โหราบอน
โหราบอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauromatum giganteum (Engl.) Cusimano & Hett. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Typhonium giganteum Engl.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรโหราบอน มีชื่อเรียกอื่นว่า ยวี่ไป๋ฟู่ ตู๋เจี่ยวเหลียน ไป๋ฟู่จื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของโหราบอน
- ต้นโหราบอน จัดเป็นพรรณไม้จำพวกว่าน มีอายุได้หลายปี โหราบอนเป็นพืชที่ไม่มีลำต้น แต่มีหัวอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายกับหัวเผือก ลักษณะเป็นรูปกลมรียาว แต่มีขนาดเล็กกว่าหัวเผือก มีขนาดใหญ่และเล็กไม่เท่ากัน เปลือกหัวเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีลายคล้ายกับเกล็ดปลา บริเวณโคนของลำต้นเหนือดินมีรากฝอยมาก[1]
- ใบโหราบอน มีการแตกใบจากบริเวณโคนต้น ก้านใบยาวและอวบน้ำ ก้านใบมีลักษณะตั้งตรงมีร่องโค้งคล้ายกับก้านกล้วย ในต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 2-4 ใบ ในระยะเวลา 1-2 ปี จะมีการแตกใบ 1 ใบ ใบอ่อนมักจะม้วนงอ ส่วนใบที่โตเต็มที่แล้วจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น[1]
- ดอกโหราบอน ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวแทงขึ้นมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกมีลักษณะกลมยาวคล้ายรูปทรงกระบอก มีเนื้อนิ่ม ดอกเป็นสีม่วงมีแต้มเล็กน้อยและมีลายเส้นตรง มีกาบใบสีม่วงอ่อนห่อหุ้มอยู่ ภายในดอกจะพบผล[1]
- ผลโหราบอน ผลจะอยู่ภายในดอก เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณของโหราบอน
- หัวใต้ดินมีรสเบื่อเมา เผ็ดชุ่มเล็กน้อย มีพิษมาก เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อตับและกระเพาะ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับลมชื้น (หัว)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว เป็นลมตะกัง (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ต่อมน้ำเหลืองลำคอที่ติดเชื้อวัณโรค (แผลที่ยังไม่แตก) โดยใช้หัวสด นำมาปอกเปลือกออกแล้วนำมาตำให้แตก ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1 ครั้ง (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคปากคอ คอตีบ เจ็บคอ (หัว)[1]
- หัวใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย และแก้บาดทะยัก (หัว)[1]
- หัวใช้เป็นยาแก้ปวด แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา ปวดตามข้อ (หัว)[1]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นก้อน แก้ตกใจง่าย แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้อัมพฤกษ์ที่ทำให้ตาหรือปากเบี้ยว ให้ใช้หัวโหราบอนแห้งที่กำจัดพิษออกแล้ว 60 กรัม, แมงป่องตากแห้ง 30 กรัม และหนอนใบหม่อน 30 กรัม นำมารวมกันบดให้เป็นผงทำเป็นยาเม็ด เม็ดละ 3 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)[1]
ข้อควรระวังในการใช้โหราบอน
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
- ไม่ควรนำหัวโหราบอนสด ๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการกำจัดพิษมารับประทานหรือใช้เป็นยา[1]
กรรมวิธีการกำจัดพิษโหราบอน
- ให้นำหัวโหราบอนมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปแช่ในน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ โดยให้เปลี่ยนน้ำที่แช่ทุก ๆ วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เมื่อแช่ครบ 1 สัปดาห์จึงนำหัวโหราบอนมาแช่กับน้ำสารส้ม (ในอัตราส่วนหัวโหราบอน 50 กิโลกรัม ต่อสารส้ม 1 กิโลกรัม) เป็นเวลา 1 วัน หลังจากนั้นให้เทน้ำสารส้มออก ใส่น้ำสะอาดลงไป แช่จนกว่าน้ำจะไม่มีรสเบื่อเมาเผ็ด แล้วจึงนำหัวที่ได้มานึ่งกับขิง (ในอัตราส่วน 50 ต่อ 12) หรือในบางตำราจะนึ่งพร้อมกับชะเอมด้วย หลังจากนึ่งจนสุกแล้วจึงนำหัวที่ได้มาหั่นเป็นแผ่น ๆ แล้วนำไปตากให้แห้ง จึงเก็บไว้ใช้ประโยชน์ทางยา[1]
ขนาดและวิธีใช้โหราบอน
- ให้ใช้ยาแห้งที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้วเท่านั้น โดยให้ใช้ครั้งละ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือหากจะใช้ยาผง ก็ให้ใช้เพียงครั้งละ 3-5 กรัม
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโหราบอน
- หัวและทั้งต้นพบเมือก, Alkaloids (บางชนิดที่พบเป็นพิษ), Glucorin D, Glutamic acif, B-sitosteryl-D-glucoside, Saponin เป็นต้น[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราบอน”. หน้า 638.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by René Stalder)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)