โหราน้ำเต้า
โหราน้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Arisaema consanguineum Schott (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Arisaema erubescens var. consanguineum (Schott) Engl.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรโหราน้ำเต้า มีชื่อเรียกอื่นว่า เทียนหนานซิง หนานซิง (จีนกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของโหราน้ำเต้า
- ต้นโหราน้ำเต้า จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 40-90 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินเป็นรูปกลมแบน มีรากฝอยมาก เปลือกหัวเป็นสีเหลืองเข้ม หัวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.4-5.5 เซนติเมตร[1]
- ใบโหราน้ำเต้า ก้านใบจะแทงออกจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ก้านใบกลมตั้งตรง เนื้อนิ่ม และมีร่องคล้ายกับก้านกล้วย บริเวณโคนก้านใบมีเยื่อบาง ๆ สีขาวมีแต้มสีม่วงหุ้มอยู่ ก้านใบยาวประมาณ 40-85 เซนติเมตร ใบเป็นใบรวมแตกออกเป็นแฉกเรียงเป็นวงกลม คล้ายกับดาวกระจาย มีประมาณ 7-23 แฉก ลักษณะเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบอยู่ในจุดเดียวกัน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร เนื้อใบไม่มีขนปกคลุม หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบเรียงแบบขนนก[1]
- ดอกโหราน้ำเต้า ออกดอกเป็นช่อแทงขึ้นมาจากโคนต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30-70 เซนติเมตร ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกออกเป็นแต่ละกลุ่ม ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก อาจอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีเนื้อนิ่ม ดอกเป็นสีม่วงดำ มีกาบใบหุ้มช่อดอก 1 ใบ เป็นสีเขียว ยาวประมาณ 11-16 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก[1]
- ผลโหราน้ำเต้า ผลจะอยู่บริเวณในดอกและผลเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณของโหราน้ำเต้า
- หัวใต้ดินมีรสขมเผ็ด มีพิษ เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และม้าม ใช้เป็นยาสงบประสาท (หัว)[1]
- ใช้แก้อาการตกใจง่ายชักกระตุก (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้สูงลมชักในเด็ก (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ลมบ้าหมู (หัว)[1]
- ช่วยกระจายและละลายการอุดตันของเสมหะในลำคอ แก้คอตีบ (หัว)[1]
- หัวใช้เป็นยาขับลม (หัว)[1]
- ช่วยแก้บาดทะยัก (หัว)[1]
- หัวใช้ภายนอกเป็นยารักษาพิษฝีหนองปวดบวม แก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการฟกช้ำบวม และฆ่าแมลงวันได้ (หัว)[1]
- ช่วยแก้อัมพาตจากเสมหะติดหลอดลมทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการวิงเวียน (หัว)[1]
- ใช้แก้ตาและปากเบี้ยวที่ใบหน้าหรือใบหน้ามีอาการชา (หัว)[1]
หมายเหตุ : ในพืชตระกูลนี้ยังมีอีกประมาณ 20 กว่าชนิดด้วยกัน เช่น Arisaema erubescens (Wall) Schott ชื่อจีนเรียกว่า อี้ปาซั้งเทียน, หลังซิง (จีนกลาง) ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันและสามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ต้องนำมากำจัดพิษออกก่อนที่จะนำมารับประทาน[1]
ข้อควรระวังในการใช้โหราน้ำเต้า
- สมุนไพรชนิดนี้มีพิษ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
- สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการลิ้นชา เวียนศีรษะ เจ็บคอ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ต้องรีบพาไปพบแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาล[1]
กรรมวิธีการกำจัดพิษโหราน้ำเต้า
- ให้นำหัวโหราน้ำเต้ามาล้างให้สะอาด แล้วนำไปแช่ในน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ (หรือจนกว่าน้ำที่แช่จะมีฟองขึ้นมา) โดยให้เปลี่ยนน้ำวันละ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นให้นำมาแช่กับน้ำสารส้ม (ในอัตราส่วนหัวโหราน้ำเต้า 50 กิโลกรัม ต่อสารส้ม 1 กิโลกรัม) แช่นาน 1 เดือน หรือแช่จนกว่าหัวโหราจะไม่มีรสเผ็ดเมา แล้วจึงนำมาแช่กับสารส้มและขิงอีกรอบหนึ่ง (หัวโหราน้ำเต้า 50 กิโลกรัม ต่อสารส้ม 6.5 กิโลกรัม ต่อขิง 12.5 กิโลกรัม) โดยให้แช่นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงนำหัวโหราน้ำเต้ามาต้มให้สุก แล้วนำไปผึ่งให้แห้งหรืออบแห้ง จากนั้นให้นำหัวมาหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วเก็บไว้ใช้เป็นยาต่อไป[1]
ขนาดและวิธีใช้โหราน้ำเต้า
- ให้ใช้เฉพาะยาแห้งที่ผ่านกรรมวิธีการกำจัดพิษแล้วเท่านั้น โดยให้ใช้เพียงครั้งละ 2-5 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผงใช้โรยแผลตามที่ต้องการ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโหราน้ำเต้า
- หัวโหราน้ำเต้า พบสาร Alkalod (ที่ออกฤทธิ์เหมือนกับ Conine), Amino acid, Benzoic acid, Saponina, Treterpenoid และยังพบแป้งอีก ส่วนผล Coniine เป็นต้น[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มจากหัวโหราน้ำเต้ามาให้แมวหรือสุนัขทดลองกิน พบว่า จะทำให้สัตว์ทดลองมีอาการอาเจียนและเกิดการกระตุ้นหลอดลมให้ขับเสมหะออกมามากขึ้น[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มจากหัวมาให้หนูทดลองกิน พบว่าจะมีฤทธิ์แก้ปวดในหนูทดลอง และยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหนูที่มีเนื้องอกได้อีกด้วย[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราน้ำเต้า”. หน้า 636.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Rob & Sharon Illingworth, Shih-Shiuan Kao, Ruud de Block, Wendy Cutler, johrio, David Scherberich)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)