แสลงใจ
แสลงใจ ชื่อสามัญ Nux-vomica Tree, Snake Wood[1],[2]
แสลงใจ ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-vomica L.[1],[2],[3] จัดอยู่ในวงศ์กันเกรา (LOGANIACEAE หรือ STRYCHNACEAE)[1],[3],[7]
สมุนไพรแสลงใจ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แสลงทม แสลงเบื่อ (นครราชสีมา), แสงโทน แสลงโทน (โคราช), แสงเบื่อ (อุบลราชธานี), โกฐกะกลิ้ง กระจี้ กะกลิ้ง ตูมกาแดง (ภาคกลาง), ดีหมี, ว่านไฟต้น เป็นต้น[1],[3],[10]
หมายเหตุ : ต้นแสลงใจ (ตูมกาแดง) ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับต้นแสลงใจที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-blanda A.W. Hill หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ตูมกาขาว“
ลักษณะของต้นแสลงใจ
- ต้นแสลงใจ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 30 เมตร[1] บ้างว่าสูงได้ประมาณ 10-13 เมตร[4] เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาและมีรูตาตามเปลือก กิ่งก้านเงามัน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการตอน เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีความชื้นอยู่ด้วย ในประเทศเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค (ยกเว้นภาคใต้) ตามป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-500 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย[1],[3],[4],[6],[7]
- ใบแสลงใจ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปไข่ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ มีเส้นใบตามขวาง 5 เส้น ยาว 3 เส้น ก้านใบสั้นยาวได้ประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ออกใบดกและหนาทึบ[1],[4]
- ดอกแสลงใจ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกมีลักษณะคล้ายร่ม ดอกย่อยมีขนาดเล็ด ดอกเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือสีเทาอมขาว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแตกออกเป็น 5 กลีบ (กลีบดอกมี 5 กลีบ) กลีบดอกยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายกลีบดอกแหลม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน[1],[4]
- ผลแสลงใจ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีส้มแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด[1],[4],[5]
- เมล็ดแสลงใจ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปกลมแบน คล้ายรูปโล่หรือกระดุม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผิวเมล็ดเป็นสีเทาอมสีเหลือง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวขึ้นปกคลุมคล้ายกำมะหยี่[4] เมล็ดแสงใจในภาษาอังกฤษ จะเรียกว่า Button Seed หรือ Dog Button ส่วนในตำรับยาฝรั่งจะเรียกว่า นุกซ์ โวมิกา (Nux Vomica) ซึ่งหมายถึงเมล็ดแข็งที่ทำให้อาเจียน ส่วนจีนจะเรียกเมล็ดแสงใจว่า “โฮ่งบ๋วยจี้” และ “หม่าเฉียนจื่อ” (จีนกลาง) ส่วนไทยเรียกว่า “เมล็ดแสลงใจ“, “เม็ดกาจี๊“, “ลูกกะจี้” แต่ในตำรับยาไทยนั้นจะเรียกเมล็ดแก่แห้งว่า “โกฐกะกลิ้ง” หรือ “โกกกักกลิ้ง” ซึ่งในสมัยก่อนนั้นจะใช้เมล็ดในด้านการเบื่อสัตว์[2],[3],[4] สาร Strychnine ที่อยู่ในเมล็ดอาจจะอยู่ในรูปของผงแป้ง (ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่มีรสขมมาก) หรือในรูปของสารละลายแอลกอฮอล์ (trychnine alkaloid)[10] ส่วนเมล็ดที่ทำมาเป็นยาน้ำสีเหลืองจะเรียกว่า “ทิงเจอร์นักสะวอมมิกา” (Tincture Nux vomica)[8]
สรรพคุณของแสลงใจ
- เมล็ดแก่แห้ง (โกฐกะกลิ้ง) ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยขับน้ำย่อย ด้วยการนำเมล็ดมาดองกับเหล้ากิน แต่ต้องใช้ในปริมาณที่น้อย เพราะใช้มากจะเป็นพิษ (เมล็ด)[1],[2],[3]
- ช่วยบำรุงประสาท (เมล็ด)[5]
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงหัวใจให้เต้นแรงขึ้น (เมล็ด)[1],[2],[5]
- เมล็ดมีรสเมาเบื่อขม เป็นยาเย็น มีพิษมาก ก่อนนำมาใช้ต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษก่อน โดยมีสรรพคุณเป็นยากระจายเลือดลม ทำให้เลือดเย็น แก้เลือดร้อน ช่วยทะลวงเส้นลมปราณ (เมล็ด)[4]
- เมล็ดใช้ในปริมาณต่ำจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยกระตุ้นระบบการหายใจและระบบการไหลเวียนของเลือด (เมล็ด)[7]
- เมล็ดเป็นยาบำรุงประสาทอย่างแรง (เมล็ด)[8]
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยตัดพิษไข้ ตัดพิษกระษัย (เมล็ด)[5]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[1]
- ช่วยแก้โรคโปลิโอในเด็ก (เมล็ด)[4]
- รากมีรสเมาเบื่อขม ใช้กินเป็นยาแก้ท้องขึ้น (ราก)[5]
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (เมล็ด)[3]
- ช่วยแก้โรคไตพิการ (ใบ)[5]
- รากใช้ฝนกับน้ำกินและทาแก้อาการอักเสบจากงูกัด (ราก)[1]
- ใบมีรสเมาเบื่อขม ใช้ตำกับเหล้าพอกปิดแผลเรื้อรังเน่าเปื่อย (ใบ)[5]
- ช่วยแก้ฝีต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก (เมล็ด)[4]
- ใช้แก้มะเร็งที่บริเวณผิวหนัง (เมล็ด)[4]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)[1] ส่วนเมล็ดใช้ภายนอกก็เป็นยาแก้ฟกช้ำดำเขียวได้เช่นกัน (เมล็ด)[4]
- แก่นใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย (แก่น)[1]
- เมล็ดมีสรรพคุณแก้ปวดบวม แก้อัมพฤกษ อัมพาต ช่วยขับลมชื้น แก้เหน็บชาและรูมาติซั่ม (เมล็ด)[4]
- ทิงเจอร์นักสะวอมมิกา (Tincture Nux vomica) ซึ่งทำมาจากเมล็ดของต้นแสลงใจจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงประสาท ช่วยทำให้มีกำลังรู้สึกเฉียบแหลมขึ้น บำรุงเส้นประสาทชนิดโมเตอร์ ให้กระเพาะและลำไส้ขย้อนอาหารและขับน้ำไฟธาตุ ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้ตัวเย็น แก้โลหิตพิการ แก้โรคอันเกิดจากปากคอพิการ แก้คลื่นเหียน เป็นยาระบายอย่างอ่อน ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ลมกระเพื่อมในท้อง แก้ลมพานไส้ แก้ริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยาบำรุงความกำหนัด ใช้แก้โรคอัมพาต เส้นตายและเนื้อชาไม่รู้สึก ใช้แก้ประสาทพิการ เส้นตาย เป็นเหน็บชาต่าง ๆ แก้พิษงู พิษตะขาบ พิษแมลงป่อง (ทิงเจอร์นักสะวอมมิกา)[8]
หมายเหตุ : เมล็ดมีพิษมาก ก่อนนำมาใช้เป็นยาต้องนำมาผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษออกก่อน ด้วยการนำเมล็ดแสลงใจมาคั่วกับทราย จนเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มพองตัวออกและแตกอ้า แล้วจึงนำเมล็ดมาปอกเปลือกเพื่อกำจัดขน และนำไปแช่ในน้ำปูนขาว 2 คืน ครบแล้วจึงนำออกมาตากแดดให้แห้ง แล้วหั่นเป็นแผ่น ๆ หรือบดให้เป็นผง จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ (จะใช้วิธีต้มหรือย่างเพื่อลดปริมาณของสารพิษก็ได้) โดยเมล็ดที่ผ่านกรรมวิธีการกำจักพิษแล้ว ขนาดที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-4 ขวบ ให้ใช้ครั้งละ 0.2 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 0.3-0.6 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง[4] ส่วนทิงเจอร์นักสะวอมมิกา (Tincture Nux vomica) ให้รับประทานได้ 5-15 หยด[8]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรแสลงใจ
- ในเมล็ดมีสาร Brucine หากนำมาใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษ โดยจะออกมีฤทธิ์กระตุ้นเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เบื่อเมา ทำให้มีอาการกลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง และชักกระตุก และอาจทำให้เสียชีวิตได้[1],[2],[4]
- การรับประทานแต่น้อย แต่รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะเป็นอันตรายต่อตับ[9]
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยานี้ (ในบางประเทศไม่ยอมรับสมุนไพรชนิดนี้ว่าเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรค)[9]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาแสลงใจ
- เมล็ดแสลงใจมีสารอัลคาลอยด์อยู่ประมาณ 1.5-5% ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น Stryhcnine, Brucine, Vomicine, Pseudostrychnine, N-methylses-pseudobrucine และยังพบ Chlorogenic acid, น้ำมันและโปรตีน 11% เป็นต้น[4] ซึ่งส่วนมากจะเป็นสารจำพวก Strychnine อยู่ประมาณ 1/3-1/2 ในสารอัลคาลอยด์ทั้งหมด สารนี้จะอยู่ตรงกึ่งกลางของเมล็ด มีความเป็นพิษและมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทไขสันหลัง นิยมใช้เป็นยาเบื่อสัตว์ จึงห้ามนำมาใช้เกิดขนาดเพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมีสาร Brucine ที่อยู่ด้านนอกติดกับเปลือกเมล็ด มีรสขมจัด ละลายได้ดีทั้งในน้ำและในแอลกอฮอล์ แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า Strychnine ปัจจุบันไม่นิยมใช้เป็นยารักษาโรคแล้ว[2],[3]
- สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ จำนวน 3 ชนิด (strychnine, pseudostrychnine, icajine) ใน 6 ชนิดจากเมล็ดของแสลงใจ เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งของมนุษย์ พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยสาร strychnine ให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human leukemia cell line HL-60, human gastric carcinoma cell line BGC ส่วนสาร pseudostrychnine ให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human gastric carcinoma cell line BGC, human hepatic carcinoma cell line BEL-7402 และสาร icajine ให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human gastric carcinoma cell line BGC[11]
- ผงอัลคาลอยด์ Stryhcnine 1 เกรน สามารถเบื่อสุนัขได้ 1 ตัว โดยก่อนตายจะมีอาการชักกระตุกจนตายภายใน 1-3 ชั่วโมง (การฆ่าสัตว์ถือเป็นบาป ไม่ควรทำครับ ขอให้รู้ว่ามันอันตรายมากแค่ไหนก็พอ)[8]
- จากรายงานทางคลินิก โดยทดลองใช้รักษาอาการประสาทกล้ามเนื้อสามเหลี่ยมบนใบหน้าแข็งชา ด้วยการนำเมล็ดแสลงใจมาหั่นเป็นแผ่น ๆ แล้ววางบริเวณใบหน้าที่มีอาการชาหรือกระตุก โดยเปลี่ยนยาทุก ๆ 7-10 วัน จนกว่าจะหาย จากการรักษาพบว่าสามารถรักษาคนไข้ให้หายดีได้ประมาณ 80%[4]
- ความเป็นพิษของเมล็ดแสลงใจ พบว่าหากรับประทานมากกว่า 5 มิลลิกรัม ของ Strychnos หรือประมาณ 30-50 มิลลิกรัมของผงยา จะทำให้มีอาการกระวนกระหาย หายใจลำบาก อาจเกิดอาการชัก และอาจทำให้ตายได้[9]
- สาร Strychnine สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในระบบทางเดินอาหาร เยื่อบุจมูก หรือบริเวณที่ฉีดเข้าไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ และจากถูก metabolite ที่ตับเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 10-20% จะถูกขับออกในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงทางไต โดยสาร Strychnine มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10-15 ชั่วโมง อาการของผู้ป่วยที่ได้รับ Strychnine มักจะเกิดขึ้นใน 10-20 นาทีหลังรับประทาน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่การกระตุกเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วไปจนถึงมีอาการชักได้ ในบางรายอาจมีอาการชักจนตัวแอ่น โดยอาการชักมะจะเกิดในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติหรือรู้สึกตัว ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดในขณะที่กระตุกได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายของการเกร็งตัวชนิดนี้ก็คือ ทำให้การหายใจล้มเหลวและอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว จนเกิดมีไตวายตามมาภายหลังได้ ในทางเภสัชกรรมไทยจึงจัดให้เมล็ดแสลงใจเป็นพืชอันตราย แม้ในบางประเทศจะเคยใช้สาร Strychnine เพื่อรักษาโรคบางอย่าง แต่ภายหลังก็ได้ยกเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีอันตรายและมีความเป็นพิษสูง[10]
ประโยชน์ของแสลงใจ
- เมล็ดใช้เป็นยาเบื่อหนูและสุนัข[2] หรือนำไปป่นใช้เป็นเบื่อปลาก็ได้[3] บางข้อมูลระบุว่าเปลือกและรากของต้นแสลงใจถูกนำไปสกัดเป็นยาพิษที่มีชื่อว่า ยาพิษคูแร (curare) ของชนเผ่าอินเดียแดง โดยจะใช้อาบปลายลูกศรเพื่อใช้นำไปใช้ในการล่าสัตว์
- เนื้อไม้ของต้นแสลงใจเป็นไม้เนื้ออ่อน ตกแต่งได้ง่าย ปลวกไม่ชอบกิน สามารถนำมาใช้ทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้ ฯลฯ[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “แสลงใจ (Sa Laeng Jai)”. หน้า 310.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แสลงใจ Nux-vomica Tree/Snake Wood”. หน้า 195.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “แสลงใจ”. หน้า 790-791.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐกะกลิ้ง”. หน้า 98.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “แสลงใจ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 185.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. “แสลงใจ”.
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แสลงใจ”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany. [11 ก.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แสลงใจ (โกฏกะกลิ้ง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 ก.ค. 2014].
- Trease and Evans Pharmacognosy 14th edition. (William Charles Evans, George Edward Trease). Pages: 391-392, 1996.
- ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล. “อันตรายจาก Strychnine”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: med.mahidol.ac.th/poisoncenter. [11 ก.ค. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านเนื้องอกของสารในกลุ่ม alkaloids จากเมล็ดแสลงใจ”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Shubhada Nikharge, Wendy Cutler, Dinesh Valke), pantip.com (by ตี๋หล่อมีเสน่ห์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)