โมกหลวง
โมกหลวง ชื่อสามัญ Kurchi[4], Easter tree, Conessi bark, Tellicherry tree[10]
โมกหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Echites antidysentericus Roth[6], Holarrhena antidysenterica (Roth) Wall. ex A.DC.[1], Holarrhena antidysenterica Wall.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]
สมุนไพรโมกหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางพุด มูกขาว (เลย), พุด (กาญจนบุรี), พุทธรักษา (เพชรบุรี), มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง (ภาคเหนือ), โมกใหญ่ (ภาคกลาง), หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ซอทึ พอแก พ้อแก ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[8]
ลักษณะของโมกหลวง
- ต้นโมกหลวง จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นชั้นนอกเป็นสีเทาอ่อนถึงสีน้ำตาล หลุดลอกออกเป็นแผ่นกลม ๆ ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีซีด ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ทนต่อแสงแดดได้ดี พบได้ตามป่าเต็งรังทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ[1],[5],[6] มีเขตการกระจายพันธุ์จากแอฟริกาถึงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9]
- ใบโมกหลวง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบแหลมหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-27 เซนติเมตร แผ่นใบมีขน ใบแก่บาง มีเส้นใบข้างประมาณ 10-16 คู่ ส่วนเส้นกลางใบและเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน โดยเส้นใบจะเป็นสีเหลือง ไม่มีต่อม ผิวใบด้านบนมีขนนุ่ม ส่วนด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร ใบร่วงได้ง่าย[6]
- ดอกโมกหลวง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกใกล้กับปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกหลายดอก ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวประมาณ 4-1 เซนติเมตร ดอกมีขนาดประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งอาจมีแต้มสีชมพู ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อยาวประมาณ 0.6-1.7 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เวียนซ้าย ผิวด้านนอกมีขนสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 9-11.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านเชื่อมกับหลอดกลีบดอก ก้านชูเกสรสั้นและมีขนอยู่ที่ฐาน อับเรณูแคบแหลม ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกจากกัน ยอดเกสรเชื่อมกัน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ไม่มีหมอนรองดอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีลักษณะแคบและแหลม มีต่อมประปราย ที่โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก และมีขนสีขาว โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[6] หรือออกดอกพร้อมกับติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[9]
- ผลโมกหลวง ออกผลเป็นฝัก ห้อยลงเป็นคู่โค้ง ฝักเป็นฝักแห้ง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายฝักแหลม โคนฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 18-43 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่จะแตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียวอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดเรียงกันเป็นแถวอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบน เป็นสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 1.3-1.7 เซนติเมตร เกลี้ยง แต่มีแผงขนยาวเป็น 2 เท่าของเมล็ด มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ แผงขนจะชี้ไปทางยอดของฝัก โดยขนสีขาวที่ติดอยู่สามารถลอยไปตามลมได้[2],[5],[6]
สรรพคุณของโมกหลวง
- เปลือกต้นมีรสขมฝาดเมาร้อน เป็นยาทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1],[5],[6]
- ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ ทำให้รู้ปิดธาตุ (เปลือกต้น)[6],[8]
- ทำให้ฝันเคลิ้ม (เมล็ด)[8]
- กระพี้ช่วยฟอกโลหิต (กระพี้)[7],[8]
- เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้เบาหวาน (เปลือกต้น)[1],[6]
- ผลมีรสฝาดขมร้อน เป็นยาแก้สันนิบาต หน้าเพลิง ช่วยแก้วัณโรคของสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ (ผล)[8]
- เมล็ดมีรสฝาดขม สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ท้องเสีย แก้ไข้อันเกิดเพื่ออติสารโรค (เมล็ด)[1],[2],[3],[5],[8] ส่วนเปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้จับสั่น (เปลือกต้น)[1],[6],[8] ช่วยแก้ไข้อันเป็นเพื่อลม แก้ไข้อันเป็นเพื่อเลือด แก้ไข้อันเป็นเพื่อเสลด (เปลือกต้น)[8] ตำรับยาแก้ไข้พิษ ระบุให้ใช้เปลือกต้นโมกหลวงประมาณ 6-10 กรัม (ครึ่งกำมือ) ผสมกับผลมะตูมแห้ง (อย่างละเท่ากัน) รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน นำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นยาแก้ไข้พิษ (เปลือกต้น)[7],[8]
- เปลือกต้นแห้งมีสรรพคุณแก้เสมหะเป็นพิษ (เปลือกต้น)[1],[6],[8]
- ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ (ใบ)[6]
- ช่วยขับลม (เมล็ด)[3],[5],[6]
- ช่วยในการขับถ่าย (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้โรคลำไส้ (เปลือกต้น)[8]
- เมล็ดช่วยแก้ท้องเสีย ท้องเดิน (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ส่วนตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานีจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้ท้องเสีย (ราก)[6]
- ช่วยรักษาท้องร่วง (เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด)[6]
- เมล็ดเป็นยาแก้บิด (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้บิดมูกเลือด ส่วนอีกตำรับให้ใช้เปลือกต้นโมกหลวงประมาณ 6-10 กรัม (ครึ่งกำมือ) ผสมกับผลมะตูมแห้ง (อย่างละเท่ากัน) รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน นำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[2],[4],[5],[7] ส่วนตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานีจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ราก)[6]
- เปลือกต้นแห้งที่ป่นละเอียดแล้ว นำมาใช้ทาตัวแก้โรคท้องมานได้ (เปลือกต้น)[1],[5]
- ดอกมีรสฝาดเมา เป็นยาขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ (ดอก)[1],[2],[3],[5] ใบช่วยขับพยาธิในท้อง (ใบ)[3],[6] ช่วยขับไส้เดือนในท้อง (ใบ)[7],[8] ส่วนเมล็ดเป็นยาถ่ายพยาธิในลำไส้เล็ก (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
- รากมีรสร้อน ช่วยขับโลหิต ขับโลหิตประจำเดือนของสตรี แก้โลหิตอันร้ายให้ตก (ราก)[1],[3],[7],[8] ส่วนผลก็ช่วยขับโลหิตเช่นกัน (ผล)[7],[8]
- ช่วยแก้ดีพิการ (เปลือกต้น)[8]
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)[8]
- เมล็ดเป็นยาฝาดสมาน (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ช่วยสมานท้องลำไส้ (เมล็ด)[8]
- ช่วยรักษาแผลพุพอง (ใบ)[6]
- ช่วยแก้ไฟลามทุ่ง (เมล็ด)[8]
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ส่วนเนื้อไม้หรือแก่นมีรสฝาดเมา เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน (เนื้อไม้หรือแก่น)[3],[6],[7],[8]
- เปลือกหรือใบนำมาต้มผสมกับน้ำอาบรักษาโรคหิด (เปลือกหรือใบ)[6]
- ช่วยรักษาฝี (ใบ)[3],[6],[8]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อ (หากใช้มากเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับและมีอาการปั่นป่วนในท้อง[6]) ส่วนใบก็มีสรรพคุณระงับอาการปวดกล้ามเนื้อเช่นกัน (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2],[3],[5]
- ใบมีรสฝาดเมา ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)[1],[2],[3],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโมกหลวง
- สารสำคัญที่พบ คือ สารอัลคาลอยด์ประมาณ 4.5% ซึ่งประกอบไปด้วย Conessine, Kurchine, Kurchicine ฯลฯ ส่วนในใบโมกหลวงพบสาร kurchamine, kurchessine ฯลฯ[10]
- เปลือกต้นมีสารอัลคาลอยด์ “โคเนสซีน” (Conessine) อยู่ประมาณ 0.4% ของอัลคาลอยด์ทั้งหมด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด สามารถใช้แก้โรคบิดได้ และเคยนำมาใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ในระยะหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท[4],[6]
- สาร kurchicine เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต ถ้าให้ในขนาด lethal dose แต่ถ้าให้ในขนาดน้อยจะทำให้ความดันขึ้นสูง โดยเปลือกที่มีตัวยาสูงต้องลอกจากต้นที่มีอายุ 8-12 ปี[10]
- สารสกัดน้ำและเมทานอลในอัตราส่วน 2:3 ของเมล็ดโมกหลวง (สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอล) เมื่อนำมาทดสอบในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ พบว่าเมื่อนำมาทดสอบในหลอดทดลองสารสกัดด่างสามารถต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase จากลำไส้เล็ก โดยที่ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 0.52 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงในขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่จะไม่มีความแตกต่างเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (acarbose 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จากการศึกษาด้านความปลอดภัยของสารสกัดนี้ พบว่าสามารถใช้ได้ในขนาดถึง 6.4 กรัม กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงสามารถต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็กได้ ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์เพื่อทำการศึกษาในคนต่อไป[12]
ประโยชน์ของโมกหลวง
- เนื้อไม้สีขาวละเอียด มีความเหนียว ไสกบแต่งได้ง่าย นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หวี ตะเกียบ โต๊ะ ตู้ กรอบรูป ไม้เท้า ไม้บรรทัด ไม้ฉาก พัด หรือใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก ฯลฯ[9],[11]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ[11]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โมกหลวง (Mok Luang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 249.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “โมกหลวง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 128.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โมกหลวง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 166.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โมกหลวง Kurchi”. หน้า 120.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โมกใหญ่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 652-653.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โมกหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [20 พ.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โมกหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [20 พ.ค. 2014].
- สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยโมกหลวง”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [20 พ.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “โมกหลวง”.
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ข้อมูลของโมกหลวง”. อ้างอิงใน: ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [20 พ.ค. 2014].
- โครงการสำรวจสวนร่มเกล้ากัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “โมกใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/garden/. [20 พ.ค. 2014].
- ย่อยข่าวงานวิจัย, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ของสารสกัดเมล็ดโมกหลวงในการต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase และลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [20 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Warren McCleland)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)