โลดทะนงแดง
โลดทะนงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baliospermum reidioides Kurz) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[4]
สมุนไพรโลดทะนงแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ทะนง รักทะนง (นครราชสีมา), นางแซง (อุบลราชธานี), โลดทะนงแดง (บุรีรัมย์), ดู่เบี้ย ดู่เตี้ย (เพชรบุรี), ทะนงแดง (ประจวบคีรีขันธ์), ข้าวเย็นเนิน หัวยาเข้าเย็นเนิน (ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์), หนาดคำ (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของโลดทะนงแดง
- ต้นโลดทะนงแดง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 1 เมตร มีรากสะสมอาหารพองโต ผิวสีแดงอมม่วง เนื้อสีขาว ส่วนลำต้นมีขนาดเรียวเล็ก ขึ้นเป็นกอ โดยทุกส่วนของต้นจะมีขนขึ้น ลำต้นจะมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น สามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง[1]
- ใบโลดทะนงแดง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน เนื้อใบหนา มีขนนุ่มขึ้นหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก มีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีต่อมเล็ก ๆ อยู่ 2 ต่อม ส่วนขอบใบเรียบ สามารถเห็นเส้นใบย่อยได้ชัดเจน และมีก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1]
- ดอกโลดทะนงแดง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ ดอกมีสีขาว สีชมพู สีม่วงเข้มหรือเกือบดำ โดยช่อดอกจะออกบริเวณซอกใบและบริเวณกิ่งก้าน มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะมีดอกตัวผู้จำนวนมากกว่าอยู่ที่บริเวณโคนของช่อ มีลักษณะตูมกลม และดอกตัวผู้จะมีกลีบเลี้ยงอยู่ 5 กลีบ ก้านดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ และไม่มีขน มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 ก้าน ก้านเกสรจะเชื่อมติดกันเป็นแท่งเดียว ส่วนดอกตัวเมียจะมีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีขนที่จานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1]
- ผลโลดทะนงแดง ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ผลแห้งแตกได้ มีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุมผลอยู่หนาแน่น ผลแบ่งออกเป็นพู 3 พู เห็นได้ชัดเจน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร มีก้านผลสีแดงยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมสีเหลือง ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ[1],[2]
หมายเหตุ : โลดทะนงมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ “โลดทะนงแดง” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib) ที่กล่าวในบทความนี้ และอีกชนิดคือ “โลดทะนงขาว” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon albiflorus Airy Shaw)[5] โดยทั้งสองชนิดคนส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเป็นไม้สมุนไพร แต่ส่วนมากจะรู้จักเฉพาะ “โลดทะนงแดง” ส่วนโลดทะนงขาวนั้นน้อยคนนักที่จะรู้จัก เนื่องจากเป็นไม้หายาก จึงนิยมใช้โลดทะนงแดงในการแก้พิษกันมากกว่า โดยทั้งสองชนิดนี้มีข้อแตกต่างกันตรงเปลือกหุ้มราก ถ้าเปลือกหุ้มรากเป็นสีแดงจะเรียกว่า “โลดทะนงแดง” หากเปลือกหุ้มรากเป็นสีดำจะเรียกว่า “โลดทะนงขาว“[6]
สรรพคุณของโลดทะนงแดง
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้วัณโรค (ราก)[1]
- ช่วยแก้หืด (ราก)[1],[4]
- ช่วยทำให้อาเจียน โดยใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ฝนกับน้ำกิน หรือใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำกินก็ได้[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาระบาย (ราก)[1],[4]
- ช่วยในการคุมกำเนิด (ราก)[1]
- ช่วยถอนพิษคนกินยาเบื่อยาเมา ด้วยการใช้รากนำมาต้มน้ำดื่ม หรือใช้ฝนกับน้ำกิน ใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาวฝนกับน้ำกินก็ได้[1],[2],[4]
- ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ หรืออาการเสมหะหรืออุจจาระเป็นมูกเลือด (ใช้รากฝนกับน้ำกิน)[1],[4]
- รากใช้เข้ายากับน้ำมะนาว ใช้ฝนกับน้ำกิน ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (ราก)[1]
- แก้อาการเมาพิษเห็ดและหอย (ใช้รากฝนกับน้ำกิน)[1],[4]
- ช่วยแก้พิษแมงมุม (ใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำกิน)[1]
- ช่วยแก้พิษงู โดยใช้รากฝนกับน้ำมะนาวหรือเหล้านำมาดื่มแก้พิษงู หรือจะใช้รากผสมกับเมล็ดหมาก ฝนกับน้ำกิน แล้วใช้รากผสมกับน้ำมะนาว นำมาทาแผลจะช่วยแก้พิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทก็ได้ และให้นำส่วนที่เหลือมาผสมกับน้ำดื่มเพื่อช่วยขับพิษงูอีกทาง (ราก)[1],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการปวดฝี (ราก)[1]
- รากใช้ฝนเกลื่อนฝีหรือใช้ดูดหนองเมื่อฝีแตก (ราก)[1],[4]
- รากนำมาใช้ฝนทาแก้อาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอก (ราก)[1],[4]
- รากใช้ผสมกับปลาไหลเผือกและพญาไฟ ใช้ฝนกับน้ำกินถอนเมาเหล้า (ราก)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโลดทะนงแดง
- จากการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง ด้วยการป้อนน้ำยาสมุนไพรโลดทะนงแดงที่ความเข้ม 50 กรัมต่อลิตร หลังจากหนูทดลองได้รับพิษงูเห่าด้วยการฉีดพิษเป็นเวลา 5 นาที พบว่าน้ำยาโลดทะนงแดงสามารถช่วยยืดอายุการตายของหนูได้[7]
- มีนักวิจัยพิสูจน์มาแล้วว่าสารจากโลดทะนงสามารถช่วยจับกับโปรตีนพิษงูได้จริง[8]
ประโยชน์ของโลดทะนงแดง
- รากใช้ฝนกับน้ำกินช่วยทำให้เลิกดื่มเหล้า (ราก)[1],[4]
- เหง้าใช้ฝนทาแก้สิว แก้ฝ้า (เหง้า)[1]
- โรงพยาบาลกาบเชิงได้มีการใช้ตำรับยาสมุนไพรโลดทะนงแดงในการรักษาผู้ที่ถูกงูเห่ากัดประมาณ 80 รายโดยไม่ต้องใช้เซรุ่มแก้พิษงู และพบว่าทุกรายปลอดภัยไม่มีเสียชีวิต นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามเคยวิจัยโดยใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการรักษาตำรวจตระเวนชายแดนที่ถูกงูเห่ากัดจำนวน 36 นาย โดยไม่ใช้เซรุ่มแก้พิษในการรักษา และพบว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงอีกด้วย[3]
- แม้การใช้เซรุ่มจะแก้พิษงูเห่าได้ แต่แผลที่เปื่อยจากพิษงู เซรุ่มไม่ได้ช่วย ถ้าหากใช้โลดทะนงแดง พิษของงูก็จะสลายและแผลก็ไม่เปื่อย (นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์)[8]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โลดทะนงแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “โลดทะนงแดง“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [16 ธ.ค. 2013].
- สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ. “ค้นพบโลดทะนงแดง สมุนไพรแก้พิษงูเห่า“. อ้างอิงใน: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 24/04/55. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.hiso.or.th. [16 ธ.ค. 2013].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “โลดทะนง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri. [16 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “โลดทะนงขาว“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [16 ธ.ค. 2013].
- ศูนย์กลางการเกษตรเสมือนจริง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “โลดทะนงขาว หายาก รากเป็นยาดี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oocities.org/yai25/. [16 ธ.ค. 2013].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [16 ธ.ค. 2013].
- GotoKnow. “ทดสอบ โลดทะนงแดง สัตว์มีพิษกัดหมอ“. [ออนไลน์]. (นพ. วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์). เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [16 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www..pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)