แผลริมอ่อน (Chancroid) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

แผลริมอ่อน (Chancroid) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

แผลริมอ่อน

แผลริมอ่อน หรือ ซิฟิลิสเทียม* (Chancroid, Soft chancre, Ulcus molle หรือ Weicher Schanker) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ้างประปราย ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Haemophilus Ducreyi สามารถเกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงและติดต่อกันได้ง่ายมาก ผู้ป่วยจะมีแผลเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ต่อมาจะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง

หมายเหตุ : โรคนี้บางครั้งเรียกว่า “โรคซิฟิลิสเทียม” เนื่องจากทำให้เกิดแผลได้เช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่แผลริมอ่อน (ซิฟิลิสเทียม) จะมีอาการเจ็บและปวด แต่แผลซิฟิลิสจะไม่เจ็บและปวด

สาเหตุของแผลริมอ่อน

  • สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบชนิดหนึ่งที่ไม่ชอบออกซิเจนชื่อว่า “ฮีโมฟิลุสดูเครย์” (Haemophilus ducreyi) ซึ่งเชื้อชนิดนี้จำนวนมากจะอยู่ที่หนองและจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังผ่านรอยถลอกในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ จากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ (HdCDT) ขึ้นมาทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศและมีหนองไหล
  • การติดต่อ : โรคแผลริมอ่อนนอกจากจะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ (มีการสัมผัสแผลระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์) เป็นหลักแล้ว ยังสามารถติดต่อได้โดยการปนเปื้อนหนองไปถูกแผลอื่น ๆ เช่น รอยถลอกหรือเนื้อเยื่ออ่อน ๆ หรือจากการใช้มือสัมผัสหนองโดยตรงและไม่ได้ล้างให้สะอาด แล้วเอามือไปสัมผัสหรือเกาที่อื่นก็อาจพาเชื้อไปติดที่อวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย
  • ระยะฟักตัวของโรค : อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นเร็วหลังการมีเพศสัมพันธ์และได้รับเชื้อประมาณ 4-7 วัน (อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ตั้งแต่ 3-10 วัน) โรคนี้ไม่สามารถหายเองได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา
สาเหตุแผลริมอ่อน

อาการของแผลริมอ่อน

  • หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4-7 วัน อาการที่อวัยวะเพศจะเริ่มจากการเป็นตุ่มนูนและมีอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากนั้นจะมีแผลเล็ก ๆ ที่บริเวณแคมเล็กของฝ่ายหญิงหรือบริเวณปลายองคชาตของฝ่ายชาย (อาจเกิดแผลบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วยตามวิธีการร่วมเพศ เช่น ปากหรือก้น) อาจมีหลายแผลหรือมีเพียงแผลเดียวก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีหลายแผล
  • ต่อมาแผลเล็ก ๆ เหล่านี้จะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ ลักษณะของแผลจะดูคล้ายกับแผลเปื่อย นุ่ม ดูแฉะไม่สะอาด มีเนื้อเยื่อเละ ๆ ที่ก้นแผล ส่วนที่ขอบแผลจะนูน ไม่แข็ง และไม่เรียบ จึงเรียกว่า “แผลริมอ่อน” ถ้าแตะถูกมักจะมีเลือดซิบ ๆ และรู้สึกเจ็บ แผลในผู้ชายมักจะมีอาการเจ็บและปวดแผลมาก แต่ในผู้หญิงมักจะไม่ค่อยมีอาการเจ็บและปวดแผล จึงทำให้ในบางครั้งอาจไม่ทันสังเกตว่ามีแผลและเป็นเหตุให้เกิดการแพร่เชื้อโรคได้ง่าย
  • ต่อมาจะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ลักษณะเป็นสีแดงคล้ำและนุ่ม อาจแตกเป็นหนองได้ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอาจโตเพียงข้างเดียวหรือโตทั้งสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะโตเพียงข้างเดียว ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย
  • มีอาการเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้จะมีตกขาวมากและมีกลิ่นเหม็น
  • หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลจะลุกลามไปมาก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นมากจนอวัยวะเพศแหว่งหายได้ ซึ่งคนไทยเราเรียกว่า “โรคฮวบ

ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมอ่อน

  • มีโอกาสติดเชื้อโรคเอดส์ได้ง่ายขึ้น
  • อาจมีผลพวงจากการเป็นแผลที่มีการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ซ้ำได้ แม้จะรักษาครบแล้ว ทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็น แผลดึงรั้ง บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคตได้
  • อาจทำให้เป็นแผลดึงรั้งจนเกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบตัน (Phimosis)
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบแตกเป็นหนองไหลออกมา หากไม่รักษาภายใน 5-8 วันหลังจากเกิดแผล เมื่อแผลหายแล้วอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้
  • แผลอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • มีทางทะลุ (Fistula) คือมีท่อและมีหนองไหลตลอดเวลาติดต่อระหว่างอวัยวะที่ติดโรคหรือเป็นแผล เช่น ช่องคลอดกับทวารหนัก ท่อปัสสาวะกับผิวหนัง เป็นต้น
  • ในรายที่เป็นรุนแรง อาจทำให้อวัยวะเพศแหว่งหายได้ หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคฮวบ

การวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อนได้จาก

  • การซักประวัติเพื่อสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของแผล ระยะเวลาที่เกิดแผล ผู้ป่วยมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่
  • การตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะของแผลและตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • การป้ายหนองมาย้อมสีแกรม (Gram stain) เพื่อตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยแบบคร่าว ๆ ถ้าเป็นเชื้อ Haemophilus ducreyi จะย้อมติดเป็นสีแดง ลักษณะเป็นแท่งสั้น ๆ (Coc cobacilli) และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายฝูงปลาว่ายตามกันไปที่เรียกว่า “School of Fish
    • การส่งหนองหรือน้ำเหลืองจากแผลไปเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำต่ำ การเพาะเลี้ยงเชื้อทำได้ยาก เพราะเชื้อนี้เจริญในสภาพที่ไร้ออกซิเจน
    • การตรวจ Polymerase chain reaction (PCR) ที่มีความไว 96-100% เป็นการวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีราคาแพงและต้องใช้เวลา
    • การตรวจด้วย Immunochromatography แต่ก็มีความไวต่ำ
  • ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยแผลริมอ่อนไว้ดังนี้ (ต้องมีครบ 5 ข้อ)
    1. มีแผลเจ็บที่อวัยวะเพศ
    2. ตรวจหนองที่แผลด้วยกล้อง Darkfield ไม่พบเชื้อซิฟิลิส
    3. การตรวจ VDRL หลังเกิดแผล 7 วันให้ผลลบ
    4. ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อเริม
    5. อาการของโรคเข้าได้กับแผลริมอ่อน คือ เกิดแผลเร็วภายใน 7 วันหลังรับเชื้อ แผลเจ็บ มีหนองมาก ไม่หายเอง มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ย้อมสีแกรมพบแบคทีเรียแกรมลบตามลักษณะที่กล่าวมา

นอกจากนั้นแพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น

แผลริมอ่อนจะมีลักษณะคล้ายกับแผลจากโรคอื่น ๆ ได้คือ

  • โรคซิฟิลิส ในระยะแรกที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ ลักษณะของขอบแผลจะเรียบและแข็ง เรียกว่า “แผลริมแข็ง” มักมีแผลเดียว แผลไม่เจ็บและคัน
  • โรคเริม ผู้ป่วยจะมีผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศหลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดง ๆ คล้ายรอยถลอก อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ต่อมาจะแห้ง อาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ แล้วหายไปได้เอง ซึ่งต่างจากโรคแผลริมอ่อนที่ไม่แห้งหายไปเองได้ถ้าไม่รักษา
  • โรคฝีมะม่วง ผู้ป่วยมักมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ และหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตเห็น และต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมาก

วิธีรักษาแผลริมอ่อน

  • เมื่อมีแผลเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเสมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะแผลที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศเกิดได้จากหลายโรค ซึ่งอาจต้องใช้ยารักษาคนละชนิดกัน และถ้าใช้ยาไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เชื้อดื้อยาได้
  • การรักษาทั่วไปและการดูแลตนเองในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
    1. เมื่อเป็นโรคนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องรักษาคู่นอนควบคู่ไปด้วยเสมอเพื่อไม่ให้โรคเกิดขึ้นซ้ำอีก
    2. ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอ
    3. ควรรักษาแผลเฉพาะที่ด้วยการใช้น้ำเกลือชะล้าง (เป็นน้ำเกลือสำหรับใช้ล้างแผล) แล้วเช็ดทำความสะอาดแผลให้แห้งอยู่เสมอ ถ้ามีความชื้นอาจมีโรคแทรก แค่ล้างแผลก็เพียงพอแล้วโดยไม่ต้องใส่ยาอะไรทั้งสิ้น ส่วนยาเพนิซิลลินหรือซัลฟาใส่แผลก็ไม่ควรใช้ เพราะอาจทำให้แพ้ได้ง่าย
    4. รับประทานยาแก้ปวดและยาลดไข้
    5. งดมีเพศสัมพันธ์ในขณะมีแผลจนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ
    6. งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ขาดสติ จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิดเพิ่มขึ้น
  • แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งและไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำซาก (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา) ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาขนานใดขนานหนึ่งดังต่อไปนี้
    • อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
    • โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ขนาด 400 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
    • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว
    • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน
    • ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แต่ยานี้ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร
  • ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตมากจนเป็นหนอง แพทย์อาจใช้เข็มดูดเอาหนองออก หรือทำการผ่าฝีหนองออก
  • หลังการรักษา 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาตรวจประเมินอาการซ้ำเพื่อดูลักษณะของแผล โดยทั่วไปแผลจะดีขึ้นมากภายใน 3 วัน และจะหายสนิทภายใน 1-2 สัปดาห์ (ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของแผล แผลที่มีขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลาในการรักษานานถึง 2 สัปดาห์) แต่ถ้าแผลยังไม่หายอาจเป็นเพราะวินิจฉัยโรคผิดหรือเป็นเพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง เช่น เป็นโรคเอดส์ จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดี ส่วนอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตอาจหายช้ากว่าแผลที่อวัยวะเพศ โดยมักจะค่อย ๆ ยุบลงอย่างช้า ๆ
  • โรคแผลริมอ่อน บางครั้งอาจแยกออกจากซิฟิลิสได้ไม่ชัดเจน ถ้าผู้ป่วยรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือสงสัยว่าเป็นซิฟิลิสควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ชัด
  • แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว หลังจากวันที่เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยควรไปเจาะเลือดตรวจหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวีด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคซิฟิลิสหรือติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

วิธีป้องกันแผลริมอ่อน

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันการเกิดโรคแผลริมอ่อนได้ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
  • หากเป็นแผลที่อวัยวะเพศควรงดการมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการเที่ยวกลางคืนหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นโรคก็ควรจะสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
  • ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ (ฟอกล้างด้วยสบู่) หลังการมีเพศสัมพันธ์เสมอ (การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย)
  • การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วจะไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้
  • หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แผลริมอ่อน (Chancroid/Soft chancre)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1043.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 24 คอลัมน์ : โรคน่ารู้.  (อุทิศ มหากิตติคุณ).  “กามโรค (ตอนที่ 2)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [30 พ.ค. 2016].
  3. Siamhealth.  “แผลริมอ่อน Chancroid”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [31 พ.ค. 2016].
  4. MutualSelfcare.  “แผลริมอ่อน (Chancroid)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [31 พ.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.medicinenet.com, www.herpes-coldsores.com, www.dermnet.com, hit-micrscopewb.hc.msu.edu

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด