โกฐสอ สรรพคุณและประโยชน์ของรากโกฐสอ 20 ข้อ !

โกฐสอ

โกฐสอ ชื่อสามัญ Dahurian angelica[5]

โกฐสอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Angelica macrocarpa H.Wolff, Angelica porphyrocaulis Nakai & Kitag., Callisace dahurica Hoffm.) (ของจีน)[1],[3], Angelica sylvestris L. (ของอินเดีย)[1] จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]

สมุนไพรโกฐสอ มีชื่ออื่น ๆ ว่า แปะจี้ แป๊ะลี้ (จีนแต้จิ๋ว), ไป๋จื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

หมายเหตุ : บางข้อมูลหนึ่งระบุว่า โกฐสอนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav. (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเหอหนาน), Angelica dahurica var. formosana (Boissieu) Yen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica var. formosana (H. Boissieu) Shan & Yuan) (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเจ้อเจียง) และชนิด Angelica anomala Avé-Lall. (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเสฉวน)[5]

ลักษณะของโกฐสอ

  • ต้นโกฐสอ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงอวบสั้น โคนต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย ส่วนรากมีลักษณะอวบใหญ่เป็นรูปกรวยยาว ไล่ลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก เนื้อแน่นแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น อาจมีแยกแขนงที่ปลาย มีกลิ่นหอมฉุน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย พบขึ้นตามภูเขาสูงและชื้น ในหุบเขา ริมน้ำ และตามชายป่า ชอบอากาศอบอุ่น แต่สามารถทนความหนาวเย็นได้ หากปลูกในที่ซึ่งมีอากาศเย็นจะเจริญเติบโตช้า โดยทั่วไปจะปลูกได้ผลดีบนที่ราบบนเขาเล็ก ๆ ที่ติดต่อกันเป็นแนวยาว และโกฐสอยังชอบแสงแดด ชอบบริเวณที่มีดินหนาและลึก ดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี โดยทั่วไปนิยมใช้ดินปนทราย[4],[5]

ต้นโกฐสอ

  • ใบโกฐสอ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร ก้านใบนั้นยาว โคนใบแผ่เป็นกาบ ส่วนใบย่อยไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นรูปรีแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเป็นครีบเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ใบตอนบนจะลดรูปเป็นกาบ[5]

ใบโกฐสอ

ภาพโกฐสอ

  • ดอกโกฐสอ ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ โดยจะออกตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว ใบประดับไม่เกิน 2 ใบ คล้ายกาบหุ้มช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่ โดยทั่วไปมักมีช่อประมาณ 18-40 ช่อ มีขนสั้น ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[5]

ดอกโกฐสอ

  • ผลโกฐสอ ผลเป็นแบบผลแห้งแยก ลักษณะของผลเป็นรูปรีกว้าง ด้านล่างแบนราบ สันด้านล่างหนากว่าร่อง ส่วนสันด้านข้างจะแผ่เป็นปีกกว้าง ตามร่องจะมีท่อน้ำมัน จะติดผลในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[5]

ผลโกฐสอ

เมล็ดโกฐสอ

  • รากโกฐสอ เครื่องยาชนิดนี้จะมีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด แต่จะมีขนาดเล็กกว่าและแข็งกว่ามาก โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีขนาดต่าง ๆ ผิวสีน้ำตาล มีรอยย่นและมีสัน ที่เปลือกมีประที่มีชันอยู่ เนื้อด้านในเป็นสีขาวนวล มีจุดเล็ก ๆ ซึ่งเป็นชันหรือน้ำมันระเหยง่าย จึงทำให้มีกลิ่นหอม ส่วนรสชาติจะเผ็ดร้อนและขม ซึ่งส่วนของรากแห้งนี้เองจะถูกนำมาใช้ทำยาที่เรียกว่า “โกฐสอ” (คำว่า “สอ” ในภาษาเขมรแปลว่า ขาว)[2],[5]

รากโกฐสอ

สมุนไพรโกฐสอ

สรรพคุณของโกฐสอ

  1. รากมีรสเผ็ด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อธาตุ ม้าม และปอด ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (ราก)[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ โดยเฉพาะการปวดศีรษะบนกระดูกช่วงคิ้วหรือบริเวณหน้าผาก รวมทั้งช่วยแก้อาการปวดฟัน (ราก)[1],[3],[5]
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไซนัส จมูกอักเสบ โดยตำรับยารักษาจมูกอักเสบหรือไซนัส จะใช้โกฐสอ 10 กรัม, อึ่งงิ้ม 10 กรัม, ซิงอี๊ 10 กรัม, ซังหยือจี้ 8 กรัม และกัวกึ้งอีก 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเช้าเย็น 3-5 เทียบ จะเห็นผลได้ดีขึ้น (ราก)[1],[3],[5]
  4. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกโดยเตรียมเป็นยานัตถุ์ (ราก)[3]
  5. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ แก้หืด ในจีนนิยมใช้ยานี้มานานแล้ว โดยมักใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดคัดจมูก (ราก)[2],[3],[5]
  1. รากใช้เป็นยาแก้สะอึก แก้เสมหะเป็นพิษ แก้หลอดลมอักเสบ (ราก)[3]
  2. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น (ราก)[2],[3],[5]
  3. ใช้เป็นยาขับลม (ราก)[1]
  4. จีนถือว่าโกฐสอเป็นยาเฉพาะสตรี จึงใช้ยานี้เป็นยาเกี่ยวกับระดู เช่น ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ราก)[1],[3],[5]
  5. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ริดสีดวงทวารมีเลือด (ราก)[1],[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้อาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาการบวม (ราก)[1],[3],[5]
  7. ใช้เป็นยาขับฝีมีหนอง ทำให้หนองแห้ง ช่วยสร้างเนื้อเยื่อให้แผลหายเร็ว (ราก)[1]
  8. ใช้เป็นยาแก้ปวด บวมแดง (ราก)[1],[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้ปวดกระดูกสันหลังขึ้นหัว ด้วยการใช้โกฐสอ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง จากคนไข้จำนวน 69 ราย พบว่าหายเป็นปกติ 65 คน อีก 3 คน มีอาการดีขึ้น ส่วนอีก 1 คนไม่ได้ผล (ราก)[1]
  10. ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐสอในหลายตำรับด้วยกัน คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง, ยาแก้ไข้ มีปรากฏในตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” และ “ยาแก้ไขห้าราก” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู และในยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร โดยมีปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และในตำรับ “ยาประสะกานพลู” ที่เป็นตำรับยาช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ (ราก)[4]
  11. โกฐสอยังมีปรากฏในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ในตำรับ “ยาจิตรการิยพิจรูญ” ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรรวม 25 อย่าง รวมทั้งโกฐสอด้วย โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด ไอ ท้องรุ้งพุงมาน จุกกระผามม้ามเรื้อยหรืออาการม้ามโต มองคร่อ แก้ริดสีดวงผอมเหลือง แก้ลมอัมพาต และลมอื่น ๆ ทั้งหลาย (ราก)[4]
  12. ในตำรับยาสมุนไพรล้านนา ตำรับ “ยาเม็ดขี้กระต่าย” จะประกอบไปด้วยโกฐสอและสมุนไพรอื่น ๆ อีก คือ บอระเพ็ด, บัวบก, เกสรบัว 6 อย่าง, เทียนดำ และเทียนแดงอย่างละเท่ากัน ตำรับยานี้จะมีรสขม ใช้รักษาโรคเลือดเป็นพิษ หัด สุกใสและแก้ร้อนใน (ราก)[4]
  13. โกฐสอยังเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยอีกหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ), โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ), โกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) มีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ แก้สะอึก ขับลม ช่วยชูกำลัง บำรุงเลือด และบำรุงกระดูก (ราก)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-15 กรัม ต่อ 1 ครั้ง หรือใช้ตามตำรายาที่กำหนดให้ ส่วนการนำมาใช้ภายนอก ให้นำโกฐสอมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาหรือพอกบริเวณที่บวมจะทำให้ยุบลง[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐสอ

  • สารที่พบในโกฐสอ ได้แก่ Angelicotoxin anomalin Byak-angelicin (มีประสิทธิภาพทำให้หลอดเลือดหัวใจขยาย), Imperatorin, Oxypevcedanin เป็นต้น สารเหล่านี้จะไปกระตุ้นกระดูกสันหลัง หากใช้มากเกินขนาดจะทำให้ร่างกายบางส่วนมีความรู้สึกชา แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะไปช่วยกระตุ้นประสาททางจมูก ทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกหดตัว เป็นผลให้หายใจได้คล่อง อีกทั้งยังพบสาร Byak-angelicol phellopterin เป็นต้น [1]
  • ส่วนอีกข้อมูลนั้นระบุว่า องค์ประกอบทางเคมีของโกฐสอนั้นจะมีสารในกลุ่ม coumarins ประเภท furacoumarins หลายชนิด เช่น byak-angelicin, byak-angelicol, imperatorin, isoimperatorin, oxypeucedanin, phellopterin สารในกลุ่ม polyacetylenic, ferulic acid นอกจากนี้ยังมีสาร marmecin และ scopoletin[4],[5]
  • โกฐสอ สามารถต้านเชื้อ Columbacillus ในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ได้ และยังต่อต้านเชื้ออะมีบาที่เป็นสาเหตุของโรคบิด ยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไทฟอยด์และโรคอหิวาตกโรค และน้ำต้มของโกฐสอ สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ด้วย[1]
  • สารที่เป็นพิษของโกฐสอ คือ สาร Angelicotoxin เมื่อใช้ในจำนวนน้อย จะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทกระดูกสันหลังส่วนกลางและประสาทควบคุมการทำงานของเส้นเลือดในกระดูกสันหลัง จึงสามารถเพิ่มการหายใจให้ลึกขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ชีพจรกลับเต้นช้าลง อีกทั้งยังมีบทบาทในการไปกระตุ้นไขสันหลัง แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการกระตุกเป็นพัก ๆ อย่างแรง จนในที่สุดจะเกิดความรู้สึกชาไปทั้งตัว[1]
  • มีรายงานวิจัยพบว่า โกฐสอนั้นมีฤทธิ์คลายความกังวล ป้องกันสมองเสื่อม มีฤทธิ์ทำให้หลับ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านการก่อเกิดเนื้องอก มีฤทธิ์ต้านการเต้นผิดปกติของหัวใจหนู มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ต้านการอักเสบ ปกป้องตับ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ฯลฯ[4]

ประโยชน์ของโกฐสอ

  • ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าหลายชนิด[3],[5]
  • คนจีนที่ต้มน้ำเลี่ยงจุ๊ยขายมักจะใส่โกฐสอลงไปด้วย[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐสอ”.  หน้า 110.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐสอ”.  หน้า 216.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐสอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [09 มิ.ย. 2015].
  4. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย.  (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร).  “โกฐสอ”.  หน้า 42-46.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Joel Abroad, judymonkey17, Alicia-C, Foggy Forest), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด