โคกกระสุน
โคกกระสุน ชื่อสามัญ Bindii, Bullhead, Burra gokharu, Caltrop, Caltrops, Cat’s head, Devil’s eyelashes, Devil’s thorn, Devil’s weed, Goathead, Ground bur-nut, Small caltrops, Puncture vine, Puncturevine, Puncture weed, Tackweed[1],[3],[5]
โคกกระสุน ชื่อวิทยาศาสตร์ Tribulus terrestris L. จัดอยู่ในวงศ์โคกกระสุน (ZYGOPHYLLACEAE)[1]
สมุนไพรโคกกระสุน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนามกระสุน (ลำปาง), หนามดิน (ตาก), กาบินหนี (บางภาคเรียก), โคกกะสุน (ไทย), ชื่อจี๋ลี่ (จีนกลาง), ไป๋จี๋ลี่ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของโคกกระสุน
- ต้นโคกกระสุน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ถึง 160 เซนติเมตร เป็นพืชจำพวกหญ้าที่มีอายุได้ประมาณ 1 ปี แตกกิ่งก้านแผ่ออกโดยรอบปกคลุมไปตามพื้นดิน ชูส่วนปลายยอดและดอกตั้งขึ้นมา มีขนตามลำต้น ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วโดยใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทรายที่ค่อนข้างแห้ง มีการระบายน้ำดี เจริญงอกงามได้ดีในช่วงฤดูฝน เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามทางรถไฟ ตามที่รกร้าง ตามสวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ท้องนา และริมทางสาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางของประเทศ[1],[2],[3],[4]
- ใบโคกกระสุน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกขนาดเล็ก มีใบย่อยประมาณ 4-8 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ออกตามลำต้นและตามข้อ ออกเรียงแบบสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน มีหูใบเป็นรูปใบหอก[1],[2],[4]
- ดอกโคกกระสุน ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบหรือตามข้อของลำต้น ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบรองดอก 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่ปลายหอก มีสีเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ผลโคกกระสุน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เปลือกผลแข็งเป็นรูป 5 เหลี่ยม มีหนามแหลมใหญ่ 1 คู่ และมีหนามแหลมเล็ก ๆ ทั่วไป ผลจะแบ่งออกเป็น 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด ผลพอแห้งจะแตกออกได้[1],[4]
สรรพคุณของโคกกระสุน
- เมล็ดตากแห้งใช้ทำเป็นยาลูกกลอนกินบำรุงร่างกาย เชื่อว่าจะทำให้รู้สึกเป็นหนุ่มขึ้น มีกำลังวังชา หายเหนื่อยล้า และสำหรับผู้ที่อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง โดยใช้โคกกระสุน กำลังวัวเถลิง กำลังเสือโคร่ง และเครือเขาแกบมาต้มกิน (เมล็ด)[8]
- ทั้งต้นและผลมีรสขมเผ็ด เป็นยารสสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาแก้อาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ แก้ปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1],[4]
- ผลใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ตาแดง น้ำตาไหลมาก ด้วยการใช้ผลโคกกระสุน 15 กรัม, เก๊กฮวย 20 กรัม, ชุมเห็ดเทศ 30 กรัม และชะเอม 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ผลแห้งเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันโลหิต (ผล)[4],[7]
- ทั้งต้นมีรสเค็มขื่นเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ทับระดู (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ หลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยทำให้ตาสว่าง (ทั้งต้น)[4]
- ใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบในช่องปาก (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ด้วยการใช้รากนำมาฝนกับน้ำ แล้วนำมาถูกับฟันที่มีอาการปวด (ราก)[4]
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ผอมแห้ง (เมล็ด)[5] ทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวดหรือกะปริดกะปรอย หรือขุ่นข้น ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือมีเลือด)[1],[2],[3],[4],[5],[6] ส่วนตำรับยาแก้ปัสสาวะขัดอีกตำรับจะใช้โคกกระสุนทั้งต้นนำมาผสมกับหญ้าแพรกทั้งต้น อ้อยดำทั้งต้น และแห้วหมูทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำ 3 ส่วน เอา 1 ส่วน ใช้กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ทั้งต้น)[8] นอกจากนี้ ผลก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้นิ่วได้ด้วยเช่นกัน (ผล)[5]
- ใช้เป็นยาขับระดูขาวของสตรี (ผลแห้ง, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[6],[7]
- ผลแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ผลแห้ง)[7]
- ใช้เป็นยารักษาหนองใน (ผลแห้ง, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[6],[7]
- ใช้เป็นยาระงับน้ำกามเคลื่อน (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ช่วยกระตุ้นกำหนัด ส่งเสริมระบบสืบพันธุ์ ช่วยบำรุงน้ำอสุจิของเพศชาย ด้วยการใช้เมล็ดแก่นำมาตากให้แห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้กินครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา โดยกินกับน้ำผึ้งวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น (เมล็ด)[8]
- ผลแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงตับ ไต กระดูก และสายตา (ผลแห้ง)[7] หรือจะใช้ทั้งต้นจำนวน 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว แล้วต้มให้เหลือ 1 แก้ว กรองเอาแต่น้ำยามาดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็นก็ได้เป็นยาบำรุงไต (ทั้งต้น)[7]
- ใช้เป็นยากระจายลมในตับ กล่อมตับ (ทั้งต้น)[4]
- ใช้เป็นยารักษาโรคไตพิการ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ และมักจะมีอาการท้องอืด กินอาหารไม่ได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5],[6]
- ผลใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผล)[5]
- ใช้เป็นยาขับลมในใต้ผิวหนัง แก้คันตามตัว แก้ผดผื่นคัน และลมพิษ (ทั้งต้น)[4]
- ตำรับยาแก้ผดผื่นคัน ระบุให้ใช้ต้นแห้ง 100-120 กรัม, เมล็ดปอ 60 กรัม, ดอกสายน้ำผึ้ง 40 กรัม และคราบจักจั่น 30 กรัม นำมาบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนรับประทาน (ต้น)[4]
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ด้วยการใช้โคกกระสุนทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว จนเหลือ 1 แก้ว แล้วกรองเอาแต่น้ำยามาดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น (ทั้งต้น)[8]
- ผลแห้งใช้ต้มกับน้ำเป็นยาช่วยป้องกันอาการชักบางประเภทได้ (ผลแห้ง) [7]
- นอกจากนี้โคกกระสุนยังจัดอยู่ในตำรับยาแก้กษัยอีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [9]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [4] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หรือใช้ทำเป็นยาเม็ดหรือยาผงรับประทานก็ได้ ส่วนต้นสดให้ใช้ประมาณ 10-20 กรัม แต่หากนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น[4]
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีเลือดน้อย เป็นโลหิตจาง มีพลังหย่อน สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ และควรระวังในการใช้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากสารสกัดได้มีโพแทสเซียมสูง ทำให้หัวใจเต้นเร็วและอาจทำให้หัวใจวายได้[4],[9]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโคกกระสุน
- สารที่พบ ได้แก่ สารจำพวก Flavonoid glycoside, Kaempferitrin, Kaempferide, Kaempferol-3-glucoside, Tribuloside, Potassium เมล็ดพบสาร Harman, Harmine ใบและรากพบ Alkaloid, Diosgenin, Gitogenin, Chlorogenin Harmol เป็นต้น[4]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่วในไต ลดการอักเสบ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย[5]
- เมื่อใช้สารจากโคกกระสุนที่สกัดได้ด้วยแอลกอฮอล์ นำมาทดลองในสัตว์พบว่า สามารถลดความดันโลหิตของสัตว์ทดลองได้เล็กน้อย[4]
- สารที่สกัดได้จากโคกกระสุนด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาที่ต้มได้จากโคกกระสุน มีฤทธิ์เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ และยับยั้งอาการหืดหอบได้ โดยเฉพาะกับการรักษาอาการไอจะมีประสิทธิภาพการรักษาดีมาก[4]
- ยาชงจากทั้งต้นมีฤทธิ์เพิ่มปริมาณของปัสสาวะ ในคนที่มีสุขภาพปกติจะพบว่ามีฤทธิ์ขับปัสสาวะและทำให้สูญเสียเกลือแร่น้อยกว่ายาขับปัสสาวะไฮโดรคลอโรไทอาไซด์[6]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการฉีดสารสกัดจากต้นด้วย 95% เอทานอล เข้าช่องท้องของหนูขาว แล้วทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่ง คือ 56.42 กรัมต่อกิโลกรัม[5]
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ประเทศจีน ได้ทดลองในกระต่ายจำนวน 50 ตัว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยให้อาหารแก่กระต่ายเพื่อให้กระต่ายอ้วนนาน 4 สัปดาห์ และกระต่ายกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 ให้สารสกัดโคกกระสุนในขนาดต่ำ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ให้สารสกัดโคกกระสุนในขนาดสูง ภายหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ ตรวจระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในกระต่าย พบว่ากระต่ายกลุ่มที่ 2 และ 3 มีระดับไขมันในเลือดลดลง P < 0.05[5]
ประโยชน์ของโคกกระสุน
- โคกกระสุนในวงการกีฬา สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักกีฬาได้ อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายในการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬา ทำให้นักกีฬามีศักยภาพของร่างกายที่พร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬามากขึ้น[9]
- ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเจริญพันธุ์ทั้งเพศชายและเพศหญิง ช่วยให้รอบการตกไข่ของผู้หญิงเป็นปกติ ซึ่งนำไปสู่การช่วยทำให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น ช่วยลดอาการก่อนและระหว่างมีประจำเดือนของผู้หญิง ช่วยให้อาการวัยทองในผู้หญิงลดลง ช่วยลดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับให้ลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย ช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศทั้งชายและหญิง จากการศึกษาวิจัย โดยให้อาสาสมัครชายทดลองใช้โคกกระสุน 750 มิลลิกรัมติดต่อกัน 5 วัน ผลการทดลองพบว่า ระดับเทสโทสเตอโรนของทุกคนเพิ่มสูงขึ้น และผลการทดลองยังพบว่าโคกกระสุนมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้อสุจิเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มจำนวนสารคัดหลั่งและกระตุ้นความตื่นตัวทางเพศ[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “โคกกระสุน (Kok Kra Sun)”. หน้า 85.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โคกกระสุน”. หน้า 105.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โคกกะสุน,โคกกระสุน”. หน้า 206.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โคกกระสุน”. หน้า 166.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หนามกระสุน” หน้า 193.
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หนามกระสุน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [11 ม.ค. 2015].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไพร มัทธวรัตน์). “โคกกระสุน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [11 ม.ค. 2015].
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “โคกกระสุน เจ็บแท้ แต่เพิ่มกระสุน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [11 ม.ค. 2015].
- กรีนคลินิก. “หนามกระสุน (Tribulus terrestris)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [11 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Sue Carnahan, Bernard DUPONT, Howard Clark, Ido Kron, Russell Cumming)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)