โกฐเขมา
โกฐเขมา ชื่อสามัญ Atractylodes[4], Atractylis[2]
โกฐเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Atractylodes lancea (Thunb.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Atractylodes lyrata Siebold & Zucc., Atractylis chinensis (Bunge) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรโกฐเขมา มีชื่อเรียกอื่นว่า โกฐหอม (ไทย), ชางตุ๊ก ซังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว), ชางซู่ ชางจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของโกฐเขมา
- ต้นโกฐเขมา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 30-100 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นร่อง ลำต้นขึ้นเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ไม่แตกกิ่งก้านสาขาหรือแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย เหง้าทอดนอนหรือตั้งขึ้น มีรากพิเศษขนาดเท่า ๆ กันจำนวนมาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย มักขึ้นตามทุ่งหญ้าในป่าและตามซอกหิน มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนและแมนจูเรีย ในมณฑลเจ้อเจียง เจียงซี เจียงซู ซานตงเสฉวน เหอหนาน หูเป่ย อันฮุย ฯลฯ โดยแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดคือ มณฑลหูเป่ย ส่วนแหล่งที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ โกฐเขมาจากมณฑลเหอหนาน พืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่หลากหลายทั้งบนเขา หุบเขา หรือที่ราบเขา ต้องการชั้นดินที่หนาและลึก ชอบดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง และจะเจริญเติบโตได้ดีมากในบริเวณพื้นดินที่ไม่สูงนักและเป็นดินร่วนปนทราย มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปี[1],[3],[4]
- ใบโกฐเขมา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ลักษณะของใบมีหลายรูปแบบหรือเป็นรูปหอก ขอบใบมีขนครุยหรือหยักเป็นฟันเลื่อย ใบบริเวณกลางต้นมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบ หรือรูปใบหอกกลับ ส่วนใบบริเวณใกล้โคนต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ขอบใบเรียบหรือหยักแบบขนนก 3-5 แฉก แฉกปลายเป็นรูปกลม รูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ส่วนแฉกข้างเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรี ก้านใบสั้น หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีคราบสีขาวเกาะอยู่[1],[4]
- ดอกโกฐเขมา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่ง ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ วงใบประดับซ้อนกันแน่นเป็นรูประฆัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบประดับมีประมาณ 5-7 แถว ขอบมีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย ปลายใบ โดยใบประดับวงในจะมีลักษณะเป็นรูปรีถึงรูปแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร ส่วนใบประดับกลางจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรีหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และใบประดับที่อยู่วงนอกจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ปลายใบประดับในสุดอาจมีสีแดง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกเพศเมียที่มีเกสรเพศผู้ลดรูป กลีบเลี้ยงเป็นขนสีน้ำตาลถึงขาวหม่น มี 1 แถว โคนติดกันเป็นวง ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร ปลายเป็นหยัก 5 หยัก เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดที่หลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียจะสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นสามเหลี่ยม มีขนนุ่ม เกสรเพศเมียจะแยกเป็น 2 แฉก[1],[4]
- ผลโกฐเขมา ผลเป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม[4]
- เหง้าโกฐเขมา เหง้ามีลักษณะค่อนข้างกลมหรือยาวเป็นรูปทรงกระบอก หรืออาจมีแง่งยาวแยกออกไปบ้าง มีความยาวได้ประมาณ 3-10 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวมีลักษณะขรุขระ เป็นปุ่มปม เปลือกนอกคล้ายผิวมะกรูด มีสีน้ำตาลอมเทา สีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีรอยย่นและรอยบิดตามขวาง เนื้อในแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวขุ่นที่เนื้อใน และมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปรายทั่วไป มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานอมขมเล็กน้อย และเผ็ดร้อน โดยเหง้าใต้ดินนี้จะเรียกว่า “โกฐเขมา” เมื่อนำมาดองกับเหล้าจะทำให้ยาดองเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม[1],[3],[4]
หมายเหตุ : ในวงศ์ของโกฐเขมา จะมีหลายพันธุ์ เช่น Atractylodes lancea Sieb .et Zucc., A. ovata DC., A. chinensis DC. ซึ่งเหล่านี้เป็นตระกูลเดียวกันแต่จะต่างพันธุ์กัน ส่วนมากพบทางภาคเหนือของประเทศจีน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]
สรรพคุณของโกฐเขมา
- เหง้าโกฐเขมามีรสเผ็ดขมหอม เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร[1],[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง แก้ลมตะกัง[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้หอบหืด ช่วยระงับอาการหอบคล้ายยาอีเฟรดริน[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยขับเสมหะ ขับพิษเสมหะ[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคในปากในคอ โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย[2],[3],[4]
- เหง้าใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้นในกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกแน่น ช่วยย่อยอาหารในกระเพาะ และช่วยแก้เสียดแทงสองราวข้าว[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง[1],[3]
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคัน[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคเข้าข้อ แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ[3],[4]
- สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน ระบุว่า โกฐเขมานั้นมีฤทธิ์ขับลมและความชื้น, แก้ความชื้นกระทบส่วนกลาง (เบื่ออาหาร อาเจียน อึดอัดลิ้นปี่ จุกเสียด ท้องเสีย), ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดจากลมเย็นหรือความชื้น (จับไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว), ช่วยเสริมระบบการย่อยอาหาร และแก้อาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ[5]
- แพทย์แผนโบราณของจีนจะนิยมใช้โกฐเขมามาก ใช้เข้ายาจีนหลายขนาน ตำรายาจีนจะใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้ปวดข้อเนื่องจากข้ออักเสบ แก้อาการบวม (โดยเฉพาะอาการบวมที่ขา) แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน โดยใช้ในขนาดประมาณ 3-9 กรัม[3],[4] นอกจากนี้ยังใช้โกฐเขมาเข้ากับยาอีกหลายตัว เป็นตำรายาแก้ตับอักเสบด้วย[1]
- ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐเขมารวม 2 ตำรับ คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีส่วนประกอบของโกฐเขมาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง และในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบอาหาร มีปรากฏการใช้โกฐเขมาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ช่วยแก้อาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ[3]
- โกฐเขมาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐเขมานั้นจัดอยู่ใน “โกฐทั้งห้า” (เบญจโกฐ), “โกฐทั้งเจ็ด” (สัตตโกฐ) และ “โกฐทั้งเก้า” (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก[3],[4]
ขนาดและวิธีใช้ ให้ใช้เหง้าครั้งละ 5-12 กรัม นำมาต้มกิน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[1]
การเตรียมตัวยาโกฐเขมาให้พร้อมใช้
- วิธีที่ 1 โกฐเขมาแห้ง เตรียมโดยการนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาแช่ในน้ำสักครู่ ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม นำมาหั่นเป็นแว่นหนา ๆ แล้วนำไปทำให้แห้ง[5]
- วิธีที่ 2 โกฐเขมาผัดเกรียม จะมีรสเผ็ด มีฤทธิ์ช่วยให้การทำงานของลำไส้แข็งแรง แก้ท้องเสีย ช่วยรักษาอาการท้องเสียเนื่องจากม้ามพร่อง และโรคบิดเรื้อรัง ให้เตรียมโดยการนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 นำมาใส่ในกระทะ ผัดโดยใช้ไฟปานกลางจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีน้ำตาลไหม้ จากนั้นพรมน้ำเล็กน้อย แล้วผัดต่อโดยใช้ไฟอ่อน ๆ จนตัวยาแห้ง แล้วนำออกจากเตาและทิ้งไว้ให้เย็น เสร็จแล้วก็ร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก[5]
- วิธีที่ 3 โกฐเขมาผัดรำข้าวสาลี จะช่วยเพิ่มฤทธิ์ให้การทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารดีขึ้น ช่วยรักษาอาการของม้ามและกระเพาะอาหารทำงานไม่สัมพันธ์กัน แก้เสมหะเหนียวหนืด แก้ต้อหิน และแก้โรคตาบอดกลางคืน ให้เตรียมโดยนำรำข้าวสาลีมาใส่ลงในภาชนะที่เหมาะสม ให้ความร้อนโดยใช้ไฟปานกลางจนกระทั่งมีควันออกมา ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ลงไป แล้วคนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม จากนั้นนำออกจากเตา แล้วร่อนเอารำข้าวสาลีออกและตั้งทิ้งไว้ให้เย็น[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐเขมา
- เหง้าโกฐเขมามีองค์ประกอบเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 3.5-5.6% ในน้ำมันระเหยง่ายจะประกอบไปด้วยสารสำคัญ คือ Atractylon, Atractylodin, β-Eudesmol, Elemol, Hinesol, สารกลุ่ม Polyacetylene, Coumarin และยังพบวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี และกลูโคส เป็นต้น[1],[3],[4]
- โกฐเขมา มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดอุณหภูมิกาย ลดความดันโลหิต[3]
- เมื่อนำน้ำต้มของโกฐเขมามาป้อนให้กระต่ายเป็นเวลา 10 วัน พบว่าน้ำตาลในเลือดของกระต่ายลดลง เมื่อหยุดยาก็ไม่พบว่าน้ำตาลในเส้นเลือดของกระต่ายจะเพิ่มขึ้น[1]
- เมื่อนำน้ำที่ได้จากการต้มโกฐเขมา มาฉีดเข้าหัวใจของคางคก ก็พบว่าการเต้นของหัวใจอ่อนลง หรือฉีดยาเข้าเส้นเลือดใหญ่ของคางคก พบว่าเส้นเลือดของคางคกจะมีการขยายตัวเล็กน้อย[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเหง้าโกฐเขมาด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 1,786 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐเขมา”. หน้า 102.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐเขมา Atractylis”. หน้า 217.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [11 มิ.ย. 2015].
- บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐเขมา”. หน้า 51-54.
- เพจบ้านสุขภาพดี คลินิกแพทย์แผนไทย. “โกฐเขมา: Cangzhu (苍术)”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by qooh88), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)