แผ่นแปะคุมกำเนิด : 11 ข้อดี-ข้อเสียของยาคุมกำเนิดแบบแปะ !!

แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกําเนิด หรือ ยาคุมแผ่นแปะ หรือ ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Contraceptive patch หรือ Birth control patch) คือ วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ยาฮอร์โมนที่มีลักษณะเป็นแผ่นแปะ ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ยาในกลุ่มเอสโตรเจนสังเคราะห์ (Synthetic estrogen) และยาในกลุ่มโปรเจสติน (Progestin) ใช้สำหรับแปะบริเวณผิวหนังเพื่อให้ตัวยาในแผ่นแปะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ ส่วนกลไกการออกฤทธิ์หลัก ๆ ก็เหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมครับ เพราะฮอร์โมนที่นำมาใช้จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน

ยาคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะ เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ในบ้านเราได้ไม่นานมานี้เองครับ โดยได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) โดยแผ่นแปะที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดประมาณ 20 ตารางเซนติเมตร หรือมีขนาดกว้างด้านละ 1 3/4 นิ้ว ผิวแผ่นแปะมีลักษณะเรียบ บาง เป็นสีเบจหรือสีเนื้อ (Beige) แผ่นยาจะมีฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิด คือ โปรเจสตินและเอสโตรเจน (เหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด) โดยแผ่นแปะคุมกำเนิดยี่ห้อ Ortho Evra® (อีฟร่า) จะประกอบไปด้วย Norelgestromin (NGMN) 6 มิลลิกรัม และ Ethinyl Estradiol (EE) 0.75 มิลลิกรัม

การออกฤทธิ์ของแผ่นแปะคุมกำเนิด

เนื่องจากแผ่นแปะคุมกำเนิดนี้ ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด หลังจากแปะแผ่นยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง (ไม่ผ่านตับ แต่จะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะและอุจจาระ) โดยระดับตัวยาที่ปล่อยออกมาจะอยู่ในระดับคงที่และสม่ำเสมอ คือ NGMN จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อแผ่นวันละประมาณ 150 ไมโครกรัม ส่วนปริมาณของ EE ในกระแสเลือดต่อวันคือ 20 ไมโครกรัม ระดับตัวยาที่ปล่อยออกมานี้จะใกล้เคียงกันทุกตำแหน่งที่แปะ ไม่ว่าจะแปะบริเวณสะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือแผ่นหลังด้านบนก็ตาม จึงทำให้ยามีการออกฤทธิ์ได้นาน ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดนี้จะมีกลไกการป้องกันการตั้งครรภ์เหมือนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ได้แก่ การช่วยป้องกันการตกไข่ ป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิผ่านเยื่อเมือกบริเวณปากช่องคลอดเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ที่อยู่บริเวณโพรงมดลูกและในท่อนำไข่ได้ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่เหมาะในการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิ

แผ่นแปะคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดแบบแปะ

ประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิด

ตามหลักแล้วการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.3% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดจำนวน 1,000 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 3 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 9% หรือคิดเป็น 1 ใน 11 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบไร้แผล (Essure)|0.26 (1 ใน 384 คน)|0.26|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ผู้ที่เหมาะจะใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์หรือมีอายุระหว่าง 18-50 ปี ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร
  • ไม่ต้องการคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี (เพราะถ้าต้องการคุมกำเนิดนานกว่านี้ ควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของฮอร์โมนในระยะยาว)
  • ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่มีโรคหรือข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนหรือยาชนิดนี้

ผู้ที่มีข้อห้ามใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • หากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัมขึ้นไป เพราะอาจทำให้ตัวยาในแผ่นแปะมีประสิทธิภาพน้อยลง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะการใช้แผ่นคุมกำเนิดจะเสริมฤทธิ์กันจนก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งลิ่มเลือดอุดตันในสมองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาในกลุ่มฮอร์โมน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ เพราะตัวยาจะส่งผลทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น
  • ผู้ที่มีประวัติเลือดจับตัวเป็นก้อนง่าย เพราะตัวยาจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เพราะตัวยาอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะอาจทำให้โรคลุกลามแพร่กระจายได้
  • ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • การแพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสติน หรือยาฮอร์โมนอื่น ๆ รวมถึงการแพ้อาหาร สารแต่งสี หรือวัตถุกันเสีย
  • การวางแผนในการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร
  • โรคที่เป็นอยู่ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคหัวใจหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิต, มีปัญหาลิ่มเลือด, ลิ่มเลือดอุดตันในสมอง, เนื้องอกในมดลูก, โรคลูปัส, โรคถุงน้ำดี, ดีซ่าน, โรคตับ, มีอาการซึมเศร้า, ปวดศีรษะแบบไมเกรน, สูบบุหรี่, ประจำเดือนผิดปกติ, เป็นมะเร็งที่เต้านม ปากมดลูก รังไข่ ช่องคลอด หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดโดยที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เป็นต้น หากคุณเป็นโรคหรือมีอาการเหล่านี้ควรจะต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนเสมอ
  • ผู้ที่ต้องใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาเชื้อรา ยากันชัก เพราะยาคุมจากแผ่นแปะอาจไปลดประสิทธิภาพของยาเหล่านั้น หรือทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของแผ่นแปะลดลงได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยและต้องมีการใช้ต่าง ๆ คุณควรปรึกษาแพทย์ถึงผลกระทบจากการใช้ยาเหล่านี้ก่อนว่าส่งผลต่อแผ่นแปะคุมกำเนิดหรือไม่ หรือต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

วิธีใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

ในยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ใน 1 ชุด จะมีอยู่ 3 แผ่น ให้ใช้แปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น หลังจากแปะแผ่นยาคุมกำเนิดแล้ว ตัวยาจะค่อย ๆ ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดไปออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยการยับยั้งการตกไข่ และเนื่องจากตัวยาเข้าไปในร่างกายได้น้อย อาการแทรกซ้อนจึงมีน้อยตามไปด้วย โดยในขั้นตอนการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด ผมขออธิบายไปทีละหัวข้อทีละขั้นตอน ดังนี้

ราคาแผ่นแปะคุมกำเนิด : ยาคุมกำเนิดแบบแปะผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วจะมีราคาแพงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจจะแพงมากหรือน้อยกว่าก็ขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมกำเนิดเดิมที่รับประทานอยู่ และขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นแปะ ปริมาณยาและบริษัทผู้ผลิต เช่น ถ้าเป็นของอีฟรา (Evra) 1 กล่อง 3 แผ่น ราคาก็ประมาณ 500-600 บาทครับ (+/-)

วันที่ควรแปะแผ่นคุมกำเนิด : แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 แผ่นจะสามารถคุมกำเนิดได้เพียง 7 วัน เพราะฉะนั้นในรอบ 1 เดือนจะใช้แผ่นแปะทั้งหมด 3 เว้น (เว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา เช่นเดียวกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด) ดังนั้น เมื่อประจำเดือนเริ่มมาวันแรกก็ให้แปะแผ่นแรกได้เลย เมื่อแปะครบ 7 วัน พอวันที่ 8 ก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ พอถึงวันที่ 15 ก็ให้แปะแผ่นสุดท้ายอีก 1 แผ่น จนถึงวันที่ 22 ของรอบประจำเดือนก็ให้ลอกแผ่นสุดท้ายออก แล้วไม่ต้องแปะไปอีก 7 วัน (นับเป็น 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์พอดี) ซึ่งในช่วงหลังนี้ประจำเดือนก็จะเริ่มมาแล้วครับ เมื่อเว้นมาครบ 7 วันแล้วจึงเริ่มแปะแผ่นคุมกำเนิดชุดใหม่ได้เลย แต่สำหรับคนที่ชอบลืม แนะนำให้แปะแผ่นแรกใน “วันอาทิตย์” ในช่วงที่มีประจำเดือน หลังจากนั้นก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกวันอาทิตย์อีก 2 ครั้ง แล้วหยุด 1 อาทิตย์ (ช่วงที่แปะแผ่นแรกอาจจะยังไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้เต็มที่มากนัก จึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การสวมถุงยางอนามัย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนใน 7 วันแรก คือให้ระวังเฉพาะในเดือนแรกเท่านั้น พอเดือนถัดไปประจำเดือนเริ่มเข้าที่เมื่อแปะแล้วก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ)

สำหรับสตรีที่เพิ่งแท้งบุตร สามารถเริ่มแปะแผ่นยาคุมกำเนิดได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังการแท้งที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการติดเชื้อ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดอยู่ เป็นต้น เพราะในภาวะเช่นนี้การคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฮอร์โมนมักมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ส่วนคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก็สามารถเริ่มแปะแผ่นคุมกำเนิดได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีประจำเดือนมาก่อน

บริเวณที่ควรแปะแผ่นคุมกำเนิด : ให้เลือกแปะบริเวณผิวหนังที่แปะแล้วแผ่นยาจะไม่หลุดออกง่าย เช่น ท้องน้อย สะโพก แผ่นหลังส่วนบน และต้นแขนด้านนอก (ทั้งซ้ายและขวา รวมเป็น 8 จุด) และเมื่อเปลี่ยนแผ่นยาใหม่ ต้องเปลี่ยนตำแหน่งการแปะแผ่นยาทุกครั้ง (การเปลี่ยนแผ่นเมื่อลอกออกแล้ว แผ่นใหม่ที่แปะจะต้องไม่แปะซ้ำรอยเดิม แต่ให้แปะบริเวณใกล้เคียงหรือบริเวณอื่นแทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นได้พักฟื้นจากการดูดซึมยา) เช่น แผ่นแรกแปะบริเวณแผ่นหลังด้านบนขวา แผ่นที่ 2 ก็ให้เปลี่ยนไปแปะแผ่นหลังด้านบนซ้าย แผ่นที่ 3 ก็เปลี่ยนมาแปะบริเวณสะโพกด้านขวา เป็นต้น

ยาคุมแผ่นแปะราคา

ขั้นตอนการแปะแผ่นยา : การแปะแผ่นยาจะต้องระวังไม่ใช้เครื่องสำอาง แป้ง ครีม หรือโลชั่นทาบริเวณผิวหนังที่จะแปะ และห้ามแปะแผ่นยาในขณะที่ผิวหนังไม่แห้งสนิทแล้วเท่านั้น ไม่แปะบนผิวหนังที่ไม่สะอาด มีผื่นแดง เป็นแผล จากนั้นให้ฉีกซองยาที่รอยบากตรงมุมซอง แล้วดึงแผ่นยาสีเนื้อพร้อมแผนพลาสติกใสที่ติดอยู่ออกมาด้วยพร้อม ๆ กัน (ห้ามโดนบริเวณที่เป็นกาว) และลอกแผ่นพลาสติกใสซีกหนึ่งออกจากแผ่นยา จากนั้นติดแผ่นยาลงไปทันทีที่ลอกแผ่นพลาสติกด้านหนึ่งออก (ในตำแหน่งที่ต้องการ) บนผิวที่สะอาดและแห้งสนิท หลังจากนั้นจึงดึงแผ่นพลาสติกอีกด้านออกจากแผ่นยา พร้อมทั้งติดแผ่นคุมกำเนิดส่วนที่เหลือให้แนบสนิทกับผิวหนังทั่วแผ่นยา (ควรรีดแผ่นแปะนี้ให้ทุกส่วนของแผ่นยาแนบสนิทกับผิวหนัง และค่อย ๆ กดไว้ให้แน่นประมาณ 10 วินาที)

วิธีใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดหลุด : ในกรณีที่แผ่นแปะหลุดออกหรือลอกออกได้ “ไม่นาน” ให้ลองกดปิดแผ่นเดิมให้สนิทแล้วรอดูว่ายังใช้ได้ต่อหรือไม่ ถ้ายังติดได้สนิทอยู่ก็ใช้ต่อไปได้เลยครับ แต่ถ้ายางของแผ่นแปะไม่เหนียวแล้วและไม่สามารถติดได้เหมือนเดิมก็ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ครับ โดยให้แปะต่อไปเท่าเวลาที่เหลือ เช่น ใช้แผ่นแรกไปได้เพียง 4 วันแล้วหลุด (เหลืออีก 3 วัน จึงจะครบกำหนดเปลี่ยน) ก็ให้แปะแผ่นใหม่แค่ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่อีกครั้งตามรอบเดิม แต่ถ้าในกรณีที่หลุดนานเกิน 1 วัน ให้เริ่มนับใหม่ และแปะแผ่นแรกใหม่ ทั้งนี้ในช่วง 7 วันแรกจะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน (แต่จริง ๆ แล้วโอกาสที่จะลอกหลุดได้มีน้อยมากครับ คือ ประมาณ 1-2%)

ลืมเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิด : ในกรณีที่ลืมแปะแผ่นยาแผ่นที่ 2 หรือ 3 (ยังแปะแผ่นเก่าอยู่) ถ้าเลื่อนไปไม่เกิน 48 ชั่วโมง แนะนำให้แกะแผ่นเก่าออกและแปะแผ่นใหม่ในทันทีที่จำได้ แล้วเปลี่ยนแผ่นยาแผ่นใหม่ตามกำหนดเดิม (แผ่นแรกเริ่มวันไหน ก็ต้องเปลี่ยนวันนั้นของสัปดาห์ถัดมา) โดยไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย แต่ถ้าเลื่อนไปนานเกินกว่า 48 ชั่วโมง แนะนำให้แกะแผ่นเดิมออก แล้วเริ่มต้นแปะแผ่นคุมกำเนิดแผ่นใหม่ในทันที โดยเริ่มนับเป็นวันแรกของการแปะแผ่นยา และกำหนดเป็นวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ในสัปดาห์ถัดไป แต่ในระหว่างนี้ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย (ที่ไม่ใช่การใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมน) เช่น การสวมถุงยางอนามัย ในระยะ 7 วันแรกของการแปะแผ่นยาแผ่นใหม่ เพราะในระหว่างนี้อาจมีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ (หากลืมลอกแผ่นสุดท้ายออก แนะนำให้ลอกแผ่นออกได้ทันทีที่นึกได้ และเริ่มใช้แผ่นต่อไปตามกำหนดเดิม โดยไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยแต่อย่างใด) ส่วนในกรณีที่ลืมแปะแผ่นยาในวันแรกของรอบเดือนใหม่ แนะนำว่าให้เริ่มแปะแผ่นแรกในทันทีที่จำได้ แล้วเริ่มต้นนับเป็นวันแรกของการแปะแผ่นยาใหม่ พร้อมกับกำหนดเป็นวันเปลี่ยนแผ่นใหม่ในสัปดาห์ถัดไป และในระหว่างนี้ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยในช่วง 7 วันแรก เช่น การสวมถุงยางอนามัย (อนึ่ง ถ้าลืมเปลี่ยนหรือลืมแปะแผ่นยา ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มเติม เพราะยาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ แต่จะส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาสูงขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย ฯลฯ)

แผ่นแปะคุมกำเนิดจะเริ่มคุมกำเนิดได้เมื่อใด ? : โดยปกติแล้วหลังจากแปะแผ่นคุมกำเนิดในวันแรกของการมีประจำเดือนก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทันที แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วง 1 เดือนแรก (หรือ 1 สัปดาห์แรก) ของการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอเพื่อความชัวร์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

สามารถใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดไปได้นานเท่าไร ? : ตามปกติแล้วคุณสามารถใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดไปได้นานหลายปีเท่าที่ต้องการ เหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แต่การใช้ไปนาน ๆ เกินกว่า 5 ปีขึ้นไปก็คงจะไม่เหมาะ แนะนำว่าคุณควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมอื่น ๆ แทนจะดีกว่า เช่น การใส่ห่วงอนามัย การสวมถุงยางอนามัย ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนในระยะยาวนั่นเอง เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนในระยะยาวอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ฯลฯ ได้ครับ

อาการฉุกเฉินที่ควรรีบไปพบแพทย์ : หลังจากใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด หากคุณมีอาการผิดปกติต่าง ๆ หลังการใช้ เช่น ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง), ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นเบาหวาน), อาเจียน, ไอเป็นเลือด, ปวดศีรษะอย่างเฉียบพลัน รุนแรง หรือปวดศีรษะแบบไมเกรน, วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม, หายใจลำบาก, ปวดเค้นหน้าอก, มีของเหลวหลั่งจากเต้านม, ปวดท้องช่วงบน, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ปวดขา แขน หรือขาหนีบ, ประจำเดือนผิดปกติ, มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด, ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน), ผื่นแดง บวม คัน, มือบวม เท้าบวม หรือข้อบวม, ปวดตามผิวหนัง, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, หมดแรงซีกหนึ่งของร่างกายอย่างเฉียบพลัน หรือมีอาการของการตั้งครรภ์ (สงสัยว่าตั้งครรภ์หรือประจำเดือนขาด) ต้องรีบไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์ทันที (หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ผู้ใช้ยาควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายทุก 1 ปี)

การหยุดใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด : หากต้องการหยุดใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดเพื่อต้องการมีบุตร หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน ในรอบเดือนนั้นหากแปะแผ่นยาครบ 3 แผ่น ก็สามารถหยุดใช้ได้ทันที โดยภาวะตกไข่ตามธรรมชาติจะเริ่มกลับมาภายในเดือนแรกหลังจากหยุดยา (แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะมาภายใน 3 เดือนหลังจากหยุดยา) ดังนั้นการตั้งครรภ์จึงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เดือนแรกหลังหยุดแปะแผ่นยา

ต้องการเปลี่ยนจากยาเม็ดคุมกำเนิดมาใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด : สามารถเริ่มเปลี่ยนมาใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดในวันแรกที่ประจำเดือนมาได้เลย ส่วนการจะเปลี่ยนจากแผ่นแปะคุมกำเนิดไปใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดก็เช่นเดียวกันครับ

คำแนะนำในการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • ไม่ควรตัดแบ่งแผ่นแปะคุมกำเนิดให้เล็กลง เพราะจะทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพน้อยลง จนไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้
  • ควรเก็บยานี้ให้พ้นมือเด็ก และควรทิ้งยานี้เมื่อหมดอายุ
  • สำหรับแผ่นแปะที่ใช้แล้ว ควรพับด้านเหนียวเข้าหากันและทิ้งลงถังขยะที่ห่างไกล เพื่อป้องกันการคุ้ยเขี่ย
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในระหว่างที่ให้นมบุตร เพราะยาจะซึมเข้าสู่หลอดเลือดและผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกที่ดื่มนมแม่ได้
  • หากผู้ใช้ยาต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ เนื่องจากอาจมีเหตุจำเป็นต้องหยุดยานี้เป็นเวลา 1 เดือนก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • หากผู้ใช้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา
  • หากผู้ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดจะต้องเข้าเครื่องตรวจ MRI ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน เนื่องจากแผ่นแปะมีส่วนประกอบอะลูมิเนียมที่จะร้อนเมื่อได้รับรังสีและอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ (ให้ดึงแผ่นแปะออกชั่วคราวก่อน)
  • หากผู้ใช้แผ่นแปะใส่คอนแทคเลนส์ มีอาการเห็นภาพผิดปกติหรือรู้สึกไม่สบายเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ คุณควรปรึกษาจักษุแพทย์
  • ในบางรายที่มีอาการเหงือกบวมหรือมีเลือดออกเล็กน้อย ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ (การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้)
  • แผ่นแปะคุมกำเนิดอาจเพิ่มความไวต่อแสงแดด ทำให้ผิวหนังเกิดอาการไหม้แดดได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้น จึงควรใช้ครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดหากต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ
  • เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยาในเด็ก คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ผลข้างเคียงของแผ่นแปะคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของแผ่นแปะคุมกำเนิดจะเหมือนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมครับ แต่ผลข้างเคียงของแผ่นแปะคุมกำเนิดที่เกิดจะมีอาการน้อยกว่า โดยอาการข้างเคียงที่อาจจะพบได้ มีดังนี้ครับ

  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียว เหงือกอักเสบ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นสิวหรือกระ ผื่นขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย หน้าอกคัดตึงหรือใหญ่ขึ้น แน่นท้องเล็กน้อย (เป็นอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยา หากเป็นต่อเนื่องและรบกวนชีวิตประจำวัน คุณควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ)
  • น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือรู้สึกว่าตัวบวมขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงการควบคุมอาหาร
  • อาจมีความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป โดยอาจลดลงบ้าง
  • อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
  • อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก เนื้องอกตับชนิดรุนแรง (Hepatic adenoma)
  • มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (พบได้น้อยมาก)
  • บางรายอาจเป็นผื่นแพ้หรืออาการคันบริเวณที่แปะแผ่นยา (ปกติแล้วอาการคันจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน)

ข้อดีของแผ่นแปะคุมกำเนิด

  1. ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดสูงเทียบเท่ากับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหากใช้อย่างถูกต้อง ผู้ใช้รู้ตัวเองว่ากำลังคุมกำเนิดอยู่มั่นใจได้
  2. ผู้ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดจะมีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา
  3. ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วลืมทานบ่อย ๆ
  4. สามารถอาบน้ำ ว่ายน้ำ อบไอน้ำ เซาน่า และออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแกะแผ่นแปะคุมกำเนิดออกแต่อย่างใด
  5. มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
  6. เนื่องจากแผ่นแปะคุมกำเนิดใช้ฮอร์โมนเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด (Yasmin, Oilezz) จึงสามารถช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้
  7. เมื่อต้องการมีบุตร หลังจากเลิกใช้จะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์หรือพร้อมตั้งครรภ์ได้รวดเร็วตั้งแต่หยุดแปะแผ่นยา

ข้อเสียของแผ่นแปะคุมกำเนิด

  1. ต้องมีความร่วมมือจากผู้ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ในการแปะแผ่นยาอย่างถูกต้อง
  2. ก่อนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  3. อาจมีอาการข้างเคียงบ้างเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด (แต่จะมีน้อยกว่าและจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน)
  4. ต้องคอยเปลี่ยนแผ่นยาเมื่อครบ 7 วัน
  5. ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “ยาคุมกําเนิดชนิดแปะผิวหนัง Ortho Evra®”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th.  [10 ต.ค. 2015].
  2. หาหมอดอทคอม.  “ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง”.  (นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 ต.ค. 2015].
  3. ยากับคุณ.  “แผ่นแปะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [10 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด