โทะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทะ 20 ข้อ ! (พรวด)

โทะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทะ 20 ข้อ ! (พรวด)

โทะ

โทะ ชื่อสามัญ Downy myrtle, Hill gooseberry, Rose myrtle[2], Downy rose myrtle, Hill guava, Isenbery bush, Ceylon hill cherry[4]

โทะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cynomyrtus tomentosa (Aiton) Scriv., Myrtus canescens Lour., Myrtus tomentosa Aiton, Rhodomyrtus tomentosa var. tomentosa) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)[2]

โทะ แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk. (Rhodomyrtus tomentosa var. tomentosa) เป็นพันธุ์ที่พบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางจีนตอนใต้ ใบมีผงรังแคสีขาวขึ้นปกคลุม และโทะพันธุ์ Rhodomyrtus tomentosa var. parviflora (Alston) A.J.Scott (Rhodomyrtus parviflora Alston) ใบมีผงรังแคสีครีมหรือสีเหลืองขึ้นปกคลุม พบได้ในอินเดียและศรีลังกา

สมุนไพรโทะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พรวดกินลูก (ปราจีนบุรี), ซวด (จันทบุรี), ง้าย ชวด พรวด (ตราด), พรวดใหญ่ (ชลบุรี), พรวดผี (ระยอง), โท๊ะ (สงขลา), กาทุ (ชุมพร), ทุ โทะ (ภาคใต้), กามูติง กามูติงกายู มูติง (มลายู), ปุ้ย (เขมร) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของต้นโทะ

  • ต้นโทะ หรือ ต้นพรวด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีความสูงได้ประมาณ 1-4 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะกลม เปลือกต้นลอกเป็นแผ่นบาง ๆ ตามกิ่งอ่อน ยอดอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก กลีบดอกด้านนอก กลีบเลี้ยงดอก และผลมีขนสั้นหนานุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และในหมู่เกาะโมลุกกะและเซลีเบส ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามบริเวณดินทราย ตามป่าโปร่ง ตายชายฝั่งทะเล ป่าชายหาด ชายป่าพรุ และป่าดิบเขา ตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร แต่จะพบในระดับต่ำ ๆ[1],[2]

ต้นโทะ

ต้นพรวด

  • ใบโทะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีถึงรูปขอบขนาน ปลายใบมน ทู่ แหลม หรือเป็นติ่งแหลมอ่อน ๆ โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่มกว้าง ส่วนขอบใบเรียบม้วนลงเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสีขาวเป็นปุย มีเส้นใบ 3 เส้น จากโคนจรดปลายใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 1 เส้น ออกจากโคน เรียงโค้งจรดกันเป็นเส้นขอบใบ ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร[1],[2]

ใบพรวด

ใบโทะ

  • ดอกโทะ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกซ้อน (แต่ส่วนมากจะออกเดี่ยว) โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ก้าน ช่อยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมชมพู หรือสีชมพูอมขาว ดอกแก่เป็นสีขาว มี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 3-4 เซนติเมตร ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สำหรับกลีบเลี้ยงที่โคนกลีบจะเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน ติดทน กลีบยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร สองกลีบในยาวกว่ากลีบด้านนอกเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเป็นสีแดง ขนาดยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร อับเรณูปลายมีต่อมขนาดเล็ก ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2]

ดอกพรวด

ดอกโทะ

  • ผลโทะ ผลเป็นผลสดสีเขียวด้าน ๆ ลักษณะเป็นรูปกลมแกมรีหรือเกือบกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้น ๆ หนานุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม กลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแก่ผลจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำถึงดำ เนื้อผลสุกเป็นสีม่วง นุ่ม มีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไตสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีปุ่มกระจาย จะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1]

ผลพรวด

ผลโทะ

เมล็ดโทะ

สรรพคุณของโทะ

  • ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (ทั้งต้น)[1]
  • ผลใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์[1] ในมาเลเซียจะใช้เป็นยารักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสีย และปวดท้อง (ผล)[3],[5]
  • ในประเทศมาเลเซียจะใช้รากและใบโทะ เป็นยาต้มรักษาอาการท้องเสีย แก้อาการแสบยอดอกจากกรดไหลย้อน[1] แก้ท้องร่วงและปวดท้อง และใช้หลังสตรีคลอดบุตร (รากและใบ)[3]
  • ในประเทศจีนจะใช้รากและใบโทะเป็นยารักษาอาการกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ใช้เป็นยาแก้อาการอาหารไม่ย่อย และตับอักเสบ (รากและใบ)[1]
  • ในประเทศจีนและฮ่องกงจะใช้รากโทะเป็นยารักษาเลือดออกจากมดลูกในหญิงหลังคลอด (ราก)[1]
  • ใบใช้ตำแปะฝี ยาต้มจากใบใช้ทำความสะอาดแผล เพื่อฆ่าเชื้อโรค[1] ส่วนในอินโดนีเซียจะนำใบมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)[5]
  • ที่ประเทศจีนและมาเลเซียจะใช้ราก นำมาต้มกินเป็นยารักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ และรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือผิวหนังพุพอง (ราก)[1]

ประโยชน์ของโทะ

  • ผลสุกมีรสหวาน (เมื่อดิบมีรสฝาด) รับประทานได้ หรือเป็นอาหารของนก บางแห่งใช้ทำไวน์ผลไม้ ทำแยมหรือเยลลี่ และผลไม้กวน[1],[3],[4],[5]
  • ยางเหนียวจากเนื้อไม้สีดำ ใช้ทาฟันและคิ้วให้ดำ[5]
  • ไม้โทะเป็นไม้ค่อนข้างแข็ง ชาวบ้านนิยมใช้เป็นไม้ขัดแตะ ทำเป็นคอกสัตว์ขนาดเล็ก และใช้ทำฟืน[4]
  • บางพื้นที่จะนำต้นโทะไปปลูกเป็นไม้ประดับในสวน[4]
  • ในฮาวายจะใช้ดอกโทะนำมาประกอบทำเป็นมาลัย[4]
  • โทะเป็นไม้ป่าทรงคุณค่าที่สมควรได้รับการพัฒนาอย่างมากชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและถาวรหากมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์ สรีรวิทยาพืช ภูมิชีววิทยา การวิเคราะห์สารอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ การพัฒนาขายพันธุ์เพื่อการผลิตอย่างจริงจัง และที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งก็คือการสกัดสารจากส่วนต่าง ๆ มาศึกษาทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นยาต่อไปในอนาคต[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ก้นถ้วยใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [20 ก.ย. 2015].
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “พรวด”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [20 ก.ย. 2015].
  3. บทความพิเศษ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  (ดร.พรรณี วราอัศวปติ).  “โทะ หรือ ทุ เสน่ห์ที่ยากจะลืมได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/articles/dr_punee/drpn_series.htm.  [20 ก.ย. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “โท๊ะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/detail-project.htm.  [20 ก.ย. 2015].
  5. หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2: ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน.  (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ, สุนทร ดุริยะประพันธ์, ทักษิณ อาชวาคม, สายันต์ ตันพานิช, ชลธิชา นิวาสประกฤติ).  “โทะ”.  หน้า 390-392.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by techieoldfox, Dinesh Valke, Sarawak Lens, Forest and Kim Starr, 阿橋, Cerlin Ng)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด