15 วิธีรักษาโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน (โรคเมเนียส์ – Ménière’s disease) !!

15 วิธีรักษาโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน (โรคเมเนียส์ – Ménière’s disease) !!

โรคเมเนียส์

โรคเมเนียส์, โรคมีเนียร์ หรือ โรคเมนิแยร์ (Ménière’s disease – MD) หรือที่ทั่วไปมักเรียกกันว่า “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” หรือ “โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ” หรือบางครั้งก็เรียกกันสั้น ๆ ทางพยาธิวิทยาว่า “โรคน้ำในหู” (Endolymphatic hydrops) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ เป็นเหตุให้เสียความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว (เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน) และการได้ยิน (เกิดอาการหูตึง แว่วเสียงดังในหู) ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว แต่อาจเป็นกับหูได้ทั้ง 2 ข้างประมาณ 10-15%[1] หรือประมาณ 30% ในบางรายงาน[2]

หูชั้นใน (Inner ear) ของคนเราจะมีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีน้ำในหูชั้นในอยู่ในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหูขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ (Endolymphatic hydrops) ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน

โรคนี้เป็นโรคพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเป็นโรคที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ[5] มักพบได้ในผู้คนอายุ 30-60 ปี[2] ทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้พอ ๆ กัน[4] (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า โรคนี้พบได้น้อย มักพบในผู้ชายอายุประมาณ 40-60 ปี แต่อาจพบได้ในคนหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน[1])

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
IMAGE SOURCE : www.hearinglink.org

สาเหตุของโรคเมเนียส์

ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดว่า เหตุใดปริมาณของเหลวในหูชั้นใน (Endolymph) จึงเกิดมีมากกว่าปริมาณปกติขึ้นมาเป็นระยะ ๆ แล้วส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา (อาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นในที่มากผิดปกติ)

ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นหรือมีอาการกำเริบได้เมื่อมีปัจจัยเหล่านี้มากระตุ้น เช่น

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น หูชั้นในอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซิฟิลิส ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
    โรคทางกาย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคของหลอดเลือดในหู ปวดศีรษะไมเกรน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไทรอยด์
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน
  • ภาวะเครียดทางจิตใจ การอดหลับอดนอน ร่างกายเหนื่อยล้า การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาแอสไพริน)
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รวมถึงการมีประจำเดือน
  • ความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • กรรมพันธุ์ ทำให้ผู้ป่วยมีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติมาแต่กำเนิด
  • บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุหรือมีปัจจัยดังกล่าวมากระตุ้น ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่

โรคน้ําในหูไม่เท่ากัน
IMAGE SOURCE : www.medical-institution.com

อาการของโรคเมเนียส์

  • อาการบ้านหมุน (เวียนศีรษะอย่างรุนแรง) ผู้ป่วยมักมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด อยู่เฉย ๆ ก็เป็นขึ้นมา และแต่ละครั้งมักเป็นอยู่นานเกิน 20 นาทีขึ้นไปถึง 2 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่บางรายอาจเป็นเพียงครั้งละไม่กี่นาทีหรือเป็นนานหลายชั่วโมงก็ได้) แล้วหายไปได้เอง และอาการจะกำเริบได้อีกเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการทุกวัน หรือนาน ๆ เป็นทีก็ได้ โดยอาจทิ้งช่วงห่างกันเป็นสัปดาห์ ๆ หรือนานเป็นปี ซึ่งไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และในแต่ละครั้งที่มีอาการอาจมีอาการมากหรือน้อยก็ได้ แต่จะไม่ทำให้ถึงกับหมดสติหรือเป็นอัมพาต ในบางครั้งที่เกิดอาการอาจทำให้ผู้ป่วยทรงตัวไม่อยู่หรือเซล้มลงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก และอาจมีอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุนด้วย (อาการบ้านหมุนเป็นอาการหลักที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และต้องนอนพักเพียงอย่างเดียว)
  • ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง ในขณะที่มีอาการเวียนศีรษะ โดยเสียงที่ไม่ได้ยินมักเป็นเสียงต่ำ เช่น เสียงนาฬิกา เสียงกริ่งโทรศัพท์ เป็นต้น และหากเสียงสูงอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหู (ทนเสียงดังไม่ได้) ซึ่งในระยะแรกของโรคอาจเป็น ๆ หาย ๆ การได้ยินมักดีขึ้นเมื่ออาการเวียนศีรษะหายไป แต่ถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ (ระยะแรกอาจเป็นเพียงข้างเดียว พอในระยะหลัง ๆ อาจมีอาการทั้งสองข้าง)
  • หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู ซึ่งจะเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติ มักเป็นพร้อมกับอาการบ้านหมุน อาจเป็นเฉพาะเวลาที่เวียนศีรษะหรืออาจเป็นอยู่ตลอดเวลาก็ได้
  • รู้สึกแน่นในหู ลักษณะหนัก ๆ หน่วง ๆ คล้ายกับมีแรงดันในหู (ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู และปวดศีรษะข้างที่เป็นร่วมด้วยได้)

การแบ่งระยะของโรคเมเนียส์

โรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ (ความรุนแรงและระยะเวลาแต่ละระยะไม่แน่นอน) ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนและอาเจียนเป็นอาการเด่น ส่วนการทำงานของหูยังปกติ
  • ระยะที่ 2 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการครบทั้ง 4 อย่างดังที่กล่าวมา
  • ระยะที่ 3 ในระยะนี้ผู้ป่วยยังคงมีเสียงแว่วดังในหูแต่ไม่รุนแรง การได้ยินจะลดลงจนไม่สามารถได้ยินคำพูดได้ ส่วนอาการเวียนศีรษะจะลดลงทั้งความรุนแรงและความถี่ (อาการคลื่นไส้อาเจียนก็ลดลงด้วยเช่นกัน)

อาการน้ําในหูไม่เท่ากัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเมเนียส์

  • ผู้ป่วยทั่วไปส่วนมากจะเป็นไม่รุนแรงและอาจหายได้เอง แต่มีส่วนน้อยอาจหูตึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหูหนวกสนิทได้ (อาการบ้านหมุนมักหายไปภายหลังที่หูหนวกสนิทแล้ว) ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นคนชอบวิตกกังวลและเป็นไมเกรนร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยอาจประสบอุบัติเหตุได้ง่ายในขณะที่เกิดอาการบ้านหมุน

การวินิจฉัยโรคเมเนียส์

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด และการตรวจร่างกาย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการดังกล่าว แพทย์ก็มักให้การวินิจฉัยได้ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยประมาณ 50% เท่านั้นที่มีอาการดังกล่าวเด่นชัด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจนก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและแยกจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • การซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการทางหู
  • การซักประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต, ประวัติโรคซิฟิลิส, ประวัติการผ่าตัดหู, โรคทางระบบประสาท, โรคภูมิแพ้, โรคภูมิคุ้มกัน, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไทรอยด์, โรคคางทูม, โรคการอักเสบของตา เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท, การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย, การตรวจดูการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ, การวัดความดันโลหิตในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำในขณะเปลี่ยนท่า) เป็นต้น
  • การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry), การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Electronystagmography – ENG), การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน (Electrocochleography – ECOG) ถ้าตรวจออกมาได้ผลบวกจะค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้, การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response – ABR), การเจาะเลือด (เพื่อหาภาวะซีด เลือดข้น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดมากผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับยูริกในเลือดสูง เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเกินไป โรคไต โรคภูมิแพ้ตัวเอง การติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอดส์ การทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ), การตรวจปัสสาวะ (เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่), การถ่ายภาพรังสีกระดูกคอ, การตรวจพิเศษทางรังสี (เฉพาะในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัวหรือความผิดปกติทางสมอง เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)), การตรวจการไหลเวียนของเลือดผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่สมอง โดยใช้อัลตราซาวนด์ (สามารถบอกแรงดันเลือด ความเร็วของการไหล และความไม่สมดุลของการไหลเวียนของเลือดได้), การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ (EKG) เป็นต้น

อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาการดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดโรคเมเนียส์หรือน้ำในหูไม่เท่ากันเสมอไป เพราะอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น

  • โรคของหูชั้นนอก เช่น การอุดตันจากขี้หู เนื้องอก หนอง หรือการอักเสบจากหูชั้นนอก, กระดูกช่องหูหักจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
  • โรคของหูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (หูน้ำหนวก), เลือดคั่งในหูชั้นกลางจากอุบัติเหตุหรือการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ (Hemotympanum), ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ทำงานผิดปกติหรือมีการอุดตัน, มีการทะลุของเยื่อที่ผิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (Perilymphatic fistula) เป็นต้น
  • โรคของหูชั้นใน เช่น การติดเชื้อของหูชั้นใน (Labyrinthitis), การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (Toxic labyrinthitis), การบาดเจ็บที่ศีรษะทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน, การได้รับแรงกระแทกจนเกิดการบาดเจ็บจากเสียงหรือการผ่าตัดบริเวณหู, โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign paroxysmal positional vertigo – BPPV)
  • โรคของทางเดินประสาทและสมอง เช่น เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuronitis), เนื้องอกของประสาททรงตัว (Vestibular schwannoma), โรคของระบบประสาทกลาง, การเสื่อมของระบบประสาทกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว, ความผิดปกติของกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาทกลางทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัวไม่พอ, การติดเชื้อของระบบประสาท เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ, โรคเลือด (มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดสูงผิดปกติ เลือดออกง่ายผิดปกติ ซีด), โรคหลอดเลือดแข็งและตีบจากโรคไขมันในเลือดสูง, ระดับยูริกในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตต่ำ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคภูมิแพ้, โรคกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น
  • ไม่ทราบสาเหตุ

วิธีรักษาโรคเมเนียส์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเมเนียส์ การรักษาจะประกอบไปด้วยการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดอาการบ้านหมุน การให้ยาบรรเทาอาการ การรักษาไปตามสาเหตุของโรค และการผ่าตัดในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้จากการใช้ยา

  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ (วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบห่างขึ้นได้)
    1. เมื่อมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนในขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินต่อไปในขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าเกิดอาการในขณะขับรถหรือทำงาน ควรหยุดรถที่ข้างทางหรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถ้าวิงเวียนศีรษะมากให้นอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลงแล้ว ให้ค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียได้ จึงแนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
    2. รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทานเวลาเวียนศีรษะ
    3. ลดหรือจำกัดการรับประทานอาหารเค็มจัด เพราะความเค็มหรือเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกายจะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกายและในหูชั้นในมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้
    4. พยายามอย่ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำมากนัก (เพื่อลดปริมาณของเหลวในหูชั้นใน) จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
    5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่หูชั้นใน
    6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่และถูกต้องตามหลักอนามัย
    7. ลดหรือหลีกเลี่ยงสารกาเฟอีน (จากการดื่มชา น้ำอัดลม กาแฟ และช็อกโกแลต) เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด เพราะปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
    8. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างที่เกิดอาการวิงเวียน เช่น การก้ม เงยคอ หรือหันคออย่างเต็มที่, การหมุนศีรษะไว ๆ, การเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
    9. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การเดินทางโดยเรือ, ความเครียดหรือความวิตกกังวล, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ (ถ้าแพ้) เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก ๆ ด้วย เช่น การทำงานติดต่อกันนาน ๆ หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากอาการบ้านหมุนมักจะเป็นมากเวลาที่ร่างกายเหนื่อยล้าหรือมีภาวะเครียดทางจิตใจ แต่จะเป็นห่างขึ้นเมื่อสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและมีจิตใจไม่เครียด
    10. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ เสียงดังมาก ๆ, การยืนในที่สูง, อุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู, การติดเชื้อของหูหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน, การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทการทรงตัว (เช่น แอสไพริน (Aspirin), อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ควินิน (Quinine) เป็นต้น)
    11. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเลือด โรคซีด โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง ควรรักษาและควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี
  • การให้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มากมักจะได้ผลดี คือ หายเวียนศีรษะและหูอื้อ การได้ยินฟื้นตัวดีขึ้น (80% จะหายได้ด้วยการให้ยา) ได้แก่
    • ถ้ามีอาการบ้านหมุนมาก แพทย์จะฉีดไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) หรืออะโทรปีน (Atropine) ให้ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้
    • ยาขับปัสสาวะเพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) 50-100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
    • ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ทำให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น เช่น เบตาฮีสทีน เมไซเลต (Betahistine mesilate), ซินนาริซีน (Cinnarizine) เป็นต้น
    • ยาลดอาการเวียนศีรษะ
    • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
    • ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลและนอนหลับได้เป็นปกติ เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam)
  • การรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากซิฟิลิส แพทย์จะให้การรักษาแบบซิฟิลิส เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีอาการมากหากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วยังควบคุมอาการเวียนศีรษะไม่ได้ อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นในออก เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลาม และช่วยให้โรคหายขาด ซึ่งได้แก่
    • การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยินและการทรงตัวในหูชั้นใน (Labyrinthectomy) มักทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นไปมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะอยู่มาก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นไปตลอด
    • การตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular neurectomy) มักทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
    • การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลางเพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น เจนตามัยซิน (Gentamicin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้มีอาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินของผู้ป่วยอาจสูญเสียไปด้วย มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้และยังเวียนศีรษะอยู่

แม้โรคเมเนียส์จะยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมได้ด้วยยาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ดังนั้น หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease/Endolymphatic hydrops)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 923-924.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “น้ำในหูไม่เท่ากัน…จริงหรือ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [26 ส.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เวียนศีรษะ บ้านหมุน….ช่วยด้วย”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [26 ส.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ”.  (นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [26 ส.ค. 2016].
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “เรื่องในหู ทำให้เวียนหัวและบ้านหมุน”.  (พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [26 ส.ค. 2016].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “โรคน้ำในหู”.  (นพ.สาฑิตย์ ชัยประสิทธิกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [26 ส.ค. 2016].
  7. โรงพยาบาลพญาไท.  “เวียนหัวจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน”.  (นพ.ทวีชัย พิตรปรีชา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com.  [26 ส.ค. 2016].
  8. Siamhealth.  “โรคเวียนศีรษะ Meniere’s Disease”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [27 ส.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด