โสม
โสมเกาหลี ชื่อสามัญ Ginseng (จินเซ็ง), Panax[1], Korean ginseng, Asian ginseng[4]
โสมเกาหลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax ginseng C.A.Mey. จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ARALIOIDEAE[1]
สมุนไพรโสมเกาหลี ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า โสมจีน, โสมคน, โสมสวน, โสมป่า, เซียมเซ่า, หยิ่งเซียม (จีนแต้จิ๋ว), เหยินเซิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
โสมเกาหลี
- ต้นโสมเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือและประเทศเกาหลี จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นฉ่ำน้ำ และมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บอาการลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยาเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยมักขึ้นใต้ร่มเงาไม้อื่น ลำต้นจะแห้งไปในช่วงฤดูหนาว[3]
- ต้นโสม โสมเป็นพืชโตช้า ถ้าเพาะจากเมล็ดจะต้องใช้เวลาถึง 5-6 ปี จึงจะเก็บมาใช้ได้ โดยในปีแรกจะมีความสูงเพียง 1 ฟุต มีใบ 1 ใบ ประกอบด้วยใบย่อย 3-5 ใบ และใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ เมื่อถึงปีที่ 3 ก็จะเริ่มออกดอก เมื่ออายุ 4-5 ปี ต้นจะสูงประมาณ 2 ฟุต โสมเกาหลีเป็นพืชที่ปลูกยาก ต้องการภูมิอากาศเฉพาะ การเพาะปลูกจะต้องปลูกในที่ที่ไม่เคยปลูกโสมมาก่อนในช่วงระยะเวลา 10-15 ปี ต้องปลูกในที่ที่มีแสงไม่มาก และต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจากต้นแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป แล้วต้องนำเมล็ดที่ได้ไปปลูกทันที เพราะหากทิ้งไว้ให้แห้งจะไม่ขึ้นทันที จะงอกใน 8 เดือน แต่ถ้าทิ้งเมล็ดไว้ 4 เดือนแล้วจึงนำมาปลูกในที่ชื้น จะใช้เวลา 9 เดือนจึงจะงอก โสมเป็นพืชที่ชอบดินเหนียว มีค่า pH ประมาณ 5.5-6.0 อุณหภูมิที่ปลูกประมาณ 0-15 องศาเซลเซียส ไม่ชอบแสงแดด จึงต้องทำร่มบังให้ ภูมิอากาศในประเทศไทยจึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกโสมและยังไม่สามารถปลูกโสมได้ ในปัจจุบันปลูกกันมากในประเทศเกาหลี จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น[1],[2],[3] อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า โสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะเรียกว่า “โสมป่า” ส่วนโสมที่มีคนนำมาเพาะปลูกจะเรียกว่า “โสมสวน” โดยโสมป่าจะมีรากขนาดเล็กและยาวกว่าโสมสวน บริเวณส่วนหัวของรากจะยาวและมีการแตกรากมาก รากฝอยจะยาวและเหนียวกว่าโสมสวน และมีคุณภาพที่ดีกว่าอีกด้วย[3]
- รากโสมเกาหลี รากมีขนาดใหญ่อ้วนกลม มีลักษณะอวบแตกเป็นแขนง 2 อัน ลักษณะคล้ายกับขาคน หากดูทั้งรากจะมีลักษณะคล้ายกับคน บางครั้งจึงเรียกว่า “โสมคน” โดยรากแก่ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร โดยคำว่า “Ginseng” นั้นเป็นภาษาจีน ที่แปลว่า man-root ซึ่งหมายถึง รากไม้ที่มีลักษณะคล้ายคน มองดูคล้ายมีหัวแขนและขา (บางตำรากล่าวว่ารากโสมยิ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่าโสมนั้นมีคุณค่าและมีราคาแพง) เปลือกรากเป็นสีเหลือง มีเนื้อนิ่ม เนื้อในรากเป็นสีขาว แตกรากฝอยมาก การจะเก็บรากโสมจะต้องเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการออกดอก ซึ่งจะเป็นช่วงที่โสมมีสารสำคัญอยู่มากที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องทำให้แห้งโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เอนไซม์ในรากโสมออกมาทำลาย saponin[2],[3]
- ใบโสมเกาหลี ใบเป็นใบประกอบคล้ายรูปฝ่ามือ ลักษณะของใบคล้ายกับใบหนุมานประสานกายหรือใบต้นนิ้วมือพระนารายณ์ แต่มีขนาดบางกว่า โดยจะมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ออกเรียงตัวเป็นวงรอบลำต้น โดยโสมที่มีอายุประมาณ 2-5 ปี จะมีใบย่อยประมาณ 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ใบย่อยสามใบด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยสองใบที่อยู่ด้านล่าง เส้นหน้าใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหลังใบไม่มีขน ใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ[1],[2],[3]
- ดอกโสมเกาหลี ออกดอกเป็นช่อสีขาวที่ยอดต้น มีก้านดอกยาวชูออกมาจากยอด แบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4-40 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองอ่อนอมสีเขียว ในหนึ่งดอกจะมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ หุ้มอยู่ ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน แบบสั้น โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]
- ผลโสมเกาหลี ผลมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อย เป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[1],[2]
ชนิดของโสมเกาหลี
รากโสมเกาหลี นิยมนำมาใช้ทำเป็นโสมแดงและโสมขาว เป็นพืชที่ควบคุมของรัฐบาลเกาหลี ห้ามนำพันธุ์ออกนอกประเทศ แต่ในไทยเคยพบว่าเกิดตามธรรมชาติเพียงแห่งเดียว[1]
- โสมขาว (White Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ล้างสะอาดแล้วมาตากแดดหรืออบให้แห้งทันที[2]
- โสมแดง (Red Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ตัดเฉพาะส่วนที่ดี ๆ มาล้างให้สะอาด เป็นโสมที่ผ่านกรรมวิธีการอบและฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง โดยการนำมาอบด้วยไอน้ำประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2-4 ชั่วโมง จนเป็นสีน้ำตาลแดง แล้วจึงนำไปอบให้แห้ง จะได้เป็นสีน้ำตาลแดง (ใส) โดยจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นอีก 4 ชนิด จึงมีราคาแพงกว่าโสมขาว ขายได้ราคาดี[1],[2]
สรรพคุณของโสมเกาหลี
- รากโสมเกาหลี มีรสหวานชุ่ม ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงอวัยวะภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย[3]
- ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ปรับการทำงานของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ[1]
- ช่วยแก้อาการหน้ามืดเป็นลม[3]
- ช่วยแก้อาการเหงื่อออกไม่รู้ตัว กระหายน้ำ[3]
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร[3]
- ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหายใจผิดปกติ[3]
- โสมมีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ โดยออกฤทธิ์คล้ายกับยา digoxin ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันภาวะเส้นเลือดอุดตัน[5]
- ใช้รักษาและป้องกันโรคผนังเส้นเลือดแดงใหญ่หนาและแข็ง โดยโสมจะไปช่วยทำให้คอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดลดน้อยลง[2]
- โสมมีฤทธิ์ต้านการจับตัวกันของเกล็ดเลือด อันเป็นสาเหตุสำคัญของการอุดตันของหลอดเลือด[2]
- โสมมีฤทธิ์สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่มีเลือดน้อยหรือผู้ที่โลหิตจางและความดันต่ำได้ และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในกระดูกได้อีกด้วย[3]
- โสมมีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ โดยโสมสามารถช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับอันเกิดจากคลอโรฟอร์ม คาร์บอนเตตระคลอไรด์และแอลกอฮอล์ได้[2]
- ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ เช่น หย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาการท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โลหิตจาง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความเครียด[1]
- ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรืออาการวัยทอง[5]
- ช่วยลดอาการผิวหนังแห้งและเหี่ยวย่น จึงช่วยทำให้ผิวชุ่มชื่นขึ้น[5]
- ช่วยเร่งฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี จากการศึกษาพบว่าโสมสามารถช่วยต่อต้านโรคและอันตรายที่เกิดจากรังสีรวมถึงสารพิษต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ[5]
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุว่าโสมมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV-1, ป้องกันอันตรายจากรังสีแกมมา, กระตุ้นการสร้างอสุจิ, เร่งการเจริญเติบโตของรังไข่และการตกไข่, ช่วยลดการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ (ส่วนนี้รวบรวมมาจากหลาย ๆ เว็บไซต์ครับ แต่ข้อมูลที่ได้มาไม่มีแหล่งอ้างอิง)
วิธีใช้ : วิธีการใช้ตาม [1],[2] ให้ใช้ส่วนของรากโสมที่มีอายุประมาณ 5-6 ปี นำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้งในที่ร่มประมาณ 2-3 วัน แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มและกินกากยาด้วย โดยขนาดที่ใช้คือขนาด 0.6 กรัมต่อวัน[1] ส่วนการใช้รากตาม [3] ให้ใช้ครั้งละ 2-10 กรัม หรืออาจใช้ได้ไม่เกิน 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโสมเกาหลี
- รากโสมเกาหลี มีสาร glycoside (ginsenosides หรือที่รัสเซียเรียกว่า panaxoside) ซึ่งมี steroidal saponin ช่วยจับกับน้ำตาลชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี essential oil, trisaccharides peptidoglycan, nucleosides และพบ ginsenosides ในรากแขนงมากที่สุด[1] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า รากพบว่า Panaxosides 0.4% ซึ่งประกอบไปด้วย Panaxosides A, B,C, D, E, F, Panaxatriol, Panaxadiol, Ginsenoside Rg1 และพบน้ำมันระเหย ซึ่งมีสาร Panacen, Panasenoside, Panaxynol, Trifolin เป็นต้น[3]
- ส่วนประกอบที่สำคัญของโสม คือ Ginsenoside ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในโสมจะมี ginsenoside อยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดของโสม แหล่งเพาะปลูก รวมถึงกระบวนการผลิตด้วย ในปัจจุบันพบว่าโสมที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาดบางชนิดแทบจะไม่มี ginsenoside หลงเหลืออยู่เลย ดังนั้น เมื่อจะหาซื้อโสมมาใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย จึงควรดูส่วนประกอบของโสม คือ ginsenoside เป็นสำคัญ[2]
- โสมมีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย โดยมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม[3]
- จากการศึกษาทดลองกับหนูขาว ได้พบว่าโสมมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง แก้ตกใจง่าย ถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปจะมีฤทธิ์ยับยั้งประสาทส่วนกลาง ทำให้ผ่อนคลายการตึงเครียดของประสาทและร่างกายได้[3]
- โสมเกาหลีมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมา มีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ[1]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาทดลองจนพบว่า โสมแดงจะมีสาร sapouins เป็นจำนวนมาก ในการศึกษาทดลองพบว่าโสมสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดสูง เพิ่มเกล็ดเลือด และช่วยป้องกันเส้นเลือดตีบได้ โดยการให้โสมในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งจะไปยับยั้ง 1, 2-diaeylglycerol ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้ไขมันในเลือดสูง สรุปว่า โสมสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดสูงได้[1]
- จากการศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของโสมเกาหลี โดยทำการทดลองในสัตว์ทดลองหลายชนิด คือ หนู กระต่าย สุนัข โดยให้สารสกัดด้วยน้ำร้อนและแอลกอฮอล์ในสัตว์ปกติและสัตว์ที่ทำให้เป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำร้อนไม่ได้ผลลดน้ำตาลในเลือดทั้งในหนู กระต่าย สุนัข และคน แต่จากการทดลองโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 67-95% พบว่าให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือด ในกระต่ายและหนูที่ทำให้เป็นเบาหวาน โดยพบว่าสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด คือ สารซาโปนิน[2]
- ส่วนการทดสอบฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดในคน เมื่อให้คนไข้เบาหวานจำนวน 21 คน รับประทานโสมในขนาด 2.7 กรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน และทดลองให้พยาบาลที่อยู่เวรดึกรับประทานโสมในขนาด 1.2 กรัม เป็นระยะเวลา 3 วัน ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2] ส่วนอีกการทดลองที่ใช้โสมร่วมกับอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าจะทำให้ผลการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของโสมแดง ซึ่งมีสาร Insamasanna-eum ที่พบได้มากในรากโสม ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้โสมแดงยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลในเลือด โดยทำการศึกษาทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง เมื่อให้สารสกัดโสมแดงแก่หนูทดลองดังกล่าว พบว่าระดับไขมันในเลือดของหนูลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักตัวของหนู และในการบริโภคโสมระยะยาวยังพบว่าหนูดังกล่าวมี HDL-C เพิ่มมากขึ้น โดยพบตัวยา Insamsansa-eum (ISE) และยับยั้ง pancreatic lipase และการทำงานของ HMG0CoA reductase และทำการทดลองเปรียบเทียบผลในการลดไขมันของโสมแดงกับ Cratacgii หรือ Whitehorn herb ซึ่งพืช Hawthorn นี้ใช้ผลมาทำเป็นอาหารเสริมช่วยในการไหลเวียนของระบบเลือดและหัวใจ และช่วยเกี่ยวกับความดันโลหิตต่ำ โดยพบว่าสามารถให้ผลในการลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน แต่จะให้ผลน้อยกว่าโสมแดง ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำพืชทั้งสองชนิดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงได้[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า Sapogenin มีความเป็นพิษสูงและมีรายงานการเกิดอาการปวดศีรษะอย่างแรงในหญิงอายุ 28 ปี ที่รับประทานโสมที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งการใช้โสมเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า ท้องเดิน เจ็บเต้านม ประจำเดือนขาด ผื่นคัน และมีอาการบวม[1]
- ส่วนการทดสอบความเป็นพิษในหนูทดลอง เมื่อให้สารสกัดโสมในอาหารหนูหรือสุนัขในขนาด 1.5-15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 13 อาทิตย์ ไม่พบว่ามีความเป็นพิษจากโสมแต่อย่างใด ส่วนการทดลองอีกชิ้นหนึ่ง ที่ให้หนูทดลองกินโสมติดต่อกันนานถึง 25 สัปดาห์ ในขนาด 105-210 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ก็ไม่เกิดพิษหรืออาการดื้อยาแต่อย่างใด[1] ส่วนขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งเชื่อว่าคงเป็นขนาด 2 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยได้มีการทดลองฉีดสารสกัดโสมเข้าไปในเยื่อบุช่องท้องของหนูทดลอง แต่การทดลองนี้ไม่ได้บอกอาการตอนใกล้ตาย หรือสาเหตุการตายไว้[2]
ประโยชน์ของโสมเกาหลี
- โสมเกาหลีมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีความสามารถดีขึ้น จึงนิยมใช้เป็นยาบำรุงกำลังในหมู่นักกีฬาประเทศต่าง ๆ เช่น นักวิ่ง นักว่ายน้ำ เป็นต้น[1],[2],[3]
- โสมเกาหลีมีสรรพคุณเป็นยาช่วยชะลอความแก่ ทำให้อายุยืนยาว[1] เพิ่มขบวนการเผาผลาญไขมันเพื่อให้ร่างกายเกิดพลังงาน (เรียกว่า Lipid oxidation) อนุมูลอิสระที่สลายตัวจากออกซิเจน จะเป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ให้เสื่อมสลายลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความแก่ โดยโสมสามารถเข้าไปทำลายอนุมูลอิสระของออกซิเจน จึงช่วยทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง ประกอบกับโสมยังมีคุณสมบัติที่ช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้มีความทนทานต่อความกดดันต่าง ๆ จึงช่วยลดขบวนการของความแก่ชราลงได้ ดังนั้นโสมจึงช่วยชะลอความแก่ชราลงได้[2]
- โสมเกาหลีมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ช่วยในการเรียนรู้ เสริมความจำ แก้ความจำเสื่อม แก้ตกใจง่าย ช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และช่วยผ่อนคลายความเครียด[1],[3] เนื่องจากโสมมีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้ทนต่อความกดดันจากภายนอก โดยเร่งขบวนการเผาผลาญอาหารต่าง ๆ เพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมาเพื่อต่อต้านความเครียด[4] หากใช้โสมในปริมาณน้อย ๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณมาก ๆ ก็จะไปกดประสาททำให้ซึมได้[2] บางข้อมูลระบุว่าโสมมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการมองเห็นด้วย[5]
- ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทำให้ต้านมะเร็ง และสารก่อกลายพันธุ์[1] โสมสามารถช่วยเพิ่มความต้านทานต่ออิทธิพลภายนอกที่เข้ามากระทบได้ เช่น ความเหนื่อยล้า ความเครียด โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (เช่น โรคมะเร็ง) โดยมีสารที่ช่วยทำให้ร่างกายปรับตัวเพิ่มความต้านทานโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งเรียกว่า “Adaptogenic Agent”[2],[3] มีการทดลองในสัตว์ที่พบว่าโสมสามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 50% มีปฏิกิริยาการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวต่อสารเคมีสูงขึ้น มีอัตราการทำลายเชื้อจุลินทรีย์หรืออนุภาคแปลกปลอมต่าง ๆ ของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ร่างกายสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา สารเคมีต่าง ๆ ตลอดจนช่วยต่อต้านโรคภูมิแพ้หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[4]
- โสมมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านสารก่อมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านสารพิษจากสภาวะแวดล้อม โสมจะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และในบางกรณีโสมแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ตามปกติ อีกทั้งโสมยังชะลอพัฒนาการของโรคเอดส์ที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ได้อีกด้วย[4] บางข้อมูลระบุว่าโสมสามารถช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกระเพาะอาหารและรังไข่ และการรับประทานโสมเกาหลีเป็นระยะเวลานานก็สามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับ (แต่ไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการดื่มสุราหรือสาเหตุอื่นได้) มะเร็งริมฝีปาก มะเร็งช่องปากและคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งรังไข่[5]
- โสมเกาหลีมีสรรพคุณช่วยลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือดในคนไข้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยโสมจะช่วยทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น จึงช่วยป้องกันการเกิดอาการมึนชาตามนิ้วมือและการเกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้ ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ยังออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน จึงมีประโยชน์ในการช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ โดยต้องรับประทานโสมวันละ 2.7 กรัม ติดต่อกัน 3 เดือน[1],[2],[3]
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง[1] ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่า โสมเกาหลีนั้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพราะมี ginsenoside Rg1 ในขณะที่โสมอเมริกันจะทำให้ความดันโลหิตลดลง เพราะมี gensenoside Rb1[2]
- ช่วยลดไขมัน ช่วยในการเผาผลาญไขมันให้เกิดเป็นพลังงาน[1] มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด โดยมีการทดลองทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ซึ่งพบว่าผู้ที่รับประทานรากโสมในขนาดวันละ 2.5 กรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน จะมีปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง แต่ก็มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับประทานโสมติดต่อกันเกิน 1 เดือน จึงไม่สมควรใช้[2]
- โสมมีส่วนช่วยรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คนสมัยก่อนเชื่อว่าโสมเป็นยาช่วยกระตุ้นกำหนัดหรือความต้องการทางเพศ แต่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า โสมไม่ได้ทำให้ฮอร์โมนทางเพศเปลี่ยนแปลงเลย แต่การที่โสมช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น อาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติของโสมที่ช่วยทำให้สุขภาพจิตและสมรรถภาพทางร่างกายดีขึ้น[4] แต่มีงานวิจัยที่ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่ององคชาตไม่แข็งตัว จำนวน 45 ราย โดยให้รับประทานโสมเกาหลี ในขนาด 900 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันสองเดือน ผลการทดลองพบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โสมจึงช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายได้[5]
ข้อควรระวังในการใช้โสมเกาหลี
- ผู้ที่มีไข้ตัวร้อนห้ามรับประทานโสม[3] และโสมถูกห้ามใช้ในเด็กทารก เด็กเล็ก และหญิงที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้ในกลุ่มคนเหล่านี้ และมีข้อมูลสตรีที่รับประทานโสมในขณะตั้งครรภ์เมื่อคลอดลูกอาจมีขนมาก[4] รวมไปถึงผู้ที่ตับอักเสบ พบเอนไซม์ของตับสูงแล้วหรือตับอักเสบจนตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตับ ก็ไม่ควรรับประทานโสม[5]
- ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด[5]
- ยาที่ไม่ควรรับประทานร่วมกับโสม ได้แก่ ยาลดน้ำตาลในเลือด (เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงเกินไป เพราะโสมก็มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้โสม), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เนื่องจากยาทั้งสองอาจมีฤทธิ์เสริมกัน ทำให้มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด), ยากระตุ้นหัวใจ (digoxin), ยาต้านอาการซึมเศร้า (phenelxine) รวมถึงยาแอสไพรินและสุรา[5]
- ห้ามกินโสมพร้อมกับวิตามินซี ภายหลังการรับประทานโสม ฤทธิ์ของโสมจะอยู่ได้นาน 1-2 เดือน ควรรับประทาน 1 เดือน แล้วรออีก 2 เดือน ก่อนเริ่มรับประทานใหม่ แต่ในผู้ป่วยเรื้อรังสามารถรับประทานได้นานกว่านั้น[1]
- โสมแดงอาจมีฤทธิ์กับกาแฟหรือสารที่กระตุ้น[4]
- เพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการกินโสม คุณจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง โดยอย่ากินร่วมกัน โดยอาหารอื่นจะต้องกินหลังการกินโสมไปแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง โดยอาหารอื่นนี้ หมายถึง ผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง ๆ หรือน้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มค้น และห้ามกินวิตามินซีร่วมกับโสม เพราะอาหารหรือสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ จะไปทำลายฤทธิ์ที่ควรจะได้จากโสม[2]
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานโสม โดยอาจมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ อาการท้องเดินตอนตื่นนอน กินอาหารไม่ย่อย ประจำเดือนขาด ผิวหนังเป็นผื่นคัน มีอาการบวม เป็นต้น[2]
- การใช้โสมเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า ท้องเดิน เจ็บคัดเต้านม ประจำเดือนขาด ผื่นคัน และมีอาการบวม[1] ส่วนผู้ที่รับประทานโสมเป็นระยะเวลานานและรับประทานในปริมาณมาก อาจเกิดกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วย ความดันโลหิตสูง มีอาการนอนไม่หลับ ท้องร่วง และมีผื่น หรือที่เรียกว่า ginseng abuse syndrome[4]
- โสมเป็นของร้อน มีฤทธิ์อุ่น ทำให้บางคนกินแล้วเกิดอาการหงุดหงิด จึงมีคำแนะนำว่าให้กินโสมร่วมกับใบบัวบกซึ่งเป็นของเย็น[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี” หน้า 187-188.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี”. หน้า 147-149.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมคน”. หน้า 566.
- งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [11 ก.ย. 2014].
- โอเคเนชั่น, โดย BangkokHospital. “โสม… ราชาแห่งสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.oknation.net. [11 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 阿橋, Plantum Plantum)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)