โกฐกระดูก สรรพคุณและประโยชน์ของรากโกฐกระดูก 15 ข้อ !

โกฐกระดูก

โกฐกระดูก ชื่อสามัญ Costus[2],[3]

โกฐกระดูก ชื่อวิทยาศาสตร์ Aucklandia lappa DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Saussurea lappa (Decne.) C.B.Clarke) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[5]

สมุนไพรโกฐกระดูก มีชื่อเรียกอื่นว่า บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว), มู่เชียง มู่เซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของโกฐกระดูก

  • ต้นโกฐกระดูก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็กและมีขนขึ้นปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้านสาขา[1],[3]

ต้นโกฐกระดูก

  • ใบโกฐกระดูก ใบมีขนาดใหญ่ เป็นใบเดี่ยวคล้ายรูปสามเหลี่ยม โคนใบเว้าเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยลักษณะคล้ายหนาม หน้าใบเป็นสีเขียวและมีขนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อนอมเหลือง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ก้านใบยาว[1]

ใบโกฐกระดูก

  • ดอกโกฐกระดูก ดอกเป็นสีม่วงเข้ม โดยจะออกติดกับโคนใบ ก้านดอกยาวประมาณ 30-100 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยม ๆ เล็ก ๆ ในดอกหนึ่งจะมีกลีบดอก 10 ชั้น เป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกยาวประมาณ 9-25 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ลักษณะคล้ายดอกบานไม่รู้โรย ดอกขาว ดอกสีม่วงเข้ม เป็นดอกเดี่ยว[1]

ดอกโกฐกระดูก

  • ผลโกฐกระดูก ผลมีลักษณะเป็นเส้นแบน ยาว 6 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออก[1]
  • โกฐกระดูก คือส่วนของรากที่นำมาใช้เป็นยาและเรียกว่า “โกฐกระดูก” โดยจะเป็นรากสะสมอาหารที่มีขนาดใหญ่ รากเป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมยาวเป็นรูปกระสวย คล้ายกระดูก เนื้อแข็ง มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเทา หรือเป็นสีน้ำตาลไหม้ มีรอยย่นชัดเจนและมีร่องตามยาว ผิวนอกมีร่องไขว้ไปมาคล้ายร่างแห ส่วนด้านข้างมีรอยแผลเป็นรากแขนง เนื้อแข็งและหักยาก รอยหักเป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม พบรากแขนงบ้างเล็กน้อย เมื่อนำมาผ่าตามแนวขวาง เนื้อในรากจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนนอกที่บางกว่า และส่วนในที่เป็นเนื้อราก ซึ่งจะมีสีจางกว่า วงแคมเบียมสีน้ำตาล และมีลายเส้นตามแนวรัศมี ส่วนเนื้อตรงกลางจะยุบตัวลงและมีรูพรุน ตามตำรายาไทยว่ามีรสขม หวาน มัน มีกลิ่นหอมเฉพาะ (ตำรายาโบราณบางเล่มก็เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “โกฐหอม” เนื่องมาจากมีกลิ่นหอมที่ชวนดม)[1],[5]

รากโกฐกระดูก

สมุนไพรโกฐกระดูก

รูปโกฐกระดูก

สรรพคุณของโกฐกระดูก

  1. รากโกฐกระดูกมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม เป็นยาสุขุมออกฤทธิ์ต่อปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และตับ[1] ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ราก)[2]
  2. ใช้เป็นยาไขมันในเลือด[4] ลดน้ำตาลในเลือด (ราก)[3]
  3. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น
  4. ช่วยบำรุงกระดูก (ราก)[5]
  5. ใช้เป็นยาแก้โรคโลหิตจาง (เปลือกราก)[3]
  6. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ตำรายาไทยใช้รากปรุงเป็นยาหอมรับประทานแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ขับลมในลำไส้ และแก้โรคโลหิตจาง (ราก, เปลือกราก)[3],[5]
  1. ใช้เป็นยาแก้อาเจียน (ราก)[1],[2]
  2. รากใช้เป็นยาแก้เสมหะและลม ใช้แก้หืดหอบ แก้ลมในกองเสมหะ (ราก)[3],[5]
  3. ช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้บีบตัว ทำให้น้ำย่อยของกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงสามารถนำมาใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยในการย่อยอาหารได้ อีกทั้งยังช่วยแก้อาการจุกเสียด จุกเสียดแน่นท้อง และยังช่วยขับลมชื้นได้ด้วย ตำรับยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จะใช้โกฐกระดูก 10 กรัม, โกฐเขมาขาว 10 กรัม และเปลือกส้ม 8 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1],[2] ส่วนเปลือกรากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในลำไส้เช่นกัน (เปลือกราก)[3]
  4. รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดกระเพาะ ตำรับยาแก้ปวดกระเพาะจะใช้โกฐกระดูก 30 กรัม, ดีปลี 30 กรัม, ข่าลิง 30 กรัม, หนังกระเพาะไก่ 30 กรัม, ส้มมือ 15 กรัม, อบเชย 8 กรัม, ลิ้นทะเล 100 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 8 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง ส่วนตำรับยาแก้อาการปวดท้องของโรคบิด จะใช้โกฐกระดูก 10 กรัม และฟ้าทะลายโจร 10 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ชงกับน้ำรับประทาน (ราก)[1]
  5. ผงจากรากโกฐกระดูก สามารถนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่และฆ่าเชื้อไทฟอยด์ (ราก)[1]
  6. ใช้เป็นยาแก้ปวด (ราก)[5]
  7. ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้สมุนไพรโกฐกระดูกในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม โดยมีปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของโกฐกระดูกอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้อาการหน้ามืด ตาลาย แก้ลมวิงเวียน ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง และมีปรากฏในยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ในตำรับ “ยาประสะกานพลู” ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย อันเนื่องมาจากธาตุไม่ปกติ[5]
  8. โกฐกระดูกเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐกระดูกนั้นจัดอยู่ใน “โกฐทั้งห้า” (เบญจโกฐ), “โกฐทั้งเจ็ด” (สัตตโกฐ) และ “โกฐทั้งเก้า” (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก[5]
  9. นอกจากนี้ในตำรายาไทยยังมีการนำโกฐกระดูกมาใช้ในอีกหลายตำรับ เช่น ตำรับยา “พิกัดสัตตะปะระเมหะ” (เป็นตำรับยาที่มีการจำกัดจำนวนตัวยาแก้เสมหะที่มีกลิ่น 7 อย่าง คือ โกฐกระดูก, ลูกกระวาน, ผลรักเทศ, ตรีผลาวะสัง, ต้นก้นปิด และต้นตำแย่ทั้ง 2) ที่มีสรรพคุณเป็นยาชำระมลทินโทษให้ตกไป ช่วยชำระเมือกมันในลำไส้ และแก้อุจจาระธาตุลามก, ในตำรับยา “พิกัดตรีทิพย์รส” (เป็นการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง ได้แก่ โกฐกระดูก เนื้อไม้กฤษณา และอบเชยไทย) ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ และช่วยแก้ลมในกองเสมหะ[5]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ในขนาด 3-10 กรัม ต่อ 1 ครั้ง หรือตามที่ต้องการ[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ในขนาด 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก ต้มกับน้ำร้อนนาน 30 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐกระดูก

  • ในรากโกฐกระดูกพบว่ามีน้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 0.3-3%, ยางไม้ 6%, Saussurine, กลูโคลิน ส่วนในน้ำมันจะพบ Aplotaxene, Costen, Costus Lactone, Costus acid และ Phellaudrene เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารสำคัญที่พบได้แก่ alantolactone, amyrine stearate, amorphenic acid, balanophorine, arbusculin B, betulin, buttric acid, camphene, caproic, cedrol, costal, costene, costic acid, elemol, friedelin, inulin, humulene, octanoic acid, phellandrene, picriside B, saussureal, saussureamine A,B,C,D, sitosterol, selinene, stigmasterol, syringin[3]
  • จากการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าสมุนไพรโกฐกระดูกมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล กระตุ้นการเจริญอาหาร เพิ่มความจำ ต้านการอาเจียน ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิไส้เดือน ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ต้านการเกิดออกซิเดชั่น ขับน้ำดี ต้านการเกิดพิษต่อตับ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ คลายกล้ามเนื้อเรียบ[3],[5]
  • โกฐกระดูกสามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ธาตุอ่อน ช่วยย่อยอาหาร ฯลฯ น้ำต้มของโกฐกระดูกสามารถฆ่าเชื้อบิดได้ ส่วนผงของโกฐกระดูกสามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่และเชื้อไทฟอยด์ได้[1]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากรากของโกฐกระดูก ความเข้มข้น 0.5 – 4 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุโรคฟันผุ และยับยั้งการสร้างกรดของแบคทีเรีย การยึดเกาะของแบคทีเรียต่อแผ่นโมเดล hydroxyapatite beads ที่เคลือบด้วยน้ำลาย (saliva-coated hydroxyapatite beads) และการสังเคราะห์กลูแคน[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่ารากโกฐกระดูกมีความปลอดภัย เมื่อให้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ : น้ำ (1 : 1) แก่หนูถีบจักรทั้งทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีความปลอดภัย และเมื่อป้อนน้ำมันหอมระเหยแก่หนูขาว พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือขนาด 3.4 กรัมต่อกิโลกรัม และพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากรากด้วยแอลกอฮอล์ : น้ำ (1 : 1) เข้าช่องท้อง ในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือมากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากโกฐกระดูกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 3,333 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ[5]
  • ในปี ค.ศ.1993 ที่ประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัย Banaras Hindu ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากโกฐกระดูก ในแอลกอฮอล์ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่อน้ำหนักตัวของหนูทดลอง โดยทำการทดลองในหนูทดลองเป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[3]
  • ในปี ค.ศ.1981 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากของโกฐกระดูกในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้[3]
  • ในปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือสารสกัดจากรากโกฐกระดูก โดยทำการทดลองในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากโกฐกระดูกสามารถลดระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้ รวมทั้งยังช่วยให้การทำหน้าที่ของตับดีขึ้นด้วย[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐกระดูก”.  หน้า 96.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐกระดูก Costus”.  หน้า 216.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “โกฐกระดูก”.  หน้า 58.
  4. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “โกฐกระดูก”  หน้า 59-60.
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐกระดูก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [12 มิ.ย. 2015].
  6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคฟันผุของโกฐกระดูก”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [12 มิ.ย. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด