โคลงเคลง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโคลงเคลง 24 ข้อ !

โคลงเคลง

โคลงเคลง ชื่อสามัญ Malabar gooseberry, Malabar melastome, Melastoma, Indian rhododendron, Singapore rhododendron , Straits rhododendron[1],[2],[3],[6]

โคลงเคลง ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melastoma malabathricum subsp. malabathricum) จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)[1],[2],[3],[6]

สมุนไพรโคลงเคลง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โคลงเคลงขี้นก โคลงเคลงขี้หมา (ตราด), มายะ (ชอง-ตราด), อ้า อ้าหลวง (ภาคเหนือ), เบร์ มะเหร มังเคร่ มังเร้ สาเร สำเร (ภาคใต้), ซิซะโพ๊ะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตาลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กะดูดุ กาดูโด๊ะ (มลายู-ปัตตานี), เหม่[4] เป็นต้น[1]

ลักษณะของโคลงเคลง

  • ต้นโคลงเคลง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย[6] โดยจัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการแยกกอ กระจายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยพันธุ์ไม้ในสกุลนี้ ในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 10 กว่าชนิด แต่สำหรับชนิดนี้จะพบขึ้นได้ตามที่ลุ่ม ในพื้นราบที่ชุ่มชื้น ขอบป่าพรุ ตลอดจนถึงบนภูเขาสูงทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[3],[4],[6]

รูปต้นโคลงเคลง

ต้นโคลงเคลง

  • ใบโคลงเคลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบและโคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างแข็ง ผิวใบมีเล็ดเล็กแหลม มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดกันที่ปลายใบประมาณ 3-5 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันไดและไม่มีหูใบ[1],[2],[3],[6]

ใบโคลงเคลง

  • ดอกโคลงเคลง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอมสีชมพู โดยทั่วไปดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ หรือมีกลีบ 4 กลีบ หรือ 6 กลีบก็มี ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีถ้วยรองดอกปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 10 ก้านเรียงเป็นวง 2 วง และมีรยางค์สีม่วงโค้งงอ ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน[1],[2],[3]

รูปดอกโคลงเคลง

ดอกโคลงเคลง

  • ผลโคลงเคลง ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ผลมีความยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก หรือผลมีเนื้อนุ่มอยู่หลายเมล็ด[1],[2],[3]

ผลโคลงเคลง

รูปผลโคลงเคลง

ลูกโคลงเคลง

สรรพคุณของโคลงเคลง

  1. ดอกเป็นยาระงับประสาท (ดอก)[3],[6]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[5]
  3. ช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)[5]
  4. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้มะเร็ง (ราก)[4]
  5. รากใช้ปรุงเป็นยาดับพิษไข้ (ราก)[3],[6]
  1. รากช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[2],[3],[6]
  2. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  3. ใบต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากใบ ใช้เป็นยากลั้วคอหรือยาบ้วนปาก เพื่อใช้แก้เชื้อราในช่องปากหรือลำคอ (ใบ)[1]
  4. ช่วยแก้คอพอก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  5. ใบต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากใบ ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด (ใบ)[1]
  6. ใช้เป็นยาแก้อาการถ่ายเป็นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  7. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[1]
  8. ดอกใช้เป็นยาห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร (ดอก)[3],[6]
  9. ใช้รักษาโรคระดูขาวของสตรี (ใบ)[1]
  10. ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคหนองในแท้) (ใบ)[1]
  11. ช่วยบำรุงตับ ไต และดี (ราก)[5]
  12. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ (ใบ)[1]
  13. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลที่เป็นหนองเพื่อไม่ให้มีแผลเป็น (ใบ)[1]
  14. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวด (ราก)[4]
  15. รากใช้เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[1]

ประโยชน์ของโคลงเคลง

  • ใบอ่อนใช้เป็นอาหาร รับประทานเป็นผักสดทั่วไป[3],[6]
  • ใบนำมาใช้รูดปลาไหล ช่วยขัดเมือกได้ดี[4]
  • ผลสุกใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมฝาด[3],[6]
  • ปัจจุบันต้นโคลงเคลงเริ่มได้รับความนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อตกแต่งในสวนหย่อม เนื่องจากมีทรงพุ่มและดอกที่สวยงาม[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โคลงเคลง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 106.
  2. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โคลงเคลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [20 ก.พ. 2014].
  3. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.  “โคลงเคลงขี้นก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kmitl.ac.th.  [20 ก.พ. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “เหม่ หรือ โคลงเคลง”.  (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [20 ก.พ. 2014].
  5. ท่องไทยแลนด์ดอทคอม.  “โคลงเคลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com.  [20 ก.พ. 2014].
  6. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “โคลงเคลงขี้นก”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th.  [20 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, *Sabine*, N-aida ismail, Shubhada Nikharge, Tony Rodd, Teo Siyang, Eric Hunt., andreas lambrianides)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด