แจง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแจง 29 ข้อ ! (ต้นแก้ง)

แจง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแจง 29 ข้อ ! (ต้นแก้ง)

แจง

แจง ชื่อวิทยาศาสตร์ Maerua siamensis (Kurz) Pax (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Crateva mucronulata Kuntze, Niebuhria siamensis Kurz) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรแจง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แกง (นครราชสีมา), แก้ง แจ้ง เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของต้นแจง

  • ต้นแจง หรือ ต้นแกง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ พบได้บ้างที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ เป็นพรรณไม้โตช้า มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7]

ต้นแจง

  • ใบแจง มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ (บางครั้งอาจพบว่ามี 4-5 ใบ แต่พบได้น้อย) ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียวหรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบ เป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน (บ้างว่าบางคล้ายแผ่นกระดาษ) แผ่นใบแตกแขนงมาก ก้านช่อใบยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นจนเกือบไม่มี[1],[3],[6]

ใบแจง

  • ดอกแจง ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะ รวมเป็นช่อแยกแขนง โดยออกเป็นช่อตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ดอกไม่มีกลีบดอก มีแต่มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9-12 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ติดทน มีอับเรณูลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกเกลี้ยง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม[1],[3],[4],[6],[9]

ดอกแจง

ดอกแจง

  • ผลแจง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 4.5-7.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[3]

ผลแจง

ผลแกง

สรรพคุณของแจง

  1. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (ราก)[1],[2],[3],[5],[8]
  2. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง (ต้น)[3],[5]
  3. รากใช้เป็นยาแก้กษัยหรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายซูบผอม เสื่อมโทรม ปวดเมื่อย โลหิตจาง (ราก)[1],[3],[5],[8]
  4. เปลือกต้น ราก และใบแจงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน (เปลือกต้น, ราก, ใบ)[1],[3] บ้างว่าใช้ทั้งต้นต้มดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น, ใบ)[8]
  5. ใช้ยอดและใบแจงเป็นยาแก้ไข้ (ใบและยอด)[1] บ้างว่าใช้แก่นเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (แก่น)[9]
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยาต้มแก้ไข้จับสั่น (ทั้งต้น, ใบ)[8],[9]
  7. ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการใช้เปลือกต้น ราก และใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ราก, ใบ)[1],[3],[5]
  8. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)[9]
  9. ยอดอ่อนผสมเกลือใช้รักษาโรครำมะนาด (ยอดอ่อน)[9],[10]
  10. ช่วยแก้อาการหน้ามืดตาฟาง ด้วยการใช้เปลือกต้น ราก และใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ราก, ใบ)[1],[3],[5]
  1. ยอดอ่อนนำมาต้มใช้ล้างหน้าจะช่วยแก้ตาฝ้าฟางได้ (ยอดอ่อน)[9],[10]
  2. ใบและยอดนำมาตำหรือโขลกให้พอแหลกเล็กน้อย แล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้สีฟัน จะช่วยทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น หรืออาจจะใช้อมเพื่อเป็นยาฆ่าแมงกินฟันด้วยก็ได้ (ใบและยอด)[1],[2],[3],[5] ใบช่วยแก้ฟันผุ (ใบ)[8] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ระบุว่าต้นและรากมีสรรพคุณที่เหมือนกัน แต่ต้นจะมีคุณสมบัติทางยามากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟันและทำให้ฟันทน (ต้น, ราก)[9]
  3. ยอดอ่อนผสมกับเกลือใช้แก้อาการปวดฟัน (ยอดอ่อน)[9],[10]
  4. ช่วยรักษาฝีในคอ (ราก)[10]
  5. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[3],[5],[8] หรือจะใช้ต้นแจงทั้งห้า ชะพลู แก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง นำตัวทั้งหมดนี้มาใส่หม้อดินกับน้ำ 3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้ดื่มเป็นยาเช้าเย็นก็เป็นยาแก้ขัดเบาได้ดีนัก (ทั้งต้น)[9]
  6. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ หรืออาการที่เวลาปัสสาวะแล้วจะปวดหรือปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอย น้ำปัสสาวะขุ่นข้น หรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ (ราก)[1],[3],[5],[8]
  7. ช่วยแก้ดีพิการ (ทั้งต้น)[9]
  8. รากนำมาต้มเอาไอน้ำอบแก้อาการบวม (ราก)[9],[10]
  9. ใบใช้เข้าลูกประคบเป็นยาแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)[9],[10]
  10. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[1],[2],[3],[5],[8]
  11. ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ต้น)[3],[5]
  12. ใบแจงสามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคบสำหรับสตรีที่คลอดบุตรเพื่อช่วยลดความปวดเมื่อยล้า (ใช้ใบแจง ใบมะจาม ไพร หัวหอม และเกลือ)[9]
  13. ใบใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อแก้อัมพฤกษ์อัมพาต (ใบ)[9] หรือใช้เปลือกไม้และรากนำมาต้มอาบ อบ กิน เป็นยาแก้อัมพฤกษ์อัมพาตก็ได้ (เปลือก, ราก)[9],[10]

ประโยชน์ของแจง

  1. ดอกอ่อน ยอดอ่อน นำมาดองคล้ายกับผักเสี้ยนหรือดอกกุ่ม ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกได้[4] ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนนำมารับประทานได้ หรือที่อีสานเรียกว่า “คั้นส้ม” เช่นเดียวกับการกินยอดผัดกุ่ม ที่ต้องนำมาดองหรือคั้นส้มก่อนนำมารับประทาน และคนอีสานยังเชื่อว่าหากได้รับประทานคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้ง จะช่วยป้องกันสภาวะสายตายาวได้ และยังช่วยบำรุงสายตาได้ดีเยี่ยมอีกด้วย[9] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุด้วยว่าผลก็สามารถนำมารับประทานได้ (แต่ไม่อร่อยจึงไม่เป็นที่นิยม) และใช้เป็นอาหารของนกได้
  2. ต้นแจงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เป็นต้นไม้หายากที่กำลังจะถูกลืมเพราะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ เหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชื่นชมความงามของดอกและผลที่มีลักษณะสวยงามและแปลกตา อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะใช้ปลูกเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ ปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้เป็นอย่างดี[5],[9]
  3. มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเพื่อเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากด้วย[9]
  4. ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบ ๆ ของต้นแจง นิยมนำมาเผาเอาถ่าน เพื่อทำถ่านที่มีคุณภาพดี และยังนำถ่านที่ได้มาทำเป็นดินปืน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นถ่านอัดในบั้งไฟอีกด้วย[9]
  5. ใบของต้นแจงเมื่อในสมัยก่อนนั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาขนสัตว์ เช่น กระจอก[9]
  6. นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อแจกแจงอายุขวบขัยของวงปีต้นไม้ได้ สังเกตได้การตัดไม้ตามขวางของลำต้นจะเห็นวงปีได้ชัดเจน จึงนิยมนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยา[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “แจง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 90.
  2. ป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ หมู่เกาะแสมสาร, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พรรณไม้ของสังคมพืชป่าดิบแล้ง (ฝั่งทะเล)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/exploration/sms_plants/.  [3 มี.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “แจง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.en.mahidol.ac.th/conservation/.  [3 มี.ค. 2014].
  4. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “แจง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [3 มี.ค. 2014].
  5. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “แจง”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [3 มี.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แจง”.  อ้างอิงใน: หนังสือ Flora of Thailand, Volume 5, Part 3, Page 266-267.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [3 มี.ค. 2014].
  7. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “แจง”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th.  [3 มี.ค. 2014].
  8. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “แจง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [3 มี.ค. 2014].
  9. หน่วยงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แจง พันธุ์ไม้อันทรงคุณค่าในสยามกำลังถูกลืม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th.  [3 มี.ค. 2014].
  10. พรรณไม้งาม, ฝ่ายอาคารสถานที่และซ่อมบำรุง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.  “แจง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dpu.ac.th/building/.  [3 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ nonkhro.ac.th, เว็บไซต์ pantip.com (by ขามเรียง), เว็บไซต์ oknation.net (by paroong)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด