โกงกางเขา สรรพคุณและประโยชน์ต้นโกงกางเขา 4 ข้อ ! (แก้วมุกดา)

โกงกางเขา สรรพคุณและประโยชน์ต้นโกงกางเขา 4 ข้อ ! (แก้วมุกดา)

โกงกางเขา

โกงกางเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea ceilanica Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ดอกหรีดเขา (GENTIANACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรโกงกางเขา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฝ่ามือผี (มหาสารคาม, เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), คันโซ่ (อุบลราชธานี), ติดตังนก (หนองคาย), โกงกางเขา (จันทบุรี), โพดา (ปัตตานี), เทียนฤาษี (ภาคเหนือ), นางสวรรค์ นิ้วนางสวรรค์ (ภาคใต้), ชบาเขา, บัวนาค เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

หมายเหตุ : จากที่ได้ทำการศึกษาเรื่องโกงกางเขา มีบางข้อมูลระบุว่า โกงกางเขา ได้ถูกเปลี่ยนชื่อทางการค้าใหม่ให้เป็นชื่อ “แก้วมุกดา” แต่เมื่อนำชื่อดังกล่าวไปค้นหากลับพบว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกับโกงกางเขา (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea racemosa Javanica หรือ Fagraea blumeana) ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่

ลักษณะของโกงกางเขา

  • ต้นโกงกางเขา จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร และมักเกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ มีรากอากาศคล้ายกับต้นไทร เปลือกต้นเป็นสีเทา เรียบและบาง ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีขาว โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย (อินเดีย ศรีลังกา ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย จีนตอนใต้ และในหมู่เกาะไต้หวันทางตอนใต้) ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยพบขึ้นในป่าดงดิบและตามซอกหินริมหน้าผา บ้างก็ว่าพบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา[1],[2],[3]

ต้นโกงกางเขา

รูปโกงกางเขา

  • ใบโกงกางเขา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีถึงรูปขอบขนาน ปลายใบมนจนถึงแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและเหนียว ใบแก่หนาอุ้มน้ำ เรียบเกลี้ยง เส้นใบตรงข้างเลือนรางมาก และมีเส้นใบประมาณ 4-7 คู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-23 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และตามซอกใบยังมีหูใบหนาเชื่อมเป็นวงแหวน หนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[5]

ใบโกงกางเขา

  • ดอกโกงกางเขา ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ออกเป็นช่อสั้น ๆ บริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ มีขนาดประมาณ 4-8 เซนติเมตร กลีบของดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 พู โค้งไปด้านหลัง บางครั้งปลายกลีบอาจแตกเป็นฝอย มีกลิ่นหอม ช่อดอกอาจยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดอยู่กับคอหลอดกลีบ ไม่โผล่พ้นหรือยื่นออกมา ส่วนชั้นกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.8-2.7 เซนติเมตร แยกออกเป็นพูป้าน ๆ และลึกมากกว่าครึ่งหนึ่งของชั้น[1]

ดอกโกงกางเขา

  • ผลโกงกางเขา ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือทรงรี ผลมีขนาดประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีขาวหม่นแกมสีเขียว ผลเป็นมัน เหนียว ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ มีลักษณะเป็นจะงอยแหลมยาว ส่วนโคนผลมีชั้นกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ผลเมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเข้มถึงสีดำ เกลี้ยง เนื้อในผลนิ่มฉ่ำน้ำ และมีเมล็ดในผลมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่ โดยเมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[2],[5]

ลูกโกงกางเขา

ผลโกงกางเขา

สรรพคุณของโกงกางเขา

  • ตามตำรายาพื้นบ้านอีสาน จะใช้รากโกงกางเขานำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต[1],[2]
  • กิ่ง เปลือกต้น หรือราก สามารถนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการผดผื่นคันจากยางของต้นรักได้ (กิ่ง, เปลือกต้น, ราก)[4]
  • ช่วยแก้ลมพิษ โดยใช้ กิ่ง เปลือกต้น หรือราก นำมาต้มกับน้ำอาบ (กิ่ง, เปลือกต้น, ราก)[4]

ประโยชน์ของโกงกางเขา

  • เนื่องจากต้นโกงกางเขามีดอกสวย มีกลิ่นหอมและใบที่ดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกงกางเขา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [30 ธ.ค. 2013].
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “โกงกางเขา“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [30 ธ.ค. 2013].
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี .  “โกงกางเขา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [30 ธ.ค. 2013].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Fagraea ceilanica Thunb.“.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกรและคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [30 ธ.ค. 2013].
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “โกงกางเขา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [30 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, judymonkey17, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Wee Foong, Indianature s1, mingiweng), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด