โมกมัน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกมัน 27 ข้อ !

โมกมัน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกมัน 27 ข้อ !

โมกมัน

โมกมัน ชื่อสามัญ Ivory, Darabela, Karingi, Lanete[2],[7]

โมกมัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.[1],[2], (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wrightia tomentosa Roem. & Schult.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2]

ต้นโมกมัน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูกน้อย มูกมัน (น่าน), โมกมันเหลือง (สระบุรี), มักมัน (สุราษฎร์ธานี), โมกน้อย (ทั่วไป), เส่ทือ แนแก แหน่แก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[4]

นอกจากนี้ยังมีโมกมันอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกัน มีลักษณะของต้นและสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia pubescens R.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wrightia tomentosa var. cochinchinensis Pierre ex Pitard) และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูกเกื้อ (จันทบุรี), มูก โมก (ภาคกลาง) ส่วนชลบุรี, กาญจนบุรี และนครราชสีมาเรียก “โมกมัน” (เข้าใจว่าเป็นคนละชนิดเดียวกัน)[5],[6]

ลักษณะของโมกมัน

  • ต้นโมกมัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีเทาอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว มีขนสีขาวตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีรูอากาศมาก ที่เปลือกด้านในมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ชอบความชื้นปานกลาง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าโปร่งทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง 1,600 เมตร[1],[2],[4],[5],[8]

ต้นโมกมัน

เปลือกต้นโมกมัน

  • ใบโมกมัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก พื้นผิวใบบางคล้ายแผ่นกระดาษ แผ่นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ด้านบนมีขนเฉพาะที่เส้นกลางใบหรือมีขนทั่วไป ส่วนด้านล่างมีขนที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบอย่างทั่วถึง มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย[1],[2],[4],[5]

ใบโมกมัน

  • ดอกโมกมัน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวอมเหลือ ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อดอกและก้านดอกย่อยมีขนสั้นนุ่มขึ้นอยู่ประปรายถึงหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกบิด โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นรูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายหลอดกลีบดอกก้านดอกมีขนสั้นนุ่ม ส่วนด้านในเกลี้ยงถึงมีขนละเอียด กระบังรอบที่ติดตรงข้ามกลีบดอกยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร ติดแนบเกือบตลอดความยาว ปลายจักเป็นซี่ฟัน กระบังรอบที่ติดสลับกับกลีบดอกยาวประมาณ 1.5- มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปแถบ ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ภายในหลอดดอกมีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้จะติดบนหลอดกลีบดอก โผล่พ้นมาจากปากหลอด อับเรณูเป็นรูปหัวลูกศร มีขนสั้นนุ่มที่ด้านนอก รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพลเชื่อม 2 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมนถึงแหลม มีขนสั้นนุ่มอยู่ประปรายถึงหนาแน่น กลีบเลี้ยงกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ดอกแรกบานจะเป็นสีขาวอมเหลือง ข้างนอกเป็นสีเขียวอ่อน และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีแดงม่วง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[4],[5]

ดอกโมกมัน

ดอกโมกมัน

ดอกโมกมัน

  • ผลโมกมัน ออกผลเป็นฝักยาวคิดคู่กันและห้อยลง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก เป็นร่อง 2 ร่อง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-11 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-14 นิ้ว พื้นผิวฝักเกลี้ยงหรือขรุขระ ไม่มีรูอากาศ ฝักเมื่อแก่เต็มแห้งแล้วจะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ที่ปลายด้านหนึ่งมีขนปุยสีขาวเป็นกระจุกติดอยู่ กระจุกขนยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ทำให้ปลิวไปตามลมได้ไกล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[4],[5]

ฝักโมกมัน

เมล็ดโมกมัน

สรรพคุณของโมกมัน

  1. เปลือกต้นมีรสขมร้อนฝาดเมา ช่วยรักษาธาตุไฟให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ รู้ปิดธาตุ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4]
  2. เปลือกต้นเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1],[4],[5]
  3. ที่ประเทศจีนจะใช้สารสกัดจากรากและใบเป็นยารักษาวัณโรคแรกเริ่มที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ (รากและใบ)[5]
  4. ผลมีรสเมา ช่วยแก้ฟันผุ (ผล)[1]
  5. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[10]
  6. รากมีรสร้อน ช่วยแก้ลม แก้ลมที่เกิดเรื้อรัง ลมสันดาน (ราก)[1],[2],[4],[11]
  7. ดอกมีรสจืด เป็นยาระบาย และช่วยแก้พรรดึกหรืออาการท้องผูก (ดอก)[1],[2],[4],[5]
  8. ใบมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ท้องมาน (ใบ)[1],[2],[4],[5]
  9. ช่วยแก้ท้องร่วง (ยางจากต้น)[5]
  10. ใช้เป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากและเนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด (เปลือกต้น, ยางจากต้น, รากและเนื้อไม้)[1],[2],[3],[4],[5]
  1. เนื้อไม้หรือแก่นมีรสร้อนขม เป็นยาขับโลหิต ช่วยขับโลหิตเสีย (เนื้อไม้หรือแก่น)[1],[2],[4],[10]
  2. ช่วยทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ (เปลือกต้น)[1],[2]
  3. ช่วยแก้ตับพิการ (ใบ)[1],[5]
  4. ช่วยรักษาโรคไต (เปลือกต้น)[1],[4]
  5. ช่วยบำรุงถุงน้ำดี แก้ดีพิการ (แก่น)[2],[3],[5]
  6. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ใบ)[1],[2],[4],[5]
  7. รากใช้เป็นยารักษางูกัด (ราก)[1],[2],[4] ส่วนน้ำยางจากต้นใช้แก้พิษงู (ยางจากต้น)[5]
  8. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (เปลือกต้น, ยางจากต้น)[1],[2],[4],[5]
  9. ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด เชื้อรำมะนาด (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
  10. เปลือกต้นและผลช่วยฆ่าเชื้อรำมะนาด (เปลือกต้น, ผล)[1],[2],[4],[5],[10]
  11. ในประเทศจีนจะใช้สารสกัดจากรากและใบโมกมันเป็นยาแก้อาการปวดข้อจากโรคข้อรูมาติก (รากและใบ)[5]
  12. ส่วนสรรพคุณอื่น ๆ ของโมกมันนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ รากเป็นยาแก้ลมที่เกิดกับตัว แก้ลงท้อง แก้พยาธิ แก้ตกโลหิต แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้โรคผิวหนังจำพวกเรื้อน, เปลือกต้นเป็นยาแก้โลหิต แก้กำเดา เสมหะ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเชื้อ แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม, แก่นเป็นยาแก้โรคร้ายในท้อง แก้โลหิตร้าย แก้เลือดร้อนที่คั่งอยู่ในท้องให้ตก ช่วยขับเลือด, ส่วนใบช่วยขับเหงื่อคนไข้ในโรคท้องมาน ช่วยขับน้ำเหลืองสำหรับคนท้องมาน, และดอกเป็นยาแก้ลงท้อง แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม (สรรพคุณส่วนนี้ยังไม่ขอยืนยันความถูกต้องของข้อมูลนะครับ เพราะข้อมูลที่นำมาใช้ไม่มีแหล่งอ้างอิงประกอบว่าเอามาจากที่ใด)[11]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโมกมัน

  • เปลือกต้นและยางมีแอลคาลอยด์หลายชนิด รวมทั้ง Conessine ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อบิด[3]
  • สารเคมีที่พบ ได้แก่ benzoic acid, 2-hydroxy-6-methyoxy / benzoic acid, 4-hydroxy / conessidine / conessine / conkurchin / ferulic acid / gentisic acid / hexaconsane-3, 6-diol, 12-oic acid / hexacosan-3, 6-diol-12-oic acid / quercetin / kaempferol / kurchicine / kurchine / n-tritriacontan-16-one / sinapic acid / syringic acid / vanillic acid / wrightiadione[11]
  • ออกฤทธิ์เหมือน histamine ช่วยกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ฆ่าเชื้ออะมีบา และยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase[11]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการฉีดสารสกัดส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินด้วยเอทานอลและน้ำ (ในอัตราส่วน 1:1) เข้าที่ช่องท้องหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 125.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และถ้าฉีดสารสกัดจากเปลือกต้นเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรทดลอง ในขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 8.065 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[11]

ประโยชน์ของโมกมัน

  1. ยอดอ่อนใช้ลวกจิ้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือนำมาทำแกงได้[8]
  2. เปลือกให้เส้นที่นำไปใช้ทำกระดาษและใช้แทนเส้นใยจากฝ้ายได้[5]
  3. เปลือกต้นโมกมันสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมเส้นไหมด้วย โดยจะใช้สีเขียวอ่อน (Milky green)[9]
  4. เนื้อไม้โมกมัน มีเนื้อไม้เป็นสีขาวนวลถึงขาวอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อเหนียวและละเอียดมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องกลึง เครื่องเล่นสำหรับเด็ก ทำซออู้ ซอด้วง จะเข้ ทำพานท้ายรางปืน หมากรุก เครื่องเขียน ครอบลูกคิด ไม้บรรทัด ไม้ฉาก ดินสอ ด้ามปากกา หวี ตะเกียบ ทำกระสวย ซี่ฟีมทอผ้า ด้ามเฟืองซี่ร่ม ไม้เท้า ไม้คิวบิลเลียด ตู้ โต๊ะ ไม้คาน ไม้บุผนังห้อง ใช้สร้างบ้าน ไม้พาย แจว กรรเชียง เรือเร็ว เรือพาย ทำโครงแร็กเก็ต ทำเหยื่อปลอมของเบ็ดตกปลาฝรั่ง ฯลฯ[6],[11]
  5. ในเรื่องการใช้งานด้านภูมิทัศน์ ต้นโมกมันเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะนำไปปลูกในสวนป่า และดอกยังมีกลิ่นหอม ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โมกมัน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 165.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โมกมัน (Mok Mun)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 248.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โมกมัน”.  หน้า 209.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “โมกมัน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 650-651.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [20 พ.ค. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โมก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [20 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โมกมัน”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [20 พ.ค. 2014].
  8. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [20 พ.ค. 2014].
  9. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [20 พ.ค. 2014].
  10. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [20 พ.ค. 2014].
  11. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “โมกมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [20 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.siamfishing.com (by x – lay), pantip.com (by ชิดขวา_>>>), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด