แพงพวยน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของผักแพงพวยน้ำ 22 ข้อ !

แพงพวยน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของผักแพงพวยน้ำ 22 ข้อ !

แพงพวยน้ำ

แพงพวยน้ำ ชื่อสามัญ Sunrose willow[2], Periwikle[3], Creeping water primrose[4], Water primrose[5]

แพงพวยน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Ludwigia adscendens (L.) H.Hara (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Jussiaea repens L.) จัดอยู่ในวงศ์พญารากดำ (ONAGRACEAE)[1],[3],[5]

สมุนไพรแพงพวยน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพงพวย, ผักพังพวย, ผักแพงพวยน้ำ, พังพวย ผักปอดน้ำ (ภาคเหนือ), ก้วย ชื่อเผื่อเข่า จุ่ยเล้ง นั่งจั้ว ปี่แป่ฉ่าย (จีนแต้จิ๋ว), กั้วถังเสอ สุ่ยหลง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[7]

ลักษณะของแพงพวยน้ำ

  • ต้นแพงพวยน้ำ มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำหรือบนดินเหลว มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นไม่มีขนปกคลุม ลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดงเล็กน้อย ลักษณะอวบน้ำ เป็นรูปกลม เป็นข้อปุ่ม ตามข้อของลำต้นจะมีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัว ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกลำต้นปลูก มักขึ้นบนดินโคลนตามข้างทาง ทุ่งนา หรือตามห้วย หนอง คลองบึงต่าง ๆ (ในช่วงที่น้ำในนาและหนองบึงแห้งแล้ง ต้นแพงพวยน้ําก็ยังคงอยู่ได้ แม้ต้นจะแคระแกร็นและแข็ง นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานมากชนิดหนึ่ง)[1],[2],[5],[6]

ผักแพงพวย

ผักแพงพวย

แพงพวยน้ํา

  • ใบแพงพวยน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนรีหรือกลมมน โคนใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ บ้างว่ามีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้านของแผ่นใบ หน้าใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน[1],[2]

ใบแพงพวยน้ำ

  • ดอกแพงพวยน้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามง่ามใบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาว ใจกลางของดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร ตั้งชูออกจากข้อ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบห่อหุ้มอยู่ มีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน เพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ 5 อัน อยู่ส่วนล่างของเกสร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[6]

ดอกแพงพวยน้ำ

  • ผลแพงพวยน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวแบบทรงกระบอก หรือเป็นรูปหลอดยาวคล้ายเทียนนา ยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมีรูปร่างไม่แน่นอน และเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล[1],[2],[4]

ผลแพงพวยน้ำ

สรรพคุณของแพงพวยน้ำ

  1. ทั้งต้นมีรสจืด เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำ 60-120 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าอุ่นให้อุ่นใช้กินเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[7] บ้างว่าใช้ส่วนยอดของลำต้นนำมาตำให้ละเอียด ใช้โปะกระหม่อมเด็กเป็นยาแก้ร้อนใน (ยอด)[9]
  2. แก้ไข้หวัดตัวร้อน ไอแห้ง ให้ใช้ยาแห้ง (ทั้งต้น) 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[7]
  3. ใบมีสรรพคุณดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษร้อน (ใบ)[3]
  4. ช่วยขับน้ำชื้น (ทั้งต้น)[1]
  5. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้พืชชนิดนี้ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[7]
  6. ช่วยแก้บิด (ทั้งต้น)[1]
  7. ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้ต้นสด นำมาตำคั้นเอาน้ำ 60-120 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า แล้วอุ่นกิน (ทั้งต้น)[7]
  8. ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[3]
  9. ช่วยแก้โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม นำมาต้มรวมกัน ใช้กินหลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1],[7]
  10. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้แพงพวยน้ำ ชะเอมเทศ จุยฮ่วยเฮีย จุยเจ่ากับ หกเหล็ง อย่างละ 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1]
  1. ช่วยแก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา ด้วยการใช้ต้นสด 1 กำมือ นำมาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้ากิน (ทั้งต้น)[7]
  2. ใช้แก้แผลหกล้ม แผลเน่าเปื่อย แผลอักเสบอื่น ๆ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณแผล (ทั้งต้น)[7]
  3. ช่วยแก้พิษงู งูกัด แมลงสัตว์กัดต่อย สุนัขบ้ากัด ด้วยการใช้ต้นสดล้างสะอาด 1-2 กำมือ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำกิน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณแผล (ทั้งต้น)[1],[7]
  4. ใบใช้พอกดับพิษปวดแสบปวดร้อน (ใบ)[3]
  5. ใช้รักษาโรคงูสวัด (ทั้งต้น)[1]
  6. ต้นใช้ตำพอกแก้กลากน้ำนม (ทั้งต้น)[7]
  7. ช่วยแก้ฝีหนองภายนอกบริเวณผิวหนัง ฝีหัวดาวหัวเดือน แก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนอง ยังไม่แตก โรคผิวหนังต่าง ๆ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[1],[7]
  8. ช่วยแก้ผดผื่นคัน ออกหัด มีไข้ตัวร้อน ไข้ไม่ลด ให้ใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ นำไปนึ่งก่อนกิน (ทั้งต้น)[1],[7]
  9. สรรพคุณอื่น ๆ ของแพงพวยน้ําที่ผู้เขียนอ่านเจอในหลาย ๆ เว็บไซต์ (แต่ข้อมูลไม่มีแหล่งอ้างอิง) ระบุว่าทั้งต้นมีสรรพคุณแก้เบาหวาน ลดความดันโลหิต ส่วนใบมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้มะเร็ง แก้เบาหวาน แก้ท้องผูกเรื้อรัง และรากใช้เป็นยารักษามะเร็งในเม็ดเลือด แก้บิด ขับพยาธิ ขับประจำเดือน ทำให้แห้ง ช่วยห้ามเลือด (ส่วนนี้ไม่ขอยืนยันความถูกต้องนะครับ อีกทั้งยังไม่แน่ใจด้วยว่าเป็นสรรพคุณของ “แพงพวงฝรั่ง” หรือไม่)

วิธีใช้สมุนไพรแพงพวยน้ำ

  • วิธีใช้ตาม [1] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำกินหรือใช้ตำพอกแผลภายนอก[1]
  • การเก็บมาใช้ ให้เก็บในช่วงกำลังออกดอกและลำต้นงอกงามดีแล้ว แล้วนำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้งเก็บเอาไว้ใช้ หรือจะใช้แบบสด ๆ เลยก็ได้[7]
  • ลักษณะของยาแห้งที่ดี ควรมีลักษณะของลำต้นยาวและอวบอ้วน มีความกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร สีออกน้ำตาลแดง มีรอยย่นทั้งตามยาวและตามขวาง มีเนื้อนิ่ม ตามใต้ข้อมีรากแห้งเป็นฝอยสีดำคล้ายเส้นผม กลีบมันร่วงง่าย และมักร่วงหายหมดไป[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำ

  • ทั้งต้นพบสารที่มีปฏิกิริยาทางเคมีจำพวก Flavonoid glycoside, Pinenols, Amino acid, Glucoline เป็นต้น[1]

ประโยชน์ของแพงพวยน้ำ

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน และลำต้นอ่อนของแพงพวยน้ํา นำมาลวกให้สุกแล้วนำมาทำยำ จิ้มกินกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ฯลฯ โดยคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยพลังงาน 38 แคลอรี, น้ำ 87%, โปรตีน 3.3 กรัม, ไขมัน 4.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม, ใยอาหาร 3.3 กรัม, เถ้า 1 กรัม, วิตามินเอ 9,875 หน่วยสากล, วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 2.8 มิลลิกรัม, วิตามินซี 3 มิลลิกรัม, แคลเซียม 57 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 300 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม[2],[5]
  • ชาวบ้านจะใช้ลำต้นผสมกับกะปิ เติมน้ำเล็กน้อย แล้วนำไปให้วัวควายกินเป็นยารักษาโรคปากเปื่อยและเท้าเปื่อย[9]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้น้ำประดับทั่วไปตามแหล่งน้ำ หรือใช้ประดับในอ่างเลี้ยงปลา สวนหย่อม สามารถออกดอกได้ตลอดปี[6],[9]

ข้อควรระวังในการนำแพงพวยน้ำมาใช้

  • เนื่องจากแพงพวยน้ำเป็นผักที่ใช้รับประทานสดและเป็นไม้น้ำ หากเกิดขึ้นในบริเวณแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด ในแหล่งน้ำชุมชนที่มีสารพิษ หรือมีไข่พยาธิ ไม่ควรเก็บมาใช้หรือกิน และก่อนนำมากินควรล้างผักให้สะอาดเสียก่อน ด้วยการแช่น้ำด่างทับทิม[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “แพงพวยน้ํา”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 402.
  2. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักแพงพวย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [08 พ.ค. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “แพงพวยน้ํา”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [08 พ.ค. 2014].
  4. พรรณไม้น้ำ, มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “แพงพวยน้ำ ผักแพง”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/suphansa/home.htm.  [08 พ.ค. 2014].
  5. หนังสือรายชื่อวัชพืชที่มีรายงานในประเทศไทย.  “แพงพวย”.  (ธวัชชัยรัตน์ชเลศ และเจมส์ เอฟ แมกซ์เวล).
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แพงพวยน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [08 พ.ค. 2014].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 6 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “พังพวย”.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ของประเทศจีน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [08 พ.ค. 2014].
  8. หนังสือ ผัก-ผลไม้ ต้านโรค.  “แพงพวย”.
  9. เทศบาลเมืองทุ่งสง.  “แพงพวย (น้ำ)”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com.  [08 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Navida2011, Bryan To, Indianature SM, Foggy Forest, Ahmad Fuad Morad, IRRI Photos)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด