โพธิ์ศรี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโพธิ์ศรี 8 ข้อ ! (โพธิ์ฝรั่ง)

โพธิ์ศรี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโพธิ์ศรี 8 ข้อ ! (โพธิ์ฝรั่ง)

โพธิ์ศรี

โพธิ์ศรี ชื่อสามัญ Sand box Tree, Portia tree, Umbrella tree, Monkey pistol, Monkey’s dinner bell,[1],[2],[3]

โพธิ์ศรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Hura crepitans L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรโพธิ์ศรี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โพธิ์ทะเล โพทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพฝรั่ง โพธิ์ศรี โพศรี (บุรีรัมย์), ทองหลางฝรั่ง (กรุงเทพฯ), โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ โพศรีมหาโพ (ไทย), โพธิ์อินเดีย, โพธิ์หนาม เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของโพธิ์ศรี

  • ต้นโพธิ์ศรี มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิการากัวจนถึงเปรู โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงได้ประมาณ 15 เมตร และในถิ่นกำเนิดอาจมีความสูงได้ถึง 45 เมตร กิ่งก้านมีลักษณะแผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามเตี้ย ๆ บนเต้าแบน ๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2],[3]

ต้นโพธิ์ศรี

ต้นโพศรี

  • ใบโพธิ์ศรี ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ฟันห่าง ๆ ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-21 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง มีขนตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 6-22 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]

ใบโพธิ์ศรี

  • ดอกโพธิ์ศรี ออกดอกเป็นช่อสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ส่วนดอกเพศเมียจะมีรูปร่างกลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ก้านช่อหนา ยาวได้ประมาณ 1.2-8 เซนติเมตร ดอกเพศเมียมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีประมาณ 10-20 อัน เรียง 2-3 วง เรียงสู่ด้านปลาย อับเรณูมีขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียก้านดอกจะยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร รังไข่มีความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ยอดเกสรแยกเป็นแฉก แผ่ออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4-2.6 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ดอกโพธิ์ศรี

โพศรี

  • ผลโพธิ์ศรี ผลเป็นแบบแคปซูลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้น แบ่งออกเป็นกลีบเท่า ๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ รูปทรงคล้ายฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร และสูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก้นและผลบุ๋มทั้งสองด้าน เปลือกผลแข็งและหนา เมื่อแก่จะมีเมล็ด ถ้าเขย่าดูจะมีเสียงคล้ายกับบรรจุทรายไว้ และถ้าผลแก่เต็มที่ก็จะแตกออกตามยาวของผลเป็นซี่ ๆ ส่วนเมล็ดนั้นมีลักษณะแบนคล้ายถั่วปากอ้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

โพธิ์ฝรั่ง

โพฝรั่ง

เมล็ดโพธิ์ศรี

สรรพคุณของโพธิ์ศรี

  1. เปลือก ยาง และเมล็ด มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
  2. มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (เปลือก, ยาง, เมล็ด)[1]
  3. ยางใช้เป็นยารักษาเท้าช้าง (ยาง)[1]

พิษของโพธิ์ศรี

  • ส่วนที่เป็นพิษ : เมล็ดและยางมีพิษ โดยสารพิษที่พบ ได้แก่ สารกลุ่ม huratoxin, hurin, crepitin และ lectin (ปริมาณของสาร crepitin ที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 187 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[3]
  • อาการเป็นพิษ : เมื่อกินเมล็ดเข้าไปประมาณ 1-2 เมล็ด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว ตาพร่า ปวดท้อง ท้องร่วง และอาจมีเลือดปนออกมา ในรายที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ส่วนน้ำยางจะมีฤทธิ์กัดมาก เพราะประกอบไปด้วยสาร hurin และมีน้ำย่อย hurain ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีน ที่สามารถย่อยเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยจะเกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หรือถ้าเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้[1],[3]
  • ตัวอย่างผู้ป่วย : ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย รับประทานเมล็ดเข้าไป (มีผู้รับประทานสูงสุดคือ 3 เมล็ด) แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ตาแดง มีอาการแสบร้อนในคอ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และง่วงนอน ส่วนกรณีที่ 2 คือ เด็กชายจำนวน 18 ราย อายุระหว่าง 12-15 ปี ได้รับประทานเมล็ดแห้ง และเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง โดยมีเพียงรายเดียวที่มีอาการเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนในคอ กระหายน้ำ และในบางรายพบว่ามีอาการปวดท้องและอุจจาระร่วง แต่วันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น และอีกในกรณีผู้ป่วยมีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังและมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดปีโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จากการตรวจสอบด้วยวิธี scratch test พบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยางของต้นโพธิ์ศรี[3]
  • การรักษา : ก่อนนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนมหรือผงถ่านเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการหมดสติและอาการช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่วนในกรณีอื่น ๆ ก็ให้รักษาไปตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate 2-10 มิลลิกรัม เพื่อช่วยลดอาการปวดท้อง[3]

ประโยชน์ของโพธิ์ศรี

  1. ยางใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้อาบลูกดอก [1]
  2. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง[1]
  3. ในสมัยก่อนจะมีการนำผลที่ยังสุกมาต้ม เจาะรู แล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา จึงเป็นที่มาของชื่อ sand box tree[3]
  4. ในประเทศไทยนิยมปลูกไม้ร่ม ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะและวัดวาอาราม[1],[2]
  5. เนื้อไม้มีคุณภาพดี แต่ไม่มีความทนทานมากนัก สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “โพธิ์ฝรั่ง”.  หน้า 577-578.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โพฝรั่ง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [08 พ.ย. 2014].
  3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โพธิ์ศรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.   [08 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vallari Vindhya, Rafael Medina, Reinaldo Aguilar, Enrique Braña, Sh@ist@, Ahmad Fuad Morad, Shubhada Nikharge)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด