โทงเทง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทงเทงไทย 17 ข้อ !

โทงเทง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทงเทงไทย 17 ข้อ !

โทงเทง

โทงเทง ชื่อวิทยาศาสตร์ Physalis angulata var. angulata (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Physalis minima L.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรโทงเทง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โทงเทง โทงเทงไทย โทงเทงน้ำ ทุงทิง ทุ้งทิ้ง ปุงปิง พุ้งพิ้ง โคมจีน โคมญี่ปุ่น ต็งอั้งเช้า เผาะแผะ มะก่องเช้า หญ้าถงเถง หญ้าต้อมต้อก หญ้าต้อมต๊อก (ไทย), กิมเต็งลั้ง ขั่วกิมเต็ง ซึงเจี่ย เต็งอั้งเช้า เทียงผาเช้า หลกซิ้งจู อั้งโกวเนี้ย อ้วงบ๊อจู (จีน), เทียนพ่าวจื่อ เติงหลงเปา สุ่ยเติงหลง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของโทงเทง

  • ต้นโทงเทง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร ทั้งต้นปกคลุมไปด้วยขน แตกกิ่งก้านบริเวณยอด ก้านมีขนาดเล็ก โทงเทงชนิดนี้มักพบขึ้นบริเวณริมน้ำ บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “โทงเทงน้ำ[1]

ต้นโทงเทง

  • ใบโทงเทง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นลอน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร หน้าใบมีเส้นใบคล้ายขนนก ผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[1]

ใบโทงเทง

  • ดอกโทงเทง ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกบริเวณซอกใบ ดอกเป็นรูปปากแตร แตกออกเป็น 5 แฉกที่ปลายกลีบดอก ปลายดอกคล้ายรูปห้าเหลี่ยม ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมียอีก 1 อัน[1]

ดอกโทงเทง

  • ผลโทงเทง ผลออกบริเวณซอกใบ มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในมีผลสีเหลือง ในผลมีเมล็ดรูปกลมแบน สีขาวอมเขียว[1]

ผลโทงเทง

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังมีโทงเทงอีกสายพันธุ์ คือ Phyalis peruviana L. หรือที่เรียกว่า “โทงเทงฝรั่ง” หรือ “โทงเทงบก” ชนิดนี้จะมีขนาดต้นที่สูงกว่า ใบมีขนาดใหญ่กว่า สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

สรรพคุณของโทงเทง

  1. ทั้งต้นและผลมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน ไอร้อน กระหายน้ำวิเศษ (ทั้งต้นและผล)[1],[2],[3]
  2. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ทั้งต้นและผล)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้คางทูม ด้วยการใช้โทงเทง และหูปลาช่อน อย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
  4. จากตำรา “ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ” ระบุว่า โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ให้ใช้โทงเทงอิงถิ่น และชะเอม อย่างละ 2 สลึง นำมาต้มกับน้ำกินก็หาย (ทั้งต้น)[3]
  1. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้าง ๆ แก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อย แต่สำหรับท่านที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ส่วนการใช้เป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบอีกวิธีตามหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ฉบับสมบูรณ์ ระบุว่าให้ใช้ต้นนี้สด ๆ 3 หัว ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย แล้วต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานให้หมดในครั้งเดียว ถ้าเป็นเด็กลดปริมาณการรับประทานลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้จำนวนร้อยกว่าราย พบว่าบางรายรับประทานเพียง 4-10 ครั้งก็หาย ส่วนบางรายก็รับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงจะหาย (ทั้งต้น)[1],[3]
  2. ใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้โทงเทงหนัก 500 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 3 ลิตร โดยต้มจนเหลือ 500 ซีซี ผสมกับน้ำตาลเล็กน้อย ใช้รับประทานครั้งละ 50 ซีซี วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน คิดเป็น 1 รอบของการรักษา โดยให้รับประทานติดต่อกัน 3 รอบ ในแต่ละรอบให้พัก 3 วัน จากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 50 รายด้วยตำรับยานี้ พบว่าผู้ป่วยหายเป็นปกติจำนวน 39 ราย ผู้ป่วยจำนวน 10 รายมีอาการดีขึ้น ส่วนอีก 1 ราย ไม่ได้ผลในการรักษา นอกจากนี้ยังให้ผลในการรักษาโรคไอมีเสมหะ หอบ หืด ได้ผลค่อนข้างดีอีกด้วย โดยระยะเวลาในการรักษาจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-6 วัน มีเพียง 1 รายเท่านั้นที่ต้องรักษานานถึง 20 วัน จึงจะหาย และในระหว่างการรักษามีคนไข้บางรายเกิดผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ คือมีอาการรู้สึกใจคอไม่ค่อยดี เวียนศีรษะ อึดอัด นอนไม่หลับ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองได้หลังการรักษาประมาณ 1-5 วัน และมีคนไข้รายหนึ่งที่กินต้นโทงเทงสด ๆ ในขนาด 750 กรัม ในเวลา 2 วัน ก็ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษแต่อย่างใด (ทั้งต้น)[1],[3]
  3. ตำรายาจีน “ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ” ระบุว่าเราสามารถใช้โทงเทงเป็นยารักษาหลอดลมอักเสบอย่างแรง ไอ และหอบได้ โดยใช้โทงเทงผสมกับเปลือกส้มจีนแห้งอย่างละ 2 สลึง นำมาต้มกับน้ำกินก็จะหาย ส่วนตำราสมุนไพรจีน “หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ” กล่าวว่า หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไออย่างแรง คอเจ็บ โรคเสียงแหบต่าง ๆ ให้ใช้โทงเทง 6 กรัม, ง๊วงเซียม 5 กรัม, ไต้ลักจื้อ 5 กรัม, อัวน่ำจื้อ 5 กรัม, ชะเอม 3 กรัม, เบ๊ปวก 1 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 500 ซีซี จนเหลือ 200 ซีซี ใช้กินวันละ 3 ครั้งจะหาย (ทั้งต้น)[3]
  4. จากตำรายาจีน “ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ” ระบุว่า โทงเทงมีสรรพคุณเป็นยารักษาหลอดอาหารอักเสบอย่างแรงจนคอบวมแดง กับเป็นแผลเน่าและเป็นฝี แต่ปัจจุบันนี้มียาแผนปัจจุบันให้ใช้กันอยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีก็ให้ใช้โทงเทงกับเลี่ยงเคี้ยวอย่างละ 1 สลึง กับ 5 หุน (5 หุน เท่ากับ ½ สลึง) และชะเอม 1 สลึง นำมาต้มกับน้ำกินก็จะหาย หรือจะใช้โทงเทงเพียงอย่างเดียวนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นชาก็ได้ผลเช่นเดียวกัน (ทั้งต้น)[3]
  5. ทั้งต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำเล็กน้อยละลายกับเหล้า ชุบสำลีอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อยเป็นยาแก้ฝีในคอ พิษฝีขึ้นในคอ (ทั้งต้น)[2],[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้ฝีในปอด (ทั้งต้นและผล)[1]
  7. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[2]
  8. ทั้งต้นและผลมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ทั้งต้นและผล)[1],[2]
  9. ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ดีซ่าน ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ จากการใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้โทงเทง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน พบว่าอาการตัวเหลืองหายเป็นปกติ (ทั้งต้นและผล)[1],[3]
  10. ทั้งต้นสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกรักษาฝีหนอง ฝีอักเสบมีพิษ ผดผื่นคัน หรือถ้ามีแผลด้วยก็ต้มเอาน้ำล้างแผล (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  11. ต้นสดนำมาตำละลายกับน้ำหรือเหล้าใช้เป็นยาทาแก้พิษฝี แก้ฟกบวมอักเสบ ทำให้เย็น (ต้นสด)[2],[3]
  12. นอกจากนี้ในตำรายาสมุนไพรไทยยังได้กล่าวถึงสรรพคุณของโทงเทงอีกชนิด (Phyalis peruviana L.) ว่ามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน แก้อาการปวดศีรษะ ปวดหู แก้บิดมีตัว ช่วยขับพยาธิในลำไส้ เป็นยาระบาย แก้พิษ แก้บวมน้ำ และอาการฟกช้ำ (ซึ่งโทงเทงทั้งสองชนิดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โทงเทงฝรั่ง) (ทั้งต้น)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน การนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดตามความต้องการ นำมาตำพอกแผล ฝี หรือต้มเอาน้ำล้างแผล หรือใช้ไอน้ำอบร่างกาย[1]

ประโยชน์ของโทงเทง

  • คนจีนนิยมนำมาปลูกกันตามสวนยาจีนและนิยมใช้กันมาก เพราะรู้สรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ดี แต่สำหรับคนไทยยังไม่ค่อยมีใครนิยมใช้กันมากนัก[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โทงเทงน้ำ”.  หน้า 284.
  2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หญ้าต้อมต้อก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [04 ธ.ค. 2014].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : สมุนไพรน่ารู้.  “โทงเทง สมุนไพรข้างถนน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [04 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by John Elliott, John Tann, Dinesh Valke, cpmkutty, Vaishak Kallore)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด