โพทะเล
โพทะเล ชื่อสามัญ Portia tree, Cork tree, Coast cotton tree, Indian tulip tree, Pacific rosewood, Seaside mahoe, Milo, Thespesia, Tulip tree, Rosewood of seychelles, Yellow mallow tree, Umbrella tree[1],[2],[3],[4]
โพทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus populneus L.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2],[3],[4]
สมุนไพรโพทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), บากู (ปัตตานี, มลายู-นราธิวาส), โพทะเล โพธิ์ทะเล (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[3]
สรรพคุณของโพทะเล
- ต้นโพทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล มีลักษณะเรียบหรือขรุขระ มีรอยแตกตามยาวเป็นร่อง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยจัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น และจะพบได้มากที่ดอนหรือตามชายฝั่งทะเลและตามริมแม่น้ำที่เป็นดินร่วนปนทราย[1],[2],[3] มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง สามารถพบขึ้นได้ในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงภูมิภาคมาเลเซียและในหมู่เกาะแปซิฟิก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป[4] และยังจัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดสมุทรปราการ[3]
- ใบโพทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร และมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลและมีเกล็ด ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร และยังมีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย[1]
- ดอกโพทะเล ออกดอกตามง่ามใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ส่วนก้านดอกอ้วนสั้นหรือยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตรและมีเกล็ด ดอกมีริ้วประดับ 3 แฉก ร่วงได้ง่าย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตรและมีเกล็ด ส่วนวงกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยไม่มีแฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายแผ่นหนังไม่หลุดร่วง ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนโคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังและมีจุดสีแดงเข้มอมสีน้ำตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน โดยดอกจะบานเต็มที่ภายในวันเดียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมสีม่วงอ่อนและเหี่ยวอยู่บนต้น ก่อนที่จะร่วงหล่นในวันถัดมา ส่วนหลอดเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 2.05 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองจาง ๆ และมีอับเรณูติดอยู่ตลอดตามความยาวของหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม[1],[4] บ้างก็ว่าออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[3]
- ผลโพทะเล ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นสันตื้น ๆ 5 สัน มีน้ำยางสีเหลือง มีก้านผลยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม เปลือกผลแข็ง มีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้วของผล เมื่อผลแก่จะแห้งแตกไม่มีทิศทาง ไม่ร่วงหล่นและติดอยู่บนต้น ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด หรือมีเมล็ด 4 เมล็ดในแต่ละช่อง ลักษณะของเมล็ดยาวรีคล้ายเส้นไหมเป็นสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างแบน ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน[1],[2],[4] (ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[3])
สรรพคุณของโพทะเล
- รากใช้กินเป็นยาบำรุง (ราก)[5]
- รากใช้เป็นยารักษาอาการไข้ (ราก)[3]
- ดอกใช้ต้มกับน้ำนมหยอดหู ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหู โดยใช้ดอกสดประมาณ 2-3 ดอกนำมาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู จะช่วยแก้อาการเจ็บในหูได้ (ดอก)[3]
- เปลือกใช้เป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือก)[3]
- เมือกที่ได้จากการนำส่วนของเปลือกสดมาแช่น้ำใช้สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร (เมือก)[3]
- รากใช้เป็นยาระบาย ส่วนใบใช้ทำเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก, ใบ)[3]
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[3]
- ใบใช้ทำเป็นผงยาสำหรับใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 2-3 ใบนำมาบดให้เป็นผงละเอียดแล้วนำมาพอกและทาบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[3] บ้างก็ว่าน้ำต้มจากเปลือกก็นำมาใช้ชะล้างแผลเรื้อรังได้เช่นกัน (เปลือก)[5]
- ผลและใบใช้ตำพอกแก้หิด (ผล, ใบ)[5]
ข้อควรระวัง ! : น้ำมันที่ได้จากเมล็ดหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นควรระมัดระวังให้มาก[3] ส่วนยางจากต้นและเปลือก หากเข้าตาก็ทำให้ตาบอดได้ ส่วนเปลือกมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน[5]
ประโยชน์ต้นโพทะเล
- ดอก ผล และใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้[4]
- ต้นโพทะเลมีดอกที่สวยงาม เป็นไม้โตเร็วและมีดอกขนาดใหญ่ จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาได้[2],[4]
- ไม้ของต้นโพทะเลมีคุณสมบัติคงทน แข็งแรง ทนปลวก เนื้อไม้เหนียว ไสกบตกแต่งได้ง่าย และขัดชักเงาได้เป็นอย่างดี มีสีแดงเข้มดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องดนตรี หรือทำเครื่องเรือน ใช้ทำกระดานพื้น เครื่องกลึง ด้ามเครื่องมือ ทำคิวบิลเลียด พานท้ายปืน รางปืน ทำพายแจวเรือ กรรเชียง ใช้ทำเป็นถ้วยชามใส่อาหารเนื่องจากไม่มีกลิ่น ฯลฯ[3],[4],[5]
- เปลือกสามารถนำมาใช้ตอกหมันเรือ ใช้ทำเชือกและสายเบ็ดได้[3],[5]
- ในบางประเทศนิยมปลูกต้นโพทะเลไว้ตามวัดเพราะถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์[4]
เอกสารอ้างอิง
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “โพทะเล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [19 ธ.ค. 2013].
- โรงเรียนดาราพิทยาคม ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์. “โพทะเล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th. [19 ธ.ค. 2013].
- หนังสือสมุนไพรพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด (สุทัศน์ จูงพงษ์).
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โพทะเล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [19 ธ.ค. 2013].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พิษระคายเคืองผิวหนัง โพทะเล“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [19 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jupiter Nielsen, D.Eickhoff, naturgucker.de, Sharpj99, mingiweng, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Lauren Gutierrez, judymonkey17, dinesh_valke, Jardín Botánico Nacional Viña del Mar Chile)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)