โอเมพราโซล (Omeprazole) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โอเมพราโซล (Omeprazole) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

โอเมพราโซล

โอเมพราโซล โอมีพราโซล โอมีปราโซล หรือ โอเมปราโซล (Omeprazole) เป็นยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton-pump inhibitor – PPI) ที่ช่วยขัดขวางไม่ให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรด โดยจะมีฤทธิ์ลดการหลั่งกรดแรงกว่ากลุ่มยาต้านเอช 2 (เช่น ไซเมทิดีน รานิทิดีน) จึงนิยมนำมาใช้รักษาอาการกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แต่การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายในคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานเอง

ตัวอย่างยาโอเมพราโซล

ยาโอเมพราโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอโรเมท-ออม (Airomet-Aom), แอมโนพรา (Amnopra), ดีเซค (Desec), โดเซท (Dosate), ดูโอแก๊ส (Duogas), ดูโอโซลิน (Duosolin), อีเซแลน (Eselan), ยูซิด (Eucid), แก๊สเตอร์ (Gaster), แก๊สโตรเซค (Gastrosec), โกเมค (Gomec), เจวี พราโซล (J.V. PRAZOLE), โลคิท (Lokit), โลแมค (Lomac), โลเมเซค (Lomezec), โลไมซิด (Lomicid), โลพรา (Lopra), โลเซค หรือ โลเซก (Losec), โลซอล (Lozol), มาดิพราโซล (Madiprazole), เมพาซอล (Mepasol), เมราเซค (Merasec), เมทเซค (Metsec), เมซิด (Mexid), มินิซิด (Minicid), มิราซิด หรือ ไมราซิด (Miracid), โมดูโซล (Moduzole), โมพริกซ์ (Moprix), โมเซค (Mosec), โนซิด (Nocid), โอซิด (Ocid), โอลิท (Olit), โอเมค (Omec), โอเมด (Omed), โอเมแมน (Omeman), โอเมแพค (Omepac), โอเมพลัซ (Omepluz), โอเมพราโซล จีพีโอ (Omeprazole GPO), โอเมพราโซล มาร์ช ฟาร์มา (Omeprazole March Pharma), โอเมพราโซล ยู สแควร์ (Omeprazole U Square), โอเมพรอล (Omeprol), โอเมเซค (Omesec), โอเมซิล (Omesil), โอเมซ (Omez), โอเมซอล (Omezol), โอเมโซล (Omezole), โอมีแคพ (Omicap), โอมิเตอร์ (Omiter), โอมิซอล (Omizole), โอมเลค 20 (Omlek 20), โอพราเมด (Opramed), โอพราโซล (Oprazole), ออร์ทานอล (Ortanol), โอซิด (Osid), เพพติโซล (Peptizole), พราโซล (Prazole), โพรบิเตอร์ (Probitor), โพรเซท (Procate), โพรเซค (Prosec), โพรโตเนส (Protonase), ซาโนเซค (Sanosec), เซเวรอน (Severon), ซาโนเซค (Sanosec), เซโต-โอ (Seto-o), สโตเมค (Stomec), อัลพราซิด (Ulpracid), อัลพราโซล (Ulprazole), อัลเซค (Ulsec), เซฟซอน (Zefxon), ไซกาแคพ (Zigacap), ไซเมอร์ (Zomor) ฯลฯ

ในประเทศไทยเราสามารถหาซื้อยานี้ได้ตามร้านขายยาทั่วไป อีกทั้งยังมีใช้กันในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโอเมพราโซล จีพีโอ (Omeprazole GPO) ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม, มิราซิด หรือ ไมราซิด (Miracid) และโลเซค หรือ โลเซก (Losec)

โอเมพราโซลจีพีโอ
IMAGE SOURCE : www.student.chula.ac.th / โอเมพราโซล จีพีโอ (Omeprazole GPO) ราคาประมาณ 190 บาท

มิราซิด
IMAGE SOURCE : pantip.com (by jarinthorn), kidbmt.net / มิราซิด (MIRACID) ราคาประมาณ 100 บาท/กล่อง

ไมราซิด
IMAGE SOURCE : pharmacykabin.blogspot.com, kidbmt.net

รูปแบบยาโอเมพราโซล

  • ยาแคปซูล ขนาด 20 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 20 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม

สรรพคุณของยาโอเมพราโซล

  • ใช้รักษาอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD) ซึ่งทำให้มีอาการแสบร้อนกลางอกและหลอดอาหารเป็นแผล
  • ใช้รักษาอาการหลอดอาหารอักเสบ (Erosive esophagitis) หรือหลอดอาหารและคอหอยอักเสบ จากการที่กรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารบวม ฉีกขาด และมีอาการแสบร้อนกลางอก
  • ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Peptic ulcer)
  • ใช้รักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer)
  • ใช้รักษาอาการปวดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากอาหารไม่ย่อยและมีกรดมากเกินไป
  • ใช้รักษาภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome)
  • ใช้ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ที่อยู่ในกระเพาะอาหาร และทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้า
  • ใช้ป้องกันการสำลักกรดเข้าไปในปอด เช่น การใช้ก่อนการผ่าตัด

หลังจากรับประทานยาโอเมพราโซล ยาจะถูกดูดซึมเข้าทางลำไส้เล็กภายใน 3-6 ชั่วโมง และถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลงครึ่งหนึ่งภายในเวลา 1-1.2 ชั่วโมง ยาโอเมพราโซลจะถูกขับออกจากร่างกายได้ทั้งทางปัสสาวะและอุจจาระ

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโอเมพราโซล

ยาโอเมพราโซลจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า Hydrogen-potassium Adenosinetriphosphatase ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยให้อาการของโรคกรดไหลย้อนและแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ดีขึ้น

ก่อนใช้ยาโอเมพราโซล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโอเมพราโซล สิ่งที่ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • การแพ้ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิดรวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับขนาดของยาให้เหมาะสม เพราะยาโอเมพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ทำให้ประสิทธิภาพของยาที่รับประทานอยู่ก่อนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin)), ยาต้านไวรัส (เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir), เนลฟินาเวียร์ (Nelfinavir), ซาควินาเวียร์ (Saquinavir), ทาโครลิมัส (Tacrolimus)), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin)), ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporin), เมโธเทรกเซท (Methotrexate)), ยากล่อมประสาท (เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam), ไดอะซีแพม (Diazepam)), ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านเชื้อรา (เช่น โวริโคนาโซล (Voriconazole)), ยาซิลอสตาซอล (Cilostazol), ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) และยาอื่น ๆ
    • การใช้ยาโอเมพราโซลร่วมกับยากล่อมประสาท (ยาคลายเครียด) เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam), ไดอะซีแพม (Diazepam) จะส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ในตับและทำให้ระดับยากล่อมประสาทอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ง่วงนอนมาก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
    • การใช้ยาโอเมพราโซลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin), ไดคูมารอล (Dicumarol) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดหรือเลือดออกง่าย (ถึงแม้จะพบได้น้อยก็ตาม) รวมไปถึงอาการบวม คลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย ควรให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
    • การใช้ยาโอเมพราโซลร่วมกับยาลดไขมันบางกลุ่ม เช่น อะโทรวาสแตติน (Atorvastatin), ซิมวาสแตติน (Simvastatin) อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับหรือทำให้เกิดการทำลายตัวเองของกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyolysis) ได้
    • การใช้ยาโอเมพราโซลร่วมกับยาวิตามินรวมที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เพื่อบำรุงเลือดหรือใช้รักษาอาการโลหิตจาง สามารถทำให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดน้อยลงจนส่งผลให้การบำรุงเลือดด้อยประสิทธิภาพลง ในกรณีนี้ควรปรับระยะเวลาของการรับประทานไม่ให้ตรงกัน โดยขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • การมีโรคหรือภาวะดังต่อไปนี้
    • อุจจาระมีสีดำคล้ำหรือมีเลือดปน เจ็บหน้าอก มีอาการกลืนลำบาก มีอาการแสบร้อนกลางอกเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน
    • มีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมกับอาการมึนงง ปวดศีรษะเล็กน้อย หรือเหงื่อออก
    • มีโรคตับ ปวดท้อง น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาเจียนมีเลือดปน หายใจหอบ
    • มีความผิดปกติของการทำงานของตับ
    • มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคเอดส์
    • มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาโอเมพราโซล

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยาโอเมพราโซล หรือแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มยาเดียวกัน เช่น อีโซเมพราโซล (Esomeprazole), แลนโซพราโซล (Lansoprazole), แพนโทพราโซล (Pantoprazole), ราบีพราโซล (Rabeprazole) เป็นต้น หรือเมื่อรับประทานยาโอเมพราโซลแล้วมีอาการผื่น คัน ลมพิษ หน้าบวม ตาบวม หายใจลำบาก
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็ง เนื่องจากการใช้ยานี้จะทำให้อาการดีขึ้นและทำให้การวินิจฉัยล่าช้าออกไป
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ยังไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ เพราะยังขาดข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้สำหรับเด็กกลุ่มนี้
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร (ในระดับความปลอดภัยในคนท้อง ยานี้จัดอยู่ในประเภท Pregnancy Category C คือ จากการศึกษาพบว่า ยานี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น การจะใช้ยาประเภทนี้จะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาและความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ว่าเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่)
    • หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เนื่องจากเคยมีรายงานความผิดปกติของทารกในแม่ที่รับยานี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะยานี้สามารถผ่านรกและเข้าสู่ทารกได้ อย่างไรก็ตาม แม่ที่ใช้ยาในขนาดการรักษาตามปกติก็มีโอกาสทำให้เกิดความพิการในทารกได้น้อยมาก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาถึงผลดีผลเสียให้ดีก่อนจะให้ใช้ยานี้ และหญิงตั้งครรภ์อย่าใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
    • หญิงให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะยาสามารถผ่านน้ำนมแม่ไปยังเด็กได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

วิธีใช้ยาโอเมพราโซล

  • ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์[2],[3] และใช้เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ให้รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม และเพิ่มเป็น 20-40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ซึ่งขนาดยาและระยะเวลาในการรับประทานจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น[3]
  • ใช้รักษาแผลลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์[1] โดยแผลส่วนใหญ่จะหายใน 4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจต้องให้ต่ออีก 4 สัปดาห์[4] สำหรับแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นเรื้อรัง ให้รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร[3]
  • ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง[1] หรือให้รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน[4] เป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์ สำหรับแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ให้รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร[3]
  • ใช้รักษาอาการปวดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากอาหารไม่ย่อยและมีกรดมากเกิน ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน[4]
  • ใช้รักษาภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป จากการเจริญที่ผิดปกติของตับอ่อน หรือกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) โดยให้รับประทานเริ่มต้นในขนาด 60 มิลลิกรัม/วัน และปรับยาจนถึง 120 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • ใช้ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะและลำไส้อาหารจากยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง[1] สำหรับการใช้รักษาควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งหรือตามคำแนะนำของเภสัชกร[4]
  • ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) โดยให้รับประทานยา 3 ชนิด ได้แก่ โอเมพราโซล (Omeprazole) วันละ 20 มิลลิกรัม ร่วมกับยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) 500 มิลลิกรัม และอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน หรืออีกวิธีให้รับประทานยาโอเมพราโซล (Omeprazole) วันละ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ร่วมกับยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

หมายเหตุ : ขนาดการใช้ยาเบื้องต้นอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย[4] สำหรับการใช้ยานี้ในเด็กต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปในเด็กที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี สำหรับใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนและแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Peptic ulcer) แพทย์จะให้ใช้ขนาดยาตามน้ำหนักตัวของเด็ก คือ ถ้าเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม ให้รับประทานในขนาด 10 มิลลิกรัม/วัน แต่ถ้ามีน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 20 กิโลกรัม จะให้รับประทานในขนาด 20 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์[1]

คำแนะนำในการใช้ยาโอเมพราโซล

  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาในขนาดที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • ยานี้ในรูปแบบแคปซูล โดยทั่วไปจะให้รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณ 30-60 นาที (รับประทานยาพร้อมน้ำดื่มที่สะอาดเท่านั้น ไม่ควรรับประทานยาร่วมกับน้ำชนิดอื่น ๆ) และให้ดื่มน้ำประมาณ ½ – 1 แก้ว ทุกครั้งหลังรับประทานยาอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หรือตามที่แพทย์สั่ง
  • ไม่ควรแบ่งยาหรือเคี้ยวเม็ดแคปซูลเพื่อรับประทาน แต่ถ้าไม่สามารถกลืนเม็ดแคปซูลได้ ให้แกะเม็ดแคปซูลออกแล้วผสมผงยาทั้งหมดลงในน้ำดื่มประมาณ 2 ช้อนชาแล้วดื่มได้ หรือใส่น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ฯลฯ โดยต้องคนยาให้กระจายตัวก่อนดื่มและใช้น้ำล้างยาที่ติดในภาชนะที่ผสมยาให้หมด แล้วดื่มน้ำตามอีกอย่างน้อย 1 แก้ว (ต้องใช้ยาที่ผสมแล้วทันที อย่าทิ้งไว้นานเกิน 30 นาทีหลังจากที่ผสมยา)
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 2 สัปดาห์หรือนานเป็นเดือน ๆ และผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการของโรคจะหายไปแล้วก็ตาม
  • ถ้าต้องการรับประทานยาธาตุน้ำขาวลดกรด, ยาไดจอกซิน (Digoxin), ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือธาตุเหล็ก จะต้องรับประทานยาเหล่านี้ก่อนยาโอเมพราโซลประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ไม่ควรใช้ยาโอเมพราโซลร่วมกับยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เพราะยาโอเมพราโซลจะทำให้ยาโคลพิโดเกรลออกฤทธิ์ลดลง
  • หากซื้อยานี้มารับประทานเอง ไม่ควรรับประทานยานานเกิน 14 วัน และทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • ควรใช้ยานี้ในขนาดและเวลาน้อยที่สุด เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่รับประทานยานี้ในขนาดสูงและเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปี พบว่ามีอุบัติการณ์ของกระดูกหักเพิ่มขึ้น
  • เด็กที่ต้องใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรระมัดระวังการขาดวิตามินบี 12
  • ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำมักพบในผู้ที่รับประทานยาโอเมพราโซลมากกว่า 1 ปี และ/หรือได้รับยาขับปัสสาวะหรือยาไดจอกซิน (Digoxin) โดยอาการที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นผิดปกติ หรือชัก ดังนั้น ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแมกนีเซียมต่ำต้องได้รับการตรวจเลือดหาระดับแมกนีเซียม
  • ถ้าสงสัยว่าได้รับยานี้เกินขนาด (อาการที่มักพบเมื่อได้รับยานี้เกินขนาด คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงนอน สับสน เหงื่อออกมากผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่า ซึมเศร้า รู้สึกเฉื่อย ไร้อารมณ์ หน้าแดงร้อน ปากแห้ง ปวดท้อง ท้องเสีย) ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
  • ในกรณีที่มีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีเลือดออกบริเวณทางเดินอาหาร
  • ยานี้อาจต้องรับประทานประมาณ 1-4 วัน จึงจะทำให้อาการดีขึ้น แต่ในกรณีที่รับประทานยามาแล้ว 14 วันอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากมีอาการข้างเคียงต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือหากเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง (เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หน้าบวม หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ มีไข้) ให้หยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

การเก็บรักษายาโอเมพราโซล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมาปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาโอเมพราโซล

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาโอเมพราโซล สามารถรับประทานได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าลืมรับประทานยาก่อนอาหาร ควรรับประทานยานี้หลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาโอเมพราโซล

  • อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไอ ปากแห้ง ทรงตัวลำบาก รู้สึกหน้ามืด รู้สึกหัวเบาโหวงเหวง ง่วงนอนหรือง่วงซึม นอนไม่หลับ ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเดิน ท้องเสีย หรือท้องผูก ปริมาณเอนไซม์ในตับ (AST, ALT) สูง
  • อาการข้างเคียงที่รุนแรง หากเกิดขึ้นจำเป็นต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น
    • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีอาการแน่นหน้าอก ปวดบริเวณหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ มีอาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ปาก ลิ้น ลำคอ มือ เท้า ข้อเท้า และขาส่วนล่าง เวียนศีรษะรุนแรง มีผื่นคัน ผื่นลมพิษ มีตุ่มน้ำสีแดง มีอาการแสบและหลุดลอกที่ผิวหนัง ในปาก มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ไอหรือสำลัก เจ็บคอ มีอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ ชัก กล้ามเนื้อกระตุก มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เจ็บกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามกล้ามเนื้อ บริเวณหลังหรือขา
    • ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีสีคล้ำขึ้นหรือเป็นสีน้ำตาล เลือดออกในปัสสาวะ เป็นดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง) มีเลือดออกง่ายผิดปกติหรือมีจ้ำเลือด
    • มีอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ เจ็บลิ้น ชา หรือรู้สึกซ่าบริเวณมือและเท้า กระวนกระวายอยู่ไม่สุข มึนงง สับสน ซึมเศร้า ตาพร่าหรือมีการมองเห็นผิดปกติ รวมทั้งอาการอื่นใดที่รุนแรงหรือไม่ยอมหายไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “โอเมพราโซล (Omeprazole)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 279-280.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “OMEPRAZOLE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [13 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาโอเมพราโซล (Omeprazole)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 ก.ย. 2016].
  4. Siamhealth.  “ยาลดกรด omeprazole”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [13 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด