แคแสด
แคแสด ชื่อสามัญ Africom tulip tree, Fire bell, Fountain tree, Pichkari, Nandi flame, Syringe
แคแสด ชื่อวิทยาศาสตร์ Spathodea campanulata P.Beauv. จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
สมุนไพรแคแสด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคแดง (กรุงเทพ), ยามแดง เป็นต้น โดยแคแสดนั้นเป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกาตอนใต้ และในภายหลังได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ของโลกที่มีอากาศค่อนข้างร้อน[1],[2],[4],[5]
ลักษณะทั่วไปของแคแสด
- ต้นแคแสด หรือ ต้นแคแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลมและค่อนข้างทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีรอยแตกเป็นรวงตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือใช้หน่อ หากปลูกในที่แห้งมากจะผลัดใบ แต่จะไม่พร้อมกันทั้งต้น และถ้าหากตัดแต่งกิ่งให้แตกเป็นพุ่มกลม ก็จะให้ดอกที่พุ่มกลมตามรูปของเรือนยอดและดูสวยงามมาก[1],[2],[4]
- ใบแคแสด ใบเป็นใบผสมแบบขนนก มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ส่วนปลายเป็นใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบจับแล้วสากระคายมือ[1],[2]
- ดอกแคแสด ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งตรง มีก้านช่อดอกยาว แต่ละช่อจะมีดอกจำนวนมากและจะทยอยกันบานครั้งละ 2-6 ดอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-9 เซนติเมตร กลีบดอกติดกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูประฆัง คล้ายดอกทิวลิป เป็นสีแสดหรือสีเลือดหมู ดอกแคแสดมีขนาดใหญ่ กลีบดอกหลุดร่วงได้ง่าย โดยจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุได้ประมาณ 4-8 ปี และจะออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูหนาว ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า[1],[2]
- ผลแคแสด มีผลเป็นฝักคล้ายรูปเรือสีดำ ปลายผลแหลม ผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อผลแก่จะแตกเป็นด้านเดียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก แบน และมีปีก โดยจะออกผลตลอดทั้งปี และจะออกผลมากในช่วงฤดูฝนคือช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน[1],[2]
สรรพคุณของแคแสด
- เปลือกใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (เปลือก)[2],[4]
- ช่วยแก้บิด (เปลือก)[1],[2],[4]
- เปลือกใช้พอกรักษาแผลเรื้อรัง (เปลือก[1],[2], ดอก[4])
- ใบและดอกใช้พอกแผล (ใบ, ดอก)[1],[4]
- เปลือก ใบ ดอก และผล ใช้พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่าง ๆ (เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)[2],[4]
ประโยชน์ของแคแสด
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกให้ร่มเงา โดยจะนิยมปลูกตามสวนสาธารณะ ปลูกตามสถานที่ราชการหรือตามริมทางทั่วไป[1],[2],[3],[4]
- ดอกแคแสดสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้เหมือนแคบ้าน[3]
เอกสารอ้างอิง
- โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “แคแสด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [24 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แคแสด“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [24 ธ.ค. 2013].
- โครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “แคแสด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sbg.uru.ac.th. [24 ธ.ค. 2013].
- สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 . “แคแสด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com. [24 ธ.ค. 2013].
- ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เต็ม สมิตินันทน์).
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, mingiweng, amarguy, malyousif, mauroguanandi, Tatters:), SierraSunrise, tanetahi, dinesh_valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)