โรคหอบหืด (Asthma) อาการ, สาเหตุ, การรักษา, วิธีป้องกัน ฯลฯ

โรคหอบหืด (Asthma) อาการ, สาเหตุ, การรักษา, วิธีป้องกัน ฯลฯ

โรคหืด

โรคหืด (ภาษาอังกฤษ : Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “โรคหอบหืด” คือ โรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบแคบของระบบทางเดินหายใจเป็นครั้งคราว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นถาวรหรือทำเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคหอบหืดเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่ง (ไม่ใช่โรคติดต่อ) ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ในเด็กทำให้เกิดการพัฒนาช้า เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้อย่างเป็นปกติ ยิ่งเมื่อสภาพอากาศเกิดการแปรปรวนหรือมีมลภาวะเป็นพิษมากเท่าไหร่ ผู้ป่วยยิ่งได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้นและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีโอกาสเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีความชุกสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 10-12 ปี ในวัยเด็กจะพบในเด็กชายได้มากกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.5-2 เท่า ส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุก่อน 5 ปี มีส่วนน้อยที่เกิดอาการขึ้นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ

ในบ้านเราโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน โดยพบในเด็กมากถึง 10-12% ของเด็กทั้งหมด ส่วนในผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 6.9% (เคยมีการสำรวจนักเรียนในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีความชุกของโรคนี้อยู่มากถึง 4-13%) และทั่วโลกพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษและสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ 66,679 คนในปี พ.ศ.2538 เป็น 102,273 คนในปี พ.ศ.2552 ส่วนผู้เสียชีวิตจาก 806 คนในปี พ.ศ.2540 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,697 คนในปี พ.ศ.2546 ด้วยเช่นกัน (องกรณ์อนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหอบหืดทั่วโลกสูงมากกว่า 300 ล้านคน)

สาเหตุของโรคหอบหืด

โรคนี้เกิดจากปัจจัยร่วมกันหลายประการ ทั้งทางด้านกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือด ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้มากกว่าคนปกติจนเป็นเหตุทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม เกิดการบวมของเนื้อเยื่อผนังหลอดลม และมีเสมหะมากในหลอดลม จึงมีผลโดยรวมคือทำให้หลอดลมตีบแคบลงเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดผันกลับได้ (Revesible) ซึ่งสามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองหรือภายหลังจากการใช้ยา

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องนานเป็นแรมปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โครงสร้างของหลอดลมจะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงจนในที่สุดมีความผิดปกติ (Airway remodeling) ชนิดไม่ผันกลับ (Irreversible) ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร

ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผิวหนังจากภูมิแพ้ และมักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นด้วย ได้แก่ ทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์, ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย, การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณมากตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก, เด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่, การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น

สาเหตุกระตุ้นให้อาการหอบหืดกำเริบ

ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น ซึ่งที่พบบ่อยได้แก่

  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองหญ้า วัชพืช ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่นในบ้าน (พบตามพรม ที่นอน เฟอร์นิเจอร์หรือของเล่นที่ทำด้วยนุ่นหรือที่เป็นขน ๆ) สปอร์เชื้อรา (พบสปอร์ตามพุ่มไม้ ในสวน ห้องน้ำ ห้องครัว หรือตามที่ชื้น ๆ) แมลงสาบ สัตว์เลี้ยงในบ้าน (สารก่อภูมิแพ้มักจะอยู่ตามน้ำลาย ขนสัตว์อย่างสุนัขและแมว ขุยหนังที่ลอกหรือรังแค ปัสสาวะและมูลสัตว์) อาหาร (ได้แก่ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว กุ้ง หอย ปู ปลา ไข่ ถั่วลิสง งา สารกันบูดในอาหาร สีผสมอาหาร) สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด (เช่น ผลไม้แห้ง ไวน์ เบียร์)
  • สิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป ควันไฟ ควันท่อไอเสีย ฝุ่นละออง มลพิษในอากาศ (ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ ก๊าซโอโซนที่พบมากในเมืองใหญ่ ๆ) ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช สเปรย์แต่งผม กลิ่นสี กลิ่นฉุน ๆ สารเคมีภายในบ้านหรือที่ทำงานและโรงงาน รวมถึงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน
  • การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ
  • โรคกรดไหลย้อน เพราะน้ำย่อยหรือกรดที่ไหลย้อนลงไปในหลอดลมอาจทำให้โรคหอบหืดกำเริบได้บ่อยและรุนแรงขึ้น
  • ฮอร์โมนเพศ เพราะพบว่าหญิงระยะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน หรือในขณะตั้งครรภ์ (ในช่วงสัปดาห์ที่ 24-36 ของการตั้งครรภ์) มักจะมีโรคหอบหืดกำเริบ
  • ยา ได้แก่ ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นเบต้า (เช่น ยาโปรปาโนโลล (Propanolol)), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ความเครียดทางจิตใจ เช่น ความเครียดจากการงาน ครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรัก รวมทั้งอารมณ์ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว ทำให้หายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับไปมา เพราะจะส่งผลให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง หายใจลำบาก และอาการกำเริบได้ง่ายขึ้น
  • การออกกำลังกายหรือออกแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการหัวเราะมาก ๆ อาจชักนำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ออกกำลังจนเหนื่อยหรือหักโหมมากเกินไป หรือออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น
  • การสัมผัสความร้อนความเย็น เช่น การรับประทานไอศกรีมหรือเข้าห้องแอร์

อาการของโรคหอบหืด

ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือหอบเหนื่อยร่วมกับหายใจมีเสียงดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีด (ในระยะแรกจะได้ยินเสียงนี้ในขณะที่หายใจออก แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะได้ยินทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก) อาจมีอาการไอ ซึ่งมักมีเสมหะใสร่วมด้วย

บางรายอาจมีเพียงอาการแน่นอึดอัดในหน้าอกหรือไอเป็นหลัก โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจนก็ได้ถ้าหลอดลมไม่ตีบมากนัก อาการไอจะดูคล้ายไข้หวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกเริ่มของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอมากในตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน หรือวิ่งเล่นมาก ๆ ในเด็กเล็กอาจไอมากจนอาเจียนออกมาเป็นเสมหะเหนียว ๆ และรู้สึกสบายหลังได้อาเจียน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จาม หรือมีผื่นคันร่วมด้วย หรือเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน

ในช่วงที่ไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายเช่นคนปกติทั่วไป ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางมักจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและอาการมักกำเริบขึ้นมาทันทีเมื่อมีสาเหตุมากระตุ้น (ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากจะลุกขั้นมานั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน) ส่วนในรายเป็นที่รุนแรงมักจะมีอาการต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษา จึงจะรู้สึกหายใจโล่งสบายขึ้น

ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหอบหืดรุนแรง เช่น เคยหอบรุนแรงจนต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ่อย เคยต้องใส่ท่อหายใจช่วยชีวิต ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด หรือต้องใช้ยากระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น สูดมากกว่าเดือนละ 1-2 หลอด ถ้าขาดการรักษาหรือได้รับยาไม่เพียงพอในการควบคุมอาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการหอบอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ ถึงเป็นวัน ๆ แม้จะใช้ยารักษาตามปกติที่เคยใช้ก็ไม่ได้ผล เรียกว่า “ภาวะหืดดื้อ” หรือ “ภาวะหืดต่อเนื่อง” (Status asthmaticus) ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ ในที่สุดก็จะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

โรคหอบหืดอาการ
IMAGE SOURCE : www.availclinical.com

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคหอบหืด

หากผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าเป็นโรคหอบหืด

  • มีเสียงหายใจดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีดบ่อยครั้ง คือ มากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  • มีอาการไอ รู้สึกเหนื่อย หรือมีเสียงหายใจดังวี้ดขณะวิ่งหรือออกกำลังกาย
  • มีอาการไอตอนกลางคืน โดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
  • มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ปี
  • อาการจะกำเริบหรือเป็นมากขึ้น เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ ละอองเกสร สเปรย์ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ยา ความเครียด การออกกำลังกาย
  • เวลาเป็นไข้หวัดจะมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรง หรือไอนานกว่าคนอื่นที่เป็นหวัด
  • อาการจะดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหอบหืด
  • มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

อาการหอบหืด
IMAGE SOURCE : www.vecteezy.com

ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืด

โรคหอบหืดอาจแบ่งตามความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระดับ โดยอาศัยจากความถี่ของอาหารหอบในตอนกลางวัน ความถี่ของอาการหอบกลางคืน การวัดสมรรถภาพของปอด และการวัดค่าความผันผวนของพีอีเอฟอาร์ (PEFR) ซึ่งการจำแนกความรุนแรงจะช่วยให้แพทย์สามารถให้ยารักษาได้เหมาะกับระดับความรุนแรง

ตารางการจำแนกระดับความรุนแรงของโรคหอบหืด

ระดับความรุนแรง|อาหารหอบกลางวัน|อาการหอบกลางคืน|ค่า PEFR|ความผันผวนของค่า PEFR
1.ระดับเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการนาน ๆ ครั้ง (Intermittent asthma)|นาน ๆ ครั้ง|น้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน|มากกว่า 80%|น้อยกว่า 20%
2.ระดับรุนแรงน้อย (Mild persistent asthma)|มากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์|มากกว่า 2 ครั้ง/เดือน|มากกว่า 80%|20-30%
3.ระดับรุนแรงปานกลาง (Moderate persistent asthma)|เกือบทุกวัน|มากกว่า 1 ครั้งสัปดาห์|60-80%|มากกว่า 30%
4.ระดับรุนแรงมาก (Severe persistent asthma)|ตลอดเวลา|บ่อย ๆ|น้อยกว่า 60%|มากกว่า 30%

หมายเหตุ : ค่า PEFR หรือ Peak Expiratory Flow Rate คือ อัตราการไหลของลมหายใจออกสูงสุด หลังจากสูดหายใจเข้าเต็มที่ (มีหน่วยเป็นลิตร/นาที)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด

โดยทั่วไปโรคหอบหืดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและเป็นเรื้อรังอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้

  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ (Atelectasis) ภาวะหมดแรง (Exhaustion) การติดเชื้อ (ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ)
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง, ภาวะหัวใจล้มเหลวดังที่เรียกว่า “โรคหัวใจเหตุจากปอด” (Cor pulmonale), ภาวะปอดทะลุ, ภาวะมีอากาศในประจันอกและใต้หนัง, เป็นลมจากการไอ (Tussive syncope)
  • ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหอบหืดและไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกตลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายในระยะใกล้คลอดและหลังคลอด

การวินิจฉัยโรคหอบหืด

การวินิจฉัยโรคหอบหืดนั้นแพทย์สามารถทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยในเบื้องต้นแพทย์จะถามถึงประวัติการเป็นหอบหืดของคนในครอบครัว รวมทั้งประวัติของการเกิดอาการและสัญญาณของหอดหืดอย่างละเอียด เช่น มีอาการไอ หอบ หายใจมีเสียงวี้ดเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการไออย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างในตอนกลางคืน และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่าไม่มีโรคอื่นที่มีอาการคล้าย ๆ กัน (เพราะการตรวจเอกซเรย์ปอดในผู้ป่วยโรคหอบหืดจะไม่พบความผิดปกติ)

ส่วนวิธีการตรวจที่สามารถยืนยันได้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดจริงหรือไม่ คือ “การตรวจสมรรถภาพปอด” ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีและผู้ป่วยควรได้รับการตรวจทุกคน เพราะนอกจากจะช่วยวินิจโรคได้แล้ว ยังช่วยให้รู้ถึงระดับความรุนแรงของโรค ใช้ติดตามดูผลการรักษาว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใด และสมรรถภาพปอดกลับมาเป็นปกติหรือยัง เป็นต้น

  1. เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดสไปโรเมทรีย์ (Spirometry) เป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบแคบมากน้อยเพียงใด โดยการให้ผู้ป่วยเป่าลมแรง ๆ เข้าไปในเครื่อง แล้วเครื่องจัดวัดปริมาตรและความเร็วลมที่เป่าออกมา ถ้าหลอดลมตีบแคบ ความเร็วลมที่เป่าออกมาจะลดลง (ถ้าพบว่าหลอดลมตีบแคบแล้วให้ผู้ป่วยสูดยาขยายหลอดลม เมื่อตรวจซ้ำอีกครั้งแล้วได้ค่าความเร็วที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม 12% ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหอบหืด)
  2. เครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมหรือพีคโฟลว์มิเตอร์ (Peak Flow Meter) เป็นเครื่องมือที่ผู้ป่วยสามารถใช้เองได้ที่บ้านและมีราคาไม่แพงมากนัก (ประมาณ 800 บาท) ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยในการประเมินความรุนแรงของโรคหอบหืดได้ ส่วนวิธีการใช้แค่สูดลมให้เต็มปอดแล้วเป่าออกให้แรงที่สุด ซึ่งค่าที่วัดได้จะเป็นค่าความเร็วสูงสุดที่เป่าลมออกได้ (PEFR) ถ้าหลอดลมตีบแคบค่าที่เป่าได้จะต่ำ ถ้าหลอดลมไม่ตีบแคบค่าที่เป่าได้จะสูง และเมื่อสูดยาขยายหลอดลมแล้วค่านี้ดีขึ้นมากกว่า 20% ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืดได้
  3. การวัดความผันผวนของค่า PEFR โดยใช้เครื่องพีคโฟลว์มิเตอร์ดังกล่าว ซึ่งวิธีการตรวจก็คือ ให้ผู้ป่วยวัดค่า PEFR เช้าและเย็นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจดบันทึกมามอบให้แพทย์ แล้วแพทย์จะมาคำนวณหาค่าความผัน ซึ่งในคนปกติหลอดลมจะไม่ค่อยหดขยายมากนัก ดังนั้นค่าความผันผวนจะน้อยกว่า 20% แต่กับผู้ป่วยโรคหอบหืดแล้วหลอดลมจะหดขยายอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ค่าความผันผวนมีมากกว่า 20% ดังนั้น ถ้าวัดค่าได้มากกว่า 20% ก็จะถือว่าเป็นโรคหอบหืดได้
  4. การวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial Provocation Test) จะใช้เมื่อทดสอบด้วยวิธีดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหอบและการตรวจสมรรถภาพปอดก็อาจอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (เพราะผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ) โดยการให้ผู้ป่วยเป่าลมในการตรวจสมรรถภาพปอดแล้วให้สูดสารกระตุ้น เช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) หลังจากนั้นจึงวัดค่าการเป่าลมซ้ำแล้วค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นของสารกระตุ้นไปเรื่อย ๆ แล้วนำค่าที่ได้มาแปลผลก็จะทำให้ทราบว่าเป็นโรคหอบหืดหรือไม่
  5. การใช้เครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินในชีพจร (Pulse Oximetry) เพื่อใช้วัดประเมินภาวะการขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว

เครื่องตรวจสมรรถภาพปอด
IMAGE SOURCE : www.healthline.com

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคหอบหืด

  • ในขณะที่ไม่มีอาการหอบแพทย์มักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ
  • ในขณะที่มีอาการหอบเมื่อแพทย์ใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงหายใจออกยาวกว่าปกติและมีเสียงวี้ด (Wheezing) กระจายทั่วไปที่ปอดทั้ง 2 ข้างในช่วงหายใจออก (ถ้าหอบมากจะได้ยินเสียงวี้ดทั้งในช่วงชณะหายใจเข้าและออก) ชีพจรเต้นเร็ว และมักไม่มีไข้ (ถ้ามีไข้แสดงว่าอาจมีโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีปอดอักเสบแทรกซ้อน)
  • ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม แอ่งไหปลาร้าบุ๋ม ตัวเขียว สับสน หมดสติ ใช้เครื่องฟังปอดอาจไม่ได้ยินเสียงวี้ด เนื่องจากมีภาวะอุดกั้นรุนแรงจนหายใจผ่านเข้าออกน้อย
  • ในรายที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรังมานานอาจพบหน้าอกมีความหนากว่าปกติ (ความยาวจากด้านหน้าถึงด้านหลัง) ที่เรียกว่า “อกโอ่ง” (บางรายอาจพบหน้าอกโป่งเหมือนอกไก่)

การรักษาโรคหอบหืด

เมื่อมีอาการต้องสงสัยดังกล่าวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เมื่อไปพบแพทย์สิ่งที่แพทย์จะให้การดูแลรักษาก็คือ

1. เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบฉับพลัน ให้สูดยากระตุ้นเบต้า 2 ทันที แต่ถ้าไม่มียาชนิดสูดแพทย์จะฉีดยากระตุ้นเบต้า 2 เข้าใต้ผิวหนังแทน ถ้าอาการของผู้ป่วยยังไม่ทุเลาแพทย์จะให้ยาสูดหรือยาฉีดดังกล่าวซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง ทุก 20 นาที เพราะสิ่งสำคัญอย่างแรกคือการรักษาและควบคุมโรคให้ทันและเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ หากผู้ป่วยรู้สึกหายดีแล้ว แพทย์จะทำการประเมินอาการ สาเหตุกระตุ้น และประวัติการรักษาของผู้ป่วยรายนั้นอย่างละเอียด โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการครั้งแรกและไม่เคยได้รับยารักษามาก่อน แพทย์จะเริ่มให้การรักษาขั้นที่ 2 และถ้ามีอาการรุนแรงจะเริ่มให้การรักษาขั้นที่ 3 ดังตารางด้านล่าง และแพทย์จะส่งตรวจสมรรถภาพปอด ให้สุขศึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นต่าง ๆ และวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง แล้วแพทย์จะติดตามผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป (ดูเพิ่มเติมในข้อ 4)

ตารางขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโรคหอบหืดในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 5 ปี*

การรักษา|ขั้นที่ 1|ขั้นที่ 2|ขั้นที่ 3|ขั้นที่ 4|ขั้นที่ 5
ให้ยาควบคุมโรค|ไม่จำเป็นต้องใช้|ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ หรือ ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน|ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำร่วมกับยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์นาน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำร่วมกับยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ขนาดต่ำร่วมกับยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์นาน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดสูง|ให้ยาสูดสเตียรอยด์ขนาดปานกลางถึงสูงร่วมกับยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์นาน แต่ถ้าไม่ได้ผล แพทย์อาจเพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่า คือ ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน, ยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์นาน|ให้ยาแบบเดียวกับขั้นที่ 4 แต่เพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่า คือ ยากินสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ, การฉีดยาต้านไอจีอี

ให้ยาบรรเทาอาการ ทั้งขั้นที่ 1-5 แพทย์จะให้สูดยากระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นเมื่อมีอาการ (อาจใช้ยาอื่นแทนได้ เช่น ยากินกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น, ยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์สั้น, ยาสูดไอพราโทรเพียมโบรไมด์ เป็นต้น) แต่ไม่แนะนำให้ยากระตุ้นเบต้า 2 เป็นประจำ ยกเว้นในกรณีที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์สูดเป็นประจำ

ให้สุขศึกษา ทั้งขั้นที่ 1-5 แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคนี้ และให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้นต่าง ๆ

หมายเหตุ : สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี แพทย์จะเริ่มการรักษาในขั้นที่ 2 นี้ด้วยการให้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหอบหืดและมียารักษาอยู่ประจำอยู่แล้ว ถ้าผู้ป่วยมีอาการตอนกลางวันไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ไม่มีอาการตอนกลางคืน และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แพทย์จะให้การรักษาแบบกลุ่มที่ควบคุมโรคได้ดังตารางด้านล่างนี้ โดยจะใช้ยาที่เคยใช้อยู่เดิมต่อไป

ตารางการแบ่งระดับของการควบคุมโรคหลังได้รับการดูแลรักษาแล้ว

ลักษณะ|กลุ่มควบคุมได้ (มีครบทุกข้อ)|กลุ่มควบคุมได้บางส่วน (มีข้อใดข้อหนึ่งในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนุ่ง)|กลุ่มควบคุมไม่ได้ (มี 3 ข้อขึ้นไปตามในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง)
การทำกิจกรรม|ทำได้ปกติ|ทำได้น้อยลง|ทำได้น้อยลง
อาการตอนกลางวัน|ไม่มี หรือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง/สัปดาห์|มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์|มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
อาการตอนกลางคืน|ไม่มี|มี|มี
การให้ยาบรรเทาอาการ|ไม่มี หรือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง/สัปดาห์|มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์|มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
สมรรถภาพปอด (ค่า PEFR)*|ปกติ|มากกว่า 80% ของค่ามาตรฐาน|มากกว่า 80% ของค่ามาตรฐาน
อาการกำเริบรุนแรง|ไม่มี|1 ครั้งขึ้นไป|1ครั้งในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง

หมายเหตุ : ในเด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ไม่ต้องใช้ค่า PEFR เพราะยังไม่สามารถตรวจสมรรถภาพปอดได้

2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการกำเริบและมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งแพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล (ส่วนในรายที่มีสาเหตุไม่ชัดเจน อาจต้องมีการตรวจพิเศษต่าง ๆ เพิ่มเติม)

  • ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นภายใน 1-2 ชั่วโมง มีอาการหอบต่อเนื่องมานานหลายชั่วโมงหรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ปากเขียว มีอาการสับสน ซึม หรือพูดไม่เป็นประโยค
  • ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้แรงเพียงเล็กน้อย
  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นโรคหอบหืดรุนแรง เคยรับการรักษาในห้องไอซียูเนื่องจากโรคหอบหืดมาก่อน กำลังกินยาหรือเพิ่งหยุดกินยาสเตียรอยด์ หรือใช้ยากระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นสูดบ่อยกว่าทุก 3-4 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยที่สงสัยว่าจะเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือสงสัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, มีอาการเท้าบวม หลอดเลือดคอโป่ง ความดันโลหิตสูง หรือสงสัยว่ามีภาวะหัวใจวาย, มีไข้หรือสงสัยว่าเป็นปอดอักเสบหรือหลอดลมฝอยอักเสบ

3.ในผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืดกำเริบรุนแรงหรือภาวะหืดต่อเนื่อง แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังนี้ (เมื่อควบคุมอาการได้แล้ว แพทย์จะนัดติดตามดูอาการภายใน 2-4 สัปดาห์)

  • ให้ออกซิเจนและน้ำเกลือ
  • ให้ยาขยายหลอดลม ได้แก่ ยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น สูด 2-4 หน (Puff) ทุก 20 นาทีในชั่วโมงแรก ต่อไปสูดอีก 2-4 หน ทุก 3-4 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงเล็กน้อย (มีอาการหอบเหนื่อยเวลาเดิน ยังสามารถนอนราบและพูดเป็นประโยคได้ มีเสียงวี้ดขนาดปานกลางเฉพาะช่วงที่หายใจออก) หรือ 6-10 หน ทุก 1-2 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงปานกลาง (มีอาการหอบเหนื่อยเวลาพูด มักอยู่ในท่านั่ง พูดได้เพียงเป็นวลี กระสับกระส่าย มีเสียงวี้ดดัง) ถึงรุนแรงมาก (มีอาการหอบเหนื่อยขณะพักและนั่งค้อมตัวไปข้างหน้า พูดได้เพียงเป็นคำ ๆ กระสับกระส่าย มีเสียงวี้ดดัง)
  • ให้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดสูงกว่าเดิม
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางและมากแพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดหรือกิน โดยอาจให้ยาเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) 40-60 มิลลิกรัม (ในเด็กให้ในขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง หรือในรายที่กินได้ แพทย์จะให้กินยาเพรดนิโซโลน 40-60 มิลลิกรัม (ในเด็กให้ในขนาด 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) วันละ 1 ครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว (ซึ่งมักจะได้ผลภายใน 36-48 ชั่วโมง) ก็ให้กินยาเพรดนิโซโลนต่อไปจนครบ 5 วัน
  • ในผู้ป่วยที่หอบหืดรุนแรงจนเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว อาจจำเป็นต้องใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจและแก้ไขภาวะผิดปกติต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดทุกราย แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาระยะยาวเพื่อควบคุมอาการให้น้อยลง ป้องกันอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดให้กลับคืนสู่ปกติ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร โดยจะมีแนวทางในการดูแลรักษาดังนี้

  • ประเมินความรุนแรงของโรค โดยพิจารณาจากอาการแสดงร่วมกับการตรวจสมรรถภาพปอด เพราะว่าหลอดลมที่ตีบไม่มากผู้ป่วยจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการก็ต่อเมื่อหลอดลมตีบมากแล้ว ดังนั้น ถ้ารอดูแต่อาการแสดงอย่างเดียวจะทำให้เราประเมินโรคได้ต่ำและให้การรักษาได้ต่ำกว่าที่ควร (ผู้ป่วยอาจหาซื้อเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกหรือพีคโฟลว์มิเตอร์มาใช้ด้วยก็ได้ (ประมาณ 800 บาท) เพราะจะช่วยทำให้ประเมินโรคได้ดีมากขึ้น)
  • ให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น พร้อมกับปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในหัวข้อ “คำแนะนำและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
  • ให้ยารักษาโรคหอบหืด ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
    1. ยาบรรเทาอาการ (Relievers) แพทย์จะนิยมให้ยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น (ยาพ่นขยายหลอดลมชนิดเบต้า 2) เช่น เวนโทลิน (Ventolin), บริคคานิล (Bricanyl) หรือเม็บติน (Meptin) ซึ่งเป็นยาที่มีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดลมคลายตัว ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้เร็ว และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดกินและชนิดฉีด (ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้คืออาจทำให้ใจสั่นมือสั่นได้บ้าง) โดยจะให้ใช้สูดเฉพาะเมื่อมีอาการและให้ซ้ำได้เมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่ควรเกินวันละ 3-4 ครั้ง (ในรายที่สูดไม่ได้ อาจใช้ยากินกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น หรือใช้ยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์สั้นแทน ส่วนยาฉีดกระตุ้นเบต้า 2 นั้นจะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน) แต่ในกรณีที่ใช้ยาสูดชนิดนี้เพียงอย่างเดียวแล้วยังไม่ได้ผลเต็มที่ แพทย์อาจให้ยาขยายหลอดลมกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ได้แก่ ยาสูดไอพราโทรเพียมโบรไมด์ (Ipratropium bromide) แทน หรือใช้ร่วมกันเพื่อช่วยเสริมให้ควบคุมอาการได้ดีขึ้น
    2. ยาควบคุมโรค (Controllers) เป็นยาที่ใช้กับผู้ป่วยขั้นที่ 2-5 โดยจะเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการอักเสบการบวมของผนังบุหลอดลม และถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคหอดหืดเรื้อรัง เพราะเมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้น หลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงช่วยควบคุมโรคและลดการกำเริบของโรคได้เป็นอย่างดี ยากลุ่มนี้ได้แก่
      • ยาสูดหรือยาพ่นสเตียรอยด์ (Inhaled corticosteroid) เช่น บีโคลเมทาโซนไดโปรปิโอเนต (Beclomethasone dipropionate), บูเดโซไนด์ (Budesonide), ฟลูนิโซไลด์ (Flunisolide), ฟลูติคาโซน (Fluticasone), ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) เป็นต้น ซึ่งมักใช้แบบเดี่ยว ๆ ในการรักษาขั้นที่ 2 และ 3 หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 3-5 ยาสูดสเตียรอยด์นี้ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก ไม่เหมือนกับยาสเตียรอยด์ชนิดกินซึ่งจะมีผลข้างเคียงมาก (ผลข้างเคียงของยาสูดที่อาจพบได้ เช่น เสียงแหบและมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งป้องกันได้ด้วยการบ้วนปากทุกครั้งหลังสูดยาด้วยน้ำประปาที่สะอาดหรือน้ำเกลือที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือใช้ยาบ้วมปากตามคำแนะนำของแพทย์)

        ยาพ่นหอบหืด
        IMAGE SOURCE : www.luxinternational.com

      • ยากระตุ้นเบต้า 2 (Beta 2 Agonists) ชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น ยาสูดฟอร์โมเทอรอล (Formoterol) หรือซาลเมเทอรอล (Salmeterol), ยากินแบมบิวเทอรอล (Bambuterol) เป็นต้น ซึ่งมักใช้ร่วมกับยาสูดสเตียรอยด์ในการรักษาขั้นที่ 3-5
      • ยาต้านลิวโคทรีน (Leukotriene modifier antagonist) เช่น ยากินมอนเทลูคาสท์ (Montelukast) หรือซาฟิรลูคาสท์ (Zafirlukast) เป็นต้น โดยยานี้สามารถใช้แบบเดี่ยว ๆ ในการรักษาขั้นที่ 2 หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในขั้นที่ 3-5 ซึ่งใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นหืดจากการออกกำลังกายหรือจากยาแอสไพริน รวมทั้งในรายที่มีโรคหวัดภูมิแพ้ร่วมด้วย
      • ยากินทีโอฟิลลีน (Theophyllin) ชนิดออกฤทธิ์นาน มักใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 3-5
      • ยากินเพรดนิโซโลน (Prednisolone) มักใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 5 (ขนาด 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ไปสักระยะหนึ่งจนกว่าจะดีแล้วจึงค่อยหยุดยา)
      • ยาต้านไอจีอี (anti-IgE) เช่น โอมาลิซูแมบ (Omalizumab) ที่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มักใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 5
  • ให้ยารักษาโรคหอบหืดตามระดับของการควบคุมโรค (ดูที่ตารางการแบ่งระดับของการควบคุมโรคด้านบน) ดังนี้
    1. กลุ่มควบคุมโรคได้ แพทย์จะให้การรักษาตามขั้นตอนเดิมต่อไปอย่างน้อย 3 เดือน แล้วจะค่อย ๆ ปรับลดขั้นตอนลงทีละน้อย เช่น จากขั้นที่ 3 ไป 2 และ 1 ตามลำดับ จนกว่าผู้ป่วยจะใช้การรักษาขั้นต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้
    2. กลุ่มควบคุมโรคได้บางส่วนและกลุ่มควบคุมโรคไม่ได้ แพทย์จะปรับขั้นตอนการรักษาเพิ่มขึ้นจนกว่าจะสามารถควบคุมอาการได้ภายใน 1 เดือน หลังจากควบคุมอาการได้แล้ว แพทย์ก็จะติดตามผลการรักษาต่อไปทุก 1-3 เดือน และปรับขั้นตอนการรักษาให้เหมาะกับระดับของการควบคุมโรคซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ทั้งในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลง
  • ให้การรักษาด้วยอิมมูนบำบัด (Immunotherapy) ในเด็กที่มีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไม่สามารถหลีกสิ่งที่แพ้และอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยอิมมูนบำบัด โดยการฉีดยาทดสอบว่าเด็กแพ้สารอะไร แล้วฉีดสารนั้น ๆ ทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อลดการแพ้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีในเด็ก (ส่วนในผู้ใหญ่จะได้ผลไม่ค่อยดี) แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้เวลาในการรักษานาน ราคาแพง และอาจมีอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะช็อกจากการแพ้หรือโรคหอบหืดกำเริบรุนแรงได้ จึงจำเป็นต้องฉีดในที่ ๆ มีความพร้อมในการช่วยเหลือถ้าเกิดอาการแพ้ และหลังฉีดสารบำบัดแต่ละครั้งจะต้องเฝ้าสังเกตดูอาการอย่างน้อย 30 นาที
  • ให้การรักษาโรคร่วมที่พบ เช่น หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคกรดไหลย้อน ฯลฯ (ผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 60-70% จะมีโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย ซึ่งถ้าไม่รักษาไปด้วยก็จะทำให้การรักษาโรคหอบหืดนั้นได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
  • ให้ผู้ป่วยติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและทำการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นระยะ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดรุนแรง แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้เครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกหรือพีคโฟลว์มิเตอร์มาใช้ตรวจเองที่บ้าน (เพื่อวัดค่า PEFR) เพื่อใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรคและจะได้ปรับยาให้เหมาะสมต่อไป และผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งด้วย

คำแนะนำและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด

  1. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหอบหืดและยารักษาเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเข้าใจก็คือ โรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดลมและทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้นหลอดลมจึงตีบแคบ ดังนั้นการรักษาโรคนี้จึงไม่ใช่การรักษาหลอดลมตีบแคบ แต่เป็นการรักษาหลอดลมที่อักเสบซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษา
  2. ติดตามการรักษากับแพทย์เป็นประจำ อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และตรวจสมรรถภาพปอดเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคให้เป็นปกติ
  3. สังเกตอาการหรือสัญญาณเบื้องต้นก่อนที่อาการหอบจะกำเริบให้เป็น เช่น การไอ หายใจมีเสียง
  4. เรียนรู้วิธีการใช้ยาให้ถูกต้องและใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ห้ามลดละยาตามอำเภอใจ หรือเลิกไปพบแพทย์ แม้จะรู้สึกสบายดีก็ตาม
  5. ทุกครั้งที่สูดยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ยาตกค้างที่คอหอย เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก
  6. ควรพกยาบรรเทาอาการติดตัวไว้เสมอ หากมีอาการกำเริบให้รีบสูดยา 2-4 หน (Puff) ทันที ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลงอาจสูดซ้ำได้ทุก 20 นาที อีก 1-2 ครั้ง ถ้ายังไม่ทุเลาอีกควรไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าปล่อยให้หอบนานเพราะอาจเป็นอันตรายได้
  7. ห้ามซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนมาใช้เอง เพราะยาเหล่านี้มักมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แม้ว่าอาจจะใช้แล้วได้ผล แต่ก็ต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งจะทำให้มีผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยใช้ยาเหล่านี้มานานก็ห้ามหยุดยาในทันที เพราะอาจจะทำให้มีอาการหอบกำเริบรุนแรงหรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาทางค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลง
  8. ดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ อย่าขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ไอมีเสมหะเหนียวหรือมีอาการหอบเหนื่อย
  9. ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ เป็นประจำ โดยการเป่าลมออกทางปากเพื่อให้ลมในปอดออกมาให้มากที่สุด เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่นและช่วยให้อาการดีขึ้นได้
  10. ถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ควรลดน้ำหนัก เพราะอาจช่วยให้อาการทุเลาลงได้
  11. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหอบหืดและสามารถหยุดยาได้แล้ว ผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าโรคหอบหืดที่เป็นอยู่นั้นหายแล้ว แต่แพทย์จะไม่เรียกว่าหาย แต่จะเรียกว่า “โรคหอบหืดอยู่ในภาวะสงบ” ซึ่งอาจจะสงบไปนานเท่าไหร่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง
  12. ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง ห้ามใช้ยานอนหลับ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาละลายเสมหะ (Mucolytic drugs) เพราะอาจทำให้อาการเลวลงได้
  13. ผู้ป่วยที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ หากขาดยาก็อาจทำให้มีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลันจนถึงขั้นกลายเป็นภาวะหืดดื้อและเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์มาก่อน
  14. โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาขั้นที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวโรคหอบหืดเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
  15. ผู้ป่วยโรคหอบหืดอาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้ในขณะตั้งครรภ์ หรือเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาล จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้สามารถควบคุมอาการได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายตามมา
  16. ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเกิดจากการสัมผัสสาเหตุกระตุ้น, การใช้ยาไม่ครบขนาด, การสูดยาไม่ถูกวิธี, การที่ไม่ได้รักษาโรคที่พบร่วมด้วย (เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้), ผู้ป่วยสูบบุหรี่, การมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและมีประวัติการสูบบุหรี่จัดมานาน), การวินิจฉัยที่ผิด, การดื้อต่อสเตียรอยด์ หรือเป็นโรคหอบหืดที่รุนแรง ซึ่งควรค้นหาสาเหตุและแก้ไขไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
  17. ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการไอโดยไม่มีอาการหอบเหนื่อยหรือหายใจมีเสียงวี้ดได้ จึงทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าพบว่ามีอาการไอบ่อยในตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยน หรือในขณะที่วิ่งเล่นมาก ๆ อาจเป็นโรคหอบหืดระยะแรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนในครอบครัวมีประวัติโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้อยู่ก่อน แนะนำให้ไปตรวจเพิ่มเติมที่ตรวจที่โรงพยาบาล
  18. ถ้ามีอาการเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นหรือย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว อาการอาจทุเลาจนสามารถหยุดการใช้ยาสูดบรรเทาอาการได้ แต่บางรายเมื่อมีอายุมากขึ้นก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีอาการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้วก็ได้ หากขาดการใช้ยาควบคุมโรคก็อาจทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติและอุดกั้นในระยะยาวได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการทุเลาแล้วก็ต้องติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องต่อไป

โรคหอบหืดแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ก็มักจะควบคุมอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้จนสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติสุขเหมือนเช่นคนทั่วไป ส่วนผลการรักษาส่วนใหญ่นั้นก็มักควบคุมอาการได้ดี และในปัจจุบันก็พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลงมาก

การป้องกันโรคหอบหืด

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหอบหืด เพราะโรคนี้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในเด็กที่พ่อแม่เป็นโรคหอบหืดลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดก็สามารถสังเกตอาการของตนเอง ควบคุมไม่ให้มีอาการหอบหืดกำเริบ และใช้ชีวิตอย่างปกติได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และสิ่งแวดล้อม โดยควรสังเกตว่าตัวเองมักมีอาการกำเริบในเวลาใด สถานที่ใด และหลังจากสัมผัสถูกอะไร เช่น
    • กำจัดไรฝุ่นในบ้าน โดยการหลีกเลี่ยงการใช้หมอน ผ้าห่ม ที่นอน เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นที่ทำให้ด้วยนุ่นหรือเป็นขน ๆ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรห่อหุ้มด้วยวัสดุกันไรฝุ่น ส่วนปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอน ควรซักด้วยน้ำอุ่น (มากกว่า 55 องศาเซลเซียส) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ก็ไม่ควรปูพรมตามพื้นห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในห้องนอน ถ้าปูพรมก็ควรใช้เสื่อน้ำมันปูทับให้ทั่วและให้ขอบชิดผนังห้องทุกด้าน
    • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หนู นก กระต่าย แต่ถ้าเลี้ยงสัตว์ก็ควรให้อยู่นอกบ้าน อย่านำเข้ามาในบ้านและห้องนอน และควรจับอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดควันบุหรี่ และควันต่าง ๆ รวมถึงห้ามบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ ห้ามใช้ฟืนในการหุงต้มและผิงไฟ
    • หลีกเลี่ยงการดมสเปรย์ น้ำหอม กลิ่นสี กาว สารเคมี น้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อรา โดยการทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว อย่าให้มีน้ำขัง ใช้พัดลมดูดอากาศ และทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี
    • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่อับชื้น (เช่น ห้องใต้ดิน) และหุ่มไม้ รวมถึงไม่ปลูกต้นไม้ภายในบ้าน และไม่ใช้วอลเปเปอร์และพรมในห้องน้ำ
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีในโรงงานหรือที่ทำงาน โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย รวมถึงใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้และทำให้หอบบ่อยก็ควรย้ายสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนงานที่ไม่ต้องสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น
    • กำจัดแมลงสาบในบ้านโดยใช้กับดัก ถ้าใช้ยาฉีดพ่นผู้ป่วยก็ไม่ควรอยู่ในบ้าน เพราะยาฉีดพ่นอาจกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบได้ และควรเก็บเศษอาหารไว้ในถุงหรือถังขยะที่มิดชิด อย่าให้แมลงสาบตอม
    • ควรใช้เครื่องปรับอากาศ และล้างไส้กรองเดือนละ 1 ครั้ง
    • ในช่วงที่มีละอองเกสรมากหรือตัดหญ้า ผู้ป่วยควรหลบเข้ามาอยู่ในบ้าน และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด แต่ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ก็ควรกินยาแก้แพ้ก่อนออกนอกบ้าน และหลังจากกลับเข้าบ้านก็ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และอย่าตากเสื้อผ้าในที่กลางแจ้ง
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถออกกำลังกายได้ โดยควรเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือเป็นชนิดกีฬาที่เหมาะสม เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน แอโรคบิค ว่ายน้ำ ฯลฯ แต่ต้องระวังอย่าให้หักโหมหรือเหนื่อยมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น และควรเตรียมยาขยายหลอดลมชนิดสูดไว้ให้พร้อมเสมอ ถ้าเคยมีอาการหอบหืดจากการออกกำลังกายก็ควรใช้ยาสูดก่อนออกกำลังกายประมาณ 15-20 นาที และถ้ามีอาการกำเริบระหว่างออกกำลังกายก็ควรหยุดพัก แล้วใช้ยาสูดจนกว่าอาการจะทุเลาแล้วจึงค่อยเริ่มออกกำลังกายใหม่
  3. หาทางป้องกันหรือผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำงานอดิเรกที่ชอบ (เช่น เล่นดนตรี ฟังเพลง วาดภาพ ปลูกต้นไหม้) การออกกำลังกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกโยคะ รำมวยจีน) การสวดมนต์ ไหว้พระ ฝึกสมาธิ เจริญสติ ฯลฯ
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยลดการอักเสบและการตีบตันบริเวณทางเดินหายใจ เช่น ผักผลไม้สด เมล็ดธัญพืช เนื้อปลา และดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ
  6. ระมัดระวังและป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นไข้หวัดและโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวมด้วย เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ที่จะเป็นตัวกระตุ้นอาการหอบหืด
  7. หลีกเลี่ยงการใช้ต้านอักเสบที่ไม่สเตียรอยด์ ยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มปิดกั้นเบต้า และยาแอสไพริน ที่สำคัญเมื่อไปพบแพทย์ท่านอื่นก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นโรคหอบหืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หืด (Asthma)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 452-460.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โรคหืด (Asthma)”.  (รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 ธ.ค. 2017].
  3. พบแพทย์.  “โรคหืด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [07 ธ.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด