้อนมาจากขยะหรือของเสียที่เททิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งอาจพบได้จากการกินกุ้ง หอย ปู ปลา ด้วย เนื่องจากสัตว์เหล่านี้อาจกินสิ่งปฏิกูลของเสียต่าง ๆ ที่คนเททิ้งลงสู่แหล่งน้ำเข้าไป (ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากการเดินทางไปยังประเทศหรือถิ่นที่มีการระบาดของโรคหรือได้รับเชื้อจากการกินอาหาร ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อจากน้ำที่ปนเปื้อนและการสุขาภิบาลดีที่ไม่ดี)
การเกิดโรค : เมื่อกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไทฟอยด์เข้าไปแล้ว เชื้อจะเดินทางผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ก็มักจะถูกทำลายด้วยภาวะความเป็นกรดของกระเพาะอาหาร น้ำดี และน้ำย่อยอาหารชนิดต่าง ๆ แต่สำหรับเชื้อไทฟอยด์นี้จะมีความทนทานต่อภาวะเหล่านี้ได้ดี จึงสามารถเดินทางต่อไปจนถึงลำไส้เล็กส่วนปลายได้ในที่สุด จากนั้นเชื้อจะผ่านเยื่อบุลำไส้เล็กเข้าไปในผนังลำไส้เล็ก แล้วเชื้อจะเข้าไปอาศัยอยู่ในกลุ่มเนื้อเยื่อชนิดมีเม็ดเลือดขาวอยู่ ซึ่งเรียกกลุ่มเนื้อเยื่อชนิดนี้ว่า “Peyer’s patch” โดยในเนื้อเยื่อนี้จะมีเม็ดเลือดขาวชื่อ Macrophage มาเก็บกินเชื้อ ทำให้เม็ดเลือดขาวนี้ติดเชื้อ (เพราะเชื้อที่ถูกกินมีระบบป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกทำลาย) จากนั้นเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง กระจายต่อไปสู่ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขสันหลัง ซึ่งเชื้อในอวัยวะเหล่านี้จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ต่อไป (เช่น ปอด หัวใจ ไต สมอง กระดูก ไขกระดูก เป็นต้น) ส่วนเชื้อบางกลุ่มที่เข้าสู่ตับก็จะเข้าสู่ถุงน้ำดีแล้วลงสู่น้ำดี เมื่อน้ำดีถูกขับเข้าสู่ลำไส้เล็ก เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกขับออกไปด้วย แต่เชื้อบางจะกลับเข้าสู่ร่างกายได้อีกครั้งเมื่ออยู่ที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย จึงก่อให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายซ้ำ (Re-infection) และเชื้อบางส่วนจะถูกขับออกทางอุจจาระและติดต่อสู่ผู้อื่นต่อไป
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ : ได้แก่ ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศหรือถิ่นที่มีการระบาดของโรคหรือมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น (เช่น อินเดีย), ผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อไทฟอยด์โดยตรง และผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไทฟอยด์
ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดโรค) : ประมาณ 3-21 วัน ซึ่งระยะเวลาที่สั้นหรือนานจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย (โดยเฉลี่ยคือประมาณ 14 วัน)
ผู้ที่เป็นพาหะ (Carrier) : คนจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้และอาจกลายเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการได้ ซึ่งเรียกว่า “ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไทฟอยด์” คือยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย และสามารถปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระ (และทางปัสสาวะเป็นส่วนน้อย) และแพร่กระจายเชื้อไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลาโดยที่ตัวเองไม่มีอาการใด ๆ ดังกรณีโด่งดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาของ Mary Mellon หรือที่รู้จักกันว่า “Typhoid Mary” หญิงสาวชาวอเมริกันที่มีอาชีพเป็นแม่ครัวและถูกจัดให้เป็น “พาหะที่มีสุขภาพดีคนแรกของไข้ไทฟอยด์” (พบเชื้อหลบซ่อนอยู่ภายในถุงน้ำดี) ซึ่งได้แพร่กระจายเชื้อนี้ไปตามบ้านและร้านอาหารแก่ผู้อื่นกว่า 53 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน หญิงสาวรายนี้จึงได้ถูกดำเนินคดีในที่สุด
อาการของไข้ไทฟอยด์
อาการที่โดดเด่นของโรคนี้ คือ มีไข้สูงลอยแบบเรื้อรัง โดยจะเริ่มจากการมีไข้ต่ำ ๆ ก่อน ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ในแต่ละวันไข้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน อาจมีไข้สูงได้ถึง 40.5 องศาเซลเซียส) และจะหายไปในตอนเช้า เมื่อเวลาผ่านไปอุณหภูมิของไข้ที่สูงสุดในแต่ละวันจะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ และไข้จะคงที่หลังจากมีไข้ได้ประมาณ 7 วัน โดยจะอยู่ที่ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส
อาการของผู้ป่วยจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแรกจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่วตัว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออก บางครั้งอาจมีอาการไอแห้ง ๆ และเจ็บคอเล็กน้อย ผู้ป่วยมักมีอาการท้องผูก (มักพบในผู้ใหญ่) หรือไม่ก็มีอาการท้องเสียถ่ายเหลว (มักพบในเด็ก) ร่วมด้วย และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และกดเจ็บเล็กน้อย
ต่อมาไข้จะค่อย ๆ สูงขึ้นทุกวัน และจับไข้ตลอดเวลา ถึงแม้จะกินยาลดไข้ก็อาจไม่ลด และทุกครั้งที่จับไข้จะรู้สึกปวดศีรษะมาก อาการไข้มักจะเป็นอย่างเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงอยู่นาน 3 สัปดาห์ (แล้วไข้จะค่อย ๆ ลดลงจนเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นไข้อยู่นาน 6 สัปดาห์ก็ได้) บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพัก ๆ เพ้อหรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบหรือถุงน้ำดีอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหารมากจนน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 10% ท้องบวมโตขึ้น หายใจหอบเร็ว มีอาการหมดแรง สับสน ประสาทหลอน ซึม จนถึงขั้นเกิดอาการโคม่าได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 10-20% แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตมาได้ อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่อาจกลายเป็นพาหะของโรคได้ประมาณ 1-5% และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การตรวจร่างกายในระยะแรกอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนนอกจากมีไข้ประมาณ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าซีดเซียว (แต่เปลือกตาไม่ซีด) ฝ่ามือซีด ริมฝีปากแห้ง บางรายอาจพบอัตราชีพจรไม่สัมพันธ์กับไข้ที่ขึ้นสูง (Relative bradycardia) บางรายอาจพบว่ามีอาการท้องอืด กดเจ็บใต้ชายโครงขวาหรือท้องน้อยข้างขวา และอาจพบผื่นราบ หรือผื่นนูน (สีออกแดง) หรือจุดแดงคล้ายยุงกัดที่หน้าอกหรือหน้าท้อง ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เมื่อดึงหนังให้ตึงจะจางหาย ซึ่งเรียกว่า “โรสสปอต” (Rose spots) มักจะพบขึ้นหลังมีไข้ได้ประมาณ 5 วัน และจะเป็นอยู่เพียงแค่ประมาณ 2-5 วันแล้วหายไป ในระยะต่อมาอาจพบม้ามโต ตับโต และบางรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) หรือโลหิตจาง (ถ้าเป็นเรื้อรัง) ร่วมด้วย
อาการที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นอาการที่ค่อนข้างจำเพาะของโรคไข้ไทฟอยด์ การวินิจฉัยเบื้องต้นจึงทำได้ไม่ยาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการที่แตกต่างจากข้างต้นและไม่เหมือนกันในแต่ละรายได้ เช่น บางรายอาจมีไข้คงที่หรือขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ได้ไต่ระดับขึ้นในแต่ละวัน บางรายมีอาการปวดศีรษะรุนแรง บางรายมีเฉพาะอาการไข้และปวดข้อ บางรายมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย บางรายอาจไม่ได้มีอาการท้องผูกแต่กลับมีอาการท้องเสียถ่ายเหลวแทน หรือบางรายก็ไม่มีอาการอื่น ๆ ใด ๆ เลยนอกจากอาการไข้ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของไข้ไทฟอยด์
ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ (ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ของการติดเชื้อ)
โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ๆ ของโรคนี้และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ คือ เลือดออกในลำไส้ (ถ่ายเป็นเลือดสด ๆ อาจถึงช็อกได้) และลำไส้ทะลุ (ท้องอืด ท้องแข็ง) ซึ่งจะทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงได้ โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากมีอาการได้ประมาณ 3 สัปดาห์เป็นต้นไป และผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางราอาจหลงเหลืออาการทางระบบประสาท เช่น ประสาทหลอน ซึมเศร้า ไปตลอด หากแพทย์สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งสามารถพบได้ในอวัยวะเกือบทุกระบบ แต่ก็พบได้น้อยมาก เช่น
- ระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการชัก โรคพาร์กินสัน ภาวะอัมพาตของมือ เท้า และลำตัวจากประสาทอักเสบเฉียบพลัน (Guillain-Barré syndrome) เกิดปัญหาทางจิต (เช่น ซึมเศร้า เพ้อคลั่ง ประสาทหลอน และโรคจิตหวาดระแวง)
- ระบบหายใจ เช่น ปอดอักเสบ (ปอดบวม) และมีแผลที่คอหอย
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น ปัสสาวะไม่ออก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ ไตวาย และลูกอัณฑะอักเสบ
- ตับ ม้าม ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น ตับอ่อนอักเสบ เกิดฝีหนองในตับ ฝีหนองในม้าม และถุงน้ำดีอักเสบ
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ และกระดูกอักเสบ
ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ เมื่อผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะจะช่วยลดระยะเวลาการป่วยจากเดิมที่ผู้ป่วยอาจมีไข้นานถึง 2-4 สัปดาห์จะเหลือเพียง 4-10 วัน และยังช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตเหลือน้อยกว่า 1% ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10-20%
การวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติการเดินทางของผู้ป่วย อาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคนี้แล้ว (เช่น มีไข้สูงลอยตลอดเวลาเกิน 7 วัน หรือมีประวัติการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้ไทฟอยด์) จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งโดยทั่วจะใช้วิธีการเพาะเชื้อจากของเหลวหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นั้นยังให้ผลไม่แน่นอน
- การเพาะเชื้อจากของเหลวหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย เป็นการตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียจากการดูการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะใช้ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของเลือด น้ำย่อยจากลำไส้เล็ก (ที่ออกมากับการอาเจียนหรือการใส่ท่อยางเข้าไปดูดน้ำย่อยออกมา) ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำไขสันหลัง หรือไขกระดูก ร่วมกับการใช้กล้องจุลทรรศน์ (การเพาะเชื้อจากไขกระดูกจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจหาเชื้อ เพราะสามารถพบเชื้อได้สูงถึง 90% แต่ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ลำบากและผู้ป่วยต้องเจ็บตัว ส่วนการเพาะเชื้อจากเลือดจะมีโอกาสพบเชื้อได้น้อยกว่า ถ้าเพาะเชื้อครั้งแรกไม่ขึ้น แต่อาการผู้ป่วยน่าสงสัยก็อาจต้องเก็บเลือดมาตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง หรืออาจใช้การเพาะเชื้อจากน้ำย่อยจากลำไส้เล็กและอุจจาระ นำมาตรวจร่วมกันทั้งหมดก็จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบเชื้อได้มากขึ้น)
- การทดสอบไวดาล (Widal test) เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์แบบดั้งเดิมที่ยังคงมีใช้กันอยู่ (เคยเป็นที่นิยมใช้เพราะมีราคาถูกและทำได้ง่าย แต่ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้วเนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดได้สูง) เป็นการตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (Antigen) ของเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งมักจะตรวจพบหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการมาแล้วประมาณ 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีวิธีใดที่มีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคได้ดีเท่ากับการเพาะเชื้อ
- การตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody) ต่อเชื้อไทฟอยด์ ผลที่ได้ก็ไม่ค่อยแน่นอนเช่นกัน จึงไม่แนะนำ
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ก็ไม่มีความจำเพาะต่อโรคไข้ไทฟอยด์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ซึ่งอาจพบเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง ต่ำ หรือปกติก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบภาวะโลหิตจาง (ซีด) และมีค่าอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) สูง ส่วนค่าการทำงานของตับอาจเป็นปกติหรือสูงก็ได้ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจพบความผิดปกติได้เล็กน้อย เป็นต้น
นอกจากนี้ หากผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์แน่นอนแล้ว สมาชิกคนอื่น ๆ ที่พักอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคด้วย
การแยกโรค
อาการไข้สูงหรือมีไข้นานเกิน 7 วัน นอกจากโรคไข้ไทฟอยด์แล้วยังอาจเกิดจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, ไข้จับสั่น (มาลาเรีย), สครับไทฟัส, โรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส), เมลิออยโดซิส, บรูเซลโลซิส เป็นต้น แพทย์จึงต้องทำการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียด
การรักษาไข้ไทฟอยด์
เมื่อมีไข้สูงติดต่อกันนานเกิน 7 วัน โดยที่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก และอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสมอ ถ้าการวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคนี้แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นการษาหลักและให้การรักษาแบบประคับประคองควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ (ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล)
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ในการรักษา ได้แก่ โค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole), คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) และเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เป็นต้น ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบกินและแบบฉีด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือหากใช้ยาเป็นระยะเวลานานก็สามารถทำให้เกิดการดื้อยาได้
- สำหรับยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) จะให้ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ในเด็กให้ 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันของไตรเมโทพริม) ส่วนคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) จะให้วันละ 2 กรัม (ในเด็กให้วันละ 50-75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ส่วนอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) จะให้วันละ 2 กรัม (ในเด็กให้วันละ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ถ้าอาการของผู้ป่วยดีขึ้น (ผู้ป่วยกินอาหารได้มากขึ้น ไข้ลดลง) ก็ให้ยาต่อจนครบ 14 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 4-7 หรือสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- ในรายที่เชื้อดื้อยาแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน หรือให้เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) วันละ 2 กรัม โดยการฉีดเข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ นาน 7 วัน
- ผู้ป่วยบางรายอาจดื้อยาปฏิชีวนะได้ โดยเฉพาะยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ดังนั้น ถ้าหากใช้ยาไปประมาณ 4-7 วันแล้วอาการยังยังไม่ดีขึ้น ควรไปตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล
- ผู้ที่ตรวจพบเชื้อไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะจะทำให้แพร่เชื้อได้นานขึ้นและเชื้ออาจดื้อยาได้ เพราะในปัจจุบันพบเชื้อดื้อยาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ การจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดจึงต้องดูผลการทดสอบการดื้อยาของเชื้อด้วย
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง การให้ยาแก้ปวด การให้กินน้ำเกลือแร่หรือให้ทางหลอดเลือด การให้ยาบำรุงพวกวิตามินถ้าผู้ป่วยกินอาหารไม่ได้นาน ๆ การผ่าตัดรักษาในรายที่มีเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ทะลุจากภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้ คือแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และพักผ่อนให้มาก ๆ
- ผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง และท้องบวม หรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด และอาจต้องให้ของเหลวหรือสารอาหารต่าง ๆ เข้าทางหลอดเลือด ส่วนผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงขั้นชีวิตก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ในรายที่มีเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ทะลุ แต่กรณีนี้ก็พบว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก จึงไม่ต้องเป็นกังวลไปครับ
- ผู้ป่วยที่เกิดโรคกลับ ผู้ป่วยบางรายแม้ว่าจะรักษาจนไข้หายแล้ว อาจมีไข้กำเริบได้ใหม่หลังจากหยุดยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการมักจะไม่รุนแรงและเป็นไม่นานเท่าครั้งแรก ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยพบว่ามีการเกิดโรคกลับก็ควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว
- ผู้ที่เป็นพาหะ (Carrier) ผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาหายแล้วอาจยังคงมีเชื้อไทฟอยด์หลบซ่อนอยู่ในถุงน้ำดี โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เรียกว่า “ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไทฟอยด์” ซึ่งมักจะปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระและแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นต่อไปเรื่อย ๆ จึงควรได้รับการตรวจโดยการนำอุจจาระไปเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบว่ายังมีเชื้ออยู่หรือไม่ ถ้าพบเชื้อก็อาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรือ ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แต่ถ้ายังตรวจพบเชื้อในอุจจาระอยู่อีกก็อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีออก
โรคนี้ต้องใช้เวลาติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาไข้จะค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งประมาณ 4-10 วันไปแล้วจึงจะไม่มีไข้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับยาที่ใช้ด้วย กล่าวคือ ถ้าให้ยาอะม็อกซีซิลลินอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 วัน ถ้าให้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลอาจใช้เวลา 6-10 วันกว่าไข้จะลด ส่วนยาคลอแรมเฟนิคอลจะใช้เวลาอย่างน้อยเพียง 4 วันไข้จึงลดเป็นปกติ
การป้องกันไข้ไทฟอยด์
การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ที่สำคัญ คือ
- ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกห ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบ ๆ รวมถึงไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่ กินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกและไม่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงอาหารจากร้านค้าที่ดูไม่สะอาด และปอกเปลือกผลไม้ก่อนกินเสมอ (ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรกินสิ่งเหล่านี้)
- ผักหรือผลไม้ต้องนำมาล้างให้สะอาดจริง ๆ เพราะปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย
- ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนกินอาหาร หลังกินอาหาร และหลังการขับถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
- ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายลงคลองหรือถ่ายลงตามพื้นดิน
- ไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ
- ควรมีการตรวจเชื้อในอุจจาระของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารในร้านอาหารและภัตตาคารเป็นครั้งคราว เช่น คนครัว บริกร เป็นต้น เพื่อค้นหาผู้ที่เป็นพาหะของโรคที่อาจแพร่เชื้อไปให้ผู้บริโภคได้ และถ้าตรวจพบก็ควรงดประกอบอาหารจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
- สำหรับการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นของผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจะต้องกินยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งจนครบ (แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม) แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัวไม่ให้ไปปะปนกับผู้อื่น ไม่ใช้มือสัมผัสกับอาหารหรือเตรียมอาหารให้ผู้อื่น ถ่ายอุจจาระลงส้วม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนกินอาหารและหลังการถ่ายอุจจาระ จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าไม่มีเชื้อหรือไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว (ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องแยกห้องนอนแต่อย่างใด แต่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในบ้านจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำข้างต้น)
- การป้องกันด้วยวัคซีน ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์จะมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีดที่มีผลข้างเคียงข้างน้อย แต่วัคซีนเหล่านี้จะป้องกันโรคได้แค่ 2-5 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน จึงทำให้ต้องรับวัคซีนกระตุ้นบ่อย ๆ แต่ในประเทศไทยมีอัตราการป่วยของโรคนี้ไม่มากนักและไม่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตมาหลายปีแล้ว แพทย์จึงไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันกับบุคคลทั่วไป ยกเว้นในบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อได้สูง เช่น นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศหรือถิ่นที่มีการระบาดของโรคนี้ (แนะนำให้รับวัคซีนป้องกันล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนออกเดินทาง เพื่อให้วัคซีนออกฤทธิ์ได้เต็มที่), ผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อไทฟอยด์โดยตรง, ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไทฟอยด์ รวมไปถึงอาจใช้กับเด็กวัยเรียนในประเทศที่ไข้ไทฟอยด์เป็นปัญหาสำคัญและมีปัญหาเชื้อดื้อยามาก
- วัคซีนชนิดกิน จะมีทั้งแบบน้ำ (สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป) และแบบแคปซูล (ใช้สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป) ใช้กินครั้งละ 1 ซองหรือ 1 แคปซูล วันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้ง โดยให้กินร่วมกับน้ำเย็นก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง (ห้ามใช้น้ำร้อน) และควรงดการใช้ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial agents) อย่างน้อยก่อนกินวัคซีนครั้งแรก และ 7 วันหลังกินวัคซีนครั้งสุดท้าย เนื่องจากวัคซีนชนิดกินเป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (Live-attenuated) ซึ่งอาจถูกยาต้านจุลชีพทำลายได้ (หากจำเป็นสามารถกินกระตุ้นได้ทุก 5 ปี)
- วัคซีนชนิดฉีด สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังให้เด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี ในขนาด 0.5 มิลลิลิตร เพียงเดียว (หากจำเป็นสามารถฉีดกระตุ้นได้ทุก 2 ปี)
- อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ก็ไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่รับวัคซีนจึงยังต้องมีความระวังและดูแลตนเองเพิ่มเติมตามคำแนะนำข้างต้น โดยเฉพาะการเลือกกินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่อาจปนเปื้อนไม่ปลอดภัย และไม่กินผักผลไม้ดิบที่อาจถูกล้างด้วยน้ำที่มีการปนเปื้อน เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไทฟอยด์/ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever/Enteric fever)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 502-504.
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “มารู้จักไข้ไทฟอยด์”. อ้างอิงใน : กลุ่มแบคทีเรียวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dmsc.moph.go.th. [10 ส.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “โรคไทฟอยด์ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ส.ค. 2017].
- Siamhealth. “ไข้ไทฟอยด์ Typhoid fever”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [12 ส.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)