โป๊ยกั๊ก
โป๊ยกั๊ก ชื่อสามัญ Chinese star anise[1], Star anise[2], Star aniseed[4], Badiane (ฝรั่งเศส)[4], Badian (อาหรับ), Badian khatai (อินเดีย), Bunga lawang (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย)[3],[4], Thakolam (มาลายาลัม)
โป๊ยกั๊ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Illicium verum Hook.f. จัดอยู่วงศ์ SCHISANDRACEAE
สมุนไพรโป๊ยกั๊ก (มักเขียนผิดเป็น โป๊ยกั้ก, โป๋ยกั๊ก, โป้ยกั้ก, โป้ยกัก) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โป๊ยกั๊กจีน จันทร์แปดกลีบ จันทน์แปดกลีบ แปดแฉก (โป๊ย แปลว่า “แปด” ส่วน กั๊ก แปลว่า “แฉก”) เป็นต้น[1],[3]
โป๊ยกั๊ก จัดเป็นสมุนไพรจีน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม โดยจัดเป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียเขตร้อน มีการใช้กันมาอย่างยาวนานในประเทศจีนกว่า 1,300 ปีแล้ว โดยส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ก็คือ ส่วนของเมล็ดของผลแก่ที่มีลักษณะคล้ายดาว 8 แฉก และในปัจจุบันจะมีการเพาะปลูกโป๊ยกั๊กมากในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย เวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น[2]
ลักษณะของโป๊ยกั๊ก
- ต้นโป๊ยกั๊ก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แต่มีความสูงได้ถึง 18 เมตร[2]
- ใบโป๊ยกั๊ก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับถึงรูปรีแคบ โคนใบสอบ ปลายใบแคบเป็นแถบยาว ส่วนปลายสุดเว้าหรือแหลม[2]
- ดอกโป๊ยกั๊ก ดอกเป็นดอกเดียว มีสีเหลือง บางครั้งอาจแต้มด้วยสีชมพูถึงสีแดง ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย กลีบดอกมี 10 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ขอบกลีบมีขนและเป็นกระพุ้ง ก้านดอกมีความยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร[2]
- ผลโป๊ยกั๊ก ผลมีลักษณะเป็นกลีบโดยรอบ มองเห็นได้เป็นรูปดาว มีประมาณ 5-13 กลีบ แต่ที่พบมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น 8 กลีบ ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ในกลีบแต่ละกลีบจะมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่และแบน ผิวมีสีน้ำตาลเรียบและเป็นเงา ผลมีกลิ่นหอมและมีรสร้อน[1]
หมายเหตุ : โป๊ยกั๊กจีน เป็นพืชคนละชนิดกับ โป๊ยกั๊กญี่ปุ่น หรือ Japanese star anise (ชื่อวิทยาศาสตร์ Illicium anisatum) โป๊ยกั๊กญี่ปุ่นเป็นพืชมีพิษ หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากมีสารพิษที่ชื่อว่า อนิซาติน (Anisatin) ที่มีฤทธิ์ในการทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรงและทำให้เกิดอาการอักเสบภายใน รวมถึงอวัยวะในระบบย่อยอาหารและท่อปัสสาวะ จึงห้ามนำมารับประทานเด็ดขาด (แต่สามารถนำมาใช้ทำเป็นธูปกำยานได้) แต่โป๊ยกั๊กที่ได้นำเข้ามาใช้ในประเทศก็คือ โป๊ยกั๊กจีนที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีและไม่มีพิษ[3]
สรรพคุณของโป๊ยกั๊ก
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)[1]
- ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ให้กับร่างกาย ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำอุ่นสุกดื่ม แต่สำหรับเด็กเล็กมากให้ใช้น้ำมันโป๊ยกั๊กมาทาบริเวณฝ่าเท้า จะทำให้เท้าอุ่น ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ดีนัก[3]
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผล)[1]
- โป๊ยกั๊กมีคุณสมบัติเป็นหยาง ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายในช่วงอากาศเย็นชื้น มีรสร้อนนิดเจือหวานเล็กน้อย ไม่เผ็ดร้อนมากจนเกินไปเหมือนสมุนไพรชนิดอื่น ๆ วิธีการรับประทานก็ให้ใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชาชงกับน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ ใช้ดื่มหลังอาหารในช่วงเช้าหรือเย็น หรือในช่วงที่มีอากาศเย็น[3]
- ช่วยขับเสมหะ (ผล)[1]
- เมล็ดโป๊ยกั๊กเมื่อนำมาสกัดจะได้กรดชิคิมิก (Shikimic acid) อันเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการสังเคราะห์ยาทามิฟลู (Tamiflu)
- ต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด รวมไปถึงไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ 2009 (เมล็ด)
- ช่วยแก้หวัด ลดไข้[3]
- น้ำมันหอมระเหยใช้ผสมกับชะเอมช่วยแก้อาการไอ[1]
- น้ำมันหอมระเหยนำมาใช้ผสมในยาผงสำหรับแก้หืดและยาสำหรับสัตว์[1]
- ช่วยรักษาอาการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินปัสสาวะ[3]
- ช่วยบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ (เมล็ด)[6]
- ช่วยแก้ลมกองหยาบ (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้อาการท้องอืด[3] จุกเสียดในเด็กทารก
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย (ผล)[1]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ผล)[1]
- ช่วยแก้ปัสสาวะขัด[5]
- ช่วยแก้อัณฑะบวม และไส้เลื่อน[5]
- ช่วยขับน้ำดี (เมล็ด) (เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาขายสินค้าสมุนไพร)
- ผลใช้เป็นยากระตุ้น (ในข้อมูลไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นยากระตุ้นอะไร)[1]
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้กับกล้ามเนื้อ[3]
- ช่วยระงับความเจ็บปวด[3]
- ช่วยรักษาโรครูมาติสม์ (Rheumatism) ระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชานำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น[3]
- ช่วยแก้ตะคริวหรือเหน็บชาตามข้อมือข้อเท้า[3]
- น้ำมันหอมระเหยประมาณ 1-4 หยดผสมกับชะเอมใช้ฆ่าเชื้อโรคได้[1]
- ช่วยรักษาวัยทองในเพศชาย[7]
- ช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ[7]
- ช่วยส่งเสริมสุขภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง[6]
- ช่วยเพิ่มการหลังน้ำนมของสตรีหลังคลอดบุตร[6]
ประโยชน์ของโป๊ยกั๊ก
- โป๊ยกั๊กอุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และธาตุเหล็กที่ช่วยในการบำรุงโลหิต โดยคุณค่าทางโภชนาการของโป๊ยกั๊ก ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย โปรตีน 31%, คาร์โบไฮเดรต 31%, เส้นใยอาหาร 38%, ไขมัน 0%, วิตามินเอ 10.5%, วิตามินซี 35%, ธาตุแคลเซียม 65%, ธาตุเหล็ก 62%, ธาตุโพแทสเซียม 31%, และธาตุโซเดียม 1%[3]
- ผลและเมล็ดโป๊ยกั๊กทั้งแบบแห้งและป่นใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นยาสมุนไพร[1],[2]
- ใช้เป็นส่วนผสมของผงเครื่องเทศทั้งห้าที่ใช้ในการปรุงอาหารจีนแบบดั้งเดิม[4]
- ใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ช่วยชูรสชูกลิ่น และผลยังสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นของเครื่องดื่ม ลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ ขนมหวาน ขนมผิง ขนมเค้ก แยม เยลลี่ ซีอิ๊ว ซอสต่าง ๆ เนื้อกระป๋อง ฯลฯ[1],[2],[3]
- น้ำมันโป๊ยกั๊กที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำใช้เป็นส่วนผสมของยาและยาอมแก้ไอ ใช้ในการแต่งกลิ่นและดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของยา น้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมและโลชั่นบำรุงผิว สูบู่ น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ผงซักฟอก ฯลฯ[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โป๊ยกั๊ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 ต.ค. 2013].
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [10 ต.ค. 2013].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “โป๊ยกั๊กเพิ่มพลังภูมิคุ้มกันโรค“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [10 ต.ค. 2013].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (en).
- หนังสือสมุนไพรเครื่องเทศและพืชปรุงแต่งกลิ่นรส. “โป๊ยกั๊ก“. (สุพจน์ คิลานเภสัช). (2543). กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาสน์.
- THE TIMES OF INDIA. “Benefits of star anise“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: articles.timesofindia.indiatimes.com. [10 ต.ค. 2013].
- WebMD. “STAR ANISE“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.webmd.com. [10 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by sndgrss, Fruit Species, jolie2211)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)