22 สรรพคุณและประโยชน์ของโสมไทย ! (โสมคน)

22 สรรพคุณและประโยชน์ของโสมไทย ! (โสมคน)

โสมไทย

โสมไทย ชื่อสามัญ Fame Flower, Ceylon Spinach, Sweetheart, Surinam Purslane[4]

โสมไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Claytonia patens (L.) Kuntze, Portulaca paniculata Jacq., Portulaca patens L., Talinum patens (L.) Willd.)[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ TALINACEAE

สมุนไพรโสมไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โสม โสมคน (ภาคกลาง), ว่านผักปัง (เชียงใหม่), โทวหนิ่งเซียม (จีน), ถู่เหยินเซิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของโสมไทย

  • ต้นโสมไทย หรือ ต้นโสมคน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุเพียงหนึ่งปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-100 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านบริเวณโคนต้น จำนวนของกิ่งที่แตกออกจากต้นมีประมาณ 5 กิ่งขึ้นไป โดยการแตกกิ่งจะทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและฉ่ำน้ำ ลำต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อมีอายุมากจะเป็นสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น ต้นอ่อนลำต้นจะเปราะและหักได้ง่าย เมื่อแก่แล้วจะแข็งและเหนียว มีเนื้อแข็งคล้ายไม้ นิยมขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เพราะจะได้รากแบบโสมเกาหลีหรือโสมจีน แต่ถ้านำมาปักชำจะไม่มีรากแก้ว (รากโสม) แต่จะมีเพียงรากแขนงเท่านั้น โสมไทยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นสูง ชอบที่มีแสง พบขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ มักพบในที่ชุ่มชื้น บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ตามไร่สวน หรือบ้านเรือนทั่วไป[1],[2],[3],[5]

โสมคน

ต้นโสมไทย

  • รากโสมไทย รากเป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน คล้ายรากโสมเกาหลี รากแก้วมีความเหนียว ลักษณะของรากเป็นรูปกลมยาวปลายแหลมคดงอเล็กน้อย และมีรากฝอยมาก ส่วนเปลือกของรากเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล เนื้อในรากนิ่มเป็นสีขาวนวล เมื่อขูดที่ผิวของรากสักครู่ จะพบว่าบริเวณที่ขูดเป็นสีแดง รากแก้วจะมีความเหนียว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เมื่อรากโตเต็มที่จะมีรูปร่างคล้ายโสมเกาหลีหรือโสมจีน[1],[2],[3],[5]

รากโสมไทย

  • ใบโสมไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลมสั้น โคนใบสอบหรือเรียวแคบเล็กลงจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ไม่มีขน หลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบ เนื้อใบหนาและนิ่ม เส้นใบสานกันเป็นร่างแห น้ำยางที่ใบมีสีและเหนียว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคันเล็กน้อย[1],[2],[5]

ใบโสมไทย

  • ดอกโสมไทย ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดหรือที่ปลายกิ่ง ก้านช่อตั้งขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีม่วงแดงอ่อน เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร (ดอกจะบานในช่วงที่มีแสง เวลาไม่มีแสงดอกจะหุบ ก้านดอกย่อยยาว) กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปกลมรี ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นสีม่วงแดงไม่มีกลิ่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 2 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย สีขาวใส ห่อหุ้มดอกในขณะตูม โคนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม แกนกลางของกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม เป็นเส้นบางขึ้นไป ส่วนปลายกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะแหลม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมีย มีสีเหลือง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วประกบกัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นเส้นบาง ๆ คล้ายกับด้ายและมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายแฉกจะแยกออกเป็น 3 แฉก และมีสีชมพูเหมือนสีของกลีบดอก รังไข่มีลักษณะกลม ภายในรังไข่มีออวุลเป็นเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก ส่วนละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีเหลือง หากมีความชุ่มชื้นเพียงพอ จะออกดอกได้ตลอดทั้งปี และมักมีแมลงและมดดำมาอาศัยอยู่[1],[2],[3],[5]

ดอกโสมไทย

  • ผลโสมไทย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผลมีขนาดเล็ก โดยจะมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่ออ่อนผลจะเป็นสีเขียว ผิวผลเรียบ เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองอ่อน สีแดง และจะเป็นสีเทาเข้ม เมื่อแก่จัดจะแตกทำให้เมล็ดฟุ้งกระจายตกลงบนพื้นดิน ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด[1],[2],[3],[5]

ผลโสมไทย

  • เมล็ดโสมไทย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เมล็ดมีสีขาวตอนผลอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ผิวเมล็ดเรียบ มีลักษณะเปราะบาง[1],[2],[3],[5]

เมล็ดโสมไทย

สรรพคุณของโสมไทย

  1. รากโสมไทยมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย (ราก)[2] ส่วนเหง้าโสมไทยมีรสหวานร้อน ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้เหง้านำมาดองกับเหล้ากิน (เหง้า)[3],[4]
  2. หากร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากการตรากตรำทำงานหนัก ให้ใช้รากสดหรือรากแห้ง นำมาผสมกับรากทงฮวย และน้ำตาลกรวด แล้วนำมาตุ๋นกินกับไก่ (ราก)[1],[3] ส่วนอีกตำรับยาแก้อาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ให้ใช้รากแห้ง 35 กรัม นำมาตุ๋นกินกับปลาหมึกแห้ง 1 ตัว (ราก)[2]
  3. หากมีเหงื่อออกมากผิดปกติ เหงื่อออกไม่รู้ตัว ให้ใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาตุ๋นกับกระเพาะหมูหนึ่งใบแล้วนำมากิน (ราก)[1],[2],[3]
  4. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ราก)[5]
  5. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายหลังการฟื้นไข้ใหม่ ๆ ด้วยการใช้รากแห้ง 30 กรัม รากโชยกึงป๊วก 30 กรัม และโหงวจี้ม่อท้อ 15 กรัม นำมาผสมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)[1],[3]
  1. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ศีรษะมีไข้ (ราก)[1],[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด ไอแห้ง แก้ปวดร้อนแห้ง ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้รากสดหรือรากแห้ง นำมาผสมกับรากทงฮวย และน้ำตาลกรวด ใช้ตุ๋นกินกับไก่ (ราก)[1],[2],[3]
  3. ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังซึ่งเกิดจากปอด ด้วยการใช้รากแห้ง หงู่ตั่วลักแห้ง อย่างละประมาณ 30 กรัม เจียะเชียงท้อแห้ง 15 กรัม และแบะตง 10 กรัม นำมาผสมกันแล้วต้มกับน้ำกินเป็นยา (ราก)[1]
  4. รากโสมไทย มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด ทำให้ปอดชุ่มชื่น (ราก)[1],[2],[3]
  5. รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ถ้าใช้แก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากความเครียดหรือความกังวลที่มากเกินไป ให้ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม และผลพุทราจีน 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[1],[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้ธาตุอ่อน กระเพาะลำไส้ไม่มีเรี่ยวแรง ถ่ายกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้รากแห้ง 30 กรัม และพุทราจีน 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)[2]
  7. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (ราก)[1],[3]
  8. ช่วยแก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ด้วยการใช้รากโสมไทยสดกับรากกิมเอ็งสด อย่างละประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง (ราก)[1],[2]
  9. ช่วยแก้ประจำเดือนมาผิดปกติของสตรี หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ (ราก)[1],[2],[3]
  10. รากมีสรรพคุณช่วยบำรุงม้าม (ราก)[5]
  11. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้บวมอักเสบมีหนอง วิธีใช้รักษาฝีอักเสบมีหนอง ให้นำใบสดกับน้ำตาลทรายแดง นำมาตำผสมกันให้ละเอียดจนเข้ากัน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[1],[3]
  12. เหง้าใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการอักเสบ ลดอาการบวม (เหง้า)[3]
  13. สำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร มีน้ำนมน้อย ให้ใช้ใบอ่อนของต้นโสมไทยมาผัดกินเป็นอาหาร จะช่วยขับน้ำนมได้ (ใบ)[1],[3] ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)[2]

วิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม ส่วนรากสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[2]

ประโยชน์ของโสมไทย

ใบโสมคน

  • ยอดอ่อน ใบอ่อนโสมไทยสามารถนำมาผัดเป็นผักที่มีรสชาติดี เช่น ผัดน้ำมันหอย ผัดแบบผักบุ้งไฟแดง หรือนำมาใช้ทำแกงเลียง แกงป่า แกงจืด แกงแค ส่วนยอดใบอ่อนก็นำมาลวก ต้ม หรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผสมในแป้งทำขนมบัวลอย ขนมทองพับ ข้าวเกรียบปากหม้อ และใบอ่อนยังสามารถนำมาใช้แทนผักโขมสวน ในการทำอาหารได้อีกด้วย[3],[5]
  • โสมไทยเป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเป็นอาหารที่มีคุณค่าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่เพิ่งฟื้นไข้[3] ใบอ่อนและยอดอ่อน จะนำมาใช้รับประทานเป็นผักใบเขียว มีประโยชน์ช่วยบำรุงร่างกาย โดยคุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย จะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต, เส้นใยอาหาร, โปรตีน, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, วิตามินเอ, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2 นอกจากนี้ยังมี essential oils, สาร flavonoids, chromene, มีน้ำมันหอมระเหยอีกเล็กน้อย และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีก เช่น borneol, camphene, camphor, cineol, limonene, myrcene, pinene, pinostrobin, rubramine, thujene เป็นต้น[4] (บางข้อมูลระบุว่า โสมไทยมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ที่เป็นโรคไต โรคเกาต์ โรคไขข้ออักเสบ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก)
  • บางข้อมูลระบุว่า โสมไทยเป็นผักที่มีฤทธิ์เย็น สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ได้
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีลักษณะของลำต้นและใบที่เขียวชอุ่ม และมีดอกสีม่วงที่ดูสวยงาม[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “โสมคน”.  หน้า 792-794.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โสมไทย”.  หน้า 568.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โสมไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [08 ก.ย. 2014].
  4. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “โสมไทย”.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2547  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [08 ก.ย. 2014].
  5. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม.  “โสมคน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th.  [08 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kafka4prez, ferguson-mayfield, Steven Severinghaus, judymonkey17, Marci Forbes, ChamPionShip, Sue Carnahan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด