แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ

แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ
แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ

แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide หรือ Mg(OH) 2) หรือที่รู้จักกันในนามของ ยาระบายแมกนีเซีย หรือ มิลค์ ออฟ แมกนีเซีย (Milk of magnesia) หรือ เอ็มโอเอ็ม (MOM) เป็นยาตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการลดกรดในกระเพาะอาหาร และยังใช้เป็นยาระบายได้ด้วย (เนื่องจากผลข้างเคียงของยานี้ทำให้ถ่ายท้อง)

ตัวอย่างยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลมา (Alma), อัลแมก (Almag), อัลติคอน (Alticon), อีมัลแลกซ์ เอ็ม.โอ.เอ็ม. (Emulax M.O.M.), แมก-แมก ซัสเพนชั่น (Mag Mag Suspension), แมกนีเซีย (Magnesia) ฯลฯ

รูปแบบยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • ยาน้ำแขวนตะกอน (มีลักษณะคล้ายน้ำนม) ขนาด 400 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 8,000 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ด ขนาด 300 มิลลิกรัม

มิลค์ ออฟ แมกนีเซีย
IMAGE SOURCE : www.healthtap.com, pantip.com (by สวยสับสน)

หมายเหตุ : ในทางเภสัชกรรมยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มักถูกนำไปผสมกับยาลดกรดอื่น ๆ เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) ในสัดส่วนต่าง ๆ กัน ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ

สรรพคุณของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • ใช้รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่นท้อง ใช้เป็นยาลดกรด (ต้านฤทธิ์ของกรดในกระเพาะ) รักษาโรคกรดไหลย้อน บรรเทาอาการปวดแสบในท้อง แก้อาการเรอเหม็นเปรี้ยว ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และใช้ป้องกันมิให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะจากยาต่าง ๆ
  • ใช้เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก เพราะยานี้จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ตัวยามักจะอยู่ในลำไส้และออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหาร แล้วดูดน้ำไว้ใกล้ ๆ ตัว ทำให้มีน้ำในลำไส้มากขึ้นจนเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและเกิดการขับถ่าย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

เนื่องจากยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีฤทธิ์เป็นด่าง จึงช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ สำหรับการออกฤทธิ์เป็นยาระบาย ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จะออกฤทธิ์โดยการไปช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำในลำไส้จนเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและขับถ่ายอุจจาระได้

ก่อนใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาไซเมทิดีน (Cimetidine), รานิทิดีน (Ranitidine), ดิจิทาลิส (Digitalis) จะทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมได้น้อยลง
    • การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น คลอร์เตตราไซคลีน (Chlortetracycline), เตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), ไอเอ็นเอช/ไอโซไนอะซิด (INH/Isoniazid) ตัวยาจะไปลดการดูดซึมของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ ทำให้ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดลง
    • การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาบำรุงโลหิตหรือยาบำรุงร่างกายที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่น เฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate), เฟอรัสออกซาเลต (Ferrous oxalate), เฟอริคฟอสเฟต (Ferric phosphate) ตัวยาจะไปยับยั้งการดูดซึมของธาตุเหล็ก จึงไม่ควรรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • มีความผิดปกติหรือเคยมีประวัติความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต หรืออยู่ในภาวะการควบคุมโซเดียม (ควบคุมอาหารรสเค็ม)
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยโรคไต (เพราะแมกนีเซียมจะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางไต จึงอาจไปกระตุ้นให้เกิดไตวายได้) และผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ (เพราะตัวยาอาจถูกดูดซึมเข้าร่างกายและเกิดพิษต่อหัวใจได้)
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลถึงความพิการของทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ (โดยเฉพาะการผ่าตัดลำไส้ใหญ่) เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและส่งผลต่อแผลผ่าตัดได้ เพราะฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • ยานี้อาจก่อให้เสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจากการท้องเสียได้

วิธีใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • สำหรับรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
    • ในผู้ใหญ่ สำหรับยาน้ำให้รับประทานครั้งละ 5-15 มิลลิลิตร วันละ 1-4 ครั้ง (หรือรับประทานยาเม็ดครั้งละ 1-3 เม็ด วันละ 1-4 ครั้ง) ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ให้รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือ 4 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
    • ในเด็ก เฉพาะอายุ 12-18 ปี ให้ใช้ยาเม็ดชนิดเคี้ยว รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือ 4 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • สำหรับการใช้เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก
    • ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาน้ำก่อนเข้านอนในขนาด 30-60 มิลลิตร เพียงครั้งเดียว ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ให้รับประทานครั้งละ 8 เม็ด เพียงครั้งเดียวเช่นกัน (สำหรับยาระบายแมกนีเซีย (Milk of magnesia) ให้รับประทานก่อนเข้านอนในขนาด 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว โดยยาระบายแมกนีเซีย 1 ช้อนโต๊ะ จะมีแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 1,200 มิลลิกรัม)
    • ในเด็ก สำหรับยาน้ำ ถ้าเด็กอายุไม่ถึง 2 ปี ให้รับประทานในขนาด 0.5 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, อายุ 2-5 ปี ให้รับประทานในขนาด 5-15 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, อายุ 6-12 ปี ให้รับประทานในขนาด 15-30 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และอายุ 13-18 ปี ให้รับประทานในขนาด 30-60 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ในเด็กอายุ 3-5 ปี ให้รับประทาน 2 เม็ด, อายุ 6-11 ปี ให้รับประทาน 4 เม็ด และอายุ 12-18 ปี ให้รับประทาน 8 เม็ด โดยทั้งหมดนี้ให้รับประทานเพียงครั้งเดียวก่อนเข้านอน

คำแนะนำในการใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • สำหรับยาเม็ดชนิดเคี้ยว ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ส่วนยาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ดังนั้น การใช้ยานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดการรับประทานในผู้ป่วยแต่ละคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดที่รับประทานในเด็ก) เพราะขนาดการใช้ยานี้จะแตกต่างกันไปตามอาการ เพศ และอายุของผู้ป่วย
  • ควรรับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เว้นแต่แพทย์จะสั่งให้รับประทานยานี้ต่อไป
  • การรับประทานยานี้มากเกินไป อาจทำให้ถ่ายท้องรุนแรง และเกิดภาวะขาดน้ำได้

การเก็บรักษายาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

  • อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร ทำให้ระบายหรือถ่ายท้อง ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง และอาจเกิดภาวะเป็นพิษจากเกลือแมกนีเซียม (เกิดอาการง่วงซึม ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาต้านกรด/ยาลดกรด (Antacids)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 277-278.
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “กลุ่มเกลือแมกนีเซียม (Magnesium salts)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 283.
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “MAGNESIUM HYDROXIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [02 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “แมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [02 ต.ค. 2016].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 61 คอลัมน์ : คุยกันเรื่องยา.  “ยาลดกรด”.  (นพ.สมิง เก่าเจริญ, ศิรประภา แสงจันทร์, อริศร์ เทียนประเสริฐ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [02 ต.ค. 2016].
  6. Drugs.com.  “Magnesium Hydroxide”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [02 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด