โรคด่างขาว อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคด่างขาว 10 วิธี !!

โรคด่างขาว อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคด่างขาว 10 วิธี !!
โรคด่างขาว อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคด่างขาว 10 วิธี !!

โรคด่างขาว

โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นภาวะที่ผิวหนังบางส่วนกลายเป็นรอยด่างขาว เนื่องจากผิวหนังส่วนนั้นไม่มีเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) จึงไม่สามารถสร้างเม็ดสี (Pigment) ได้อย่างเป็นปกติเหมือนกับผิวหนังส่วนที่อยู่โดยรอบ

โรคด่างขาวเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 1-2% ของประชากรทั่วโลก สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในช่วงอายุ 10-30 ปี โดยเฉลี่ยแล้วโรคด่างขาวไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด อาจจะเป็นขึ้นมาในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ ซึ่งโดยมากมักจะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 20 ปีและในผู้สูงอายุ อัตราส่วนที่พบในเพศหญิงจะมีมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากผู้หญิงมักให้ความสนใจและมาพบแพทย์มากกว่า จึงทำให้พบได้มากกว่า นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าโรคด่างขาวนี้มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ซึ่งประมาณ 30% ของผู้ป่วย จะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุของโรคด่างขาว

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรคด่างขาว แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสี) หรืออาจมีการกระตุ้นปลายประสาทจนทำให้เกิดการหลั่งสารที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี หรือในกระบวนการสร้างเม็ดสีอาจมีการสะสมของเมตาบอไลต์ (Metabolite) บางอย่างที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี นอกจากนี้ยังเชื่อว่าโรคด่างขาวมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์สร้างสีอ่อนแอและถูกทำลายได้ง่ายอีกด้วย

โรคด่างขาวเกิดจากอะไร

อาการของโรคด่างขาว

ผู้ป่วยจะมีรอยด่างสีขาวมีขอบเขตชัดเจนเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังโดยไม่มีผื่นคันนำมาก่อน (ผิวส่วนอื่นจะยังมีลักษณะเป็นปกติทุกอย่าง) รูปร่างของรอยด่างขาวจะมีลักษณะไม่แน่นอน โดยอาจเป็นรูปกลม รูปรี หรือเป็นเส้นยาวก็ได้ และมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ 1-10 เซนติเมตร อาจมีเพียงวงเดียวหรือหลายวงกระจายไปทั่วตัวและอาจขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของผิวหนังก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะขึ้นบริเวณใบหน้า รอบริมฝีปาก รอบจมูก รอบดวงตา คอ หลัง มือ ปลายนิ้ว แขน ขา ข้อพับ ศอก เข่า ข้อมือ หลังมือ และหลังเท้า นอกจากที่ผิวหนังแล้ว ยังอาจพบรอยด่างได้ตามเยื่อเมือกบุในอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ในช่องปาก เหงือก อวัยวะเพศ หัวนม

ผิวด่างขาว

โดยมากรอยด่างขาวจะขึ้นกระจายตัวทั้ง 2 ข้างของร่างกายอย่างสมมาตรกัน เช่น ถ้าขึ้นที่หลังมือก็มักจะขึ้นพร้อมกันทั้งมือซ้ายและมือขวา แต่ในบางรายอาจพบขึ้นเพียงซีกเดียวของร่างกายก็ได้ เช่น บนหน้าผาก แก้ม ปาก ไหล่ หน้าอก หน้าท้อง เป็นต้น ส่วนขอบของรอยด่างขาวนั้น จะมีลักษณะโค้งหรือนูนออก จึงทำให้ผิวหนังส่วนที่ยังปกติที่อยู่โดยรอบมีลักษณะตรงกันข้าม คือ เว้าเข้า สำหรับขนหรือผมที่ขึ้นอยู่ในรอยด่างขาวก็จะกลายเป็นสีขาวด้วยเช่นกัน

รูปโรคด่างขาว

การดำเนินโรคของรอยด่างขาวในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่แน่นอน โดยส่วนใหญ่รอยโรคจะค่อย ๆ ลุกลามออกไปอย่างช้า ๆ (ในบางรายรอยโรคอาจลุกลามเร็วในช่วงแรกและคงอยู่ในลักษณะนั้นไปตลอด หรือบางรายรอยโรคจะค่อย ๆ ลุกลามออกไปอย่างช้า ๆ จนวันหนึ่งเกิดลุกลามขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็ได้) ผู้ป่วยอาจมีรอยด่างขาวเกิดขึ้นเฉพาะที่หรืออาจเกิดขึ้นกระจายไปเกือบทั่วตัวก็ได้ และอาจมีผู้ป่วยบางรายที่พบว่า รอยด่างขาวนั้นสามารถหายไปได้เอง หลังจากเป็นอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี แต่ในกรณีนี้ก็พบได้เป็นส่วนน้อย

เมื่อถูกแดด มักจะมีอาการแพ้แดดได้ง่าย ทำให้รอยด่างขาวออกแดงและแสบร้อนได้ แต่โดยปกติแล้ว รอยด่างขาวจะไม่ก่อให้เกิดอาการคัน หรือชา หรือทำให้ปวดแสบปวดร้อนแต่อย่างใด และผู้ป่วยยังมีการรับรู้ความรู้สึกได้อย่างเป็นปกติ (เมื่อถูกเข็มแทง จะรู้สึกเจ็บ)

นอกจากนี้ โรคด่างขาวยังอาจเกิดร่วมกับความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ดวงตา (เนื่องจากเยื่อเมือกบุตามีเซลล์เม็ดสีเป็นส่วนประกอบสำคัญ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางดวงตาร่วมด้วย เช่น ม่านตาอักเสบ), โรคทางหู (เนื่องจากเซลล์เม็ดสีเป็นส่วนประกอบในโครงสร้างและการทำงานของหูชั้นในและระบบการได้ยิน จึงอาจพบความผิดปกติทางการได้ยินร่วมด้วย), โรคภูมิต้านตนเอง, โรคของต่อมไร้ท่อ (ที่พบได้บ่อยคือ โรคของต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคเบาหวาน), โรคเลือด, โรคแอดดิสัน มะเร็งกระเพาะอาหาร, ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

หมายเหตุ : โรคด่างขาวไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ (แต่อาจมีกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องได้) จึงไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้

โรคด่างขาวมีกี่ชนิด

ในทางการแพทย์จะแบ่งชนิดของโรคด่างขาวตามการกระจายของโรค ได้แก่

  • Focal type พบรอยด่างขาวขึ้นเป็นหย่อม มีจำนวนรอยขาววงเดียวหรือมากกว่า ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเกิดในคนอายุน้อย
  • Segmental type พบรอยด่างขาวขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ เรียงกันไปตามเส้นประสาทและอยู่ข้างเดียวกันของร่างกาย เช่น ข้างซ้าย หรือข้างขวา มักเกิดในคนอายุน้อยหรือในเด็ก
  • Vulgaris type พบรอยด่างขาวกระจายตามส่วนต่าง ๆ ทั่วไป เป็นกรณีที่พบได้มากที่สุด มักพบในผู้ใหญ่ มักลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ และรักษาค่อนข้างยาก
  • Acro-facial type พบรอยด่างขาวที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า และรอบริมฝีปาก มักพบในผู้ใหญ่ และมักลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ บ่งบอกถึงการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีและไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา
  • Universalis type พบรอยด่างขาวเกือบทั่วตัว เหลือบริเวณสีผิวที่ยังปกติเพียงเล็กน้อย มักพบได้ในผู้ใหญ่และมีความสัมพันธ์กับโรคทางต่อมไร้ท่ออื่น ๆ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน
  • Mucosal type พบรอยโรคได้เฉพาะในบริเวณเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก

โรคผิวด่างขาว

นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งชนิดของโรคด่างขาวได้ตามการพยากรณ์โรค (ความรุนแรงของโรค) และการรักษาได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

  1. Segmental vitiligo มักพบได้ในเด็ก และมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งโรคอาจสงบได้ ตอบสนองต่อการรักษาดี และไม่มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
  2. Nonsegmental vitiligo เป็นโรคด่างขาวที่เหลือจากโรคในข้อ 1 ทั้งหมด

การวินิจฉัยโรคด่างขาว

ส่วนใหญ่แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคด่างขาวได้จากลักษณะของรอยด่างขาวที่พบ แต่อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดรอยขาวอื่นด้วย เช่น เกลื้อน โรคเรื้อน กลากน้ำนม ปาน หรือผิวหนังเกิดรอยด่างจากการเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ มาก่อน หรือเกิดจากรอยที่ผิวหายจากผิวอักเสบ หรือผิวหลุดออกจากการถูกไฟลวก ถูกสารเคมี กรดด่าง หรือจากยาฟอกสีผิว รวมไปถึงโรคของระบบภายในร่างกายก็ทำให้เกิดรอยด่างขาวได้เช่นกัน เช่น โรคภูมิแพ้ โรคแพ้แสง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคต่อมหมวกไตพิการ เป็นต้น แต่โรคที่เป็นและมีผิวด่างร่วมด้วยจะไม่เรียกว่าเป็นโรคด่างขาว แต่จะเรียกตามชื่อโรคที่เป็นสาเหตุ ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องใช้ดุลยพินิจจากแพทย์ผิวหนังที่มีประสบการณ์ เพื่อทำการจำแนกการเกิดโรคและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง

เนื่องจากโรคด่างขาวที่สัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ซึ่งแพทย์อาจต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

โรคด่างขาวแตกต่างจากเกลื้อน โรคเรื้อน และกลากน้ำนม ตรงที่ถ้าเป็นโรคด่างขาว ผื่นมักจะขึ้นกระจายคล้ายคลึงกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย ผื่นจะมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่คัน ไม่ชา การรับรู้ความรู้สึกยังเป็นปกติ (เมื่อถูกเข็มแทง จะรู้สึกเจ็บ) และมักเป็นเรื้อรังไปตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นเกลื้อนมักจะขึ้นเป็นรอยแต้ม ๆ มีสีต่าง ๆ มีขุยบาง ๆ และหลุดออกเมื่อใช้เล็บขูด ถ้าใช้ยารักษาเกลื้อนก็มักจะหายได้เป็นพัก ๆ ส่วนโรคเรื้อนนั้นผิวหนังจะเป็นวงด่างซึ่งจะไม่มีขน ไม่มีเหงื่อ และชา (เมื่อหยิกหรือถูกเข็มแทงจะไม่เจ็บ) และสำหรับกลากน้ำนม วงด่างจะมีขอบเขตไม่ชัดเจนและมีขุยบาง ๆ มักพบในเด็กและวัยรุ่น เมื่อโตขึ้นจะหายได้เอง

วิธีรักษาโรคด่างขาว

โรคด่างขาวเป็นโรคที่หายได้ยาก ไม่สามารถทำให้รอยโรคหายได้ทุกราย จะหายได้ในบางรายเท่านั้น การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ (คือ ไม่มีวิธีการรักษาใดที่ได้ผลถาวรและเป็นที่น่าพอใจ) แพทย์จึงใช้แนวทางการรักษาแบบผสมผสานกันไปทั้งการทายา การรับประทานยา การฉายแสง การปลูกถ่ายเซลล์สร้างเม็ดสี เพราะโรคด่างขาวแต่ละชนิด ในแต่ละคนก็มีการตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน แนวทางในการรักษาโดยทั่วไปจึงขึ้นอยู่กับลักษณะของสีผิวดั้งเดิม ชนิด การกระจาย และการดำเนินโรค

  • หากพบว่ามีรอยด่างขาวเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมก่อนที่เซลล์สร้างเม็ดสีจะถูกทำลาย เพราะหากเพิ่งเป็นมาไม่นานจะมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าในรายที่เป็นมานานแล้ว เนื่องจากเซลล์สร้างเม็ดสียังไม่ถูกทำลายไปมาก หากเป็นมานานและเซลล์สร้างเม็ดสีถูกทำลายไปมากแล้ว อาจต้องใช้เวลาในการรักษาที่นานขึ้นและต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น จึงแนะนำว่าอย่ารอที่จะรักษา เพราะเซลล์สร้างเม็ดสีจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ มากขึ้นทุกวัน
  • การดูแลตัวเองในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    • เมื่อพบว่าเป็นโรคด่างขาว ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากโรคนี้ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่อาจรบกวนจิตใจได้ถ้ารอยโรคไปเกิดในตำแหน่งที่เห็นชัด เช่น ใบหน้า หรือที่มือ แต่จะเป็นมากหรือน้อยก็ควรไปพบแพทย์เสมอ เพราะโรคนี้อาจลุกลามมากขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในบริเวณใหม่ได้ (โดยเฉพาะตรงรอยกระแทก รอยขูดขีด หรือบริเวณแผล ผู้ป่วยจึงควรระวังตัวเองไม่ให้เกิดแผลหรือเกิดการกระทบกระแทกด้วย) โดยเฉพาะกับผู้ที่เริ่มเป็นในตำแหน่งที่เห็นได้ไม่ชัดอย่างปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นในตำแหน่งที่เราไม่ค่อยสนใจดูเท่าใดนัก แล้วเกิดละเลยไม่ให้ความสนใจ กว่าจะมารู้ตัวและรักษาอีกทีก็ตอนที่เซลล์สร้างเม็ดสีถูกทำลายไปมากแล้ว หรือบางรายที่พอเริ่มเป็นแล้วแต่กลับไม่รู้สึกเดือดร้อนเพราะไม่มีอาการอื่น ๆ อย่างอาการคันแสดงออกมา ก็เลยคิดว่าคงไม่เป็นอะไร แต่พอวันหนึ่งรอยโรคเกิดลุกลามขึ้นมาจึงเพิ่งคิดได้ว่าควรหาทางรักษา ซึ่งพอถึงตอนนั้นก็จะทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากและยาวนานขึ้น)
    • เนื่องจากผิวหนังในบริเวณที่เป็นรอยด่างขาวจะขาดเซลล์เม็ดสี เมื่อผิวหนังส่วนนี้ถูกแสงแดด แสงแดดก็จะผ่านผิวหนังลงไปทำลายเซลล์ผิวหนังชั้นในได้ง่ายกว่าคนทั่วไป นาน ๆ เข้าก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคด่างขาวควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ และควรทาครีมกันแดดเป็นประจำ
  • ในรายที่เป็นไม่มากหรือรอยโรคไม่ได้เกิดในตำแหน่งที่เห็นได้ชัด อาจไม่ต้องทำอะไร เพราะโรคนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
    • ในส่วนของรอยด่างขาวที่เป็นน้อย ๆ แต่เห็นได้ชัด อาจใช้วิธีกลบเกลื่อนรอยด้วยการใช้เครื่องสำอางปกปิดพวก Self tanning ที่ช่วยทำให้ผิวเป็นสีแทนโดยไม่ต้องไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี และเป็นวิธีที่ไม่มีผลต่อการดำเนินโรคแต่อย่างใด
    • ในคนผิวขาวอาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่ให้หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. และหมั่นทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวที่ยังปกติดีอยู่มีสีเข้มขึ้น และป้องกันไม่ให้ผิวที่เป็นรอยด่างขาวถูกทำลายด้วยแสงแดด
  • ในรายที่เป็นมากหรือรอยโรคลุกลามจนน่าเกลียด ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพราะแม้โรคนี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในการเข้าสังคมได้ เนื่องจากผู้ที่ไม่รู้จักโรคนี้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคติดต่อ เช่น กลาก เกลื้อน จึงทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ อีกทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องพึ่งเครื่องสำอางที่ช่วยปกปิดอยู่ตลอดเวลา บางรายเป็นที่หน้าผาก ทำให้ต้องเปลี่ยนทรงผมเพื่อใช้ผมปกปิด หรือในบางรายที่รอยด่างขาวที่แขนก็ต้องใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดไปตลอด ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเพราะต้องคอยปกปิดไม่ให้สังคมรับรู้ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการใช้ยาโซลาเรน (Psoralen) ซึ่งมีชื่อทางการค้า เช่น เมลาดินีน (Meladinine) ซึ่งมีทั้งชนิดกินและชนิดทา
    • โซลาเรนชนิดทา จะมีชนิด 1% ซึ่งแรงไป จึงควรใช้น้ำผสมเจือจางให้เป็น 0.1% ก่อน (ใช้ยา 1 ส่วนผสมกับน้ำ 9 ส่วน) แล้วใช้พู่กันเล็ก ๆ ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยด่างขาว ทิ้งไว้ประมาณ 30-60 นาที แล้วจึงอาบแดด ซึ่งควรจะเป็นในเวลาประมาณ 09.00 น. ของวัน และควรทำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยในวันแรกนั้นให้อาบแดดเพียง 5 นาทีก่อน แล้วในครั้งต่อไปค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีกวันละ 5 นาที จนกระทั่งนานเป็น 15-30 นาที (เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นรอยด่างขาวในบริเวณน้อย ๆ ประมาณ 5-10% ของผิวหนัง)
    • โซลาเรนชนิดกิน ในผู้ใหญ่ ให้กินครั้งละ 3 เม็ด ในตอนเช้าก่อนจะอาบแดด 2 ชั่วโมง แล้วจึงให้ผิวหนังส่วนที่เป็นด่างขาวได้อาบแดดตามวิธีการข้างต้น (หากใช้ยาทาไม่ได้ผลหรือในรายที่เป็นมาก หรืออาจใช้ยาทาร่วมด้วยก็ได้)
      ในส่วนของการอาบแดดนั้น ควรระวังอย่าอาบแดดนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำได้ และอาจต้องใช้ครีมสเตียรอยด์ทาหลังการอาบแดดด้วยเพื่อป้องกันมิให้ผิวหนังพอง แต่ถ้ามีตุ่มพองเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยาโซลาเรนก่อนและทาด้วยครีมสเตียรอยด์จนกว่าตุ่มพองจะหาย แล้วจึงเริ่มใช้ยาโซลาเรนใหม่อีกครั้ง แต่ควรลดเวลาการอาบแดดให้น้อยลงด้วย
    • ถ้าการใช้ยานี้ได้ผล ผิวหนังส่วนนั้นจะเริ่มแดงก่อน แล้วต่อมาจะมีสีคล้ำ โดยเริ่มจากบริเวณรอบ ๆ ขนก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป สำหรับผลการรักษาว่าจะหายหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากหรือน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นด้วย อย่างบางแห่งถ้าเป็นแล้วจะหายได้ยาก เช่น บริเวณมือและเท้า ส่วนระยะเวลาของการรักษานั้นอาจนานถึง 2-3 ปี และในบางรายหลังจากหยุดการใช้ยาแล้ว ผิวสีก็อาจกลับมาเป็นรอยด่างขาวได้อีก
    • นอกจากยาโซลาเรน (Psoralen) แล้ว ยังมียาทาในกลุ่มอื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีให้กลับคืนมาได้ด้วย เช่น ยาทาสเตียรอยด์ (Topical Corticosteroids) ที่มีความแรงสูง เช่น โคลเบทาซอล (Clobetasol) และโมเมทาโซนครีม (Mometasone), ยาทากลุ่มอนุพันธุ์ของวิตามินดี 3 (Calcipotriol), ยาทากลุ่มยาต้านแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors) เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) และพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) เป็นต้น โดยให้นำมาทาบริเวณรอยโรควันละ 1-2 ครั้ง และอาจต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือนกว่าจะเห็นผล ทั้งนี้ในการรักษาด้วยยาแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเป็นกรณี ๆ ไป
    • การฉายแสงอัลตราไวโอเลต (UV) แทนการอาบแดด สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะใช้วิธีการอาบแดด แพทย์อาจใช้วิธีการฉายแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อช่วยลดการทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีและกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีที่เหลืออยู่ให้เพิ่มจำนวนและกลับมาสร้างเม็ดสีได้เหมือนเดิม วิธีนี้มักใช้กับรอยโรคที่มีบริเวณกว้าง และต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นเวลานานเป็นเดือนถึงปี ส่วนผลการรักษาจะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรค ซึ่งถ้าเป็นที่ใบหน้า ลำตัว แขน หรือขาก็จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า แต่ถ้าเป็นที่ปลายมือ เท้า บริเวณกระดูก และรอบปาก การรักษาก็มักจะไม่ค่อยได้ผล และภายหลังการรักษาถึงแม้จะสามารถกระตุ้นให้เม็ดสีกลับมาได้ แต่สีที่กลับมาอาจไม่ทั้งหมดและไม่ได้เรียบเท่ากับสีผิวปกติ ส่วนผลข้างเคียงจากการรักษาที่พบได้ก็คือ อาจมีอาการผิวไหม้แดด สีผิวคล้ำขึ้น อาจมีกระ ฝ้า จุดด่างดำหลังการฉายแสงไปนาน ๆ (การฉายแสงที่ว่านี้คือการฉายแสงอาทิตย์เทียมเพื่อรักษาโรคผิวหนัง ไม่ใช่การฉายรังสีเหมือนที่รักษาโรคมะเร็ง จึงไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง)
      รักษาโรคด่างขาวที่ไหนดี
  • ผู้ป่วยบางราย หากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น
    • การปลูกถ่ายเซลล์สร้างเม็ดสี (Autologous Melanocytes Transplantation) จะเป็นการผ่าตัดผิวหนังบริเวณที่มีสีปกติมาทำการสกัดเฉพาะเซลล์เม็ดสีและปลูกลงไปบนผิวหนังบริเวณที่เป็นรอยโรค ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ยาและการฉายแสง รอยโรคต้องสงบ คือ ไม่มีการลุกลามมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี เหมาะสำหรับโรคด่างขาวบริเวณปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาทาและการฉายแสง ส่วนบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ เช่น ตามข้อพับ รอบปาก จะไม่เหมาะกับการปลูกถ่ายเซลล์สร้างเม็ดสี
      วิธีรักษาโรคด่างขาวโรคด่างขาวรักษาอย่างไร
    • การใช้เลเซอร์ เช่น Excimer laser ที่ใช้กับรอยด่างขาวเล็ก ๆ เพื่อกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ซึ่งการรักษานี้จะคล้ายกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต คือ ต้องทำสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 24-48 ครั้ง และเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อาจต้องรักษารวมไปกับการทายาโซลาเรนด้วย
      โรคด่างขาวรักษาหายไหม
    • การฟอกสีผิว ในรายที่เป็นมาก ลุกลามทั้งตัว อาจต้องใช้วิธีการฟอกสีผิวตรงตำแหน่งผิวปกติแทน เพื่อช่วยให้สีผิวปกติขาวขึ้นเท่า ๆ กับรอยโรคที่เป็นด่างขาว โดยจะเป็นการใช้สารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการสร้างสีผิว ซึ่งจะช่วยทำให้สีผิวจางลงไม่เห็นเป็นรอยด่างดำ
  • ในบางครั้งโรคด่างขาวอาจเกิดร่วมกับโรคภูมิต้านตนเอง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ โรคเลือด โรคแอดดิสัน มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาร่องรอยของโรคอื่น ๆ และรักษาไปพร้อมกัน
  • เมื่อรักษาจนหายแล้ว ในผู้ป่วยบางรายรอยโรคอาจสงบได้นานและไม่กลับมาเป็นอีก แต่ในบางรายเมื่อหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ที่จุดอื่น จึงแนะนำว่าเมื่อหายแล้วก็ยังคงต้องหมั่นสำรวจร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีรอยขาวเกิดขึ้นในตำแหน่งใหม่หรือไม่ หากพบว่ามีรอยขาวเกิดขึ้นที่ตำแหน่งก็ควรรีบกลับมารักษาเพื่อไม่ให้เซลล์สร้างเม็ดสีถูกทำลายไปมากจนสายเกินแก้

วิธีป้องกันโรคด่างขาว

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคด่างขาวได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งโรคนี้ก็มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม เพราะฉะนั้นคงทำได้แค่คอยสังเกตร่างกายตัวเองว่ามีรอยโรคที่เป็นรอยด่างขาวเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคด่างขาว”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1016-1017.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 208 คอลัมน์ : ผู้หญิงกับความงาม.  (พญ.ปรียา กุลละวณิชย์).  “โรคด่างขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [26 พ.ค. 2016].
  3. สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.  “โรคด่างขาว”.  (ศ.ดร.นพ.ธัมม์ทิวัตถ์ นรารัตน์วันชัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.mfu.ac.th.  [26 พ.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.novitiligo.com, spdermacenter.com, www.huffingtonpost.co.uk, www.fightvitiligo.com, vitiligocover.com, www.healthtap.com, www.vitiligozone.com, www.skindiseasehospital.org, www.naturallyhealthyskin.org, www.medicalnewstoday.com, www.ijpd.in, www.skindiseasehospital.org, www.huffingtonpost.com, www.e-ijd.org, www.dermavision.in, www.skinmds.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด