แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide หรือ Mg(OH) 2) หรือที่รู้จักกันในนามของ ยาระบายแมกนีเซีย หรือ มิลค์ ออฟ แมกนีเซีย (Milk of magnesia) หรือ เอ็มโอเอ็ม (MOM) เป็นยาตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการลดกรดในกระเพาะอาหาร และยังใช้เป็นยาระบายได้ด้วย (เนื่องจากผลข้างเคียงของยานี้ทำให้ถ่ายท้อง)
ตัวอย่างยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลมา (Alma), อัลแมก (Almag), อัลติคอน (Alticon), อีมัลแลกซ์ เอ็ม.โอ.เอ็ม. (Emulax M.O.M.), แมก-แมก ซัสเพนชั่น (Mag Mag Suspension), แมกนีเซีย (Magnesia) ฯลฯ
รูปแบบยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- ยาน้ำแขวนตะกอน (มีลักษณะคล้ายน้ำนม) ขนาด 400 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 8,000 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาเม็ด ขนาด 300 มิลลิกรัม
หมายเหตุ : ในทางเภสัชกรรมยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มักถูกนำไปผสมกับยาลดกรดอื่น ๆ เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) ในสัดส่วนต่าง ๆ กัน ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ
สรรพคุณของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- ใช้รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่นท้อง ใช้เป็นยาลดกรด (ต้านฤทธิ์ของกรดในกระเพาะ) รักษาโรคกรดไหลย้อน บรรเทาอาการปวดแสบในท้อง แก้อาการเรอเหม็นเปรี้ยว ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และใช้ป้องกันมิให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะจากยาต่าง ๆ
- ใช้เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก เพราะยานี้จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ตัวยามักจะอยู่ในลำไส้และออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหาร แล้วดูดน้ำไว้ใกล้ ๆ ตัว ทำให้มีน้ำในลำไส้มากขึ้นจนเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและเกิดการขับถ่าย
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
เนื่องจากยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีฤทธิ์เป็นด่าง จึงช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ สำหรับการออกฤทธิ์เป็นยาระบาย ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จะออกฤทธิ์โดยการไปช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำในลำไส้จนเกิดการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและขับถ่ายอุจจาระได้
ก่อนใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาไซเมทิดีน (Cimetidine), รานิทิดีน (Ranitidine), ดิจิทาลิส (Digitalis) จะทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมได้น้อยลง
- การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น คลอร์เตตราไซคลีน (Chlortetracycline), เตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), ไอเอ็นเอช/ไอโซไนอะซิด (INH/Isoniazid) ตัวยาจะไปลดการดูดซึมของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ ทำให้ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดลง
- การรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาบำรุงโลหิตหรือยาบำรุงร่างกายที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่น เฟอรัสซัลเฟต (Ferrous sulfate), เฟอรัสฟูมาเรต (Ferrous fumarate), เฟอรัสออกซาเลต (Ferrous oxalate), เฟอริคฟอสเฟต (Ferric phosphate) ตัวยาจะไปยับยั้งการดูดซึมของธาตุเหล็ก จึงไม่ควรรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกัน
- มีความผิดปกติหรือเคยมีประวัติความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต หรืออยู่ในภาวะการควบคุมโซเดียม (ควบคุมอาหารรสเค็ม)
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยโรคไต (เพราะแมกนีเซียมจะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางไต จึงอาจไปกระตุ้นให้เกิดไตวายได้) และผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ (เพราะตัวยาอาจถูกดูดซึมเข้าร่างกายและเกิดพิษต่อหัวใจได้)
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลถึงความพิการของทารกในครรภ์ได้
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ (โดยเฉพาะการผ่าตัดลำไส้ใหญ่) เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและส่งผลต่อแผลผ่าตัดได้ เพราะฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ
- ยานี้อาจก่อให้เสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายจากการท้องเสียได้
วิธีใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- สำหรับรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
- ในผู้ใหญ่ สำหรับยาน้ำให้รับประทานครั้งละ 5-15 มิลลิลิตร วันละ 1-4 ครั้ง (หรือรับประทานยาเม็ดครั้งละ 1-3 เม็ด วันละ 1-4 ครั้ง) ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ให้รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือ 4 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- ในเด็ก เฉพาะอายุ 12-18 ปี ให้ใช้ยาเม็ดชนิดเคี้ยว รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือ 4 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- สำหรับการใช้เป็นยาระบายแก้อาการท้องผูก
- ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาน้ำก่อนเข้านอนในขนาด 30-60 มิลลิตร เพียงครั้งเดียว ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ให้รับประทานครั้งละ 8 เม็ด เพียงครั้งเดียวเช่นกัน (สำหรับยาระบายแมกนีเซีย (Milk of magnesia) ให้รับประทานก่อนเข้านอนในขนาด 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว โดยยาระบายแมกนีเซีย 1 ช้อนโต๊ะ จะมีแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 1,200 มิลลิกรัม)
- ในเด็ก สำหรับยาน้ำ ถ้าเด็กอายุไม่ถึง 2 ปี ให้รับประทานในขนาด 0.5 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, อายุ 2-5 ปี ให้รับประทานในขนาด 5-15 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, อายุ 6-12 ปี ให้รับประทานในขนาด 15-30 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และอายุ 13-18 ปี ให้รับประทานในขนาด 30-60 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนยาเม็ดชนิดเคี้ยว ในเด็กอายุ 3-5 ปี ให้รับประทาน 2 เม็ด, อายุ 6-11 ปี ให้รับประทาน 4 เม็ด และอายุ 12-18 ปี ให้รับประทาน 8 เม็ด โดยทั้งหมดนี้ให้รับประทานเพียงครั้งเดียวก่อนเข้านอน
คำแนะนำในการใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- สำหรับยาเม็ดชนิดเคี้ยว ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ส่วนยาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง
- ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ดังนั้น การใช้ยานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดการรับประทานในผู้ป่วยแต่ละคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดที่รับประทานในเด็ก) เพราะขนาดการใช้ยานี้จะแตกต่างกันไปตามอาการ เพศ และอายุของผู้ป่วย
- ควรรับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เว้นแต่แพทย์จะสั่งให้รับประทานยานี้ต่อไป
- การรับประทานยานี้มากเกินไป อาจทำให้ถ่ายท้องรุนแรง และเกิดภาวะขาดน้ำได้
การเก็บรักษายาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร ทำให้ระบายหรือถ่ายท้อง ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง และอาจเกิดภาวะเป็นพิษจากเกลือแมกนีเซียม (เกิดอาการง่วงซึม ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ยาต้านกรด/ยาลดกรด (Antacids)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 277-278.
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “กลุ่มเกลือแมกนีเซียม (Magnesium salts)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 283.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “MAGNESIUM HYDROXIDE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [02 ต.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “แมกนิเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [02 ต.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 61 คอลัมน์ : คุยกันเรื่องยา. “ยาลดกรด”. (นพ.สมิง เก่าเจริญ, ศิรประภา แสงจันทร์, อริศร์ เทียนประเสริฐ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [02 ต.ค. 2016].
- Drugs.com. “Magnesium Hydroxide”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [02 ต.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)