เตย
เตย หรือ เตยหอม ชื่อสามัญ Pandan leaves, Fragrant pandan, Pandom wangi
เตย ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus amaryllifolius Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odorus Ridl.) จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)
สมุนไพรเตย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ใบส้มม่า (ระนอง), ส้มตะเลงเครง (ตาก), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), ส้มพอดี ผักเก็งเค็ง (ภาคเหนือ) เป็นต้น
ต้นเตยหอม จัดเป็นไม้ยืนต้นพุ่มเล็ก ขึ้นเป็นกอ มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวจนถึงยอดใบ ลักษณะของใบเป็นทางยาว สีเขียวเป็นมัน ใบค่อนข้างแข็ง มีขอบใบเรียบ เราสามารถนำใบเตยมาใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง ในใบเตยจะมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย (Fragrant screw pine) โดยกลิ่นหอมของใบเตยนั้นมากจากสารเคมีที่ชื่อว่า 2-acetyl-1-pyrroline ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกันกับที่ได้ใน ข้าวหอมมะลิ ขนมปังขาว และดอกชมนาด
นอกจากนี้ใบเตยยังประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญอีกหลายชนิด โดยใบเตยหอม 100 กรัมนั้นจะมีเบต้าแคโรทีน 3 ไมโครกรัม, วิตามินซี 8 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.2 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 124 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีคาร์โบไฮเดรต 4.6 กรัม, โปรตีน 1.9 กรัม และให้พลังงานถึง 35 กิโลแคลอรี่ !
ใบเตยเป็นพืชที่คนไทยทุกคนต่างก็รู้จักกันดี เนื่องจากมีการนำมาใช้กันอย่างหลากหลายตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาปรุงแต่งอาหารอย่างขนมไทยให้มีกลิ่นหอม อร่อย และยังให้สีสันน่ารับประทานอีกด้วย
ประโยชน์ของใบเตย
- ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น และช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ (น้ำใบเตย)
- การดื่มน้ำใบเตยจะช่วยดับกระหายคลายร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะใบเตยมีกลิ่นหอมเย็น ดื่มแล้วจึงรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย
- รสหวานเย็นของใบเตยช่วยชูกำลังได้
- การดื่มน้ำใบเตยช่วยแก้อาการอ่อนเพลียของร่างกายได้
- ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย
- ผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟนั้น การรับประทานอาหารที่ปรุงจากใบเตยจะช่วยทำให้รู้สึกเย็นสบายสดชื่นได้
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งตามตำรับยาไทยได้มีการนำใบเตยหอม 32 ใบ, ใบของต้นสัก 9 ใบ นำมาหั่นตากแดด แล้วนำมาชงเป็นชาดื่มอย่างน้อย 1 เดือน หรือจะใช้รากประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็นก็ได้เหมือนกัน (ใบ, ราก)
- ช่วยลดความดันโลหิต (สารสกัดน้ำจากใบเตย)
- ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
- ช่วยบรรเทาอาการอาการและดับพิษไข้ได้
- ช่วยดับพิษร้อนภายในได้เป็นอย่างดี
- ใช้รักษาโรคหืด (ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้กระษัย (ต้น, ราก)
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะด้วยการใช้ต้น 1 ต้น หรือจะใช้รากครึ่งกำมือก็ได้ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ต้น)
- ใช้รักษาโรคหัดได้
- ใบเตยสดนำมาตำใช้พอกรักษาโรคผิวหนังได้
- มีการนำใบเตยมาใช้แต่งกลิ่นอาหารอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของหวานต่าง ๆ อย่างเช่น ขนมลอดช่อง ขนมชั้น รวมไปถึงเค้กและสลัด เป็นต้น
- มีการนำใบเตยมาทุบพอแตก นำไปใส่ก้นลังถึงสำหรับนึ่งขนม จะทำให้ขนมที่สุกแล้วมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมาก
- ใช้ใบเตยรองก้นหวดสำหรับนึ่งข้าวเหนียว เมื่อข้าวสุกแล้วจะทำให้มีกลิ่นหอมมาก
- สีเขียวของใบเตยเป็นสีของคลอโรฟิลล์ สามารถนำมาใช้แต่งสีขนมได้
- ใช้ใบเตยสดใส่ลงไปในน้ำมันที่ใช้แล้ว ตั้งไฟให้ร้อนแล้วค่อยตักใบเตยขึ้น จะทำให้น้ำมันไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ทำให้น้ำมันที่ใช้ทอดมีกลิ่นเหมือนน้ำมันใหม่
- ประโยชน์ของใบเตยกับการนำมาใช้ทำเป็นทรีตเมนต์สูตรบำรุงผิวหน้า ด้วยการใช้ใบเตยล้างสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาปั่นรวมกับน้ำสะอาดจนละเอียด จะได้ครีมข้นเหนียวแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที
วิธีทำน้ำใบเตยหอม
- การทำน้ำใบเตยอย่างแรกให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ใบเตยหั่น 2 ถ้วย, น้ำตาลทราย 5 ช้อนโต๊ะ, น้ำ 4 ถ้วย, และน้ำแข็งก้อน
- นำใบเตยที่หั่นไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วใส่ลงในโถปั่นพร้อมกับน้ำเล็กน้อย แล้วปั่นจนละเอียด
- เมื่อปั่นเสร็จให้กรองเอากากออก จะได้น้ำใบเตยสีเขียว ให้เทใส่ถ้วยแล้วพักไว้
- ต้มน้ำในหม้อด้วยไฟระดับกลาง ๆ จนเดือด ใส่ใบเตยที่เหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่งลงไปต้มประมาณ 5-10 นาที
- ใส่น้ำตาลลงในหม้อต้มจนน้ำตาลละลาย แล้วให้ปิดไฟแล้วยกลง แล้วกรองเอากากออก
- หลังจากนั้นให้ยกหม้อขึ้นตั้งไฟระดับกลางอีกครั้ง รอจนเดือดแล้วปิดไฟ ยกหม้อลงปล่อยให้เย็นเป็นอันเสร็จ น้ำใบเตย ใส่น้ำแข็งเสร็จดื่มได้เลย…
แหล่งอ้างอิง : www.gotoknow.org (ทิพย์สุดา), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)