โหราข้าวโพด
โหราข้าวโพด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinellia ternata (Thunb.) Makino (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pinellia ternata (Thunb.) Ten. ex Breitenb., Pinellia tuberifera Ten.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)
สมุนไพรโหราข้าวโพด มีชื่อเรียกอื่นว่า ปั้นเซี่ย ซันเยี้ยะปั้นเซี้ย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของโหราข้าวโพด
- ต้นโหราข้าวโพด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายรูปไข่แบนเล็กน้อยหรือเป็นรูปกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร หัวใต้ดินแตกเป็นรากฝอยมาก[1]
- ใบโหราข้าวโพด ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ตอนแรกจะแตกใบหนึ่งใบ เมื่อเริ่มโตเต็มที่ก้านหนึ่งจะแตกออกถึง 3 ใบ ใบตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านข้าง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเป็นมันเงา ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ขนาดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 6-23 เซนติเมตร มีเส้นใบแบบขนนก บริเวณก้านใบจะมีปุ่มงอกออกมา ปุ่มเป็นสีขาวลักษณะคล้ายไข่ไก่ขนาดเล็ก[1],[2]
- ดอกโหราข้าวโพด ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกมีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีกาบใบสีเขียวหุ้มอยู่ ยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมักยาวกว่าก้านใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้มักอยู่ช่วงบน ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง ห่างกันประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวทรงกระบอก ด้านนอกดอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีม่วงดำ[1]
- ผลโหราข้าวโพด ภายในดอกจะมีผลลักษณะเป็นรูปไข่กลมรีสีขาว ขนาดยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณของโหราข้าวโพด
- หัวโหราข้าวโพดมีรสเผ็ด มีพิษ เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาแก้เสมหะขึ้นศีรษะทำให้ปวดหัววิงเวียน นอนไม่หลับ เป็นยาสงบประสาท (หัว)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (หัว)[1],[2]
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (หัว)[2]
- ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้โหราข้าวโพด 10 กรัม, หกเหล็ง 10 กรัม, เปลือกส้ม 6 กรัม, ชะเอม 5 กรัม, เมล็ดพุทราจีนแห้ง 4 เม็ด และขิงสด 3 แผ่น นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (หัว)[1]
- ช่วยละลายเสมหะ แก้เสมหะข้น (หัว)[1],[2]
- หัวใช้ภายนอกเป็นยาแก้หูน้ำหนวก (หัว)[1]
- ช่วยแก้คออักเสบ (หัว)[1]
- ใช้เป็นยาแก้หอบหืด (หัว)[1]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (หัว)[1]
- ตำรับยาช่วยขับน้ำชื้นในกระเพาะ ให้ใช้โหราข้าวโพด 10 กรัม, หกเหล็ง 10 กรัม, เปลือกส้ม 6 กรัม, ชะเอม 5 กรัม, เมล็ดพุทราจีนแห้ง 4 เม็ด และขิงสด 3 แผ่น นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (หัว)[1]
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (หัว)[1]
- ช่วยแก้อาการแพ้ท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- หัวใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝีหนอง ปวดบวม เต้านมอักเสบ (หัว)[1]
ข้อควรระวัง : เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้เป็นยาที่มีพิษ จึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หรือรับประทานยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษ[1]
กรรมวิธีกำจัดพิษ : ให้นำหัวโหราข้าวโพดมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปแช่ในน้ำประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยเปลี่ยนน้ำวันละ 2 ครั้ง โดยขณะเปลี่ยนน้ำให้กวนน้ำไปด้วย หลังจากนั้นให้นำไปแช่ในน้ำสารส้ม (หัวโหราข้าวโพด 50 กิโลกรัมต่อสารส้ม 1 กิโลกรัม) แช่จนกว่าจะไม่เห็นฟองสีขาวหรือแช่จนกว่าหัวโหราข้าวโพดเริ่มมีสีชมพู จึงเทน้ำทิ้งไป จากนั้นแช่น้ำให้สะอาดอีก 1 วัน แล้วจึงนำหัวที่ได้มาไปต้มน้ำสารส้มและใส่ขิงลงไปต้มด้วยกัน (หัวโหราข้าวโพด 50 กิโลกรัมต่อขิง 12.5 กิโลกรัม) ต้มจนสุก จนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน แล้วจึงนำมาตากให้แห้ง เก็บไว้ใช้เป็นยา[1]
ปริมาณที่ใช้ : ยาแห้งที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้ว ให้ใช้เพียงครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโหราข้าวโพด
- สารที่พบ ในหัวหรือเหง้าโหราข้าวโพดจะพบน้ำมันระเหยและในน้ำมันระเหยจะพบสาร B-aminobutyricacid, Glutamicacid, Arginine, Aspartic acid และยังพบสาร B-sitosteryl-D-glucoside, Glucose, Glucolin, Amino acid, Alkaloid (ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ Conine) เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารสำคัญที่พบ ได้แก่ amylose BX-W, anethole, campesterol, choline, daucosterol, fluoride, flavone, pinellia lectin, pinellia ternata trypsin inhibitor, pinellian G, β-sitosterol, stigmasterol, tridecanoic acid[2]
- สมุนไพรโหราข้าวโพด มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมัน ลดคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้แท้ง ป้องกันการเกิดแผลที่กระเพาะ บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ระงับประสาท เพิ่มความจำ ต้านการชัก[2]
- รายงานผลการทดลองเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากเหง้าโหราข้าวโพดในหนูขาวทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในหนูขาวทดลองได้[2]
- น้ำที่ต้มได้จากหัวโหราข้าวโพดในความเข้มข้น 20% เมื่อนำมาให้แมวทดลองกินในปริมาณ 0.6 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถช่วยแก้อาการไอของแมวทดลองได้[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มกับหัวโหราข้าวโพดในความเข้มข้น 20% หรือใช้ยาแห้ง 3 กรัม ต้มเป็นน้ำ ให้แมวทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยระงับอาการอาเจียนของแมวได้[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อให้คนสูดดม จะมีอาการหืดและเยื่อจมูกอักเสบ แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูขาวทดลองที่ได้รับตำรับอาหารซึ่งมียาผสมอยู่ 10% ของอาหาร[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราข้าวโพด”. หน้า 632.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โหราข้าวโพด” หน้า 155-156.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by judymonkey17, Foggy Forest, Phil.D., 翁明毅) เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)