โคโรค
โคโรค ชื่อสามัญ Ox-gallstone[1]
โค ชื่อวิทยาศาสตร์ Bos taurus domesticus Gmelin จัดอยู่ในวงศ์วัวและควาย (BOVIDAE)[1]
สมุนไพรโคโรค มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนิวหวง (จีนกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของโคโรค
- โคโรค หรือ นิ่วในถุงน้ำดีวัว ซึ่งมักจะเกิดกับวัวที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เมื่อเป็นนิ่วในถุงน้ำดี วัวจะมีรูปร่างผอม กินอาหารได้น้อย ดื่มน้ำมาก เดินไม่ค่อยมีแรง ผู้ที่มีความชำนาญจะสังเกตเห็นนิ่วในถุงน้ำดีมีรูปร่างและขนาดที่ต่างกันออกไป ซึ่งเราจะเรียกนิ่วในถุงน้ำดีของวัวนี้ว่า “โคโรค” ซึ่งโคโรคนี้เป็นสิ่งที่มีค่าและมีราคาแพงมาก (แพงกว่าตัววัว) และเนื่องจากโคโรคจากธรรมชาตินั้นมีน้อยและหาได้ยากยิ่ง เพื่อที่จะทดแทนโคโรคจากธรรมชาตินี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้นำเอาน้ำดีจากวัว แพะ และหมู มาทำเป็นโคโรคเทียมแทน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโคโรคธรรมชาติแล้วสรรพคุณก็ต่างกันมาก แต่ก็ยังสามารถใช้แทนกันได้อยู่ โดยใช้ในปริมาณที่มาก และนักวิทยาศาสตร์จีนก็ได้ทดลองวิจัยทำโคโรคในตัววัวได้สำเร็จ โดยใส่สารชนิดหนึ่งเข้าไปในถุงน้ำดีแล้วกระตุ้นให้น้ำดีหลั่งออกมามาก และจับบนผิวของสารที่เข้าไปนั้น หลังจากนั้น 1 ปีผ่านไปจึงค่อยผ่าเอานิ่วนั้นออกมา[3]
- โคโรค คือ หินนิ่วของสัตว์วัตถุ ซึ่งได้มาจากก้อนนิ่วที่เกิดอยู่ในถุงน้ำดีหรือตับของวัวหรือกระบือ บางครั้งวัวที่เป็นโรคไอก็จะมีเม็ดโคโรคนี้หลุดออกมา โดยเม็ดโคโรคนี้จะมีลักษณะรูปร่างที่ไม่แน่นอน มีทั้งรูปกลม รูปเหลี่ยม และรูปสี่เหลี่ยม แต่จะมีขนาดเล็ก มีขนาดเฉลี่ยของเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม ผิวหยาบมีรอยย่น บางส่วนจะมันเงา เกลี้ยง เนื้อกรอบแตกง่าย ถ้าตัดตามขวางจะพบว่าเนื้อในเป็นสีน้ำตาลเหลืองและเป็นชั้น ๆ เรียงกัน[1],[2]
สรรพคุณของโคโรค
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง[2]
- หินนิ่วหรือโคโรคมีรสขมชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาสงบจิต แก้อาการตกใจง่าย[1]
- ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้สูง ตัวร้อน ไข้หมดสติ และมีอาการเพ้อหรือพูดจาเพ้อเจ้อ ล้มบ้าหมู เด็กไข้สูงและมีอาการชัก หรือไข้ชักในเด็ก[1],[3]
- ใช้เป็นยาหยอดตารักษาตาเจ็บ ตาฟาง ตาแฉะ[2]
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ รักษาน้ำลายและเสมหะเหนียว แก้น้ำลายเหนียวติดลำคอ และใช้กินเป็นยารักษาเสมหะแห้ง[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้คออักเสบ แก้คอบวม คอเจ็บ รักษาลิ้นแสบปากเป็นแผล[1],[3]
- ใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ ดีซ่าน[1]
- ใช้รักษาฝีภายในและภายนอก[1]
- ใช้รักษาอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และมีการเปลี่ยนที่ไปมา (โรคนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดเป็นไข้หวัดใหญ่เรื้อรัง)[1],[2]
- ตำรับยาแก้ไข้ตัวร้อน และมีอาการเพ้อ ระบุให้ใช้โคโรค 0.75 กรัม, ชาดจอแส 5 กรัม , อุกกิม 6 กรัม, อึ้งงิ้ม 10 กรัม, กีกี้ 10 กรัม และอึ้งเน้ย 15 กรัม นำมาบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเม็ดละ 15 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง[1]
- ตำรับยาขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ลมชักในเด็ก ระบุให้ใช้โคโรค 0.35 กรัม, ชาดจอแส 0.2 กรัม, ยาแปะคังวู้ 0.5 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำรับประทาน[1]
- ตำรับยาแก้เจ็บคอ ลิ้นเป็นแผล ระบุให้ใช้โคโรค, ดินประสิว, ชะเอม, กีจี้, เซ็งมั๊ว อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง ใช้เป็นยาเป่าคอหรือใช้เป็นยาป้ายลิ้น[1]
ขนาดและวิธีใช้ : ให้ใช้ครั้งละ 0.2-0.4 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาผงทำเป็นยาลูกกลอนรับประทาน ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ผงที่บดได้นำมาทาหรือโรยแผล[1]
ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์และผู้ที่มีอาการกระเพาะอาหารม้ามเย็นพร่อง คือ มีอาการท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก รู้สึกเย็นท้อง หรือผู้ที่ไม่มีอาการร้อน เช่น เจ็บคอ คอแห้ง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโคโรค
- สารที่พบ ได้แก่ Bilirubin, Cholesterol, Cholic acid, Fatty acid, Lecithin, Taurine, Alanine, Aspartic acid, Arginine, Glycine, Methionine, Leucine, Vitamin D และพบแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุทองเหลือง เป็นต้น[1]
- โคโรคมีกรดโคลิก ซึ่งมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น[3]
- โคโรคมีฤทธิ์กระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดง เพราะในโคโรคมีวิตามินดี ซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ แต่หากรับประทานมากเกินไป จะมีผลทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้เป็นตัวเหลืองได้เช่นกัน เพราะเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย[1],[3]
- เมื่อนำหนูทดลองที่ปกติมาทำให้มีอาการตกใจ หรือให้หนูทดลองกินกาแฟหรือกินการบูรแล้วทำให้หัวใจของหนูเต้นเร็วขึ้น หลังจากนั้นนำสารสกัดจากโคโรคในอัตราส่วน 0.5 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มาให้หนูทดลองกินติดต่อกันเป็นเวลา 4-8 วัน วันละ 1 ครั้ง จะพบว่ามีผลทำให้หนูมีการสงบจิตได้และหัวใจของหนูก็เริ่มเต้นเป็นปกติด้วย[1]
ประโยชน์ของโคโรค
- โคโรคเป็นสินค้าที่มีราคาแพงมาก พวกคนจีนใต้จะมาขอซื้อจากคนที่ฆ่าวัวจากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อเอามาขายเป็นสินค้าทางยา[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โคโรค (ox-gall-stone)”. หน้า 170.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โคโรค”. หน้า 211.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 97 คอลัมน์ : อาหารสมุนไพร. (วิทิต วัณนาวิบูล). “วัว สัตว์ที่มนุษย์ยกย่อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Danny Sanchez)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)