โด่ไม่รู้ล้ม สรรพคุณและประโยชน์ของโด่ไม่รู้ล้ม 60 ข้อ !

โด่ไม่รู้ล้ม สรรพคุณและประโยชน์ของโด่ไม่รู้ล้ม 60 ข้อ !

โด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม ชื่อสามัญ Prickly-leaved elephant’s foot

โด่ไม่รู้ล้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Elephantopus scaber L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย), คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ), หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี), ตะชีโกวะ ติ๊ซิเควาะด๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โน๊ะกะชอย่อตะ กาว่ะ เนาะดากวอะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เคยโป้ หนาดผา หญ้าปราบ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าไฟนกคุ้ม หญ้าสามสิบสองหาบ (ภาคเหนือ), ก้อมทะ เกดสะดุด ยาอัดลม (ลั้วะ), จ่อเก๋ (ม้ง) เป็นต้น

ลักษณะของโด่ไม่รู้ล้ม

  • ต้นโด่ไม่รู้ล้ม เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสั้นและกลม ชี้ตรง มีความสูงราว 10-30 เซนติเมตรอยู่ในระดับพื้นผิวดิน ตามผิวลำต้นและใบจะมีขนละเอียดสีขาว สาก ห่าง ทอดขนานกับผิวใบ พืชชนิดนี้เมื่อถูกเหยียบหรือโดนทับก็จะดีดตัวขึ้นมาใหม่ได้เหมือนปกติ (สมชื่อเลย) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด สามารถพบได้ทั่วไปตามป่าโปร่งที่มีดินค่อนข้างเป็นทราย ในป่าเต็งรัง ป่าดิบ และในป่าสนเขาทั่วทุกภาคของประเทศไทย และประเทศในเขตร้อนทั่วโลก

ต้นโด่ไม่รู้ล้ม

ว่านโด่ไม่รู้ล้ม

รูปโด่ไม่รู้ล่ม

  • ใบโด่ไม่รู้ล้ม มีใบเป็นใบเดี่ยวอยู่บริเวณเหนือเหง้าติดกันเป็นวงกลม เรียงสลับชิดกันอยู่เป็นกระจุก คล้ายกุหลาบซ้อนที่โคนต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหัวกลับ แผ่นใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ขอบใบหยักหรือเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยห่าง ๆ มีเส้นแขนงของใบประมาณ 12-15 คู่ ส่วนของใบที่ค่อนไปทางปลายจะผายกว้าง แล้วสอบเป็นแหลมทู่ ๆ ส่วนโคนใบจะสอบแคบจนถึงก้านใบ มีเนื้อใบหนาสาก ผิวใบจะมีขนสากเล็ก ๆ ขนตรงห่างมีสีขาว และมีขนต่อมห่างอยู่ทั้งสองด้าน โดยท้องใบจะมีขนมากกว่าหลังใบ แผ่นใบมักแผ่ราบไปกับพื้นดิน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านใบ

สมุนไพรโด่ไม่รู้ล้มใบโด่ไม่รู้ล้ม
  • ดอกโด่ไม่รู้ล้ม ออกดอกเป็นช่อแทงออกมาจากลำต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปขอบขนาน มีดอกย่อยขนาดเล็ก 4 ดอก ยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกเป็นรูปหลอดสีม่วง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนปลายกลีบดอกยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ไม่มีขน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลือง มีอับเรณูยาวประมาณ 2.2-2.3 เซนติเมตร ปลายแหลม ฐานเป็นติ่งแหลม ส่วนก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร และเกสรตัวเมียมีก้านเกสรยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ยอดเกสรยาว 0.5-0.6 มิลลิเมตร มีขนอยู่ปลายยอดและสิ้นสุดที่รอยแยก แต่ละช่อย่อยจะอยู่รวมกันเป็นช่อกระจุกกลมที่ปลายก้านดอก ที่โคนกระจุกดอกจะมีใบประดับแข็งเป็นรูปสามเหลี่ยมแนบอยู่ด้วย 3 ใบ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ขอบใบเรียบปลายเรียวแหลม ที่ผิวใบทั้งสองด้านมีขนตรงสีขาว ออกที่ปลายยอดแบบช่อแยกแขนง ก้านช่อดอกมีความยาวได้ถึง 8 เซนติเมตรและมีขนสาด ๆ อยู่ทั่วไป ส่วนฐานรองดอกจะแบนและเกลี้ยง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร วงใบประดับเป็นรูปขอบขนาน มี 2 ชั้น สูงราว 7-10 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใบประดับคล้ายรูปหอก ผิวด้านนอกมีขนตรง ส่วนขอบใบมีขนครุย ชั้นนอกเป็นรูปใบหอกยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ส่วนชั้นที่ 2 เป็นรูปขอบขนานกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ปลายแหลม สีขาว เป็นเส้นตรงแข็ง มี 5 เส้น เรียง 1 ชั้น ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร

ดอกโด่ไม่รู้ล้ม

  • ผลโด่ไม่รู้ล้ม ผลเป็นผลแห้งและไม่แตก ลักษณะของผลเล็กและเรียว เป็นรูปกรวยแคบ ผิวด้านนอกผลมีขนหนาแน่น ยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 0.4-0.5 มิลลิเมตร ผลไม่มีสัน

ผลโด่ไม่รู้ล้ม

สรรพคุณของโด่ไม่รู้ล้ม

  1. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่งและม้ากระทืบโรง หรือจะใช้ใบต้มกับน้ำดื่มก็ได้ และนอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นของโด่ไม่รู้ล้ม นำมาตากแห้งแล้วหั่นเป็นฝอยใช้ผสมเข้ายาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ คือ ต้นนางพญาเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรง ลำต้นฮ่อสะพายควาย สะค้าน ตานเหลือง มะตันขอ เปลือกลำ หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และข้าวหลามดง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาบำรุงก็ได้เหมือนกัน (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
  3. ลำต้นและใบใช้เป็นยาบำรุงเลือด เหมาะสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ต้นและใบ)
  4. ช่วยทำให้อยากอาหาร (ต้นและใบ)
  5. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ใบ)
  6. ช่วยแก้กษัย (ทั้งต้น)
  7. ทั้งต้นมีรสกร่อนจืดและขื่นเล็กน้อย ใช้รับประทานช่วยทำให้เกิดกษัยแต่มีกำลัง (ทั้งต้น)
  8. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  9. ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)
  10. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรียได้ (ทั้งต้น)
  1. ช่วยแก้ไข้ ด้วยการใช้รากโด่ไม่รู้ล้มนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ราก ลำต้น ใบ และผล ต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก, ลำต้น, ใบ, ผล, ทั้งต้น)
  2. ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ต้นหรือรากต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ (ราก, ต้น, ใบ, ทั้งต้น)
  3. รากโด่ไม่รู้ล้มช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัด แก้อาการไอเรื้อรัง (ราก)
  4. รากใช้ต้มดื่มแก้อาเจียนได้ (ราก)
  5. ทั้งต้นใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้อาการข้าวติดคอหรือกลืนอาหารฝืดคอได้ (ทั้งต้น)
  6. ใช้เป็นยาแก้วัณโรค (ทั้งต้น)
  7. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  8. ช่วยแก้อาการตาแดง (ทั้งต้น)
  9. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 6 กรัม นำมาแช่ในน้ำร้อนขนาด 300 cc. (เท่าขวดแม่โขง) ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วรินเอาน้ำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือจะใช้ต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วปั้นเป็นเม็ดไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
  10. ช่วยรักษาแผลในช่องปาก ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มดื่มวันละครั้ง (ต้นแห้ง, ทั้งต้น)
  11. รากใช้ต้มกับน้ำนำมาอมช่วยแก้อาการปวดฟันได้ หรือใช้รากนำมาตำผสมกับพริกไทย (ราก)
  12. ช่วยห้ามเลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาไหลง่าย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 10-15 กรัม) นำมาต้มกับเนื้อหมูแดงพอประมาณแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 3-4 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  13. รากและใบใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก (รากและใบ)
  14. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ราก, ทั้งต้น)
  15. รากและใบช่วยแก้อาการท้องร่วง (รากและใบ)
  16. ช่วยแก้บิด (รากและใบ, ทั้งต้น)
  17. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (รากและใบ, ทั้งต้น)
  18. ช่วยแก้ท้องมานหรือภาวะที่มีน้ำในช่องท้องมากเกินปกติ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับดื่มเช้าเย็น หรือใช้ตุ๋นกับเนื้อแล้วนำมารับประทานก็ได้ (ต้นสด)
  19. ช่วยขับไส้เดือน พยาธิตัวกลม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  20. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก,ทั้งต้น)
  21. รากมีสรรพคุณเป็นยาบีบมดลูก (ราก)
  22. รากใช้เป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ (ราก, ใบ)
  23. รากและใบใช้ต้มอาบน้ำหลังคลอดของสตรี (รากและใบ)
  24. ช่วยแก้นิ่ว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 90 กรัม ต้มรวมกับเนื้อหมู 120 กรัม พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย ต้มแล้วเคี่ยวกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม เอากากออก แบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้ง หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการก็ได้เช่นกัน (ราก, ต้น, ทั้งต้น)
  25. ทั้งต้นมีรสกร่อยและขื่น ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  26. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (ทั้งต้น)
  27. ช่วยแก้อาการขัดเบา (อาการเริ่มต้นของทางเดินปัสสาวะอักเสบ) ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 15-30 กรัม ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (ต้นสด)
  28. ช่วยรักษาตับและไตอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  29. ช่วยแก้กามโรค รักษาโรคบุรุษ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  30. รากและใบช่วยแก้กามโรคในสตรี โดยใช้แบบสดหรือแห้งประมาณ 2 กำมือนำมาต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการ (รากและใบ)
  31. ช่วยบำรุงกำหนัด บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการใช้รากต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ, ทั้งต้น)
  32. ช่วยขับน้ำเหลืองเสียออกจากร่างกาย (ทั้งต้น)
  33. ช่วยแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ต้มเป็นน้ำดื่ม (ต้นสด)
  34. ช่วยแก้ดีซ่าน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120-240 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูแล้วใช้รับประทานติดต่อกัน 4-5 วัน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  35. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)
  36. ช่วยแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เช่น หลอดลมอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลำไส้อักเสบ ฯลฯ (ราก, ทั้งต้น)
  37. ช่วยรักษาฝีบวม ฝีมีหนอง ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย และละลายน้ำส้มสายชูพอข้น ๆ แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี (ราก, ต้นสด, ทั้งต้น)
  38. ช่วยรักษาฝีฝักบัว ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 25 กรัม ใส่เหล้า 1 ขวด และน้ำ 1 ขวด แล้วนำมาต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำเอาน้ำมาชะล้างบริเวณหัวฝีที่แตก (ต้นสด)
  39. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แผลงูกัด (ทั้งต้น)
  40. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ (ใบสด)
  41. ช่วยรักษาบาดแผล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาทาแผล (ใบ)
  42. ช่วยแก้อาการเหน็บชา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัมและเต้าหู้ประมาณ 60-120 กรัม แล้วเติมน้ำพอประมาณ ใช้ตุ๋นรับประทาน (ต้นสด, ทั้งต้น)
  43. ช่วยแก้อาการปวดบวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  44. ช่วยคลายเส้น ด้วยการใช้รากนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม (ราก)
  45. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอวได้ หรือจะใช้รากต้มร่วมกับลุบลิบก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใบต้มกับน้ำดื่มร่วมกับเหงือกปลาหมอก็ได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
  46. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายกาย ด้วยการใช้รากต้มเป็นน้ำดื่ม หรือใช้ดองเหล้าดื่มผสมเข้ากับสมุนไพรกำลังเสือโคร่ง ม้ากระทืบโรงก็ได้เช่นกัน (ราก)
  47. รากใช้เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณช่วยเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยเอดส์ โดยประกอบด้วย โด่ไม่รู้ล้ม ม้ากระทืบโรง หงอนไก่อู และหงอนไก่แจ้ นำมาต้มเป็นน้ำดื่ม แต่ถ้าเป็นคนปกติดื่มแล้วจะช่วยบำรุงกำลัง (ราก)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม

  • โด่ไม่รู้ล้มมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อไวรัส ช่วยลดไข้ ลดอาการอักเสบ ช่วยต้านความเป็นพิษต่อตับ ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และช่วยกระตุ้นมดลูก

ข้อห้าม ! : ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ชอบดื่มของร้อน ไม่กระหายน้ำ มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง และปัสสาวะปริมาณมาก และมีชั้นฝ้าบนลิ้นขาวและหนา

ประโยชน์ของโด่ไม่รู้ล้ม

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้านเพื่อความสวยงาม
  • มีความเชื่อว่าการปลูกว่านโด่ไม่รู้ล้มไว้ประจำบ้านจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไรได้
  • สามารถนำไปแปรรูปเป็นยาสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โด่ไม่รู้ล้มผงสำเร็จรูป ยาดองเหล้าโด่ไม่รู้ล้ม ยาโด่ไม่รู้ล้ม โด่ไม่รู้ล้มแคปซูล เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สุภาวดี ภูมิมาลี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน), สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ 104

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ไทยเกษตรศาสตร์,  เว็บไซต์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด