ตับแข็ง (Cirrhosis) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคตับแข็ง 7 วิธี !!

ตับแข็ง (Cirrhosis) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคตับแข็ง 7 วิธี !!

โรคตับแข็ง

ตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นโรคตับเรื้อรังที่เนื้อเยื่อตับจำนวนมากถูกทำลายอย่างถาวรจนกลายเป็นพังผืด (Fibrous tissue) มีลักษณะแข็งกว่าปกติ จนตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ* จึงก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นตามมา

อาการแรกเริ่มมักเกิดขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 40-60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อยอาจเกิดจากโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดรุนแรงจากการใช้ยาผิดหรือสารเคมีบางชนิด

โรคตับแข็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน และสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ (ขึ้นอยู่กับสาเหตุ) แต่โดยทั่วไปโรคนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะมักพบมากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 21-50 ปี หรือประมาณ 85% ของผู้ป่วยตับแข็งทั้งหมด และจัดว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตจากภาวะตับวายและจากผลข้างเคียงได้ เช่น การติดเชื้อรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด และไตวาย โดยทั่วโลกจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งกว่า 25,000 คนต่อปี ในยุโรปจะพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็งที่ 10 ปี นับจากมีอาการสูงประมาณ 34-66% และในสหรัฐอเมริกา โรคนี้เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นลำดับที่ 10 ในผู้ชาย และลำดับที่ 12 ในผู้หญิง

หมายเหตุ : ตับเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งที่มีหน้าที่หลายอย่าง หน้าที่ของตับเปรียบเหมือนโรงงานขนาดใหญ่ที่คอยจัดการกับสารอาหารต่าง ๆ เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ตับจะสลายและสร้างสารตัวใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายขึ้นมา และในขณะเดียวกันสารต่าง ๆ ที่ร่างกายใช้แล้วจะกลับมาเผาผลาญที่ตับเพื่อจับเป็นของเสียออกจากร่างกาย นอกจากนี้ตับยังทำหน้าที่เพื่อดูแลสุขภาพของเราอีกหลายอย่าง เช่น ช่วยขจัดสารพิษหรือเชื้อโรคออกจากเลือด, ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค, ช่วยสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว, ช่วยสร้างน้ำดีซึ่งมีหน้าที่ช่วยการดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมันให้กับร่างกาย และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายเพื่อนำไปใช้เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเมื่อเกิดโรคตับแข็งขึ้น การทำงานของตับจะลดลงจนก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นตามมา

สาเหตุของโรคตับแข็ง

โดยปกติเนื้อเยื่อตับจะนุ่มและมีผิวที่เรียบเนียน แต่ถ้าเนื้อเยื่อตับได้รับการบาดเจ็บและถูกทำลายจากการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ เนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลายจะกลายเป็นพังผืดที่มีลักษณะคล้ายแผลไปแทรกและเบียดเนื้อตับที่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงตับได้น้อยลง จึงส่งผลให้การทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตับลดลงหรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ร่างกายสร้างตามธรรมชาติ (เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม นมโตและอัณฑะฝ่อในผู้ชาย) มีการคั่งของสารบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองซึ่งสร้างจากตับ (ทำให้เกิดอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) และอาการคันตามตัวหรือผิวหนัง) มีการสังเคราะห์สารที่ช่วยห้ามเลือดได้น้อยลง (ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย) มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำของตับสูงขึ้น (ทำให้ท้องมานหรือมีน้ำคั่งในช่องท้อง หลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารที่อาจแตกและทำให้อาเจียนเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของระบบต่าง ๆ

ตับแข็ง
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by CirrhosisNaturalCure), www.mayoclinic.org

โดยเมื่อเริ่มเกิดโรค เนื้อเยื่อตับจะมีขนาดปกติได้ แต่ต่อมาเมื่อการอักเสบมากขึ้นจะเกิดการบวมของเนื้อเยื่อตับ ตับจะโตจนคลำได้ (ตับจะอยู่ใต้ชายโครง ซึ่งปกติจะคลำไม่ได้) และเมื่อมีการอักเสบเรื้อรัง เนื้อเยื่อตับจะเป็นพังผืดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื้อเยื่อตับที่เคยนุ่มจะค่อย ๆ แข็งขึ้น (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อคำว่า “โรคตับแข็ง”) และขนาดของตับจะหดเล็กลงเรื่อย ๆ นอกจากนั้นเนื้อเยื่อตับที่เหลืออยู่จะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดเป็นปุ่มก้อนเนื้อขึ้น และเมื่อร่วมกับการเกิดพังผืดจึงก่อให้ตับแข็งมีลักษณะขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตับ ซึ่งจะส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลง และนำมาสู่สุขภาพร่างกายที่แย่ลงด้วย

โรคตับแข็งอยู่ได้นานแค่ไหน
IMAGE SOURCE : library.med.utah.edu, www.meddean.luc.edu

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งมีได้หลากหลาย (ในประเทศไทยโดยมากมักเกิดจากแอลกอฮอล์และโรคไวรัสตับอักเสบบี) ที่พบได้บ่อย ๆ คือ

  • จากการดื่มแอลกอฮอล์จัดติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่าวันละ 80 กรัม นาน 5-10 ปีขึ้นไป) โดยประมาณ 60-70% ของตับแข็งจะเกิดจากสาเหตุนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง
  • จากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 10%
  • จากโรคต่าง ๆ ของท่อน้ำดี ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 10% เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งทำให้น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับส่งผลทำลายเนื้อตับจนกลายเป็นตับแข็งได้
  • จากภาวะร่างกายมีธาตุเหล็กสูง ธาตุเหล็กจึงไปสะสมในตับส่งผลให้เกิดโรคตับแข็ง เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย (เป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 5-10%)
  • จากโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคตับอักเสบจากภูมิต้านตนเอง (เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่หันมาทำลายตับตนเอง), โรคไขมันพอกตับ (Fatty liver) ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง (มักพบร่วมกับโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง), ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบหดรั้งเรื้อรัง (ซึ่งจะทำให้ตับขาดออกซิเจนเนื่องจากมีเลือดไปคั่งที่ตับเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ตับตายและกลายเป็นพังผืด เรียกว่า “Cardiac cirrhosis”), โรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเกิดจากมีการสะสมธาตุทองแดงมากเกินไปในตับ จนเนื้อตับอักเสบและตายหรืออาจเกิดตับแข็ง, การที่ตับติดเชื้อบางชนิด (เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis) ซึ่งไข่ของพยาธิที่อยู่บริเวณกลุ่มหลอดเลือดจะกระตุ้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันให้เจริญเกินจนตับกลายเป็นพังผืดจากพยาธิ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะความดันในหลอดเลือดของตับสูง), ภาวะขาดโภชนาการ (ทำให้ความสามารถในการต้านพิษและไวรัสของตับลดลงกลายเป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง), ความผิดปกติของการเผาผลาญอาหาร, การใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน (เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคไอเอ็นเอช ยารักษาวัณโรคไรแฟมพิซิน ยาต้านไวรัสซิโดวูดีน ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง วิตามินเอเสริมอาหารในปริมาณสูง ยาเม็ดสมุนไพรใบขี้เหล็กซึ่งนิยมใช้เป็นยานอนหลับ เป็นต้น), การได้รับสารเคมีหรือสารพิษบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน (เช่น สารโลหะหนัก สารหนู คาร์บอนเตตราคลอไรด์ คลอโรฟอร์ม), ไม่พบสาเหตุชัดเจน (เรียกว่า “Cryptogenic cirrhosis”) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่พบได้รวมกันแล้วประมาณ 5%

อาการของโรคตับแข็ง

  • โรคตับแข็งระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรือมีอาการผิดปกติน้อยมากหรือไม่ชัดเจน โดยอาจมีเพียงอาการท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย แต่ต่อมาเป็นแรมปีจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนเป็นบางครั้ง น้ำหนักตัวลดลง เท้าบวม ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวาเล็กน้อย ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) คันตามผิวหนัง ความรู้สึกทางเพศลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือองคชาตไม่แข็งตัว (Erectile dysfunction) ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีอาการเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย

โรคตับแข็งระยะแรก
IMAGE SOURCE : cirrhosispictures.org, patient.info

อาการตับแข็ง
IMAGE SOURCE : Leona Jackson

  • โรคตับแข็งระยะสุดท้าย เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ป่วยจะมีอาการท้องมาน เท้าบวม เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความดันน้ำในหลอดเลือดได้เพียงพอ พังผืดที่ดึงรั้งในตับก็จะมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ มีแรงดันในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดการแตกแขนงเป็นเส้นเล็ก ๆ ซึ่งจะเปราะบางและแตกได้ง่าย จึงทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง เกิดหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร (Esophageal varices) ซึ่งอาจจะแตกและทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือดสด ๆ ทำให้เสียเลือดมากและอาจถึงชั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้ (ตับวาย) ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการทางสมอง เช่น หลงลืมง่าย สับสน ซึม เพ้อ มือสั่น และจะค่อย ๆ ไม่รู้สึกตัวจนกระทั่งหมดสติไป เรียกว่า “ภาวะหมดสติจากตับวาย” (Hepatic coma)

อาการของโรคตับแข็งระยะสุดท้าย
IMAGE SOURCE : craigcameron.us, patient.info

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง

ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากโรคตับแข็งที่อาจพบได้ คือ ติดเชื้อได้ง่าย (เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงจากตับทำงานได้ลดลง), แน่นอึดอัดท้องจากม้ามโตและ/หรือมีน้ำในท้อง (ท้องมาน), ภาวะซีด, ฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย, อาเจียนเป็นเลือด (เนื่องจากหลอดเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วแตก), มีความไวต่อยาและผลข้างเคียง (เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะไม่สามารถกรองยาออกจากเลือดได้ในอัตราปกติ ตัวยาจึงออกฤทธิ์ได้นานขึ้นและสะสมอยู่ในร่างกาย), มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเซลล์ตับสูงกว่าคนปกติประมาณ 5%, ริดสีดวงทวาร, ภาวะไตวายจากโรคตับแข็ง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคตับแข็ง

แพทย์​สามารถวินิจฉัยโรคตับแข็งได้จากการซักประวัติอาการ ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ หรือประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ (เช่น การใช้ยาต่าง ๆ) รวมถึงประวัติโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับในครอบครัว, การตรวจร่างกาย, การตรวจเลือดเพื่อทดสอบการทำงานของตับและหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี (ใช้สำหรับประกอบการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของตับแข็ง), การตรวจภาพตับด้วยคลื่นเสี่ยงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคตับแข็งได้ค่อนข้างแม่นยำ และการตรวจไม่ยุ่งยาก มีราคาไม่แพง จึงมักเป็นการตรวจอันดับแรกที่แพทย์จะเลือกใช้, การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถวินิจฉัยภาวะตับแข็งได้เช่นกัน แต่มีข้อเสียคือ ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ผู้ป่วยจะได้รับรังสีและต้องได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจเกิดอาการแพ้หรือมีผลต่อไตในผู้ป่วยบางรายได้ ส่วนการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับรังสีแต่ก็เป็นการตรวจที่มีราคาสูงและเครื่องตรวจนี้ก็มีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจที่ให้ผลแน่นอน คือ การตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดยการเจาะผ่านผิวหนัง (Biopsy) เพื่อเอาตัวอย่างจากเนื้อตับไปตรวจดูทางพยาธิวิทยา (แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงต่อเลือดออกในตับ และต้องอาศัยความชำนาญในการตรวจ แพทย์จึงไม่ค่อยได้ใช้เป็นวิธีแรก) นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อาการโรคตับแข็ง
IMAGE SOURCE : Arun Viswanathan

สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจหาสิ่งแสดงว่าเป็นโรคตับแข็งหรือไม่ เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะสีเข้มขึ้น (Jaundice), ฝ่ามือแดงทั้งสองข้าง (Palmar erythema), มีจุดแดงรูปแมงมุมที่หน้าอก หน้าท้อง จมูก ต้นแขน (Spider telangiectasia), ต่อมน้ำลายที่บริเวณกรามทั้งสองข้างโตขึ้น (Parotid gland enlargement), เท้าบวม ท้องบวม (Ascites), เส้นเลือดที่บริเวณรอบสะดือขยาย (Caput medusae) และอาจได้ยินเสียงฟู่ในบริเวณดังกล่าว (Cruveilhier-Baumgarten murmur), อาการนมโตและเจ็บในผู้ชาย (Gynecomastia), อัณฑะฝ่อตัวหรือเล็กลง (Testicular atrophy), คลำตับได้มีลักษณะค่อนข้างแข็ง, ถ้าเป็นมากจะพบว่า ผู้ป่วยมีรูปร่างผอมแห้ง ซีด ท้องโตมาก หลอดเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต ภาวะนิ้วปุ้ม มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง เป็นต้น

วิธีรักษาโรคตับแข็ง

โรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ เพราะเนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลายไปแล้วมิอาจหาทางเยียวยาให้ฟื้นตัวได้ อาการจึงมีแต่ทรงกับทรุด แต่ถ้าเป็นโรคตับแข็งในระยะแรกและผู้ป่วยปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป แต่หากปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ท้องมาน ดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-5 ปี (ประมาณ 1 ใน 3 อาจมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปี) การรักษาโรคตับแข็งจึงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อหยุดหรือชะลอการทำลายของเนื้อเยื่อตับหรือการดำเนินของโรคและเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยมีหลักสำคัญคือการรักษาที่สาเหตุ และไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้นที่มีบทบาทในการรักษา ตัวผู้ป่วยเองก็มีบทบาทสำคัญในการรักษาเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ซึ่งได้แก่

  1. การเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเริ่มเป็นโรคตับแข็ง ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ ซึ่งแพทย์จะสามารถตรวจพบโรคนี้ได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนั้นคือ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวไป
  2. การเลิกหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ การหลีกเลี่ยงหรือไม่ใช้ยาหรือสารใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะยาหรือสารที่อาจมีผลกระทบต่อตับ เป็นต้น
  3. การรักษาที่สาเหตุที่ทำให้ตับแข็ง โดยขึ้นอยู่กับว่าต้นเหตุเกิดจากอะไรก็รักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น การรักษาโรคหัวใจเมื่อมีโรคหัวใจเป็นสาเหตุ หรือถ้าเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้หยุดดื่ม, ถ้าเกิดจากการใช้ยาก็ให้หยุดใช้ยา, ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสก็ให้ยาบางชนิด เป็นต้น
  4. การรักษาประคับประคองตามอาการและรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคตับแข็ง เช่น
    • ถ้ามีอาการบวมหรือท้องมาน (มีน้ำในท้อง) แพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide) หรือสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) งดอาหารเค็ม และจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม
    • ถ้ามีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กก็ให้ยาเม็ดบำรุงโลหิต
    • ถ้ามีอาการคันตามผิวหนังแพทย์จะให้ลดอาหารจำพวกโปรตีนและให้ยาแก้แพ้
    • ถ้ามีของเสียมากในลำไส้ แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อลดของเสียที่อยู่ในลำไส้ ซึ่งจะถูกดูดซึมหากมีมากในลำไส้
    • ถ้ามีความดันในตับสูง แพทย์จะให้ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบต้า (Beta-blocker) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol)
    • ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือด ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ อาจต้องให้เลือด เป็นต้น
    • อื่น ๆ เช่น การให้วิตามินรวมและกรดโฟลิกเสริมบำรุง การให้ยารักษาไวรัสอักเสบเรื้อรัง การให้ยาระบาย การให้ยาป้องกันเลือดออกจากทางเดินอาหาร
  5. การรักษาด้วยยาแพทย์แผนจีน การรักษาโรคตับแข็งด้วยยาแพทย์แผนจีนนั้นมีประวัติมายาวนานแล้ว โดยการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การปรับสมดุลของตับ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคตับแข็ง และป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อตับเกิดพังผืด
  6. การปลูกถ่ายตับ เมื่อเป็นมากหรือเมื่อตับของผู้ป่วยทำงานได้ต่ำมาก อาจมีทางเลือกในการรักษาเพียงทางเดียว คือการปลูกถ่ายตับ (ผ่าตัดเปลี่ยนตับ) โดยแพทย์จะพิจารณาทำให้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้อย่างยืนยาว แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะเป็นการรักษาที่ยุ่งยาก มีราคาสูง ขาดแคลนผู้บริจาคตับและหาตับที่มีผู้บริจาคซึ่งเข้ากับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งยังสามารถปลูกถ่ายตับอย่างได้ผลเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัวเท่านั้นอีกด้วย
  7. การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับแข็ง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    • ติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งเป็นประจำ เพราะอาจต้องมีการตรวจเลือดเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของโรคอยู่เป็นระยะ ๆ และผู้ป่วยอาจต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเป็นประจำจนในที่สุดมักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อ ตกเลือด ภาวะตับวาย เป็นต้น
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด
    • หลีกเลี่ยงและเลิกปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ห้ามดื่มอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการของตับแข็งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ป่วยจะมีชีวิตสั้นลง และเพื่อป้องกันมิให้เนื้อเยื่อตับส่วนที่ยังดีอยู่ถูกทำลายมากขึ้น (ตับเป็นแหล่งเผาผลาญที่สำคัญของแอลกอฮอล์ ตับจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับพิษจากแอลกอฮอล์มากที่สุด) ซึ่งหากเป็นโรคตับแข็งระยะแรกก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน
    • ห้ามใช้ยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจมีพิษต่อตับมากขึ้น
    • ห้ามรับประทานยาเกินขนาด เพราะยาส่วนใหญ่จะถูกทำลายที่ตับ ซึ่งอาจทำให้ภาวะตับแย่ลงกว่าเดิม
    • การพักผ่อน ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งในระยะแรกควรลดกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะ ส่วนผู้ที่เป็นโรคตับแข็งระยะท้ายควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน ผัก ผลไม้สด และอาหารจำพวกโปรตีนที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพราะตามธรรมชาติของร่างกาย การเผาผลาญของสารอาหารต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นที่ตับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ (โดยเฉพาะเนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลายอย่างโรคตับแข็ง) สารอาหารต่าง ๆ ที่รับประทานเข้าไปจะไม่ถูกเผาผลาญและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ร่างกายจึงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คนที่เป็นโรคตับแข็งส่วนใหญ่จึงมักจะขาดโปรตีนและพลังงาน ซึ่งสังเกตได้จากคนเป็นโรคนี้มักจะผอมแห้ง มีกล้ามเนื้อน้อย ในบางรายอาจมีลักษณะหนังหุ้มกระดูก
      • แหล่งพลังงานจากอาหารที่สำคัญ ควรได้มาจากอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าวและแป้งเป็นหลัก ซึ่งจะดีกว่าพลังงานจากน้ำตาลหรือไขมัน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตประเภทเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
      • อาหารจำพวกไขมันควรรับประทานให้น้อยลงกว่าปกติ เนื่องจากตับจะย่อยไขมันได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ให้ใช้ไขมันจากพืชแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ที่มีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิก ถ้าร่างกายมีปัญหามากในการย่อยไขมัน อาจต้องประกอบอาหารด้วยไขมันที่มีห่วงโซ่ขนาดกลาง (Medium chain triglyceride) ซึ่งพบได้มากในน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันชนิดนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำดีมาช่วยในการย่อย (น้ำดีสร้างมาจากตับ ถ้าตับเสื่อมลงก็ไม่สามารถสร้างน้ำดีได้)
      • ในระยะแรกของโรคที่ยังไม่มีภาวะตับวาย ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ได้ในขนาดไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป คือ วันละประมาณ 6-12 ช้อนกินข้าว แต่ถ้าในระยะท้ายของโรคที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางสมองร่วมด้วยหรือตับมีการเสื่อมลงอย่างมาก การรับประทานโปรตีนมากเกินไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เนื่องจากของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีน คือ แอมโมเนีย ที่ไม่สามารถขับออกได้เนื่องจากภาวะตับแข็ง ซึ่งจะมีผลเสียต่อสมองได้ ดังนั้น ผู้ป่วยในระยะนี้จำเป็นต้องลดอาหารจำพวกโปรตีนลงให้เหลือวันละ 2-3 ช้อนกินข้าวเท่านั้น และในขณะเดียวกัน เมื่อต้องควบคุมปริมาณของโปรตีนเป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้ผู้ป่วยขาดสารอาหารอย่างมาก และมีสุขภาพแย่ลงได้ ซึ่งแพทย์อาจจะสั่งให้กินโปรตีนชนิดพิเศษที่เรียกว่า “กรดอะมิโนโซ่กิ่ง” (Branched-chain amino acid) เพิ่มขึ้น (เป็นอาหารทางการแพทย์ที่เป็นสูตรเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง)
      • อาหารจำพวกโปรตีน ควรเป็นโปรตีนที่ย่อยได้ง่ายและมีคุณภาพดี เช่น ปลา ไข่ นม หรือโปรตีนจากพืช (เช่น ถั่วเหลือง) เป็นต้น
      • ด้วยอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง เนื่องจากการย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น เพื่อทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารที่สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเลที่อาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง และหลีกเลี่ยงอาหารที่ชื้นง่าย เช่น พริกป่น ถั่วป่น ที่เป็นแหล่งของสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งจะทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้มากขึ้นอีกด้วย
      • ถ้ามีอาการบวมหรือท้องมาน ควรจำกัดเกลือและงดหรือลดการรับประทานอาหารเค็ม โดยการหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรสชนิดต่าง ๆ จำพวกน้ำปลา ซีอิ๊ว ลดการรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปต่าง ๆ จำพวกหมูยอ ไส้กรอก เป็นต้น (อาหารที่ผ่านการแปรรูปมักมีการเติมสารโซเดียมในกระบวนการผลิตอาหาร) และควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ด้วย และห้ามดื่มน้ำเกินวันละ 1,500 มิลลิลิตร (ประมาณ 6 แก้ว) หรืออาจต้องลดมากกว่านี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการบวมมาก หรืออาจต้องรับประทานยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งด้วย
      • ผู้ที่มีอาการตับแข็งอาจต้องรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริม แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นหลัก เนื่องจากตับเป็นแหล่งสะสม เปลี่ยน และเผาผลาญสารต่าง ๆ ถ้าตับเสียไปร่างกายก็จะขาดสารเหล่านั้นได้

        โรคตับแข็งรักษาหายไหม
        IMAGE SOURCE : vkool.com

    • ระวังอย่าให้มีอาการท้องผูก ด้วยการรับประทานผักและผลไม้
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ต้องใช้การเบ่งหรือเกร็ง
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี
    • ผู้ป่วยตับแข็งที่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรตรวจเลือดหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha fetoprotein – AFP) ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจกรองหาโรคมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม เพราะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูง
    • ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันโรคตับแข็ง

การป้องกันที่สำคัญ คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ดังที่กล่าวไปแล้ว เช่น

  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก (หรือเลิกดื่มไปเลยได้ยิ่งดี)
  • ไม่ใช้ยาหรือซื้อยาต่าง ๆ มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะยาที่อาจมีพิษต่อตับ
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยาเสพติดเข้าเส้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อต่าง ๆ
  • สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตับแข็ง (Cirrhosis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 519-521.
  2. สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ตับแข็งภัยร้ายใกล้ตัว….น่ากลัวกว่าที่คิด”.  (ผศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [17 ก.พ. 2017].
  3. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “ตับแข็ง”.  (นพ.เอกวีร์ ศรีปริวุฒิ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.nu.ac.th.  [17 ก.พ. 2017].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 322 คอลัมน์ : เรื่องน่ารู้.  “กินอย่างไร เมื่อเป็นโรคตับแข็ง”.  (ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [17 ก.พ. 2017].
  5. หาหมอดอทคอม.  “ตับแข็ง (Liver cirrhosis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 ก.พ. 2017].
  6. Siamhealth.  “โรคตับแข็ง Liver cirrhosis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [17 ก.พ. 2017].
  7. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “อาการของโรคตับแข็ง”.  (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [18 ก.พ. 2017].
  8. โรงพยาบาลมะเร็งสมัยใหม่กว่างโจว.  “โรคตับแข็ง”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.moderncancerthai.com.  [18 ก.พ. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด