ไข้อีดําอีแดง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคไข้อีดำอีแดง 5 วิธี !!

ไข้อีดําอีแดง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคไข้อีดำอีแดง 5 วิธี !!

ไข้อีดําอีแดง

อีดำอีแดง หรือ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้มีผื่นแดงขึ้นตามตัวร่วมกับทอนซิลอักเสบ พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน แต่ในเด็กแรกเกิดจะพบโรคนี้ได้น้อย เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ได้รับจากแม่หลงเหลืออยู่ในร่างกายเด็ก ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมาก เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

สาเหตุของไข้อีดำอีแดง

สาเหตุ : ส่วนใหญ่ไข้อีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “สเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ” (group A streptococcus) หรือ “สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส” (Streptococcus pyogenes) มีส่วนน้อยเกิดจากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) โดยเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอนี้จะมีการสร้างสารชีวพิษ (Toxin) ออกมา ได้แก่ อิริโทรเจนิกท็อกซิน (Erythrogenic toxin) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ไพโรเจนิกเอกโซท็อกซิน (Pyrogenic exotoxin ชนิด A, B และ C) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดผื่นในไข้อีดำอีแดง

การติดต่อ : เชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือติดต่อโดยการสัมผัสกับแผลที่ติดเชื้อโดยตรง หรือติดต่อโดยการสัมผัสกับมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ (เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หนังสือ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัวของโรค : ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-7 วัน[1]ไข้อีดําอีแดงสาเหตุ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้อีดำอีแดง คือ

  • เด็กยากจน (อายุระหว่าง 5-15 ปี) เนื่องจากมีอาหารการกินที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กขาดสารอาหาร จึงมีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ น้อยลง
  • ผู้คนที่มีถิ่นพำนักแออัด โดยเฉพาะในเด็กที่มีฐานะยากจนทั้งในเมืองและในชนบท มักจะอาศัยอยู่ในห้องนอนที่คับแคบและอยู่กันอย่างแออัด จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย
  • ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดงมักเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบ แต่บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อในตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น (ขึ้นอยู่กับเชื้อที่เป็นสาเหตุ)

อาการของไข้อีดำอีแดง

  • แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และเจ็บคอมาก (ถ้าแหล่งของการติดเชื้อไม่ได้อยู่ที่ทอนซิลจะไม่เจ็บคอ แต่จะมีแผลที่ผิวหนังแทน) อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย
  • หลังจากมีไข้ภายใน 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง (ผู้ป่วยบางรายอาจพบผื่นเป็นอาการแรกก็ได้) ผื่นจะมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบ ๆ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสาก ๆ คล้ายกระดาษทราย ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ คล้ายหนังห่าน (Goose bumps) ผื่นมักจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่อาจพบในลักษณะที่แก้มแดงและรอบปากซีด ผู้ป่วยอาจมีอาการคันได้
    ไข้อีดำอีแดงไข้อีดําอีแดงคือไข้อีดําอีแดงอาการ
  • ต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัดขึ้น (มีสีเข้มมากขึ้น) ในบริเวณร่องหรือรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ และข้อพับขา
    ไข้ดําแดง
  • หลังจากนั้นในบริเวณเหล่านี้จะปรากฏเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนังซึ่งเรียงกันเป็นเส้น (เกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย” (Pastia’s lines) ซึ่งเส้นเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 1-2 วันหลังจากผื่นตามตัวหายไป
    ไข้ดำแดง
  • อาการเจ็บคอจะเป็นมากจนกลืนอะไรไม่ค่อยได้ ในช่วง 1-2 วันแรกของไข้อาจพบลิ้นมีฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่ม ๆ สลับกันดูคล้ายผลสตรอว์เบอร์รีที่ยังไม่สุกดี เรียกว่า “ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว” (White strawberry tongue) แล้วทั้งลิ้นและคอจะแดงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อเข้าในช่วงหลังวันที่ 4 ของไข้ ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดงดูคล้ายผลสตรอว์เบอร์รีที่สุกเต็มที่ เรียว่า “ลิ้นสตรอว์เบอร์รีสีแดง” (Red strawberry tongue) ส่วนทอนซิลเองก็จะบวมแดงและมีจุดหนองสีขาว ๆ อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโตด้วย
    โรคอีดําอีแดง
  • ผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นอยู่ประมาณ 3-4 วัน (ในช่วงประมาณวันที่ 6 ของโรค) หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง โดยมักเห็นได้เด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักจะลอกเป็นขุย ๆ อาการผิวหนังลอกนี้เป็นลักษณะจำเพาะของโรคไข้อีดำอีแดง ผู้ป่วยบางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์
    scarlet fever อาการ

ภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดง

เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ฝีทอนซิล ปอดอักเสบ และเชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบ นอกจากนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ (เกิดจากปฏิกิริยาจากแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ) ซึ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 10 วัน จะช่วยลดการเกิดของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

หลังจากไข้อีดำอีแดงหายไปประมาณ 1-2 เดือน อาจมีโรคไตหรือโรคไข้รูมาติกตามมาได้

  • โรคไต ทำให้มีอาการบวม ปัสสาวะน้อยเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีอาการหัวใจวายหรือไตวายได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
  • โรคไข้รูมาติก โรคนี้จะทำให้เกิดโรคหัวใจรูมาติก ผู้ป่วยจะมีอาการบวม เหนื่อยง่าย ลิ้นหัวใจรั่ว ปวดบวมตามข้อมือ เท้ากระตุก มีอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ ถ้ามีอาการทางโรคหัวใจมาก อาจต้องทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

การวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการของผู้ป่วย และจากการตรวจร่างกาย ซึ่งมักจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก และหากมีประวัติการอักเสบของคอจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอร่วมกับอาการออกผื่นด้วยก็จะวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

ในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอยและทอนซิลที่เรียกว่า Rapid strep test, การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอของผู้ป่วย (Throat swab culture) และในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย อาจเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ต่อเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ซึ่งการพิสูจน์ดังกล่าวจะใช้เวลาหลายวัน ดังนั้นส่วนใหญ่หากอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะให้การรักษาไปก่อนได้รับผลวินิจฉัยจากทางห้องปฏิบัติการ

ในการวินิจฉัยแยกโรค ไข้อีดำอีแดงในกลุ่มที่มีอาการน้อย แพทย์จะวินิจฉัยอาการได้ไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงต้องแยกการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดที่ทำให้มีอาการออกผื่นที่ผิวหนังร่วมด้วย เช่น โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคมือเท้าปาก โรคคาวาซากิ โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส โรคฟิฟธ์ และผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง

  • พบไข้มากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ทอนซิลบวมแดง และมักมีแผ่นหรือจุดหนองขาว ๆ เหลือง ๆ ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
  • หน้าแดง แต่บริเวณรอบปากซีด
  • ในช่วง 2 วันแรกของไข้ อาจพบลิ้นมีฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่ม ๆ สลับคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี เรียกว่า “ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว” (White strawberry tongue)
  • ในช่วงหลังวันที่ 4 ของไข้ ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดง ทำให้เห็นเป็นลิ้นสตรอว์เบอร์รีสีแดง (Red strawberry tongue)
  • ในช่วงประมาณสัปดาห์แรกตามผิวหนังจะพบผื่นแดงคล้ายกระดาษทรายและเส้นพาสเตีย และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ไปแล้วจะพบอาการผิวหนังลอก

วิธีรักษาไข้อีดำอีแดง

  1. เมื่อมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก โดยเฉพาะเมื่อผิวหนังมีผื่นแดงขึ้นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา
  2. เมื่อเริ่มมีไข้สูง ยังไม่มีผื่นขึ้น ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นโรคอะไร เพราะการมีไข้ขึ้นสูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ (ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือจากการติดเชื้อแบคทีเรีย) ผู้ปกครองควรปฏิบัติดังนี้
    • เช็ดตัวบ่อย ๆ ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิอุ่นกว่าอุณหภูมิห้องแต่เย็นกว่าร่างกายผู้ป่วยแล้วบิดหมาด ๆ ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ด้วย
    • อาจให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมด้วย โดยให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ควรให้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง/วัน หรือให้ตามอายุ คือ อายุ 6-8 ปี ให้ในขนาด 320 มิลลิกรัม/ครั้ง (ชนิดเม็ด 325 มิลลิกรัม), อายุ 4-5 ปี ให้ในขนาด 240 มิลลิกรัม/ครั้ง (ชนิดน้ำเชื่อม 2 ช้อนชา (1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร = 120 มิลลิกรัม) หรือให้ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัมครึ่งเม็ด), อายุ 2-3 ปี ให้ในขนาด 160 มิลลิกรัม/ครั้ง (ชนิดน้ำเชื่อมปริมาณ 6.7 มิลลิลิตร หรือชนิดเม็ด 325 มิลลิกรัมครึ่งเม็ด), อายุ 1-2 ปี ให้ในขนาด 120 มิลลิกรัม/ครั้ง (ชนิดน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา) เป็นต้น โดยควรให้เฉพาะเมื่อมีอาการไข้ ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ไม่ควรให้เกิน 4 กรัม/วัน ส่วนในเด็กไม่ควรให้เกิน 5 ครั้ง/วัน
    • ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กอยู่ที่บ้านตราบเท่าที่เด็กยังดูสบาย คือ เด็กมีไข้ต่ำ เด็กไม่ซึมหรือไอมาก ไม่หอบเหนื่อย หรือหายใจเร็ว เด็กยังกินได้เล่นได้เป็นปกติ ปัสสาวะออกดี แต่หากเด็กมีไข้สูง กินไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน (เป็นอาการของโรคไข้เลือดออก), เด็กมีไข้ ไอ หายใจเร็ว (เป็นอาการของโรคปอดบวม), เด็กมีไข้สูง ตาแดง ปากแดง มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และมีผื่น (เป็นอาการของโรคคาวาซากิ) ผู้ปกครองก็อย่านิ่งนอนใจและควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว
  1. การรักษาที่สำคัญ คือ ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้อีดำอีแดงชัดเจน แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะทันที เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นเวลานาน 10 วัน และแม้อาการจะหายไปภายใน 3-4 วัน ก็ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะต่อไปจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน (ถ้ารับประทานยาไม่ครบ 10 วัน จะฆ่าเชื้อได้ไม่หมด)
    • เพนิซิลลินวี (Penicillin V) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้อีดำอีแดงแล้วได้ผลดี ในเด็กให้ใช้ในขนาด 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หรือจะแบ่งให้ตามน้ำหนักตัว โดยให้ชนิดน้ำเชื่อม (ชนิด 1 ช้อนชา = 2 แสนยูนิต) หรือชนิดเม็ด (ชนิด 1 เม็ด = 2 แสนยูนิต) คือ น้ำหนักตัวต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1/4 ช้อนชา หรือ 1/4 เม็ด, น้ำหนักตัว 5-10 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1/2 ช้อนชา หรือ 1/2 เม็ด, น้ำหนักตัว 11-20 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา หรือ 1 เม็ด, น้ำหนักตัว 21-30 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 1/2 ช้อนชา หรือ 1 1/2 เม็ด และน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ให้ใช้ในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่ (ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ คือ ครั้งละ 4 แสนยูนิต วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน) ทั้งหมดนี้ให้รับประทานวันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลานาน 10 วัน
    • อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ในเด็กควรให้วันละ 30-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือจะแบ่งให้ตามน้ำหนักตัว โดยให้ชนิดน้ำเชื่อม (ชนิด 1 ช้อนชา = 125 มิลลิกรัม) หรือชนิดแคปซูล (ชนิด 1 แคปซูล = 250 มิลลิกรัม) คือ น้ำหนักตัวต่ำกว่า 6 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1/2 ช้อนชา, น้ำหนักตัว 7-12 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา, น้ำหนักตัว 13-18 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 1/2 ช้อนชา, น้ำหนักตัว 19-35 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา หรือ 1 แคปซูล และน้ำหนักตัวมากกว่า 35 กิโลกรัม ให้ใช้ในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่ (ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ คือ ครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง หรือวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน หรือครั้งละ 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง) โดยทั้งหมดนี้ให้รับประทานวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน เป็นเวลานาน 10 วัน
    • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หากผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลิน สามารถใช้ยาอิริโทรมัยซินแทนได้ โดยในเด็กควรให้วันละ 30-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง หรือให้ตามน้ำหนักตัว โดยให้ชนิดน้ำเชื่อม (1 ช้อนชา = 125 มิลลิกรัม) หรือชนิดแคปซูล (1 แคปซูล = 250 มิลลิกรัม) คือ น้ำหนักตัวต่ำกว่า 5 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1/4 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง, น้ำหนักตัว 5-8 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1/2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง, น้ำหนักตัว 9-16 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง, น้ำหนักตัว 17-25 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 1 1/2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง หรือ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง, น้ำหนักตัว 26-33 กิโลกรัม ให้ครั้งละ 2 ช้อนชา หรือ 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง และน้ำหนักตัวมากกว่า 33 กิโลกรัม ให้ใช้ในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่ (ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ คือ ครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง) โดยทั้งหมดนี้ควรให้หลังอาหารและก่อนนอน เป็นเวลานาน 10 วัน
  2. ให้การรักษาไปตามอาการอื่น ๆ ที่ตรวจพบ
  3. ผู้ปกครองและผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
    1. ควรแยกตัวผู้ป่วยออกจากผู้อื่น จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น (ผู้ติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ หากได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมรักษาเพียงวันเดียวก็จะหยุดการแพร่เชื้อได้)
    2. นอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
    3. รับประทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ
    4. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง โดยการผสมเกลือป่นประมาณ 1/2 ช้อนโต๊ะ ในน้ำอุ่น 1 แก้ว
    5. ผื่นที่กำลังลอกไม่ควรขัดให้หลุดออกเร็ว ๆ ควรปล่อยให้หลุดออกเองตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
    6. ควรไปพบแพทย์เมื่อได้รับการรักษาแล้วกลับเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอโตขึ้น เจ็บและปวดหู หรือกลับมีไข้อีก ไอ หายใจเร็ว (เป็นอาการของโรคปอดบวม), มีอาการเหนื่อยง่าย ปวดข้อ มีตุ่มหรือก้อนขึ้นใต้ผิวหนัง หรือมีลักษณะคล้ายลมพิษขึ้น (เป็นอาการของโรคไข้รูมาติก), มีอาการบวม ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือมีเลือดปน (เป็นอาการของไตอักเสบ), เด็กมีไข้นานกว่า 7 วัน แล้วไข้ไม่ลง (เพราะโดยปกติไข้ที่เกิดจากติดเชื้อทั่วจะลดลงภายใน 7 วัน) เป็นต้น
    7. หลังจากผู้ป่วยได้รับประทานยาปฏิชีวนะจนครบ 10 วัน และอาการต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติดีแล้ว ก็ไม่ต้องมีการติดตามผลการรักษาอีก ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยที่ผู้ป่วยยังมีอาการผิดปกติต่อเนื่องหรือกลับมามีอาการผิดปกติอีก ก็ควรกลับมาพบแพทย์ตามนัด

วิธีป้องกันไข้อีดำอีแดง

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ การป้องกันการติดเชื้อจึงสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคติดเชื้อผ่านการสัมผัสและฝอยละออง ดังนี้

  1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  3. อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ เครื่องนอน แก้วน้ำ เป็นต้น
  4. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขยี้ตา แคะไชจมูก หรือปาก
  1. ผู้ปกครองควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันทีที่พบ
  2. หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  3. สำหรับผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น และต้องรีบรักษาโรคนี้ให้หายเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  4. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติกหรือมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย (Rheumatic heart disease) ต้องให้การป้องกันระยะยาว เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอซ้ำอีก โดยให้ยาฉีดเพนนิซิลิน ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง
  5. ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ แต่กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนอยู่
  6. อีกวิธีป้องกันที่สำคัญคือ การปรับปรุงเศรษฐกิจของครอบครัวหรือของชุมชนให้ดีขึ้น เพราะเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการสาธารณสุขนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมาก ถ้าเศรษฐกิจดีการสาธารณสุขก็จะดีขึ้นตาม
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “อีดำอีแดง (Scarlet fever)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 413-415.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 35 คอลัมน์ : เด็กๆ..(ผู้ใหญ่ อ่านดี).  “ไข้อีดำอีแดง”.  (นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [28 ก.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)”.  (ศ.พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [29 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.wikipedia.org (by CDC), ww.mayoclinic.org, www.badobadop.co.uk, hardinmd.lib.uiowa.edu, intranet.tdmu.edu.ua, www.atsu.edu, www.stayathomemum.com.au

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด